“ส.ศิวรักษ์” ชี้ปฏิรูปการเมือง แค่ล้ม “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ไม่พอ
“ส.ศิวรักษ์” วิพากษ์สังคมไทย จะก้าวข้ามทักษิณที่ครอบครองทั้งเงินและอำนาจได้อย่างไร และค้นหาคำตอบการอภิวัฒน์ประเทศที่ประชาชนจะสามารถกำหนดทิศทางของประเทศขาติได้อย่างแท้จริง
"สุลักษณ์ ศิวรักษ์" หรือ "ส.ศิวรักษ์" ปัญญาชนสยาม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตัวละครบนกระดานการเมืองเวลานี้แทบทุกฝ่าย
ไม่เพียงเป็นผู้รับหน้าที่โกนผมให้กับลูกชายของ "ธิดา ถาวรเศรษฐ์" ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ยังเป็นผู้ที่ "พิภพ ธงไชย" อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ความเคารพอย่างสูง
ส.ศิวรักษ์ ยังมีลูกศิษย์อีกมากมายที่ต่างขับเคลื่อนอยู่ท่ามกลางมวลชนในอีกหลากหลายสำนักคิด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนในหลายภาคส่วนของสังคมยังคงติดตามทัศนะวิพากษ์ของอดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ซึ่งถือเป็นชุมทางอุดมการณ์ของนักศึกษาหัวก้าวหน้าก่อนการมาถึงของ 14 ตุลาคม 2516
"สำนักข่าวอิศรา" www.isranews.org จึงถือโอกาสบุกบ้านซอยสันติภาพ สัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ ถึงมุมมองที่มีต่อการเคลื่อนไหวมวลชนที่กำลังเข้าสู่การเคลื่อนทัพครั้งใหญ่ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 นี้
ทั้งถามไถ่ถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับรัฐสภาที่ล้มเหลว และค้นหาปลายทางของอุดมการณ์บริสุทธิ์ที่ประชาชนจะสามารถกำหนดทิศทางของประเทศขาติได้อย่างแท้จริง
.....
สำนักข่าวอิศรา : ดูเหมือนวันนี้ สังคมไทยยังไม่ก้าวข้ามทักษิณ (ชินวัตร)
ส.ศิวรักษ์ : จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ เพราะทักษิณเขามีสิ่งที่คนไทยอยากมี คือเงินและอำนาจ ผมว่าคนไทยจะก้าวข้ามทักษิณได้ ก็ต่อเมื่อเงินและอำนาจไม่ใช่คำตอบ เมื่อคำตอบคือคุณธรรม จริยธรรม คุณงามความดี คนไทยในกระแสหลักไม่สนใจประเด็นนี้เลย ยังมีคนอีกไม่น้อยเห็นว่าถ้ามีเงินอย่างทักษิณก็ไม่เห็นเสียหาย มีอำนาจอย่างทักษิณก็ไม่เห็นเสียหาย ซื้อใครได้ก็ซื้อ ทำลายใครได้ก็ทำลาย ใช้คำโกหกยังไงก็ได้ ถ้าคนไทยยังก้าวข้ามสิ่งนี้ไม่ได้ ทักษิณก็ยังเป็นโมเดลอยู่
สำนักข่าวอิศรา : อารยะขัดขืนที่คุณสุเทพ (เืทือกสุบรรณ) นำมาใช้จะสามารถล้มรัฐบาลได้ไหมและอารยะขัดขืนที่แท้จริงคืออะไร
ส.ศิวรักษ์ : ต้องถามสุเทพว่าเขารู้ความหมายที่แท้จริงของมันไหม คำนี้เป็นของท่านพุทธทาสนะ สุเทพเขาอาจจะอ้างคำนี้เพราะเขามาจาก จ.สุราษฎร์ธานี จังหวัดเดียวกับท่านพุทธทาส อารยะขัดขืน ต้องมีอหิงสธรรม สันติประชาธรรม และสัจธรรม อย่างมหาตมะ คานธี สุเทพเข้าใจมหาตมะ คานธีแค่ไหน คานธีนั้นจะไม่ใส่กระทั่งเสื้อ ตราบใดที่คนดียังไม่มีเสื้อใส่ คานธีไปนำคนเอาเกลือขึ้นมา ถูกเตะ ถูกกระทืบแค่ไหนก็อดทน ต้องฝึกอย่างเข้มแข็ง อย่างที่เรียกว่าสันติเสนา ไม่ใช่การตีฝีปากกล้าชนะข้าศึก แต่มันต้องฝึกอย่างเข้มแข็ง คำว่าอารยะนี้ พระพุทธเจ้าท่านใช้ อย่างคำอริยะสงฆ์ พระที่นุ่งห่มเหลืองก็เป็นเพียงสงฆ์ แต่อารยะหรืออาริยสงฆ์ต้องขจัดรักโลภโกรธหลงได้ คุณสุเทพขจัดได้แค่ไหน
สำนักข่าวอิศรา : การชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คุณประเมิณว่าจะมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่อาจนำไปสู่การเลือดเสียเนื้อหรือไม่
ส.ศิวรักษ์ : ผมไม่ใช่หมอดู บอกไม่ได้ จะเสียเลือดเสียเนื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยหลักคือทักษิณที่อยู่นอกประเทศ ถ้าเขาคิดว่าเขาคุมทหารได้ แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เขาป้องประสงค์ เขาอาจจะยุทหารออกมา แล้วผมไม่รู้ว่าเขาซื้อทหารได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนทหารเสือพระราชินี ในวันนี้ยังมีมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่คุณถามนั้น วันนี้เหตุปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ สังคมไทยปกครองแบบอึมครึม แต่ที่ทุกคนยอมรับคือทักษิณคอยสั่งยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ทักษิณเป็นตัวกำหนด ส่วนสุเทพอาจเป็นตัวยั่ว ต้องดูเหตุ ดูปัจจัย ทักษิณอาจเห็นว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่เป็นไรนี่ กรือเซะตากใบก็ลอยตัว ศาลก็เข้าข้างทักษิณ บอกว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ คนตายจะไม่ขาดอากาศหายใจได้ยังไง
สำนักข่าวอิศรา : แต่คนส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เห็นด้วยกับคุณสุเทพ ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ออกมาร่วมชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นี่ถือเป็นการอภิวัฒน์ประเทศหรือเปล่า
ส.ศิวรักษ์ : ถือว่ามีจิตสำนึกที่ดีขึ้น อย่างจุฬาฯ ออกมาก่อนธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ แต่ก็ออกมาวันเดียว เพื่อแสดงว่าไมใช่เต่าล้านปี ฉันไม่ใช่หอคอยงาช้าง แต่จริงๆ แล้ว แทบทุกมหาลัยก็เป็นแดนสนธยา การเลือกอธิการบดีเป็นเรื่องการเมืองภายใน ส่วนคนในรัฐสภาก็ไม่มีกึ๋น นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีกึ๋น ส่วนการชุมนุมต่อต้าน ถ้ามีกึ๋นจริงๆ ต้องมีคนออกมานำ ไม่ใช่ให้สุเทพนำ ส่วนกลุ่มอื่น เช่น นกเขา (นิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษาเครือข่วานักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.) อย่างน้อยเขาก็มีกึ๋น ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ก็มีเสื้อเหลืองมาเกี่ยวข้อง มีสุริยะใส (กตะศิลา) จำลอง (ศรีเมือง) และพิภพ ส่วนสนธิ (ลิ้มทองกุล) แม้ไม่ออกมาแต่ก็อาจอยู่ทัพหลัง ผมไม่รู้ว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อยข้อดีคือเอเอสทีวีก็ถ่ายทอดให้
สำนักข่าวอิศรา : การชุมนุมในครั้งนี้คุณได้ติดตามบทบาทของคุณสุเทพหรือไม่ มีความเห็นเช่นไร
ส.ศิวรักษ์ : คุณสุเทพนี่ผมไม่มีอำนาจไปตักเตือนอะไรเขาหรอก แต่ก็อยากจะเตือนคุณสุเทพว่าพูดทุกวันๆ นี่ ผมสงสารเขานะ ถ้าพูดทุกวันๆ แล้ววางแผนไม่รอบคอบ คนอื่นเขาจะเดือดร้อน คุณสุเทพควรมีคณะทำงานไว้ปรึกษากัน อย่าฟังลิ่วล้ออย่างเดียว แต่ต้องฟังคนในพรรคด้วย เราต้องฟังคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา กัลยาณมิตรคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ผมฝากถึงทุกคนที่ขึ้นปราศรัย ไม่ว่าฝ่ายไหน ส่วน นปช.ผมก็นับถือเขา แต่ต้องโจมตีที่โครงสร้าง ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล ไม่ว่าองคมนตรี หรือทหารก็มีทั้งคนดีคนเลว ดังนั้น ต้องตีที่โครงสร้างและต้องใช้อหิงสธรรม ใช้สันติประชาธรรม ผมพูดแบบนี้ ทุกคนก็หาว่าเชย ศาสนาพุทธทุกวันนี้ถูกมองว่าเชยแล้ว
และจริงๆ แล้ว ผมก็รักธิดา เท่าๆ กับที่รักพิภพ แต่ผมไม่เข้าข้างใคร ไม่อยู่ฝ่ายไหน ผมถือสัจจะเป็นที่ตั้ง เราควรวิพากษ์ วิจารณ์เขาได้ แต่ก็ต้องเตือนสติเขา เช่นเดียวกับคุณสุเทพ เขายังขาดคนแบบนี้ ยังขาดกัลยาณมิตร
และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สังคมเราเมื่อก่อนเป็นสังคมเกษตร แต่วันนี้บ้านเมืองเราเป็นสังคมอุตสาหกรรม เมื่อเป็นสังคมเมือง เป็นสังคมอุตสาหกรรมมันก็มีโครงสร้าง มีบริษัทข้ามชาติ ดังนั้น บ้านเมืองไม่ใช่จะมองแค่ในประเทศได้อีกแล้ว ต้องมองบริษัทข้ามชาติที่คุมเราอยู่ด้วย ต้องมองมหาอำนาจที่คุมเราอยู่ด้วย เราต้องมองให้เห็นบริบทรอบๆ เหล่านี้ด้วย ส่วนคุณสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีฝีไม้ลายมืออะไรเลย คุณสุเทพไม่ได้ดีไปกว่าทักษิณ และผมก็คิดว่าประชาชนคงไม่โง่พอแต่ผมอาจจะคิดผิดก็ได้
สำนักข่าวอิศรา : การที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดนโยบายกำหนดทิศทางประเทศ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดขึ้นจริง
ส.ศิวรักษ์ : จะเป็นไปได้เมื่อผู้ชุมนุมในวันนี้เดินไปหาชาวบ้าน เดินไปหายายไฮ (ขันจันทา) ที่ปากมูล ไปหากระรอก (กรณ์อุมา พงษ์น้อย) ที่บ่อนอก ไปหามวลชนที่ต่อสู้เรื่องเหมืองแร่โปแตซ ไปหาสมัชชาคนจน ไปร่วมกับสมัชชาคนจน ไปร่วมกับชาวบ้านเหล่านั้น เพราะชาวบ้านเหล่านั้นมีคุณธรรม มีพื้นภูมิธรรม มีศาสนธรรม ชาวบ้านมีสิ่งเหล่านี้อยู่ต็มที่
ประชาชนจะมีพลังได้ ไม่ใช่ด้วยกาเดินไปเรียกร้องรัฐบาลหรือไปปลดป้ายรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องเดินไปหาชาวบ้าน เพราะคนเหล่านี้มีกึ๋น เขามีพื้นภูมิของศาสนาอยู่ในใจ ในวิถีชีวิต มีความเป็นพุทธ ความเป็นมุสลิม เขามีรากเหง้า แต่ชนนั้นกลางในเมือง รากเหง้ามันถูกตัดไปแล้ว เป็นฝรั่ง ใช้ความรุนแรง อาจไม่ใช่ด้วยการกระทำ แต่ก็ใช้ความรุนแรงด้วยคำพูด แต่ชาวบ้านเขามีจริยธรรม อย่างในกรุงเทพฯ เราอาศัยมวลชนอยู่ทั้งนั้น ใครขายส้มตำให้เรากิน ใครขายก๋วยเตี๋ยวให้เรากิน ข้าวแกงจานละ 30 บาท เราอยู่ได้เพราะคนเหล่านี้ เพราะคนกวาดถนน
ต้องเรียนรู้จากคนเหล่านี้แล้วเราจะได้สติปัญญา รวมตัวกันกับคนเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นระบบทุนจะมากวาดล้างหมด ไม่งั้นทุกอย่างจะเป็นคอนโด พื้นที่สีเขียวหายไป ถ้าชนชั้นกลางออกมา ต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยการไปหาชาวบ้าน แล้วประชาชนจะมีชัยชนะอย่างแน่นอน เช่น ที่อินเดีย ราชาโคปาล ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน ตอนนี้ก็ได้รับชัยชนะแล้ว รัฐบาลยอมให้ทุกคนต้องมีที่ทำกิน
ดังนั้น การชุมนุมเรียกร้องต้องไม่ใช่แค่ตีไปที่ยิ่งลักษณ์ ตีความชั่วรัฐบาล ใช่ รัฐบาลชั่วแน่ๆ ทั้งเรื่องจำนำข้าว และการเอาเงินมาถมทำลายธรรมชาติ สร้างเชื่อนแม่วงก์ คนเขาเดินขบวนเป็นหมื่นคน มันก็ไม่สนใจ แต่การต่อสู้ไม่ใช่แค่เล็งไปที่ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ แต่ต้องเล็งไปที่ขุนศึก ไปที่บรรษัทข้ามชาติด้วย ปัญหาถึงจะเปลี่ยน ไม่ใช่แค่เอาทักษิณไป เอาสุเทพมา มันต้องเปลี่ยนจากข้างล่าง การเปลี่ยนที่ตัวข้างบนนั้น เปลี่ยนมาเยอะแล้ว แต่ไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง นี่ผมหมายถึงข้างล่าง-ข้างบนในทางการเมืองนะ แต่ต้องคงสถาบันพระมหากษัตรย์ไว้เป็นหลักและสถาบันกษัตริย์ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผมพูดแบบนี้ไม่ผิดกฎหมาย มาตรา 112 นะ
สำนักข่าวอิศรา : คุณคิดว่าระบอบประชาธิปไตย เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่
ส.ศิวรักษ์ : ไม่เหมาะที่สุดเลย เป็นระบบที่จอมปลอม ประชาธิปไตยจะเดินได้ต้องมีระบอบราชการที่แข็ง อย่างอินเดีย ประชาธิปไตยเขาก็ไม่ได้วิเศษอะไรเลย แต่ข้าราชการเขาแข็งมาก อังกฤษก็เหมือนกัน ส่วนของเรา ข้าราชการเคยแข็งมาก แต่มันมาอ่อนลงตอนจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเผด็จการ ตอนนี้ ทุกกระทรวงพังหมดแล้ว นักการเมืองก็พังไปด้วยกัน ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารนี่ยิ่งเป็นรัฐภายในรัฐ อย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายพลคนไหนเคยถูกฆ่าบ้างไหม ไม่มี
สำนักข่าวอิศรา : แล้วรัฐสภาไทยที่เป็นผลพวงส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย มีสภาพอย่างไรในตอนนี้
ส.ศิวรักษ์ : รัฐสภาเราก็เอาอย่างฝรั่ง เรานึกว่าฝรั่งเป็นคำตอบ แต่ฝรั่งมันก็ไม่ธรรมดาหรอกนะ แต่สำหรับผม ผมถือคำพระพุทธเจ้า ว่าสภาใดไม่มีสัตบุรุษ ตราบนั้น ไม่ใช่สภา แล้วนี่โกงกิน เปลี่ยนญัตติ ลงคะแนนปลอมแทนกัน มันจะเป็นรัฐสภาได้อย่างไร มันคิดแค่อำนาจ รูปแบบการเลือกตั้งก็ซื้อเสียงเข้ามาบ้าง โกหกบ้าง ผมรับพวกนี้ไม่ได้ จริงอยู่ ส.ว. ส.ส. ดีๆ ก็มี แต่ที่ผมรังเกียจคือระบบและโครงสร้าง
เราแก้รัฐธรรมนูญกันมากี่ฉบับแล้ว คำตอบไม่ได้อยู่ที่นั่น รัฐธรรมนูญเขียนด้วยมือ ลบด้วยตีนมากี่ครั้ง ปัญหาสำคัญคือ 30-40 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีคนที่มีกึ๋นเลย ระบบการศึกษาเราสอนให้คนแหย การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย ถ้าคนรุ่นใหม่เอาจริงเอาจังมากพอ นักวิชาการไม่เอาแต่เป่านกหวีด
สำนักข่าวอิศรา : แต่ก็มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยออกมาแสดงจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
ส.ศิวรักษ์ : เขาออกมากี่วัน ผมขอถาม คนเหล่านี้มีสติปัญญาทั้งนั้น แต่ออกมากี่วัน บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องของการทำคะแนน บ้านเมืองควรจริงจัง
สำนักข่าวอิศรา : แล้วมีความเห็นอย่างไรต่อบทบาทของนักศึกษาวันนี้
ส.ศิวรักษ์ : ปีนี้ครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา สี่สิบปีที่แล้วนักศึกษาตื่นขึ้นนะครับ ก่อนที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาถูกฆ่า ต้องเข้าป่า กอ.รมน. สะกดหมดเลย แต่ต้องขอบคุณ ที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาทำให้นักศึกษาตื่นขึ้นอีกครั้งในวันนี้ ไม่ต้องมาก ขอแค่ 6-7 คน แล้วโยงใยกับเครือข่ายต่างจังหวัด ถ้านักศึกษาเหล่านี้ ตื่นขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เป่านกหวีดแล้วเลิก แต่โยงใยไปที่คนในต่างจังหวัดที่เขาเดือดร้อนด้วย บ้านเมืองนี่ถือว่าเริ่มด้วยคนรุ่นใหม่ครับ ถ้าคนเหล่านี้เขาสังเกตเห็นว่าระบบทุนนิยมมันทำลายรากเหง้า
ประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องจริงจังกับมัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างสำเร็จได้ถ้ามีอิทธิบาท 4 คือมีฉันทะ มีจิตใจน้อมที่จะทำ มีวิริยะคือจริงจังกับมัน มีจิตตะ คือจิตใจที่พร้อมตรวจสอบ มีวิมังสา คือการทบทวนตรองหาเหตุทั้งหมด เราจะแก้ปัญหาบ้านเมืองไทยไม่ได้ถ้าเราไม่ใช้อิทธิบาท 4 ต้องศึกษาจริงจัง แล้วใช้วิริยะคือกัดไม่ปล่อย ต้องศึกษาและตรวจสอบอย่างจริงจัง
.....
ภาพประกอบ - สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากเว็บไซต์ www.posttoday.com