รูปแบบองค์กรอัยการที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง
โครงสร้าง ก.อ.
ทุกคนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอและจะต้องอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในทางอาญา ซึ่งถือว่าทำหน้าที่ตุลาการฝ่ายบริหาร กรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจึงถึงที่สุด
แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี จะต้องมีการตรวจสอบโดยศาล ว่าผู้นั้นมีความผิดจริงหรือไม่ นี่คือกระบวนการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาในระบบสากล
สำหรับอัยการไทยนอกจากการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาแล้ว พนักงานอัยการยังมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ตรวจร่างสัญญา ว่าต่างและแก้ต่างในคดีแพ่ง และยังมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน โดยการให้คำปรึกษาในทางกฎหมาย ประนีประนอมข้อพิพาทเพื่อลดคดีขึ้นสู่ศาลและดำเนินคดีหรือจัดหาทนายความให้ประชาชนเพื่อดำเนินคดีในศาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหน้าที่ทั้งสองประการหลังนี้ไม่มีในต่างประเทศ
การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการได้รับความเชื่อถือมาโดยตลอด ซึ่งในสมัยเริ่มตั้งองค์กรอัยการใหม่ ๆ องค์กรอัยการอยู่ในกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม และการฟ้องคดีผู้ต้องหาที่มี อัตราโทษสูงจะต้องฟ้องศาลไต่สวนก่อน ว่าควรจะส่งเรื่องไปฟ้องยังศาลสูงหรือไม่ และเมื่อความเห็นของศาลไต่สวนกับพนักงานอัยการต่างกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้นได้ออกกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ที่ 53 ว่าด้วยการที่จะส่งคดีชั้นไต่สวนให้ไปฟ้องยังศาลสูง ถ้าความเห็นของศาลไต่สวนกับอัยการต่างกัน ให้ถือเอาความเห็นของอัยการเป็นใหญ่
แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมากจนใกล้จะถึงขึ้นแตกแยก ทำให้ประชาชนที่เชียร์การเมืองฝ่ายหนึ่งและต่อต้านการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจ ในกระบวนการยุติธรรม แม้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้นจะดำเนินการไปตามหน้าที่ของตน
ฝ่ายที่คิดว่าตนเสียผลประโยชน์ก็จะออกมาตอบโต้ โดยที่ไม่ใช้เหตุผลหรือยอมรับเหตุผลของผู้มีหน้าที่พิจารณาในเรื่องนั้น โดยคิดว่าองค์กรเหล่านั้นมีการแทรกแซงทางการเมือง แม้ความจริงอาจจะไม่มีการแทรกแซงก็ตาม
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าการทำหน้าที่ถูกใจฝ่ายที่เห็นด้วย ก็จะออกมาชื่นชมและรับคำวินิจฉัยนั้น ๆ ซึ่งถ้าหากเรายังคงปล่อยให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมต่อไปเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างไม่อาจประมาณได้
ดังนั้น ทุกองค์กรจะต้องไปปรับปรุงองค์กรของตนให้ประชาชนเกิดความศรัทธาและไว้วางใจให้จงได้
องค์กรอัยการเป็นองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม จึงต้องมาพิจารณาดูว่าเพราะเหตุใดประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการได้สั่งคดีไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏและเหตุผลในทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าเนื่องจากระบบการบริหารงานบุคคลและการบริหารงบประมาณต้องเกี่ยวพันกับทางการเมืองโดยตรง จึงทำให้ประชาชนมองว่าองค์กรอัยการสามารถถูกแทรกแซง จากทางการเมืองได้
ดังนั้น องค์กรอัยการควรได้รับการปรับปรุง และองค์กรอัยการจะเป็นไปในทางใดก็ย่อมแล้วแต่ความต้องการของประชาชน และเมื่อองค์กรอัยการเป็นเช่นไรประชาชนก็ย่อมจะได้รับผลเช่นนั้นด้วย ดังเช่นในอดีต ซึ่งจะย้อนรอยองค์กรอัยการในอดีตจนถึงปัจจุบันให้ท่านทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าท่านต้องการให้องค์กรอัยการเป็นเช่นไร
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ได้จัดตั้งองค์กรอัยการขึ้น เรียกว่า “กรมอัยการ” ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม โดยมีอธิบดีอัยการเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะมีพนักงานอัยการประจำอยู่ที่ศาลทุกแห่ง และในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาในการบริหารทั่วไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2465 ได้โอนกรมอัยการให้ไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการบริหารงานบุคคลในต่างจังหวัดก็เป็นเช่นเดียวกับส่วนราชการอื่น เหตุผลในการโอนกรมอัยการไป สังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ปฏิบัติการได้ถนัดขึ้น
วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2503 องค์กรอัยการได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานบุคคลโดยจัดให้มีองค์กรบริหารงานบุคคลของอัยการขึ้นเรียกว่า “คณะกรรมการอัยการ” เรียกชื่อย่อว่า “ก.อ.” เพื่อทำหน้าที่ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน และให้พ้นจากราชการของอัยการ ทั้งนี้ เพื่อประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการมิให้ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร คือทั้งผู้บังคับบัญชาและทางฝ่ายการเมือง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ก.อ. ซึ่งแม้การบริหารงานบุคคลจะอิสระขึ้น แต่ก็ยังไม่ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง
วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2534 กรมอัยการจึงแยกตัวออกมาจากกระทรวงมหาดไทยและเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด” อธิบดีกรมอัยการเปลี่ยนชื่อเป็น “อัยการสูงสุด” รองอธิบดีกรมอัยการเปลี่ยนชื่อเป็น “รองอัยการสูงสุด” โดยเป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ใด อยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และให้ประธาน ก.อ. มาจากการเลือกตั้ง จากข้าราชการบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จข้าราชการบำนาญ โดยเลือกจากอดีตรองอัยการสูงสุด ขึ้นไปหรือตำแหน่งอธิบดีขึ้นไป และต้องไม่เป็นทนายความหรือมีตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนในระยะสิบปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นหลักประกันในการบริหารงานบุคคลให้เป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาและปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้น
ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2534 องค์กรอัยการได้กลับมาอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งในหมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ โดยใน มาตรา 255 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
"พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้และตามกฎหมาย ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ"
"พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม"
"การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอัยการและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา"
"ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด"
"องค์กรอัยการมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ๆ โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
"พนักงานอัยการต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอัยการ ทั้งต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใด อันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ และต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือที่ปรึกษากฎหมาย หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนบริษัท"
“ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 202 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
เนื่องจากคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ของผู้ดำรงตำแหน่งและลักษณะงานของอัยการและผู้พิพากษา เป็นลักษณะเดียวกัน (เดิมอัยการและศาลต่างโอนตำแหน่งกันไปมา) การบริหารงานบุคคล จึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
เปรียบเทียบโครงสร้าง ก.ต. และ ก.อ.
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ประกอบด้วย
(1) ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
(2) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบสองคน ซึ่งข้าราชการ ตุลาการในแต่ละชั้นศาล เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในชั้นศาลของตนเอง ดังนี้
(ก) ศาลฎีกา ให้เลือกข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกา ในตำแหน่งที่ ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาฎีกา จำนวนหกคน
(ข) ศาลอุทธรณ์ ให้เลือกข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค จำนวนสี่คน
(ค) ศาลชั้นต้น ให้เลือกข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้น ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าศาลจำนวนสองคน
(3) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่ไม่เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 39
สำหรับข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามมาตรา 11 วรรคสอง หรือผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการในศาลอื่น ตามมาตรา 21 ให้มีสิทธิเลือกและได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในศาลซึ่งข้าราชการตุลาการผู้นั้นมีเงินเดือนอยู่ในศาลนั้น ในขณะที่มีการจัดให้มีการเลือกส่วนผู้พิพากษาอาวุโสให้มีสิทธิเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในชั้นศาลที่ตนปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการศาลยุติธรรม
ห้ามมิให้กรรมการบริหารศาลยุติธรรมเป็นกรรมการศาลยุติธรรมในคราวเดียวกัน ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเลขานุการ และให้ ก.ต. แต่งตั้งข้าราชการ ศาลยุติธรรม จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ส่วนคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ประกอบด้วย (มาตรา 18)
(1) อัยการสูงสุดเป็นประธาน
(2) รองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการอัยการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ให้รองอัยการสูงสุดที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นรองประธาน
(3) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน ซึ่งข้าราชการอัยการชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือกจาก
(ก) ข้าราชการอัยการชั้น 6 ขึ้นไป และมิได้เป็นกรรมการอัยการโดยตำแหน่งอยู่แล้วสามคน
(ข) ผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้ว และต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 19 ข. (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) สามคน
(4) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคนและคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคน
(5) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งประธานและกรรมการตาม (2) (3) และ (4) เป็นผู้เลือกจากบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ จำนวนหนึ่งคน ให้ ก.อ. แต่งตั้งข้าราชการอัยการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ ก.อ.
จากโครงสร้าง ก.ต. และ ก.อ. จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โครงสร้าง ก.ต. มีความเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะให้ดุลพินิจอย่างอิสระโดยแท้จริง ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในดุลพินิจของผู้พิพากษาว่าปลอดจากการแทรกแซงของผู้บังคับบัญชา เพราะมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดเพียงคนเดียวที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คือประธานศาลฎีกา ทั้งประธานศาลฎีกา ก็ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขขององค์กร และทำหน้าที่ในการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ไม่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาอื่นได้
การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทำเป็นรูปองค์คณะใช้เสียงข้างมาก แม้ในที่ประชุมใหญ่ก็ใช้เสียงข้างมาก ประธานศาลฎีกาจึงมิอาจเข้าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาได้
ส่วนอัยการสูงสุดมีหน้าที่ต้องพิจารณาสั่งคดีหรือออกคำสั่งในการให้คำปรึกษาเป็นคนสุดท้ายที่ชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมาย และคำสั่งของอัยการสูงสุดเป็นที่สุด
การที่โครงสร้างของ ก.อ. ให้อัยการสูงสุดมาเป็นประธาน ก.อ. และมีรองอัยการสูงสุดอีก 4 คนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งสิ้น จึงเป็นโครงสร้างการบริหารงานบุคคลยังไม่เป็นหลักประกันแก่พนักงานอัยการในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระแท้จริงได้ จึงทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่า อัยการสูงสุดจะแทรกแซงการทำหน้าที่ของพนักงานอัยการ แม้ความเป็นจริงผู้บังคับบัญชาของอัยการไม่เคยแทรกแซงคำสั่งของอัยการ ซึ่งผมรับราชการเป็นอัยการมา 30 ปีเศษ ไม่เคยมีผู้บังคับบัญชาคนใดมาแทรกแซงการใช้ดุลพินิจแม้แต่ครั้งเดียว และถ้าหากจะมีพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบก็จะไม่ปฏิบัติตาม เพราะเรามีหลักในการทำงานอยู่ว่า “ใครสั่งใครรับผิดชอบ” แต่จากโครงสร้างทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงควรปรับปรุงโครงสร้าง ก.อ.ให้สามารถเป็นหลักประกันในการเป็นอิสระแก่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการให้มากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างของ ก.ต. จะเป็นอิสระก็ตาม แต่จากโครงสร้างของ ก.ต. ที่มิให้ผู้พิพากษาอาวุโสมีสิทธิได้รับเลือกเป็น ก.ต. จึงเป็นข้อบกพร่องที่ไม่สามารถจะได้ประสบการณ์ จากผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงมาก่อน
ดังนั้น ทางศาลยุติธรรมจึงเตรียมปรับปรุงโครงสร้าง ก.ต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยจะให้มีการเลือกผู้พิพากษาอาวุโสเป็น ก.ต. ด้วย ดังนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ควรจะต้องปรับปรุงโครงสร้าง ก.อ. ให้สามารถเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของพนักงานอัยการในการปฏิบัติหน้าที่โดยแท้จริง ซึ่งผมใคร่เสนอโครงสร้าง ก.อ. ดังนี้
คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ประกอบด้วย (จำนวน 19 คน)
(1) ประธานกรรมการ ซึ่งข้าราชการอัยการที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือกจากผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีกรมอัยการหรือรองอัยการสูงสุด ซึ่งพ้นจากตำแหน่งข้าราชการอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี ทั้งนี้ ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะเวลาสิบปีผ่านมา และไม่เป็นข้าราชการการเมือง หรือทนายความ
(2) อัยการสูงสุดเป็นรองประธาน
(3) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 13 คน ซึ่งข้าราชการอัยการที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ขึ้นไป เป็นผู้เลือกจากข้าราชการอัยการดังนี้
(ก) ให้เลือกข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าข้าราชการอัยการชั้น 7 ขึ้นไป จำนวนสองคน
(ข) ให้เลือกข้าราชการอัยการชั้น 6 ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีอัยการขึ้นไป ถึงตำแหน่งอธิบดีอัยการ หรือตำแหน่งเทียบเท่า จำนวนสองคน
(ค) ให้เลือกข้าราชการอัยการชั้น 6 ที่ดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษขึ้นไป ถึงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย หรือตำแหน่งเทียบเท่า จำนวนสองคน
(ง) ให้เลือกข้าราชการอัยการชั้น 4 - ชั้น 5 ที่ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าอัยการจังหวัด คนสุดท้ายที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการจังหวัดขึ้นไปถึงตำแหน่ง อัยการผู้เชี่ยวชาญ หรือตำแหน่งเทียบเท่า จำนวนสองคน
(จ) ให้เลือกข้าราชการอัยการอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัยการผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายซึ่งปฏิบัติหน้าที่อัยการจังหวัดขึ้นไป ซึ่งเป็นข้าราชการอัยการอาวุโสมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี จำนวนสองคน
(ฉ) ให้เลือกผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้ว และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกรัฐสภา กรรมการพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง หรือทนายความ จำนวนสามคน
(4) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน และคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคน
(5) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งประธานและอัยการสูงสุดร่วมกันพิจารณาเสนอชื่อจำนวนด้านละหนึ่งคนจากบุคคล--ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ ให้ข้าราชการอัยการที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือกจำนวนหนึ่งคน ให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการเป็นเลขานุการ และให้ ก.อ. แต่งตั้งข้าราชการอัยการจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ประธานกรรมการอัยการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระไม่ได้ ทั้งนี้ให้รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิทุกประเภทเข้าด้วยกัน
เหตุผลให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก.อ. มีดังนี้
(1) ให้โครงสร้าง ก.อ. เป็นโดยตำแหน่งเพียงคนเดียว ก็เพราะต้องการให้ประชาชนไว้วางใจองค์กรอัยการว่าจะปฏิบัติหน้าอย่างอิสระปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร
(2) ให้ประธาน ก.อ. เป็นอดีตรองอัยการสูงสุดขึ้นไป เพราะบุคคลเหล่านี้เคยบริหารองค์กรอัยการมาก่อน และรู้ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการเป็นอย่างดี ทั้งเมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระทบต่อองค์กรประธาน ก.อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมรักษาองค์กรอัยการได้ดีกว่า เพราะไม่มีส่วนได้เสีย
(3) ให้อัยการผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการจังหวัดเป็นกรรมการ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เคยผ่านการบริหารงานองค์กรมาแล้วในระดับจังหวัด ทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาแนะนำ ข้อกฎหมายให้แก่องค์กรต่าง ๆ มาแล้ว และ อายุก็เลย 40 ปี ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่จึงควรประสานความคิด ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าด้วยกันอันจะทำให้องค์กรก้าวหน้ายิ่งขึ้น
(4) อัยการอาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งสิ้นจึงควรจะได้ประสบการณ์ของท่านในการบริหารองค์กร
(5) ข้าราชการอัยการบำนาญส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารและมีประสบการณ์สูง ทั้งมีอิสระในทางความคิดมากกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่น ๆ
(6) วุฒิสภา และรัฐบาล ส่งตัวแทนเพื่อมาดูแลองค์กรอัยการ ให้โปร่งใส คือบุคคลเหล่านี้จะเป็นตัวแทนองค์กรอัยการในการชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการ และทราบถึงความต้องการขององค์กรอัยการ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคขององค์กรอัยการ เพื่อทำให้ วุฒิสภา และรัฐบาลได้เข้าใจองค์กรอัยการและช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรอัยการได้อย่าง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเป็นการเชื่อมโยงกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
(7) ให้ประธาน ก.อ. และอัยการสูงสุด ร่วมหารือเสนอชื่อบุคคลที่มีความชำนาญในด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ แล้วให้อัยการเป็นผู้เลือกโดยตรงแทน การให้อัยการสูงสุดหรือประธาน ก.อ. เป็นผู้เลือก ทั้งนี้เพื่อมิให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นหนี้บุญคุณอัยการสูงสุด หรือประธาน ก.อ.
นอกจากนี้หน้าที่ของ ก.อ. ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ดูแลแต่ข้าราชการอัยการ ในปัจจุบัน ก.อ. ได้เข้ามาดูแลข้าราชการธุรการด้วย เช่น ตั้งแต่การสรรหา การบรรจุและการแต่งตั้ง โดย ก.อ. จะเป็น ผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข และก.อ. ยัง ทำหน้าที่ พคธ. ของข้าราชการธุรการ จึงควรที่จะให้ข้าราชการธุรการได้มีสิทธิเลือก ก.อ. ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การเลือก ก.อ. ก็ควรเปลี่ยนวิธีการโดยให้ผู้สมัครไปทำการสมัครต่อ สำนักงาน ก.อ. โดยเขียนประวัติ และให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน ก.อ. เป็นผู้ส่งแผ่นปลิวของผู้เสนอตัวทั้งหมดเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกได้พิจารณา โดยห้ามผู้เสนอตัวออกไปหาเสียง เพื่อเกิดความโปร่งใสและห้ามผู้บริหารสนับสนุนผู้สมัคร คนใดทั้งสิ้น