จับเข่าคุย “เฟิร์ส-อั้ม เนโกะ” สองหนุ่ม (สาว) ธรรมศาสตร์ ในโปสเตอร์ร่วมเพศฉาว
ฟังชัดๆ “เฟิร์ส” – “อั้ม เนโกะ” สองหนุ่มสาว ธรรมศาสตร์ ในโปสเตอร์ร่วมเพศฉาวต้าน บังคับใส่ชุด “นักศึกษา” การกล่อมเกลาด้วยการใส่ชุด นศ. จนเชื่อง ไม่ได้ช่วยทำให้คนได้มีระเบียบวินัยจริง?
กำลังเป็นที่ฮือฮาในสังคม สำหรับโปสเตอร์สยิว ที่มีนักศึกษาชายหญิงคู่หนึ่งกำลังแสดงท่าทางการร่วมเพศใน 3 ลักษณะ แบบโจ๋งครึ่ม แปะตามบอร์ดต่าง ๆ ใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต โดยมีข้อความสั้น ๆ แปะไว้ อาทิ “ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา” ซึ่งทั้งหมดล้วนสื่อถึงการรณรงค์ต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาภายใน มธ. โดยล่าสุดโปสเตอร์ดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ภายใน มธ. เก็บซะเหี้ยน และสั่งห้ามติดโปสเตอร์ดังกล่าวอีก
หลากหลายเสียงในสังคมล้วนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ และการนำ “เซ็กส์” มาสื่อบนโปสเตอร์ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา และตั้งคำถามว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานกำลังถูกละเมิดหรือไม่ ?
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ “อั้ม เนโกะ” และ “เฟิร์ส” ชาย – หญิง ผู้โพสต์ท่าสยิวในรูปโปสเตอร์ฉาวดังกล่าว เพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมด รวมถึง “วิพากษ์” วาทกรรม “เสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์” ว่า ยังคงมีอยู่จริงใช่หรือไม่ ?
@หลังจากทำโปสเตอร์ออกมาแล้ว มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง
- “อั้ม” : ก็มีทั้งเสียงชม และเสียงด่า เอาตรง ๆ ก็มีการวิจารณ์ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราจะทำให้ทุกคนคิดหรือชอบเหมือนเราหมดก็เป็นไปไม่ได้ และนั่นไม่จุดประสงค์ด้วย
@ขณะนี้สายตาคนใน มธ. มองพวกคุณอย่างไร
- “อั้ม” : ไม่ทราบเหมือนกัน ถามดิฉัน ดิฉันก็ไม่รู้ แต่จากฟีดแบ็กที่บอกมาคือมีทั้งชอบและไม่ชอบ มันก็ไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบมากแค่ไหน แต่ก็เยอะทั้งสองฝ่าย
- “ประเด็นที่ต้องการนำเสนอคือ ต้องการนำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนพื้นที่กระแสหลักของสังคม เพื่อให้สังคมเห็นว่า ความคิดกระแสหลักควรถูกท้าทายและตั้งคำถามได้แล้ว ไม่ใช่มัวแต่กีดกัน หรือว่าถ้าไม่ทำตามที่สังคมบอกก็ผิด เพราะการร่วมเพศไม่ใช่ความผิดใด ๆ ทั้งสิ้น เรื่องทางเพศตราบใดที่ถูกปิดกั้น มันก็เลยเกิดเป็นปัญหาตามมากมากมาย เพราะสังคมไทยยังดัดจริตเกี่ยวกับเรื่องเพศ ยังมองเป็นเรื่องเปราะบาง”
@หลังจากทำออกมาถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ มีคนตระหนักมาก – น้อยขนาดไหน
- “อั้ม” : ถือว่าประสบความสำเร็จ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนสำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น วิชา TU 130 ก็มีการตกลงให้ยกเลิกกฎระเบียบเดิม ซึ่งวิชาดังกล่าวก็มีการบังคับมานานแล้ว แต่ที่ ผศ.ดร.ปริญญา บอกว่าไม่ทราบ ก็ไม่เข้าใจว่าได้ดูแลระเบียบวินัยหรือบรรทัดฐานของกฎในมหาวิทยาลัย มากเพียงใด ไม่เข้าใจทำไมถึงไม่เข้าไปดูแลตรงนี้ ถ้า นศ. ไม่ออกมาเรียกร้อง มาตั้งคำถาม ก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปในหลาย ๆ ปี
- ถามว่า มีคนเคยออกมาต่อต้านในวิชา TU130 หรือไม่ เคยมี แต่เป็นคนกลุ่มน้อย และทาง ม. ก็ไม่ตระหนัก จนกระทั่งเกิดเรื่องให้สังคมขบคิดว่า ชุด นศ. จำเป็นต่อการต้องบังคับให้ใส่หรือไม่ มันถึงเกิดเรื่องเกิดราว
- “ประเด็นไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่ให้เปิดพื้นที่ให้กับคนอื่นที่ไม่ต้องการใส่ชุด นศ. เพราะมันเป็นเรื่องพื้นฐาน ต่อให้คุณไม่แต่งชุด นศ. คุณก็เป็นคนดีได้ ทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยได้ ออกไปเลือกตั้งได้เหมือน ๆ กัน หาใช่ว่าการใส่ชุด นศ. ทำให้เราดีกว่าบุคคลอื่น มีความเรียบร้อยกว่าบุคคลอื่น มันไม่ใช่”
- “เฟิร์ส” : ก็คิดว่าประสบความสำเร็จ เพราะวิชา TU130 ก็ได้รับการแก้ไขแล้ว และเร็ว ๆ นี้จะมีการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษาออกมา โดยข้อ 12.3 ระบุว่า ในการเรียนการสอนหรือโอกาสทั่วไปให้นักศึกษาแต่งกายสุภาพ แต่ทั้งนี้สามารถตกลงในชั้นเรียนให้แต่งชุดนักศึกษาได้ หากว่านักศึกษาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นเหตุลงโทษตัดคะแนน หรือเหตุใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อนักศึกษามิได้ แต่ยังไม่ผ่านสภา ซึ่งผมคิดว่าเป็นระเบียบที่ยุติธรรมที่สุดสำหรับนักศึกษา
@หลังจากติดโปสเตอร์ ได้ถูกมหาวิทยาลัยเรียกไปเตือนหรือยัง
- “อั้ม” : ขณะนี้มี ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี กับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ให้ทางคณะติดต่อมาให้ไปคุย เดี๋ยวนัดวันคุยกับทางคณะอีกที ยังไม่ทราบว่าจะมีบทลงโทษ หรือจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ทราบ
@มธ. บอกว่า “มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” แต่เมื่อเรียกร้องสิทธิของ นศ. กลับถูกมองเป็น “อาชญากรรมทางความคิด” มองอย่างไร
- “อั้ม” : มธ. ที่เน้นเรื่อง อุดมการณ์ เสรีภาพ ประชาธิปไตย แต่กลับทำอำนาจเผด็จการซะเอง กลายเป็นว่าคนที่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานกลายเป็นคนที่ก่ออาชญากรรมทางความคิด สังคมไม่ได้รับการยอมรับ ถูกสังคมตีตราว่าเป็นขยะ แต่คนที่ลิดรอนสิทธิผู้อื่น อย่างอาจารย์ที่สอนวิชา TU 130 หรือว่าอาจารย์บางท่านที่ยังบังคับให้ นศ. ใส่ชุด นศ. เนี่ย กลับไม่ได้รับการตักเตือนหรือทำความเข้าใจว่าคุณกำลังริดลอนสิทธิเขา แต่เด็กที่ถูกลิดรอนดันกลายเป็นคนผิด ผิดที่ลืมหูลืมตาขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิทธิเหนือร่างกายของเขาเอง
- เป็นความย้อนแยงใน มธ. ซึ่งก็ยังมีอุดมการณ์บางอย่างของความเป็นไทยที่ยังฝังรากลึกอยู่ มันก็เลยทำให้มีข้ออ้างเหมือนที่ ผศ.ดร.ปริญญา ยกข้ออ้างมาตรา 28 มาว่า สิทธิเสรีภาพสามารถทำได้แต่ต้องคำนึงถึงศีลธรรมอันดีงามของสังคม ก็ขอตั้งคำถามกลับไปเลยว่า ศีลธรรมอันดีงามของสังคม คืออะไร แล้วคนดีเป็นอย่างไร กำหนดไปเลยในรัฐธรรมนูญ ต้องคิดอย่างนี้ ต้องพูดแบบนี้ มีพฤติกรรมแบบนี้ถึงจะเป็นคนดีในสังคม เขียนให้ชัดไปเลย ถ้าอยากจะควบคุมร่างกายพฤติกรรมความคิดของมนุษย์ในประเทศนี้ ให้เป็นคนดีแบบที่สังคมต้องการ
- ถ้าเราคิดแตกต่าง หรือต้องการทวงสิทธิขั้นพื้นฐานกับสังคม กลายเป็นว่าไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่กลับใช้ศีลธรรมความเป็นไทยมาลดทอนค่าของผู้อื่น แล้วอย่างนี้จะเรียกได้ว่า เสรีภาพยังมีอยู่ทุกตารางนิ้ว และเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยจริงหรือ
- “ศีลธรรมอันดีของคุณคืออะไร ถ้าบอกว่าแต่งโป๊ไม่เหมาะกับการเป็นไทย ทำไมถึงไม่ว่าเรื่องวรรณกรรมไทยบ้าง เช่น เรื่องพระอภัยมณี ที่เป็นการร่วมเพศที่พิสดาร สุดแสนจะจินตนาการที่สังคมไทยจะรับได้ ทำไมไม่ออกไปเรียกร้อง หรือว่าความกลวงในวรรณกรรมไทยเป็นสิ่งที่รัฐกำหนดไว้ให้เราเรียน แต่กลายเป็นว่าความโป๊ในสังคมไทย ที่มีอยู่จริง เช่น การมีเซ็กส์ในชุด นศ. กลับกลายเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ทั้ง ๆ ที่คลิปการร่วมเพศในชุด นศ. หรือการใส่ชุด นศ. มาขายตัวเพื่ออัพราคาก็ยังมีอยู่จริงในสังคม”
- ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ในระบอบศักดินา เรามีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิขั้นพิ้นฐาน พร้อม ๆ กับทำหน้าที่การเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปได้ด้วย ปัญหาใช่ว่าเราเรียกร้องสิ่งหนึ่ง แล้วไปทำสิ่งหนึ่ง ดิฉันก็ทำ คนอื่นก็ทำ แต่ทำไมเมื่อมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานกลับกลายเป็นว่าถูกมองเป็นสิ่งแปลกปลอมกับสังคม ตกลงทุกวันนี้เราเป็นประชาธิปไตยกันจริงหรือไม่ ?
@ป้ายที่เขียนเชิง “ภูมิใจที่ใส่ชุดนักศึกษา” มองว่าเป็นวาทกรรมที่ทำให้ชุด นศ. ดูศักดิ์สิทธิ์หรือไม่
- “อั้ม” : จริง และมีมานานมากแล้วด้วย เช่น ใน มธ. ก็แต่งตัวเชิดชูศักดิ์ศรีลูกแม่โดม เป็นต้น มันคือการพยายามบอกว่า ชุด นศ. เป็นภาพแทนของการเป็นคนดี มีระเบียบวินัย เป็นการตีกรอบ จำกัดความคิดแคบ ๆ แค่นั้น แต่ความจริงมันไม่ใช่ คนที่ใส่ชุด นศ. ใช่ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป เห็นได้ว่าในสังคม พวกผู้ใหญ่ก็เคยผ่านการใส่ชุดนักเรียน นศ. มาด้วยกันทั้งนั้น
- “การกล่อมเกลาด้วยการใส่ชุด นศ. จนเชื่อง ไม่ได้ช่วยทำให้คนได้มีระเบียบวินัยจริง ๆ ขึ้นมาเลย กลับกลายเป็นการกดทับทางความคิด เป็นการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ของคุณแสดงออกได้น้อยเพียงไร บางทีบอกว่าไม่ต้องคิด เพราะคิดให้แล้ว ดังนั้นพอคนเราไม่ได้ถูกสอนให้คิดตั้งแต่แรก มันก็เลยไม่สามารถทำให้คนลองผิดลองถูก หรือตั้งคำถามกับสังคม กลายเป็นว่าเราต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐโดยที่เราไม่สามารถลืมตาออกมาได้”
- “เฟิร์ส” : ชุดนักศึกษาไม่ได้เป็นสิ่งสูงค่า ใส่แล้วไม่ได้สูงค่า กลายเป็นเรื่องที่ต่ำช้าหรือเป็นเรื่องอีกมุมมองหนึ่ง ดีเลวได้เหมือนกัน ดังนั้นไม่มีความหมายเลยว่าจะต้องมาบังคับให้ใส่
@นิยามชุดสุภาพคืออะไร
- “อั้ม” : เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล การกำหนดว่าอะไรสุภาพ ไม่สุภาพ โดยใช้บรรทัดฐานใดบรรทัดฐานหนึ่งมาเป็นตัวชี้วัดมันก็เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่การแต่งกายไม่ได้ไปละเมิดใคร ไม่ได้ตบหน้า หรือไปรบกวนใคร ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินว่าเลวหรือดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคลว่า ชอบ ไม่ชอบ
- บางทีสิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานทางจริยศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ต้องเรียนรู้ถึงความหลากหลายในสังคม มหาวิทยาลัยควรเปิดรับสิ่งที่หลากหลาย แปลกใหม่ หาใช่กำหนดว่าคุณต้องสุภาพภายใต้บรรทัดฐานของสังคมไทย ซึ่งส่วนนี้ มันจะโยงไปถึงการใส่รองเท้าแตะว่า มันไม่สุภาพ อยากถามว่าไม่สุภาพอย่างไร รองเท้าแตะไม่ได้ทำให้พื้นสกปรกมากกว่ารองเท้าอื่น แล้วทำไมความสุภาพมันกลายเป็นกรอบมาบังคับได้
- “เหมือนประเด็นเรื่องชุด นศ. ตราบใดที่เราไม่ใส่ คุณก็มีสิทธิ์ที่จะชอบ หรือไม่ชอบ ที่เราไม่แต่งได้ แต่คุณไม่มีสิทธิ์มาบังคับให้เราใส่ หรือภูมิใจไปกับชุด นศ. ของคุณ คุณภูมิใจเราก็ให้พื้นที่กับคุณ แต่คุณไม่มีสิทธิ์บังคับเรา เพราะเราก็ไม่ได้บังคับคุณ”
- แคมเปญนี้คือการออกมาตั้งคำถามกับสังคมให้ตระหนักว่า ทำไมคนที่โดนบังคับและต้องการเรียกร้องกลายเป็นชายขอบของสังคม เรื่องเพศมันถึงเกี่ยวโยงกันเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่พูดออกมาไม่ได้ เพราะตราบใดที่พูดเรื่องเพศ หรือพูดเรื่องไม่ใส่ชุด นศ. ในที่สาธารณะ มันพูดไม่ได้เหมือนกัน ชุด นศ. มีหลายบริบท ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม มันรวมอยู่ในชุด นศ. เพียงแต่อย่าไปปิดกรอบอยู่กรอบเดียวคือกรอบของความเป็นไทย
@ชุด นศ. ถือเป็นการกีดกันเพศทางเลือกหรือไม่ เพราะมีให้เลือกใส่แค่หญิงกับชายเท่านั้น
- “อั้ม” : ใช่ การที่ใช้รูปหนึ่งเป็น โฮโมเซ็กช่วล เพื่อแสดงให้เห็นว่าชุด นศ. กำหนดค่านิยมกรอบโดยเพศชายหญิงเท่านั้น ไม่ได้มีชุด นศ. เป็นกลาง ที่ใครก็แต่งได้ มันเลยกลายเป็นการกดทับทางเพศ ไม่สามารถแสดง Identity หรือตัวตนของเราได้ผ่านเรือนร่างของเรา ตราบใดที่ยังบังคับให้ใส่อยู่ รวมทั้งการบังคับให้ใส่ชุดไปสอบ ก็ยังกดทับความเป็นเพศของเขาอยู่ เพราะสุดท้ายตามบัตรก็เป็นนาย มันก็ขัดแย้งกันแล้ว แทนที่สามารถแต่งชุดตามที่ต้องการได้ แต่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้างพอ แถมกฎหมายก็ยังไม่ถึงไหน
@เห็นว่าโปสเตอร์ดังกล่าว ไม่มีผู้หญิงกล้ามาถ่าย สิ่งนี้สะท้อนอะไร
- “อั้ม” : สะท้อนชัดเจนว่า กลุ่มผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องเป็นหัวขบถ มันน้อยมาก แม้กระทั่งคนที่ออกมาวิพากษ์โครงสร้างของสังคมอย่างคำ ผกา ก็โดนด่าเละ หลายอย่างในสังคมพยายามบอกว่า ผู้หญิงที่ตระหนักในสิทธิของตัวเอง ออกมาวิพากษ์สังคม คือผู้หญิงที่หลุดออกจากกรอบโครงสร้างของสังคมไทยแบบเดิม ๆ โดนประนาม โดนหยามเหยียด เพราะหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมไทยคือเป็นแม่และเมียที่ดี ไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย
- ดังนั้น การที่เราตระหนัก ที่จะวิพากษ์การเมือง มันเหมือนการปลดแอกกรอบของสังคมไทย ที่มันกดทับทางเพศ กดทับทางการเมือง ของความเป็นเพศหญิง ของความเป็น Feminist รวมไปถึงเพศทางเลือกที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองก็เป็นการปลดแอกอย่างหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่า การที่ออกมาพูดเรื่องการเมือง พูดโครงสร้างที่ขัดต่อศีลธรรมพื้นฐานของสังคม ซึ่งในไทยยังไปไม่ถึงไหน กับกลายเป็นว่าใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต เพราะว่าสังคมไทยเราอยู่อย่างนี้มาตั้งแต่เกิด เมื่อก่อนก็อยู่กันได้ แล้วทำไมถึงมีปัญหา ทั้ง ๆ ที่สังคมไม่ได้ทำความเข้าใจกับเขาเลย
- “นี่คือการท้าทายโครงสร้างของสังคม ว่าผู้หญิงโดนกดทับมากน้อยแค่ไหน ดิฉันก็เลยออกมาถ่ายภาพโปสเตอร์นี้ว่า ขอแสดงจุดยืนว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเพศทางเลือกว่า ฉันไม่ใช่ชายขอบ ฉันเป็นมนุษย์คนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการให้สังคมเปิดพื้นที่กว้างให้แก่ฉัน โดยเฉพาะในเรื่องการกดทับด้านสิทธิของนักศึกษา มันก็โยงกับสิทธิการกดทับอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่สามารถแสดงออกได้”
@ปัจจุบันสภาพสิทธิเสรีภาพใน มธ. เป็นอย่างไรบ้าง
- “อั้ม” : รู้สึกว่ามันยังไม่มีเสรีภาพมากพอ คือมันสามารถไปแต่งชุดทั่วไปเรียนได้ก็จริง แต่ถามว่าเขาตระหนักที่จะเรียกร้องสิทธิด้านอื่น ๆ ไหม เช่น สิทธิสังคม การแก้ไขกฎหมาย ความไม่เป็นธรรมในสังคม คือสังคม มธ. ก็มี แต่น้อยมากที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะ นศ. มธ. ก็ไม่ต่างอะไรกับชนชั้นกลางทั่วไป ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ผิด
- แต่เรื่องการแอ็คทีฟด้านตระหนักสิทธิแค่ไหน ก็ระดับเฉย ๆ และคิดว่าสิทธิที่ตัวเองมีคิดว่าโอเคแล้ว แต่ยังมีบางส่วนในสังคม มธ. ยังถูกกดทับ และบังคับอยู่ ซึ่งเขาไม่มองตรงนี้เลย เพราะ มธ. ยังมีอำนาจเผด็จการตรงนี้อยู่ แถมยังมีแคมเปญมาชี้ถูกชี้ผิดว่าการแต่งกายชุด นศ. ถึงจะดี
- “ถ้ามีเสรีภาพจริง ทำไมสังคมต้องมาชี้นำว่า ทำอย่างนี้ผิดหรือถูก แต่ไม่ได้ทำให้สังคมออกมาตั้งคำถามและคิดเองเลยว่า ทำไมคุณถึงมาคิดแทนชั้น ทำไมไม่ถามดิฉันก่อนว่าจะคิดอย่างไร”
- “เฟิร์ส” : ผมว่ามันก็มีเสรีภาพอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ถามว่าถูกคุกคามหรือไม่ก็ไม่ถูกคุกคามเท่าไหร่ คือมันมีสิทธิที่เราสามารถเรียกร้องได้ ฉะนั้น นศ. ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่ว่าเขาจะกล้าเรียกร้องหรือเปล่า คือถ้าผมเจอผมก็จะเรียกร้องไปเรื่อย ๆ