- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ความเห็น กมธ.สภาปฏิรูปสื่อชำแหละกม.ดิจิทัลฯ“จนท.รัฐอำนาจล้น-ปชช.ถูกลิดรอนสิทธิ”
ความเห็น กมธ.สภาปฏิรูปสื่อชำแหละกม.ดิจิทัลฯ“จนท.รัฐอำนาจล้น-ปชช.ถูกลิดรอนสิทธิ”
“…การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขตโดยปราศจากการกลั่นกรองจากศาลหรือตุลาการ ขาดมาตรการหรือกลไกในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ส่วนหนึ่งของรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 10 ฉบับ ในส่วนที่ว่ากฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชนหรือไม่
----
-ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ได้มีการกำหนดมาตรการรองรับหรือกลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพื่อไม่ให้ถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดหรือไม่ เพียงใด พบว่า
ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย การกำหนดหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย และการร้องเรียนต่าง ๆ ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ จนถึงปัจจุบัน
แต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลขาดการนำหลักการเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้น ส่งผลให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์) ที่จัดทำขึ้นขาดกรอบการทำงานและประสานงานที่ชัดเจน (Cybersecurity Framework) และไม่สามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นกำหนดได้
เพราะเป็นการออกกฎหมายที่ให้อำนาจกว้างขวางในการเฝ้าระวังแต่เพียงอย่างเดียวอย่างไร้ขอบเขต ขาดการนิยามความหมายของ Critical Infrastructures ที่ต้องการปกป้อง
ไม่มีการกำหนดมาตรฐานและการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนร่วมกันกับภาคเอกชนและประชาสังคม และไม่มีขอบเขตของการทำงาน ที่อย่างน้อยต้องประกอบด้วย มาตรการป้องกัน ความรับผิดชอบ และมาตรการเยียวยา ความเสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง
นอกจากนี้ยังปรากฏต่อไปอีกว่า ร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 10 ฉบับ มีบทบัญญัติที่เพิ่มอำนาจหน้าที่เสมือนตำรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขตและไม่มีมาตรการหรือกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งขัดแย้งต่อหลักการรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
โดยกรอบแนวคิดของร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีลักษณะบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบั่นทอนบรรยากาศการลงทุนของเอกชนและต่างชาติ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวและไม่แน่ใจ ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และประชาชน
เนื่องจาก พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร้ขอบเขต และเน้นเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลบุคคลที่เป็นเป้าหมาย (Targeted Surveillance) โดยปราศจากการกลั่นกรองจากศาลหรือตุลาการฯ และปราศจากการโต้แย้งคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขัดกับหลักการตามกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง ไม่มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะอย่างน้อยตามหลักการความรับผิดชอบเด็ดขาด (Strict Liability) เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษได้ตามกฎหมายโดยไม่เป็นภาระมากเกินไป
และไม่มีมาตรการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับการเยียวยาความเสียหายได้ตามกฎหมายโดยไม่เป็นภาระมากเกินไป
ในขณะเดียวกันก็ปรากฏพบในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกันว่า มีการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการแม้เพียงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำความผิดโดยปราศจกการกลั่นกรองจากศาลหรือฝ่ายบริหารระดับรัฐมนตรีหรืออธิบดี และปราศจากการโต้แย้งคำสั่งที่เกี่ยวข้องซึ่งขัดกับหลักการตามกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง และในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯว่า มีการยกเลิกหลักการให้ความยินยอม (Consent) ของเจ้าของข้อมูลตามหลักสากล รวมถึงข้อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้สื่อข่าวหรือองค์กรศาสนา ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีขอบเขตเพียงใด
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ก็ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้น ยึด และอายัดทรัพย์สิน โดยปราศจากการกลั่นกรองจากศาล และปราศจากการโต้แย้งคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขัดกับหลักการตามกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นการเอาหน่วยงาน 2 หน่วยที่มีภารกิจขัดแย้งกันมาไว้ในที่เดียวกัน ย่อมทำให้ภารกิจด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นเรื่องของประชาชนโดยแท้ได้รับความสำคัญน้อยกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในด้านการกำหนดมาตรการกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนผู้ถูกกระทำละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้ร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ยังไม่ชัดเจนหรือให้หลักประกันอย่างเพียงพอแก่ประชาชน
กล่าวคือ มีการยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายของหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. จากเดิมที่บัญญัติให้ กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษาที่คณะทำงานแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ในขณะเดียวกันก็กำหนดยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา รวมตลอดถึงทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและมาตรการทางปกครอง
ต่อมาเมื่อได้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
แม้จะปรากฏว่า ได้มีการตัดการยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่และตัดการยกเว้นความรับผิดที่เกี่ยวกับมาตรการทางปกครองออกไป แต่ยังคงหลักการว่าด้วยการยกเว้นความรับผิดแห่งการบังคับคดีในทางแพ่งไว้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. วรรคสอง บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ซึ่งในทางกฎหมายไม่แตกต่างกันมากนัก
ในด้านการดำเนินกิจกรรมหรือการดำเนินกิจการใด ๆ ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดให้ต้องสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว
หลักการความเป็นอิสระของ กสทช. ย่อมถูกลดทอนลง และส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชาชน รวมทั้งสื่อมวลชน และจัดเป็นการกำหนดแนวทางการบัญญัติกฎหมายที่สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาจเป็นบุคคลที่ได้รับการจัดสรรหามาจากฝ่ายการเมือง ทำให้ง่ายต่อการถูกแทรกแซง โดยเฉพาะการแทรกแซงด้านเนื้อหา (Content) ที่ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสื่อมวลชน ย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
และยังพบต่อไปอีกว่า บทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีความเข้าใจผิดว่าจะสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่หน่วยงานรัฐไปดำเนินการได้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ประสิทธิภาพ” ในการร่าง และให้ความสำคัญต่อหน่วยงานภาครัฐมากกว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ จึงมีการแก้ไขถ้อยคำจากคำว่า “จัดสรรอย่างเพียงพอ” เป็นการกำหนดให้ความสำคัญกับ “บริการสาธารณะ” ที่รัฐให้แก่ประชาชนก่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานรัฐไม่สามารถจะเป็นผู้ประกอบการหรือให้บริการที่แข่งขันกับเอกชนได้ แม้โดยผ่านการให้สัมปทานก็ตาม เพราะขัดกับหลักการในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้หน่วยงานรัฐจะสามารถทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นการให้บริการของรัฐโดยแท้ที่ไม่เอกชนสนใจให้บริการ
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการเปลี่ยนวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการคัดเลือกสำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นการประกอบกิจการทางธุรกิจจากวิธีประมูลเป็นวิธีการคัดเลือกด้วยระบบ Beauty Contest ในขณะที่การจัดสรรคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ประเภทธุรกิจกลับกำหนดให้ต้องใช้วิธีประมูลโดยปราศจากหลักการอันจะอ้างอิงด้วยเหตุและผลได้ เมื่อใช้วิธีการที่ต่างกันในประเภทที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกัน
อีกทั้งยังมีการเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนสามารถนำเงินของกองทุนไปสนับสนุนการชดเชยการถูกเรียกคืนคลื่นโดยขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินค่าชดเชยในลักษณะเดียวกันกับการเวนคืนที่ดิน ทำให้เป็นช่องทางการทุจริตและเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้รับใบอนุญาตทุกรายต้องรับภาระอุดหนุนผู้ถือครองคลื่นความถี่เดิมซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และถือเป็นหน้าที่ของผู้ถือครองคลื่นความถี่ที่ต้องคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว
อีกทั้งยังขาดแนวทางวาระการปฏิรูปการสื่อสารของชาติที่ต้องการให้รัฐถือคลื่นความถี่ให้น้อยลงเท่าที่จำเป็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงคลื่นความถี่ได้มากขึ้น ซึ่งขัดกับหลักการที่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับก่อน และฉบับที่กำลังยกร่างอยู่
จากการศึกษาสรุปได้ว่า ภาพรวมของกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 10 ฉบับ ไม่มีมาตรการรองรับหรือกลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยส่งผลกระทบเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารของประชาชนเป็นอย่างมาก
เนื่องจากการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขตโดยปราศจากการกลั่นกรองจากศาลหรือตุลาการ ขาดมาตรการหรือกลไกในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขาดกรอบการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีมาตรการป้องกันและมาตรการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีการยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายของหน่วยงานบางประการ ซึ่งอาจส่งผลเป็นการบั่นทอนมากกว่าส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
รวมทั้งสื่อมวลชนย่อมต้องถูกลดทอนลงไปตามความเป็นอิสระของ กสทช. การกำหนดให้มีการเปลี่ยนวิธีการประมูลไปเป็นการคัดเลือก การเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินกองทุนไปใช้เพื่อการชดเชยการคืนคลื่นความถี่ อีกทั้งยังเป็นการกำหนดแนวทางการบัญญัติกฎหมายที่สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ กมธ.ปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้อีกด้วย
อ่านฉบับเต็ม : http://bit.ly/1aJ2ZHd