เอกชัย ไชยนุวัติ:รัฐบาล “ยุบสภา” ทำถูกแล้วหรือไม่ -ทางออก คือ?
“สุดท้าย ข้อตกลงร่วมกันหรือคุณค่าที่เราเชื่อเหมือนกันหรือไม่ เราเชื่อว่าคนเท่ากันหรือไม่ ถ้าคนเท่ากันมันเดินเข้าไปเลือกตั้ง คุณจะเป็นใครตอนไปเลือกตั้งก็ 1 เสียงเท่ากัน คุณจะใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือคุณจะใส่รองเท้าแตะคุณก็ 1 เสียง ถ้าเชื่อและยอมรับตรงนี้ได้ กติการ่วมกันมันเดินไปได้”
9.39 น. 9 ธันวาคม 2556 วันเริ่มต้นสงครามครั้งสุดท้ายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ประกาศ “ทุบหม้อข้าว” ยกระดับการชุมนุมเคลื่อนพลไป “ทำเนียบรัฐบาล” เพื่อกู่ร้องชัยชนะมวลมหาประชาชน
อย่างไรก็ตามระหว่างมวลมหาประชาชนกำลังกรีฑาทัพสู่ทำเนียบ ในช่วงสายวันเดียวกัน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ตัดสินใจขอพระราชทานทูลเกล้าถวายร่างพระราชกฤษฎีกาสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เพื่อ “ยุบสภา” หวังป้องกันการเกิดเหตุรุนแรงจนเกิดความสูญเสีย โดยจะจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีจะอยู่ “รักษาการ” แทนไปก่อน
ท่ามกลางความงุนงงของหลาย ๆ ฝ่าย กับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อ “เอกชัย ไชยนุวัติ” รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม หนึ่งในผู้คว่ำหวอดในวงการกฎหมายและการเมือง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงในขณะนี้ว่าจะจบลงเช่นไร
รัฐบาล “ยุบสภา” ทำถูกแล้วหรือไม่ และ “ทางออก” ตอนนี้ต้องทำอย่างไร
ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
@ในสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขณะนี้ นายกรัฐมนตรีประกาศ “ยุบสภา” ถือว่าทำถูกต้องแล้วหรือไม่
ผมได้เขียนในเฟซบุ๊ก ตั้งแต่เมื่อวานช่วงบ่าย เสนอให้ยุบสภา แต่มีหลายคนไม่เชื่อบอกว่าต้องกุมอำนาจต่อไป ขณะที่ผมบอกว่าการยุบสภานั้นถือเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีฝ่ายใดผิด หรือฝ่ายใดถูก และไม่ต้องวิเคราะห์เลยว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือ กปปส. ทำถูกต้องหรือไม่ แต่การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย สามารถทำได้ไม่แปลกอะไร
@จะเกิดสถานการณ์อะไรต่อไป หลังรัฐบาลยุบสภา แต่ กปปส. ยังไม่ยอมหยุด
ต้องบอกว่าตอนนี้มีกลุ่มใหญ่ ๆ 2 ฝ่ายคือ 1.ฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้ง กับ 2.ฝ่ายที่ไม่ต้องการเลือกตั้ง
1.ฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้ง แน่นอน เป็นฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ 2.ฝ่ายที่ไม่ต้องการเลือกตั้งคือ ฝ่ายกลุ่มคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) และกลุ่มอื่น ๆ ที่ต้องการเสนอ “นายกฯพระราชทาน” ตาม “ม.7” ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันทำไม่ได้ เพราะนายกฯต้องมาจาก “ตัวแทนของประชาชน” ตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ใน “ม.171” ซึ่งระบุว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ที่เป็นผู้แทนของประชาชน
ดังนั้นถ้ายึดตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ คุณไม่สามารถทูลขอนายกฯพระราชทานมาได้ แต่ก็มีคนที่ไม่ยึดเจตนารมย์อย่าง คุณสมคิด (เลิศไพฑูรย์) อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และคุณสุรพล (นิติไกรพจน์) อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2549 ทั้งที่ 2 คนนี้เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมา
@”สภาประชาชน” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
เกิดขึ้นได้จริง ถ้ามีการเลือกตั้งตามระบบ อย่างไรก็ตามการกระทำตอนนี้ของคุณสุเทพ มันไม่มีในฐานกฎหมาย และถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจ มันก็ทำไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นข้อแรกที่ต้องประชาชนทุกคนต้องเข้าใจ ดังนั้นสภาประชาชนจึงทำไม่ได้ตามกฎหมาย เป็นได้แค่เพียงโวหาร
ผมเสนอให้คุณสุเทพ เสนอหัวข้อสภาประชาชนเข้าไปสู่ระบอบการเลือกตั้ง แล้วก็ให้ประชาชนเลือกเข้ามา หลังจากนั้นก็ตั้งสภาประชาชน ซึ่งถ้าเรายังเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เราต้องทำอย่างนี้
@”ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ที่คุณสุเทพกล่าวบ่อยครั้ง มันคืออะไร และเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
มันไม่มีจริงหรอก ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนสมบูรณ์ ถ้าพูดในภาษาอังกฤษมันหมายถึง Dynamic คือต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา และปรับตามความต้องการของประชาชน
สมมติ รัฐธรรมนูญฉบับหน้า เขียนว่า ส.ว. ต้องมาจากการลากตั้งทั้งหมด ก็ต้องทำตามที่ประชาชนต้องการ เพราะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าจะบอกว่าอย่างนั้นก็เป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มี มันเป็นการเรียกร้องของประชาชนในแต่ละช่วงว่าเขาต้องการอะไร เพราะประชาธิปไตยต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก
“อยู่ที่ความเชื่อว่าคนเราเท่ากันหรือไม่ ถ้าเชื่อว่าเท่ากัน เราก็กลับไปสู่การเลือกตั้ง มี 1 เสียงเท่ากัน แต่ถ้าไม่เชื่อว่าเท่ากัน มันก็จะมีระบบอื่น ๆ ขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า เราไม่เชื่อว่าเราเท่ากัน”
@มองการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร หลังจาก ปชป. ลาออกหมดทั้งพรรค
การเลือกตั้งไม่มีครั้งไหนที่บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือทำให้มันบริสุทธิ์มากที่สุด ดังนั้นการไม่ลงเลือกตั้งของ ปชป. เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และเป็นหน้าที่ของพรรคอื่น ๆ ที่ต้องให้ประชาชนเข้าใจ ทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย
ผมไม่ประณามว่า ปชป. ไม่ลงเลือกตั้ง มันเป็นเรื่องของเขา และเป็นหน้าที่ของพรรคอื่นหาเสียง ให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา
@ปัญหาความขัดแย้งนี้จะจบลงอย่างไร
คนไทยส่วนใหญ่ต้องตกลงกันให้ได้ ว่ากติกาที่เราจะอยู่ด้วยกันคืออะไร 1.เอานายกฯพระราชทานไหม 2.เอาปฏิวัติไหม 3.เราจะเอาเลือกตั้งไหม ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ มันก็ไม่จบ
“สุดท้าย ข้อตกลงร่วมกันหรือคุณค่าที่เราเชื่อเหมือนกันหรือไม่ เราเชื่อว่าคนเท่ากันหรือไม่ ถ้าคนเท่ากันมันเดินเข้าไปเลือกตั้ง คุณจะเป็นใครตอนไปเลือกตั้งก็ 1 เสียงเท่ากัน คุณจะใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือคุณจะใส่รองเท้าแตะคุณก็ 1 เสียง ถ้าเชื่อและยอมรับตรงนี้ได้ กติการ่วมกันมันเดินไปได้”