รู้จัก PERMAS องค์กรนักศึกษาชายแดนใต้ เปิดพื้นที่ขับเคลื่อนอนาคต "ปาตานี"
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของ "องค์กรนักศึกษา" เป็น "ผู้เล่น" หนึ่งในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และดูเหมือนจะเป็น "ผู้เล่น" ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงด้วย
การรวมตัวประท้วงเมื่อเพื่อนนักศึกษาถูกจับตามกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นปรากฏการณ์ที่มองเห็นและเป็นข่าวอยู่เนืองๆ แต่ล่าสุดเมื่อ 20 เม.ย.2556 กลุ่มนักศึกษาขยายปริมณฑลไปประท้วงให้ปล่อยตัวครูสาวตาดีกาที่ถูกเชิญตัวไปซักถามข้อมูลเหตุระเบิด
หลายคนมองอย่างไม่เข้าใจว่า เหตุใดเวลาชาวบ้านตาย หรือทหารถูกโจมตีจนต้องพลีชีพ นักศึกษาไม่เคยออกมาประท้วงกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงบ้าง...
บางฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจึงสรุปฟันธงว่ากลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวสอดรับกับแนวทางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน สื่อบางแขนงก็หยิบไปนำเสนอข่าวทำนองว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นปีกหนึ่งของ "บีอาร์เอ็น" จนเกิดการประท้วงบอยคอตกันวุ่นวายเมื่อเดือน มี.ค.
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาชายแดนใต้ก็ยังคาใจฝ่ายความมั่นคงกับผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนเดิม และคงไม่มีใครไขข้อข้องใจทั้งหมดนี้ได้ หากไม่ใช่ "คนใน" อย่าง อาเต็ฟ โซ๊ะโก อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
แม้ปัจจุบัน อาเต็ฟ จะพ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว แต่เขายังมีบทบาทอย่างสูงในขบวนการนักศึกษาชายแดนใต้ในฐานะ "ที่ปรึกษา" ขององค์กร PERMAS ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และยังเป็น "ตัวเปิด" ขององค์กรที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องทั้งในและนอกพื้นที่ รวมทั้งเวทีต่างๆ ท่ามกลางการจับจ้องของฝ่ายความมั่นคง!
O ทราบว่าองค์กรนักศึกษาที่ชายแดนใต้ปรับโครงสร้างกันขนานใหญ่ รายละเอียดเป็นอย่างไร?
กลุ่มนักศึกษาที่เป็นร่มขององค์กรต่างๆ ในขณะนี้คือ PERMAS หมายถึง สหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี องค์กรนี้แปลงมาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) เดิม ซึ่ง สนน.จชต.เป็นการรวมตัวของสหพันธ์นิสิตนักศึษาแต่ละจังหวัดของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันยุบไปหมดแล้ว เหลือ PERMAS องค์กรเดียว รวมทั้งพีเอ็นวายเอส (กลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ด้วย
วัตถุประสงค์ก็เพื่อเชื่อมตัวแทนนักศึกษาปาตานีทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีนโยบายสำคัญคือ "สาตูปาตานี" หรือ "หนึ่งปาตานี" (นัยยะหมายถึงปาตานีเป็นหนึ่งเดียว) องค์กรฐานของ PERMAS มี 30-37 องค์กร ทั้งองค์กรที่เป็นอิสระและองค์กรที่เป็นสโมสรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ต้องเป็นปาตานี
โครงสร้างใหญ่ๆ มีประธาน 1 คน มีรองประธาน 4 คน ดูแลงานด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ฝ่ายจัดขบวนนักเรียน มุ่งไปที่นักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 2.ฝ่ายจัดขบวนนิสิตนักศึกษา มุ่งไปที่คนเรียนระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 3.ฝ่ายจัดขบวนเยาวชน มุ่งไปที่คนอายุ 16-25 ปี แม้จะไม่ได้เข้าสู่การเรียนในระบบก็ตาม และ 4.ฝ่ายสัมพันธ์นอกปาตานี ประสานจัดขบวนทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษา และเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในปาตานี พร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายต่างประเทศไปด้วย การบริหารลักษณะนี้เรียกว่าการบริหารเชิงกลุ่มเป้าหมาย
O ภารกิจหลักของ PERMAS คืออะไร?
งานสำคัญที่เราทำคืองานเชิงรณรงค์ และเรื่อง "สาตูปาตานี" เพื่อสร้างอิมเมจใหม่ของปาตานี สร้างเครือข่ายเพื่อขับเคื่อนงานมวลชน สร้างและจัดตั้งองค์ความรู้ เป็นการทำงานเชิงความคิด และทำงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยมีเลขาธิการ PERMAS เป็นผู้ดูแลเอกภาพภายใน
องค์กร PERMAS จะมีทั้งประธานและเลขาธิการ แตกต่างจากองค์กรนักศึกษาในอดีตที่จะมีเฉพาะเลขาธิการตำแหน่งเดียว การทำงานเป็นแบบสมัชชา ส่วนผมเป็นที่ปรึกษาของ PERMAS
สิ่งที่ PERMAS ทำอย่างชัดเจน คือ ขจัดความกลัวของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้พูดโดยไม่จำกัดแนวคิดหรือติดกรอบของกฎหมาย ไม่ว่าจะเชียร์รัฐ เชียร์บีอาร์เอ็น หรือต้องการเอกราช สามารถพูดได้ผ่านเวทีของ PERMAS เราจัดเวทีที่เรียกว่า "เสวนาปาตานี" ให้กับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงตัวตนในเวทีอื่นได้ นี่คือความพิเศษของเรา
O กระแสตอบรับของเวทีที่จัดเป็นอย่างไรบ้าง?
เราจัดไปแล้ว 20-21 เวที ทุกเวทีมีประชาชนมาร่วมเกิน 1 พันคน ที่ปัตตานี 7 พันคน เราเปิดเวทีให้ทุกคนได้พูด โดยเราเป็นแนวหน้าหากมีปัญหากับใคร เป็นการรวมตัวตนของคนที่คิดว่าเป็นปาตานี หลักการของเราคือประชาธิปไตยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง โดยมีจุดยืนในเรื่องสิทธิมนุษยชนและรักสันติภาพ
O ฝ่ายความมั่นคงมองได้หรือไม่ว่าเวทีลักษณะนี้เป็นการปลุกระดม?
บางเรื่องจะมองในมิติปลุกระดมก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราให้นิยามคำว่าปลุกระดมอย่างไร สำหรับเราคือการให้กำลังใจ ผบ.ทบ.ยังพูดให้กำลังใจทหารได้ ซึ่งคำพูดลักษณะนั้นฝ่ายที่ต่อต้านก็มองว่าเป็นการปลุกระดมเหมือนกัน ฉะนั้นการกระทำของเราก็เป็นมิติเดียวกันกับที่รัฐทำ ผมจึงไม่ปฏิเสธเสียทีเดียวว่าไม่เป็นการปลุกระดม แต่เราปลุกระดมให้ชาวบ้านเลิกกลัวไม่ว่าจะเรื่องอะไร ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่ตนเองคิดได้ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเอกราช
O การเคลื่อนไหวของนักศึกษาถูกมองว่าสอดรับกับขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน?
คนทั่วไปมองว่าเราไม่ขัดแย้งกับขบวนการ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เรามีการวิพากษ์วิจารณ์กันภายในบ้าง เหมือนองค์กรนิสิตนักศึกษาของไทยในอดีตช่วงที่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ามา บางคนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ แต่บางคนก็ไม่ได้เป็น กรณีของเราก็เช่นกัน มีทั้งที่เห็นด้วยและขัดแย้งกับแนวทางของขบวนการ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน แต่คนนอกมองไม่เห็น
เราใช้พื้นที่ PERMAS ในการแลกเปลี่ยนแนวคิด ทุกคนไม่สามารถใช้อาวุธทำให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับตัวเองได้ แต่ใช้พื้นที่ PERMAS ได้ จะเป็นแนวคิดอะไรก็ได้ สุดโต่งก็ได้ เราตอบสนองทุกแนวคิดโดยไม่ใช้อาวุธ
มีข้อน่าสังเกตก็คือ ตั้งแต่เราจัดโครงสร้างองค์กร PERMAS มีคนมาร่วมกับเราเยอะมาก เท่ากับมีการใช้พื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ผลก็คือคนที่ยังเลือกแนวทางใช้อาวุธก็จะลดลง
O แต่บางฝ่ายก็ยังมองว่าองค์กรนักศึกษาเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการ?
นั่นอาจจะเป็นเพราะ 1 ใน 16 ศพที่บาเจาะ (กรณีกลุ่มติดอาวุธบุกโจมตีฐานปฏิบัติการของนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.2556 และถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 16 ราย) มีความสัมพันธ์กับ PERMAS เพราะเป็นนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่ เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่เราสนับสนุนแนวทางทางการเมือง ไม่ได้สนับสนุนการใช้อาวุธ หากใครใช้อาวุธก็ใช้พื้นที่ของ PERMAS ไม่ได้ ถ้าเรารู้ว่าใครใช้ความรุนแรงก็จะให้อยู่ข้างนอก PERMAS
สำหรับคนที่เสียชีวิต 1 ใน 16 ราย ผมไม่ทราบว่ามีการจัดการกันภายในอย่างไร อาจจะเป็นเพราะเขามีเพื่อนใน PERMAS แต่เขาไม่เคยเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของ PERMAS
บางฝ่ายอาจจะพูดได้ วิจารณ์ได้ว่า PERMAS มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ แต่จริงๆ แล้วตัวองค์กรของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรใต้ดิน ไม่ได้เป็นหนึ่งในโครงสร้างของบีอาร์เอ็นตามหรือองค์กรใต้ดินใดๆ
O เนื้อหาการรณรงค์ของกลุ่มนักศึกษา มองได้หรือไม่ว่าเป็นเป้าหมายเดียวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน?
เราชูเรื่องหนึ่งปาตานี แต่ไม่ได้เฉพาะเจาะจง คือเราเปิดให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงปาตานีไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยไม่ใช้อาวุธ แม้แต่แนวคิดเรื่องตั้งรัฐใหม่ ตั้งประเทศใหม่ ก็สามารถพูดได้ในเวทีของเรา
O ฝ่ายความมั่นคงอาจจะมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่ผิดกฎหมาย?
จะมองว่าผิดกฎหมายก็ได้ แต่ PERMAS เลือกทำเพราะเราเชื่อว่าไม่ผิด อย่างน้อยโดยหลักคิดสากลก็ไม่ได้เป็นความผิด
O ทุนในการขับเคลื่อนมาจากที่ไหน?
จริงๆ เราไม่ได้ใช้เงินเป็นหลัก คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมหรือขอให้เราไปจัดเวทีเขามีความคิดทางการเมืองอยู่แล้ว ก็ขอให้เราไปจัด เขาก็ช่วยกันออกทุน ที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานหยิบยื่นทุนให้เราเหมือนกัน แต่เราพยายามพึ่งตัวเอง
O กระแสจากเวทีที่ไปจัด แนวคิดเรื่องตั้งประเทศใหม่มีเยอะไหม?
ผมไม่อยากโกหกสังคมว่าคนที่นี่ไม่ได้คิดเรื่องตั้งประเทศใหม่หรือแบ่งแยกดินแดนตามความหมายหรือความเข้าใจของคนไทยทั่วไป ผมบอกได้เลยว่าคนที่นี่คิด แต่รูปแบบก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะกระจายอำนาจ หรือออโตโนมี (เขตปกครองตนเอง) หรือบางคนก็ต้องการมากกว่านั้น แต่เป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ฉะนั้นออโตโนมีก็ยังดี ก็มีความคิดกันหลากหลาย
ผมอยากบอกว่าสภาวะอย่างนี้จะมีอยู่ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะการปิดกั้นไม่ให้พูด ไม่อย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเหมือนช่วงก่อนปี 2547 รัฐคิดว่าสถานการณ์ดีแล้ว แต่พอสะกิดปุ๊บ ก็มีความรุนแรงปั๊บ ฉะนั้นควรเอาความจริงมาพูดคุย เอาความเป็นไปได้มาคุยกัน และอย่ามองประชาชนในแง่ร้ายมากนัก
ยกตัวอย่างคนที่คิดเรื่องตั้งรัฐใหม่ หากตั้งได้สำเร็จ เชื่อไหมว่ารัฐแรกที่เขาอยากให้ไปตั้งสถานทูตคือไทย ฉะนั้นการต่อสู้ตรงนี้ไม่ใช่มิติความเกลียดชัง แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิของตนเอง สิทธิความเป็นเจ้าของ ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในช่วงนี้บางทีเกิดเพราะการต่อสู้กัน จึงอยากให้รัฐไทยเปิดใจ คนที่ต่อสู้เขาไม่ได้สู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่คนที่นี่ไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย ทั้งๆ ที่ปฏิบัติการทางทหารทำได้ง่ายมากในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย แต่เขาไม่ทำ เขาทำเฉพาะที่นี่เท่านั้น (หมายถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
O บทบาทหนึ่งของกลุ่มนักศึกษาคือการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกจับกุมตามกฎหมายพิเศษ ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วผู้บริสุทธิ์กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะเหยื่อความรุนแรง เหตุใดกลุ่มนักศึกษาจึงไม่ออกมาประท้วงให้บ้าง?
เราไม่ได้ต่อสู้หรือปกป้องแทนขบวนการหรือคนของขบวนการ แต่คนที่ถูกจับเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสต่อสู้หรือไม่มีแม้โอกาสได้พูด ส่วนเรื่องเหยื่อความรุนแรง ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง เหยื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งหมดหรือเปล่า แน่นอนว่าพลเรือนอาจหมายความว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่พลเรือนที่เอื้อให้กับการต่อสู้ไม่ว่าฝ่ายใด ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ ถือว่าไม่ใช่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์สู้รบ
ถ้าครูตาดีกาเป็นสายให้กลุ่มติดอาวุธ แล้วคนพวกนี้ถูกกระทำ เราก็เข้าใจได้ เช่นเดียวกันถ้าครูในโรงเรียนของรัฐทำหน้าที่คล้ายๆ กัน เราก็เข้าใจได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ฉะนั้นต้องดูว่าไม่ว่าครูหรืออุสตาซ (ครูสอนศาสนา) ที่ถูกกระทำ เขาโดนกระทำเพราะความเป็นครูหรือเปล่า และที่สำคัญคือใครเป็นคนกระทำ ที่ผ่านมามีกรณีคาใจเกิดขึ้นหลายกรณี ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ช่วงแรกก็ดี แต่ส่วนใหญ่จะหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะเมื่อเจอตอก็หยุด กรณีแบบนี้หลายกรณีชาวบ้านมักสรุปว่ารัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง
สำหรับชาวบ้านที่ถูกจับกุม มีคำถามว่าทำไมเราไม่ประท้วงเพื่อช่วยชาวบ้าน ผมอธิบายได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีรัฐให้การดูแลอยู่แล้ว และเราไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อช่วงชิงให้ชาวบ้านมาอยู่กับเรา แต่กรณีครูตาดีกาผู้หญิงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (เมื่อ 18 เม.ย.) ใครจะออกมาช่วยเขาถ้าไม่ใช่พวกเรา รวมทั้งนักศึกษาบางส่วนที่ถูกจับด้วย แต่ถ้ารัฐมีคนที่ทำหน้าที่นี้อยู่ เราก็อาจไม่จำเป็นต้องออกมา
สิ่งที่มองกันว่ากลุ่มนักศึกษาออกมาเรียกร้องเพื่อพวกพ้องของตัวเองนั้น จริงๆ แล้วมันน้อยครั้งมาก เทียบกับการดูแลของฝ่ายรัฐกับคนที่รัฐมองว่าเป็นประชาชนที่ไม่ได้มีปัญหากับรัฐ แต่ในพื้นที่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐไม่ได้ดูแลหรือไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐเลย คนกลุ่มนี้จะให้ใครดูแลถ้าไม่ใช่พวกเรา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาเต็ฟ โซ๊ะโก
2-4 การชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักศึกษาล่าสุดกรณีทหารพรานจับครูสาวตาดีกา