ไชยันต์ ไชยพร : อารยะขัดขืนล้มรัฐบาลได้ ถ้า...
"...หากถามว่ามาตรการอารยะขัดขืนอย่างชะลอเสียภาษีหรือนัดหยุดงานจะกดดันรัฐบาลได้ไหม ผมว่าได้ ถ้ามีจำนวนคนและความหลากหลายเพียงพอ แต่หากถามว่าจะถึงขึ้นเปลี่ยนแปลงประเทศได้หรือไม่ ผมยังมองไม่เห็นว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่แค่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น สามารถทำได้...”
แม้รัฐบาลจะพยายามปลดสลักระเบิดเวลาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง กระทั่งวุฒิสภามีมติ 141 เสียง คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ จนต้องไปรอลุ้นกันอีกใน 180 วันข้างหน้า ว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะหยิบขึ้นมายืนยันอีกหรือไม่
ทว่าผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่มที่ถนนราชดำเนินไม่เพียงจะไม่ยุติการชุมนุม ยังยกระดับการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเวทีใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งประกาศยกระดับการชุมนุมมาแล้วถึง 2 ครั้ง พร้อมประกาศใช้ “มาตรการอารยะขัดขืน” และขีดเส้นตายว่าภายในวันที่ 24 พ.ย.2556 “ระบอบทักษิณ” จะต้องหมดสิ้นไป
“รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยแสดงอารยะขัดขืนด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้ง เมื่อปี 2549 มองมาตรการอารยะขัดขืนของเวที ปชป.ด้วยความสนใจและสงสัยไปในเวลาเดียวกัน เพราะหลักสำคัญของอารยะขัดขืนคือต้องมีการผิดกฎหมาย ด้วยจุดมุ่งหมายที่ดีกว่า
...แล้วการเป่านกหวีดไล่คนในรัฐบาล จะเป็นอารยะขัดขืนได้อย่างไร???
“อารยะขัดขืนคือการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีกว่า เช่น ความยุติธรรมหรือความถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องละเมิดกฎหมาย ดังนั้นการเป่านกหวีดจึงไม่ใช่อารยะขัดขืน เช่นเดียวกับการไม่ซื้อสินค้า ที่เป็นแค่การประท้วง ไม่เกี่ยวอะไรกับอารยะขัดขืน”
มาตรการที่ รศ.ดร.ไชยันต์ว่าเป็นอารยะขัดขืนแท้จริงคือ ”ชะลอเสียภาษี” อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าจะมีคนเห็นด้วย ชะลอการเสียภาษีเพื่อแสดงถึงความไม่ไว้วางใจมากน้อยแค่ไหน
“ถ้าคนทำเยอะมากก็จะส่งผลต่อรัฐบาล จนอาจจะต้องหาวิธีสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนขึ้นมาใหม่ อาจจะด้วยวิธีใด เช่น ลาออกหรือยุบสภา หากถามว่ามาตรการอารยะขัดขืนอย่างชะลอเสียภาษีหรือนัดหยุดงานจะกดดันรัฐบาลได้ไหม ผมว่าได้ ถ้ามีจำนวนคนและความหลากหลายเพียงพอแต่หากถามว่าจะถึงขึ้นเปลี่ยนแปลงประเทศได้หรือไม่ ผมยังมองไม่เห็นว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่แค่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น สามารถทำได้”
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ไชยันต์มีข้อสังเกตว่า การใช้อารยะขัดขืนในเมืองไทยที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีครั้งใดที่เป็นไปตามขนบของอารยะขัดขืนทั่วโลก คือผู้กระทำยินยอมให้ถูกจับเมื่อทำผิดกฎหมายเพื่อแสดงอารยะขัดขืน
“ไม่ว่าพันธมิตร นปช. หรือกลุ่มอื่นๆ ผมยังไม่เคยเห็น ใครเข้าไปยอมมอบตัวง่ายๆ หลังกระทำผิด ผมจึงไม่แน่ใจว่าประชาชนทุกฝ่ายในเวลานี้ จะเข้าใจความหมายของอารยะขัดขืน”
ทั้งนี้ เขาออกตัวว่ายังต้องขอใช้เวลาประเมินอีก 4-5 วัน ว่าการชุมนุมครั้งนี้จะพัฒนาการจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ หรือไม่ โดยจะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลักคือการ “ยกระดับการชุมนุม” ทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20 พ.ย.2556 หรือวันกำหนดเส้นตายขับไล่ระบอบทักษิณ 24 พ.ย.2556
อีกปัจจัยที่ รศ.ดร.ไชยันต์จะใช้ประกอบการพิจารณาคือ “การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง”
“การชุมนุมไม่ควรจะดันทุรัง ควรจะมองไปยังภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ต้องยอมรับว่ามีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรา”
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของจุฬาฯ รายนี้ ยังมองไปถึงเบื้องหลังการที่คนออกมาชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปจนถึงเตรียมยกระดับเป็นขับไล่รัฐบาลในเวลานี้ว่า เกิดจากทุกฝ่ายไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ มีการไปรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่บุคคลเบื้องหลังนายกรัฐมนตรี ทำให้นายกฯ ขาดอิสระในการตัดสินใจ กระทั่ง ส.ว.บางส่วนก็ยังถูกสั่งได้ จึงเป็นเหตุผลให้มวลชนต้องออกมาแสดงพลัง ส่วนความขัดแย้งรอบนี้จะจบอย่างไร อาจต้องรอดูอีก 4-5 วัน แต่ส่วนตัวอยากให้ทุกอย่างจบลงภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ
“ผมอยากให้จบตามกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ ผมมีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากพอ และผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในบางมาตราหรือหลายๆ มาตรา ไม่มีเหตุผลอะไรที่มากพอจะมาฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้ง”
สำหรับชนวนอย่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง รศ.ดร.ไชยันต์ มองว่า เวลานี้มีคนบางกลุ่มยังไม่ไว้วางใจว่าเมื่อพ้น 180 วันแล้วรัฐบาลจะไม่หยิบขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม หากต้องการผลักดันจริงๆ ทางเลือกที่เป็นไปได้คือยุบสภา แล้วคุณก็ไปถามประชาชนเลยว่าจะเอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งหรือไม่ หากเขาเลือกคุณกลับมาด้วยคะแนนเสียงท้วมท้น คุณก็มีความชอบธรรม แต่ก็อาจต้องเสี่ยงกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ ซึ่งจะต้องไปอธิบายว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งเป็นประโยชน์กันบ้านเมืองอย่างไร
สำหรับผู้ชุมนุมซึ่งเวลานี้ ไม่เพียง 3 กลุ่มที่ชุมนุมอยู่ที่ปักหลักอยู่บนถนนราชดำเนิน ฟาก นปช.เองก้เตรียมชุมนุมใหญ่ ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย.2556 ด้วย รศ.ดร.ไชยันต์ก็โยนคำถามอันแหลมคมให้ผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายนำกลับไปขบคิด
“ผู้ชุมนุมไม่ว่าจะทั้งสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ต้องถามตัวเองว่าที่ออกมานั้นเป้าหมายคืออะไร เช่นถ้าจะสนับสนุน คุณจะปกป้องรัฐบาลที่ไม่พูดความจริง ตะบัดสัตย์กับคุณ ออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับคุณทักษิณ แลกกับรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าประชาชน หรือถ้าคุณจะคัดค้าน ก็ต้องถามตัวเองว่าจะคัดค้านได้แค่ไหน ถึงขั้นต้องฉีกรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ หรือจะไปถึงขั้นรัฐบาลรักษาการซึ่งมีที่มาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถามตัวเองให้ชัดๆ”
ภาพประกอบ - ไชยันต์ ไชยพร จากเว็บไซต์ www.voicetv.co.th