วีรพัฒน์ : มาตรา 7 ใช้ตั้งนายกฯ ไม่ได้ แต่สุเทพยังมีทางออก
“...วิธีวัดใจคุณสุเทพคือให้เสนอสภาประชาชนเข้ามาในรูปแบบร่างแก้ไรรัฐธรรมนูญ และเลิกใช้วิธีการกดดันรัฐบาล แต่ถ้าคุณสุเทพยังไม่เสนอ และยังกดดันรัฐบาลเหมือนเดิม แสดงว่าคุณสุเทพไม่ได้มีความจริงใจเรื่องสภาประชาชน แต่คุณสุเทพกำลังถูก “อำนาจมืด” เชิดขึ้นมาและให้ประชาชนเป็นเพียง “เบี้ย” ล้มรัฐบาล ซึ่งอำนาจมืดนี้คือประชาชนธรรมดาที่คิดว่าตนเองไม่ใช่คนธรรมดา...”
หลังจาก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ประกาศบนเวทีศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 3 เสนอตั้งสภาประชาชน โดยยึดอำนาจตามมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
“สภาประชาชนจะเป็นสภาที่กำหนดแนวนโยบายและทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ดูแลการตรากฎหมายต่อต้านการทุจริต และตรากฎหมายการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม สภาประชาชนจะเป็นผู้คัดเลือกคนดีที่ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7” ข้อความที่ “สุเทพ” ระบุไว้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามหลายคนอาจสงสัยว่า “สภาประชาชน” ที่ยึดตาม “มาตรา 7” ของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อไปยัง “วีรพัฒน์ ปริยวงศ์” นักกฎหมายอิสระ ที่ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยมาโดยตลอด เพื่อไขข้อเท็จจริงทางกฎหมายว่าสรุปแล้ว “สภาประชาชน” สามารถตั้งขึ้นได้หรือไม่ และ “มาตรา 7” ที่ “สุเทพ” นำมาอ้างนั้นสามารถทำได้หรือไม่
ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
-----
@ การเรียกร้องตั้ง “สภาประชาชน” ของคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) สามารถทำได้จริงหรือไม่
ตอบให้ง่ายและเข้าใจมาตรา 7 ที่สุดคือ ควรไปอ่านกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประทานแก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเมื่อปี 2549 ซึ่งกล่าวชัดเจนว่า มาตรา 7 จะสามารถทำได้ ก็ต่อเมื่อกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ
ดังนั้นกรณีที่จะใช้มาตรา 7 ได้ต้องเป็นกรณีที่พิสดารพอสมควร เพราะต้องเป็นกรณีที่คนร่างรัฐธรรมนูญไม่คาดฝันว่าจะมีเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่งบังคับใช้เมื่อปี 2550 ผ่านมาไม่กี่ปีเท่านั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้มาตรา 7
ยกตัวอย่าง สมมติ 100 ปีต่อมา มีมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลก แล้วต้องมาทำสนธิสัญญาสันติภาพ ขณะที่สภาก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปใช้มาตราไหนไปทำสัญญากับมนุษย์ต่างดาว เนื่องจากไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเหตุการณ์ข้างต้นจะสามารใช้มาตรา 7 ได้
อย่างไรก็ตามขณะนี้คุณสุเทพกำลังทำตัวเป็นมนุษย์ต่างดาว และนึกว่ามาตรา 7 ใช้ได้ คุณสุเทพเหมือนกับอ่านรัฐธรรมนูญไม่รู้เรื่อง เลยอ้างมาตรา 7 ทั้งที่ความจริงมันใช้ไม่ได้ ถ้าสมมติจะทำการใดให้ได้สภาประชาชน มีวิธีการเดียวที่นึกออกคือ การให้รัฐสภาผลักดันมาตรา 291 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และให้บอกไปเลยว่าอยากได้สภาประชาชน และระบุให้ละเอียดเลยว่า ต้องการให้มาจากไหน มีตำแหน่งใดบ้าง ใช้อำนาจอย่างไร ต้องแก้ให้ชัดเจน แล้วให้สภาพิจารณา
ถ้าสภาพิจารณาเอาด้วย ก็มีสภาประชาชนเฉพาะกาลก็ได้ แต่ถ้ามาเสนอลอย ๆ อย่างนี้ไม่เกิดอะไรขึ้นมา
@ ถ้านายกรัฐมนตรีลาออก พร้อมกับยุบสภา ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง จะสามารถนำมาตรา 7 มาใช้ได้หรือไม่
ใช้ไม่ได้ สมมตินายกฯ ลาออก ก็ต้องเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ชัดเจน ดังนั้นไม่มีโอกาสใด ๆ ทั้งสิ้น แต่สมมติว่าถ้าเกิดลาออกแล้ว คุณสุเทพส่งม็อบไปปิดล้อมคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ล้อมเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น กกต. ก็ประชุมไม่ได้แล้ว จัดการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว ดังนั้นเลิกพูดเรื่องมาตรา 7 ได้แล้ว ถ้าจะใช้สภาประชาชน ก็ต้องนำมาเสนอผ่านมาตรา 291 ในสภาเท่านั้น
ทั้งนี้ผมมีข้อเสนอ 2 อย่าง หนึ่ง ถ้าคุณสุเทพจริงใจเรื่องสภาประชาชน ก็ควรจะร่างรายละเอียดการแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา และเสนอเข้าไปในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมเข้าใจว่ารายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไร และสอง จะต้องยุติกระบวนการที่สร้างความรุนแรง และเลิกกดดันรัฐบาล
ทั้งนี้ ยังมีนักกฎหมายบางท่านเสนอว่า หนทางหนึ่งคือใช้การตราพระราชกำหนดฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) จะได้ไม่ต้องไปรอให้แก้ไขในรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติการตรา พ.ร.ก. จะใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยต่อเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นถ้าใช้วิธีดังกล่าวคุณสุเทพจะบอกว่าผมไม่ได้เป็นภัยต่อความเศรษฐกิจหรือความมั่นคง
ตอนนี้เรามีวาระ 3 แก้ไขมาตรา 291 อยู่ ถ้าคุณสุเทพอยากให้มีสภาประชาชน ทำไมไม่สนับสนุนให้โหวตวาระ 3 แล้วให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หลังจากนั้นก็ไปคุยว่าต้องการให้มีสภาประชาชน ซึ่งถ้า ส.ส.ร. เอาด้วยก็สามารถใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้า ส.ส.ร. ไม่เอาด้วยมันก็จบ เพราะคุณต้องเคารพเสียงประชาชน
ถามว่าวันนี้คุณสุเทพชุมนุมบอกว่าให้สงบ สันติ งดใช้อาวุธ แต่เวลามีคนไปชุมนุม เขากลับไปปาก้อนหิน ยิงประทัดใส่ตำรวจ คุณสุเทพไม่พูดอะไรสักคำ ไม่ปราม ไม่เตือนเลย ทั้งที่เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหว คุณสุเทพจะอ้างหรือว่าคนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้ กปปส. มันเป็นไปไม่ได้ เป็นการปัดความรับผิดชอบ เพราะเขาทำไปเพื่อให้คุณสุเทพได้ดำเนินการเรื่องสภาประชาชน
ดังนั้นถ้าคุณสุเทพทำตามข้อเสนอข้างต้นได้ แสดงว่าคุณสุเทพมีความจริงใจ และต้องการให้ประเทศไทยมีสภาประชาชนอย่างแท้จริง แต่ถ้าคุณสุเทพไม่ทำตาม ก็จะมีแต่รักษาความกำกวม ความไม่ชัดเจนเอาไว้ พูดลอยๆ ไปเรื่อยๆ และสุดท้ายก็จะปล่อยปะละเลยให้มวลชนไปใช้ความรุนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคุณสุเทพไม่ได้อยู่ที่การสร้างสภาประชาชน แต่อยู่ที่การกระทำอะไรก็ได้ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาล้มรัฐบาล ส่วนสภาประชาชนจะตั้งได้หรือไม่นั้น คุณสุเทพไม่สนใจ
วิธีวัดใจคุณสุเทพคือให้เสนอสภาประชาชนเข้ามาในรูปแบบร่างแก้ไรรัฐธรรมนูญ และเลิกใช้วิธีการกดดันรัฐบาล แต่ถ้าคุณสุเทพยังไม่เสนอ และยังกดดันรัฐบาลเหมือนเดิม แสดงว่าคุณสุเทพไม่ได้มีความจริงใจเรื่องสภาประชาชน แต่คุณสุเทพกำลังถูก “อำนาจมืด” เชิดขึ้นมาและให้ประชาชนเป็นเพียง “เบี้ย”ล้มรัฐบาล ซึ่งอำนาจมืดนี้คือประชาชนธรรมดาที่คิดว่าตนเองไม่ใช่คนธรรมดา
อำนาจมืดเหล่านี้คิดว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์ในบ้านในเมืองนี้ สามารถควบคุมเศรษฐกิจ ควบคุมการเมืองได้แต่อำนาจมืดกลุ่มนี้เสียอำนาจไปหลังจากคุณทักษิณ (ชินวัตร) เข้ามา ดังนั้นอำนาจมืดเหล่านี้หยุดได้แล้ว ทั้งพวกที่อยู่ในองค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจ และให้คุณสุเทพมาเจรจากับรัฐบาล
และอย่าไปตีความว่าอำนาจมืดคือสถาบันกษัตริย์ เพราะไม่เกี่ยวกันเลย เนื่องจากสถาบันกษัตริย์กล่าวชัดในกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาชัดเจนว่า กษัตริย์ต้องใช้อำนาจตามที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณมาขอให้กษัตริย์ใช้อำนาจเกินขอบเขต แสดงว่าคุณกำลังทำร้ายกษัตริย์ และคุณสุเทพระวังอย่าไปทำร้ายกษัตริย์
@ การตั้งสภาประชาชนเปรียบเสมือนการฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่
ถามว่าการตั้งสภาประชาชนฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ ขนาดวันก่อนผมไปคุยกับ อ.กิตติศักดิ์ (ปรกติ) ที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ซึ่ง อ.กิตติศักดิ์ อธิบายว่า สภาประชาชนคือการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งผมก็บอกว่าถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าทำได้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ อ.กิตติศักดิ์ ไม่ตรงกับคุณสุเทพ เพราะคุณสุเทพไปไกลกว่านั้นเยอะ ต้องการให้มีสภาประชาชนมาจัดการประเทศเป็นการชั่วคราว และกลับไปเลือกตั้งใหม่ ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าสภาประชาชนจะมาล้มหรือมาทดแทนรัฐสภาใช่หรือไม่
แต่เราก็ไม่รู้ เพราะคุณสุเทพไม่ยอมบอก และเมื่อไม่ยอมบอก เวลาคนเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นถ้าถามว่าผิดหรือไม่ ผมก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าสภาประชาชนของคุณสุเทพคืออะไร
@ ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้อย่างไร
วันนี้คุณสุเทพไม่ได้เสนอประชาชนอย่างเดียว แต่คุณสุเทพเสนอว่าสภาประชาชนนี้จะเป็นการปฏิรูปประเทศไทย ประมาณ 6 เรื่อง เช่น การทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส การทำให้ตำรวจไม่อยู่ภายใต้นักการเมือง การทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีคือ จัดเวที เช่น เวทีว่าด้วยการพัฒนาปรับปรุงการเลือกตั้ง มีการเชิญ กกต. 5 คนที่อยู่ในตำแหน่ง กับ กกต 5 คนที่จะเข้ามารับตำแหน่งคุยกันกับฝั่งรัฐบาล และฝั่งคุณสุเทพ หลังจากนั้นก็หารือกันเลยว่าจะปรับเปลี่ยนกฎหมายการเลือกตั้งอย่างไรให้สุจริตเที่ยงธรรมมากขึ้น
ขณะที่เวทีตำรวจก็เช่นกัน ก็เชิญอดีตผู้บัญชาการตำรวจ เชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และเชิญนายตำรวจยศใหญ่ มานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อปฏิรูปตำรวจให้ทำหน้าที่เที่ยงตรง และเลิกอยู่ใต้อิทธิพลนักการเมือง ซึ่งต้องเชิญคุณสุเทพมาร่วมด้วย
ส่วนเวทีผู้ว่าฯ นี่ง่ายเลย เชิญผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดมาประชุมกันแล้วก็ให้คุณสุเทพเสนอไปเลยว่าอยากปฏิรูปให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง และให้ผู้ว่าฯ แลกเปลี่ยนพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร
ถ้าหากรัฐบาลใช้วิธีรุกแบบนี้ คุณสุเทพต้องแสดงสปิริตแล้วว่า ในเมื่อคุณเสนอมารัฐบาลจัดให้ ถ้าคุณยังไม่ยอมคุยอีกแสดงว่าคุณไม่จริงใจ
@ ข้อเสนอเหล่านี้จะนำมาปฏิบัติจริงได้หรือไม่
ข้อเสนอของคุณสุเทพ เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่การพูดคุยมานานแล้ว แต่ต้องมาคุยในรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น อยากให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง คำถามคือแล้วอย่างนี้เนี่ยมันเท่ากับเป็นการไปขัดแย้งกับหลักบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลส่วนกลางเขามาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะรัฐบาลส่วนกลางมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ แต่ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัด และถ้าเกิดผู้ว่าฯ ขัดขืนไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องมาคุยกันว่าผู้ว่าฯ สามารถขัดขืนรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะผู้ว่าฯ ก็มาจากการเลือกตั้ง
หรือจะใช้วิธีที่ดีกว่านั้น เช่น รัฐบาลก็ยังเป็นคนเลือกผู้ว่าฯ แต่ต้องให้ประชาชนทำการลงมติรับรอง หรืออาจเปิดช่องให้ประชาชนในจังหวัดถอดผู้ว่าฯ ออกได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมถ้าเกิดทำตัวไม่ดี ซึ่งตรงนี้แทนที่ให้สิทธิ์ประชาชนเลือก แต่ให้สิทธิ์ประชาชนถอดถอนแทน
@ คนบางกลุ่มก็ติงว่า คุณสุเทพอ้างเรื่องมวลมหาประชาชน แต่ไม่ได้คำนึงว่ายังมีประชาชนอีกฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก
การรวมตัวกัน ไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้มันไม่ใช่การชุมนุมแค่นั้น แต่มันเป็นการเรียกร้องสภาประชาชนที่มีที่มากำกวม ซึ่งถามว่าขัดรัฐธรรมนูญไหม ผมตอบไม่ได้ ฉะนั้นถามว่าถ้าเกิดคนเสื้อแดงหรือคนของพรรคเพื่อไทยมาตั้งสภาประชาชนของเขาขึ้นบ้าง แล้วใช้อำนาจขับไล่คุณสุเทพ ผมก็ไม่ยอม เพราะมันก็ผิด คนเราต้องอยู่ภายใต้กติกา
อย่างไรก็ตามวันนี้คุณสุเทพไม่เคารพกติกา และไม่ยอมบอกด้วยว่าข้อเสนอเป็นอย่างไร ฉะนั้นวิธีวัดใจสุเทพมีอย่างเดียวคือต้องยุติความรุนแรง และเจรจากับรัฐบาล
-----
- ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.sanook.com
