ปฏิรูปกับปรองดอง ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
"...การไม่เข้าร่วมกับสภาปฎิรูปของรัฐบาลเกิดจากความคลางแคลงใจในเจตนาของรัฐบาลที่ ไม่แสดงออกถึงความจริงใจในประเด็นที่จะปฎิรูป แต่กลับเดินหน้าหาโอกาสสร้างความชอบธรรมหรือลดกระแสต่อต้านสิ่งที่เป็นเป้า หมายทางการเมืองของรัฐบาล..."
(อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
วันนี้ (16 ก.ย.2556) “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ให้ทีมงานโฆษกปชป.แจกจ่ายเอกสารมีความยาว 4 หน้ากระดาษเอสี่ ที่เขียนถึงสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมสภาปฏิรูป หลังจาก “บรรหาร ศิลปอาชา” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานสภาปฏิรูป เดินทางมาชักชวนถึงที่ทำการ ปชป.
โดยเอกสารดังกล่าวของอภิสิทธิ์ ที่ใช้ชื่อ “สภาปฏิรูปของรัฐบาลไม่ตอบโจทย์ประเทศ” มีเนื้อหาดังนี้
00000
ขณะนี้มีการใช้คำสองคำปะปนกันอยู่ คือคำว่าปฏิรูปกับคำว่าปรองดอง การปฏิรูปหมาถึงกระบวนการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครางสร้าง ในเชิงระบบ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ส่วนการปรองดองเป็นกระบวนการที่จะคลี่คลายความขัดแย้ เพื่อนที่จะรวมพลังของสังคมให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น สองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันแต่ว่าผูกโยงกัน เพราะด้านหนึ่งถ้าสังคมขาดพลังในการที่จะปรองดองกัน ก็เป็นเรื่องยากในการที่จะมีการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม เนื่องจากการปฏิรูปต้องอาศัยพลังของความเห็นพ้องร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม และในทางกลับกัน หลายคนก็เชื่อว่าจะปรองดองกันได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบโครงสร้างบางอย่าง เพื่อที่จะไขกุญแจไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง
การตอบโจทย์ปฏิรูป
ทุกคนเห็นด้วยกับการปฏิรูป เพราะสถานการณ์ของบ้านเมือง สถานะของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของเรานั้น ยังไปไม่ถึงจุดที่เป็นที่พึงประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะประเมินจากสิ่งที่ประชาชนคนไทยสัมผัสได้ด้วยตัวเองหรือจากการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่เป็นธรรมสูง สังคมมีความเสื่อมถอยในหลายๆ ด้าน เช่นการศึกษา แต่ที่น่าวิตกกังวลที่สุดก็คือมาตรฐานในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
หากความสำเร็จของการปฏิรูปต้องอาศัยพลังจากสามฝ่าย คือภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง จะเห็นว่าประชาชนนั้นพร้อมอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรภาคประชาชน 45 องค์กร ได้ริเริ่มกระบวนการปฏิรูป เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.2556)
เช่นเดียวกับภาควิชาการ เพราะเรามีองค์ความรู้จากการดึงฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมกามากมายที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาปัญหาและทางออกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทุกด้าน รัฐบาลชุดที่แล้วก็ตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ชุดหนึ่งมีท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน มาเป็นประธาน อีกชุดหนึ่งมีคุณหมอประเวศ วะสี มาเป็นประธาน อีกชุดหนึ่งมีคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มาดูเรื่องปฏิรูปสื่อ อีกชุดหนึ่งมีอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มาช่วยทบทวนเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ที่ภาคการเมืองว่ามีเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการของท่านนายกฯ อานันท์ กำหนดมีข้อสรุปไปแล้วหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศ ที่ไม่มีการกระจายอย่างเป็นธรรม จึงมีข่อเสนอเรื่องภาษีทรัพย์สินและที่ดิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ซึ่งรัฐบาลที่แล้วเริ่มผลักดัน แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันบอกว่าไม่ใช่นโยบายที่อยู่ในลำดับความสำคัญต้นๆ
ที่กล่าวมา ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก เพียงแต่บอกว่า ข้อเสนอเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่จะเป็นผลหรือไม่ อยู่ที่ผุ้มีอำนาจจะเป็นผู้ตัดสินใจ
หากฝ่ายรัฐบาลต้องการความร่วมมือ ไม่ว่าจากฝ่ายค้านหรือจากฝ่ายอื่นๆ วันนี้ระบบการเมืองที่ไม่ได้เป็นอุปสรรค มีการพูดกันว่าฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ขัดแย้งกันรุนแรง แต่ถ้าเราไปดูข้อเท็จจริงจะพบว่า เรื่องเข้าสู่สภาร้อยเรื่อง ขัดแย้งกันไม่ถึงสิบเรื่อง
ถ้าวันนี้รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเสนอกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่ดิน ปฎิรูปตำรวจ ปฎิรูปสื่อ ปฎิรูปการศึกษา ถ้าจะเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อะไร ที่เพิ่มความพร้อมให้กบประเทศไปต่อสู้ในเวทีโลก ไปแข่งขันในอาเซียน ฝ่ายต้านจะสนับสนุนอย่างแน่นอน
หัวใจจึงอยู่ที่เจตนารมณ์ที่จะปฎิรูปของผู้มีอำนาจ การไม่เข้าร่วมกับสภาปฎิรูปของรัฐบาลเกิดจากความคลางแคลงใจในเจตนาของรัฐบาลที่ไม่แสดงออกถึงความจริงใจในประเด็นที่จะปฎิรูป แต่กลับเดินหน้าหาโอกาสสร้างความชอบธรรมหรือลดกระแสต่อต้านสิ่งที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองของรัฐบาล และการเร่มต้นกระบวนการก็มุ่งเน้นให้บทบาทนำแก่นักการเมือง (ปัจจุบันและอดีต) ที่อยู่ฝ่ายค้าน
ที่สุดแล้ว
เราปฎิรูปโครงสร้างอำนาจไม่ได้ ถ้ารัฐบาลอยากรวบอำนาจ
เราปฎิรูปตำรวจไมได้ ถ้ารัฐบาลอยากสร้างรัฐตำรวจ
เราปฎิรูปสื่อไม่ได้ ถ้ารัฐบาลอยากครอบงำสื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
เราปฎิรูปการศึกษาไม่ได้ ถ้ารัฐบาลอยากเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น
เราปฎิรูปพลังงานไมได้ ถ้ารัฐบาลมีผลประโยชน์ร่วมกับ ปตท.
การตอบโจทย์ปรองดอง
ปัญหาการปรองดองไม่ได้สลับซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด จริงอยู่โดยสภาพของการเมืองในช่วงที่ผ่านมา บวกกับความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือเรื่องสื่อ อาจทำให้มีกลุ่มประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันรุนแรงมากขึ้น แต่สังคมที่ปรองดองไม่ใช่สังคมที่ทุกคนไม่มีสี ไม่มีความคิดเห็นแตกต่าง สังคมที่ปรงดองคือสังคมที่ทุกสีอยู่ร่วมกันได้ บนกติกาเดียวกัน บนการเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าบอกว่าผมเป็นสีฟ้า ปรองดองไม่ได้หมายความว่าสีแดงต้องมาเห็นด้วยกับผม เพียงแต่ว่าผมมีสิทธิที่จะไปตั้งเวทีบอกกับประชาชนว่า สีฟ้าคิดอย่างไร โดยไม่มีสีดงมาก่อนกวน เมื่อมีข้อขัดแย้ง ก็ว่าไปตามกลไกที่จะต้องยุติความขัดแย้งนั้น เช่น เห็นไม่ตรงกันเรื่องนโยบาย ก็ไปแข่งขันกันในการเลือกตั้ง ผู้ชนะก็สามารถเอานโยบายขอตัวเองไปปฎิบัติ ถ้าเรื่องที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องนโยบายหรือทิศทางความคิดเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ก็ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด ไม่ได้จบด้วยเสียงข้างมาก ไม่ได้จบด้วยความถูกใจ สังคมก็จะปรองดองได้
หากกระบวนการใดบกพร่อง เช่น กระบวนการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม หรือกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ก็ต้องใช้กลไกที่มีอยู่ในการตรวจสอบและการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะปรับปรุงกลไกเหล่านั้น
ปัจจุบัน ปมความขัดแย้งที่เหลืออยู่ก็มีสองเรื่องหลัก คือความพยายามที่จะรื้อรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายล้างผิด ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าเป็นสิ่งที่กระทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเดียว หรือคนเดียว และจะเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม
ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำสองเรื่องนี้ หรือถ้าจะนิรโทษกรรม ก็เฉพาะสิ่งที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองจริงๆ สำหรับคนที่เจตนาไปชุมนุมโดยสงบ ถ้ารัฐบาลให้หลักประกันว่าทุกคนเคลื่อนไหว ใช้สิทธิทางการเมืองกันได้อย่างเสรี ไม่มีการไปคุกคามซึ่งกันและกัน หยุดแย่งแยกประชาชน ก็มองไม่เห็นว่าสังคมเราจะไม่ปรองดองกันอย่างไร
แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้าทำสิ่งที่ขัดแย้ง แม้จะมีข้อเสนอจากฝ่ายค้านที่จะเข้าร่วมกระบวนการปฎิรูปหากชะลอสิ่งเหล่านี้ไว้ก่อน ความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ก็จะขยายวงออกไป
สภาปฎิรูปจึงไม่ใช่การตอบโจทย์ปรองดอง
.....
ฉะนั้น วันนี้เราควรจะเผชิญความจริงเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา รัฐบาลต้องเลือกว่าจะเอาผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้งในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป ทั้งในเชิงการปฎิรูปและในเชิงการปรองดอง
การปฎิรูปและการปรองดองนั้น ไม่อาจใช้เสียงช้างมาก เสียงข้างน้อยได้ การปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการยัดเยียดของเสียงข้างมาก หรือการกีดขวางของเสียงข้างน้อย การปรองดองต้องเกิดข้นจากการแสวงหาจุดร่วม บนหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ปฎิบัติได้ แล้วเดินไปด้วยกัน
.....
ผมจึงไม่สามารถเข้าร่วมกับสภาปฎิรูปของรัฐบาล แต่ผมเชื่อว่า การปฎิรูปและการปรองดองจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยบนหลักการของความถูกต้อง
ขอให้ทุกฝ่ายต่างมีพื้นที่ทางการเมืองในการแสดงความคิด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ทบทวนวัฒนธรรมทางการเมือง หรือพฤติกรรมทางการเมืองในสังคมไทย ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อสนับสนุนให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนจะมีสิทธิ เสรีภาพ และนำไปสู่กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะยกระดับความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
15 กันยายน 2556
00000