- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- ชัด ๆ ล้วงคำชี้แจง‘แบงก์ไอซีบีซี’สวนทาง‘พิชญ์’ปมพันธมิตรธุรกิจลงทุน 4G
ชัด ๆ ล้วงคำชี้แจง‘แบงก์ไอซีบีซี’สวนทาง‘พิชญ์’ปมพันธมิตรธุรกิจลงทุน 4G
ดูชัด ๆ ล้วงคำชี้แจง ‘แบงก์ไอซีบีซี’ ในรายงานผลสอบคณะทำงานฯ ยันไม่เคยแนะนำ ‘กองทุนจีน’ ให้ ‘จัสมิน’ แค่ให้ข้อมูลเบื้องต้น พูดคุยแค่ทางโทรศัพท์ ไม่มีหลักฐานติดต่อ สวนทาง ‘พิชญ์’ ยัน ได้รับการติดต่อมาก่อนเตรียมร่วมลงทุน 3 หมื่นล้าน
ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยกันอยู่ เกี่ยวกับกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทิ้งใบอนุญาตการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ทั้งที่เคาะราคาประมูลสูงสุดถึง 75,654 ล้านบาท โดยยอมให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และถูกเรียกเก็บค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกกว่า 199.4 ล้านบาท
โดยเฉพาะการระบุเหตุผลของนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จัสมินฯ และบรรดาผู้บริหาร ที่ให้ถ้อยคำต่อคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ยืนยันว่า มีการติดต่อกับธนาคารกรุงเทพไว้นานแล้ว
แต่ท้ายสุด ‘ดีล’ ล่ม เนื่องจากมีการเพิ่มเงื่อนไขให้นายพิชญ์ และนายอดิศัย โพธารามิก (บิดานายพิชญ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยในรัฐบาลนายทักษิณ) ค้ำประกันในนามส่วนตัว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงตกลงกันไม่ได้ และหันไปติดต่อธนาคารไอซีบีซี (ของประเทศจีน) แทน แต่ก็ไม่ทันกำหนดชำระเงินค่าใบอนุญาตดังกล่าว
(อ่านประกอบ : เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G)
อย่างไรก็ดีการชี้แจงของนายพิชญ์ และคณะผู้บริหารบริษัท แจส โมบายฯ ค่อนข้างสวนทางกับการเข้าให้ถ้อยคำของตัวแทนธนาคารไอซีบีซี (ประเทศไทย) เกี่ยวกับการร่วมลงทุนในการชำระเงินค่าใบอนุญาตดังกล่าว ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบการเข้าชี้แจงของนายพิชญ์ กับผู้บริหารบริษัท แจส โมบายฯ เทียบกับคำชี้แจงของตัวแทนธนาคารไอซีบีซี (ประเทศไทย) ในรายงานของคณะทำงานฯ พบข้อเท็จจริง ดังนี้
นายพิชญ์ นายปวีณ ชัยปราการ ผอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริษัท แจส โมบายฯ (หนึ่งในทีมงานของบริษัทที่เคาะราคาประมูล) และนายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้มาชี้แจง โดยระบุในส่วนของพันธมิตรทางธุรกิจว่า
ในช่วงแรกมีความตั้งใจว่าจะมีพันธมิตรหลังจากบริษัท แจส โมบายฯ เริ่มดำเนินการในระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นคำแนะนำของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ ได้ติดต่อกับธนาคารไอซีบีซี ซึ่งยินดีสนับสนุนทางการเงินหากบริษัท จัสมินฯ มีพันธมิตรจากประเทศจีน (เป็นการพูดคุยหลังทราบเงื่อนไขค้ำประกันส่วนตัวจากธนาคารกรุงเทพ) และได้ประสานงานกับ China Telecom, China Unicom, Sharing Mobile ซึ่งได้รับการตอบรับจาก China Unicom และทาง ZTE ได้มีข้อเสนอจาก Cerieco จะเข้าร่วมทุน 1 หมื่นล้านบาท
ระหว่างนั้นได้รับการติดต่อจากธนาคารไอซีบีซี แนะนำกองทุน ‘Beijing Xinjinhong Invesment’ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า กองทุนฯ) ได้เสนอเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยจะลงทุนในบริษัท แจส โมบายฯ 49% และเป็นเงินกู้ให้บริษัท จัสมินฯ สำหรับลงทุนในบริษัท แจส โมบายฯ ซึ่งเป็นไปตามคำมั่นที่ให้ต่อผู้ถือหุ้นบริษัท จัสมินฯ ว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน
ทางกองทุนฯ แจ้งขอเวลาดำเนินการซึ่งจะเร่งรัดขึ้นตอนให้ทันกำหนดวันที่ 21 มี.ค. 2559 แต่ในที่สุดก็ได้รับแจ้งว่า น่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือน เม.ย. 2559 ซึ่งไม่ทันกำหนดที่ต้องชำระเงินตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาต
ขณะที่ในการตอบข้อซักถามเพิ่มเติมจากคณะทำงานฯ บริษัท แจส โมบายฯ ยังยืนยันว่า สำหรับการหาพันธมิตรร่วมลงทุนนั้น ไม่ได้มีการติดต่อคู่ขนานกัน มีที่ปรึกษานำเสนอรายชื่อมาบ้างก่อนหน้านี้ แต่เห็นว่าน่าจะมีพันธมิตรในภายหลังตามที่ธนาคารกรุงเทพแนะนำ จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ สำหรับ Huawei นั้น เป็น Supplier ที่ได้คุยไว้ตั้งแต่แรก ส่วนกองทุนฯ ได้ติดต่อในภายหลัง ในระหว่างนั้นมีการติดต่อหลายรายแต่สุดท้ายเลือกที่จะทำข้อตกลงกับกองทุนฯ โดยในการทำข้อตกลงกับกองทุนฯนั้น ได้มีการแจ้งกรอบเวลาและประสานงานโดยตลอด ซึ่งหลายขั้นตอนทำได้อย่างรวดเร็ว
กองทุนฯนี้ดำเนินการตามนโยบายของประเทศจีนที่สนับสนุนให้ลงทุนที่บริษัทที่ซื้อสินค้าจากประเทศจีน โดยทางกองทุนฯ ทราบว่า บริษัท แจส โมบายฯ ต้องชำระเงินภายในวันที่ 21 มี.ค. 2559 ซึ่งช่วงที่มีการประกาศซื้อหุ้นคืน เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2559 นั้น คาดว่าจะดำเนินการต่อไม่ทัน แต่ได้รับการติดต่อจากกองทุนฯ ซึ่งส่งหนังสือมาเป็นภาษาจีน ต้องใช้เวลาแปลหนังสือได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจมาก จึงเร่งติดต่อที่ปักกิ่ง และมีโอกาสดำเนินการได้ทัน ทางกองทุนฯเอง ก็เร่งดำเนินการอนุมัติอย่างรวดเร็ว พยายามเร่งทุกขั้นตอนให้ทันกำหนด จนมาทราบว่าจะยื่น Bank Guarantee ไม่ทันกำหนด เกือบ ๆ 1 สัปดาห์สุดท้าย ซึ่งระหว่างการดำเนินการบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ได้แจ้งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด หากแจ้งแล้วไม่เป็นไปตามที่แจ้งจะเสียหาย และเป็นความลับทางธุรกิจ (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ธนาคารไอซีบีซี (ประเทศไทย) มีนายธานินทร์ วนสุธานนท์ ผอ.อาวุโสฝ่ายบรรษัทธุรกิจสัมพันธ์จีน และนายเสนัชย์ ชวนะ ผอ.อาวุโสฝ่ายกฎหมาย เข้าชี้แจงต่อคณะทำงานฯ ระบุว่า ธนาคารไอซีบีซี (ประเทศไทย) เป็นบริษัทลูกของธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) โดยไม่ใช่สถาบันทางการเงินขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อเพียง 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,950 ล้านบาท) ต่อ 1 โครงการ หากจะอนุมัติสินเชื่อในวงเงินที่สูงกว่านั้น จะต้องดำเนินการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องใช้เลาดำเนินการอยู่พอสมควร
โดยปกติขั้นตอนการพิจารณาขอเจรจาร่วมลงทุนเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศแบบนี้ของแต่ละองค์กรจะไม่แตกต่างกันมาก เริ่มจากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทที่จะร่วมลงทุน รวมถึงผลตอบแทนที่คาดว่าองค์กรของตนจะได้รับ แล้วจึงนำเรื่องเสนอบอร์ดองค์กร ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการของแต่ละองค์กรก็อาจจะแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตามในประเทศจีน ถ้าบริษัทนั้น ๆ ติดต่อและได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแล้ว การจะโอนเงินจำนวนมาก ๆ ระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศจีนโดยในส่วนของการดำเนินการพิจารณาของธนาคารนั้น โดยปกติทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
สำหรับกรณีการเจรจาร่วมลงทุนระหว่างบริษัท แจส โมบายฯ กับกองทุนฯ นั้น นายพิชญ์ เป็นผู้ติดต่อกับทางกองทุนฯเอง ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) ไม่ได้แนะนำกองทุนฯ ให้บริษัท จัสมินฯ แต่อย่างใด แต่เนื่องจากกองทุนฯ ได้ติดต่อไปยังธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท จัสมินฯ และขอให้ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) เป็นที่ปรึกษาให้แก่กองทุนฯ ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) จึงได้ติดต่อมายังธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เพื่อขอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัท จัสมินฯ
โดยในกรณีของบริษัท จัสมินฯ นั้น มีเพียงการมาขอข้อมูลเท่านั้น โดยเป็นเพียงการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนครบกำหนดที่บริษัท แจส โมบายฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเป็นผู้ชนะการประมูล จึงไม่มีเอกสารใดเป็นหลักฐานในการติดต่อ ซึ่งการพูดคุยดังกล่าว เป็นการขอข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการอื่นใด
ดังนั้นในความเห็นของผู้ชี้แจง อย่างไรก็ไม่น่าจะดำเนินการทันวันที่ 21 มี.ค. 2559 แน่นอน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) ยังไม่ได้ตกลงรับเป็นที่ปรึกษาให้กับกองทุนฯ ในการดูแลเรื่องการลงทุนหรือการออกหนังสือค้ำประกันใด ๆ และกองทุนฯ เองก็ยังไม่ได้แต่งตั้งให้ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) เป็นที่ปรึกษาของกองทุนฯ ส่วนธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนด้านข้อมูลตามตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท จัสมินฯ ให้แก่ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) เท่านั้น ไม่มีบทบาทอื่นใดเกี่ยวข้องกันอีก
ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ หากธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) พิจารณาแล้วว่า โครงการมีความน่าสนใจจะลงทุน เนื่องจากเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) จะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการปล่อยสินเชื่อหรือออกหนังสือค้ำประกันเอง ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นเพียงบริษัทลูกที่มีวงเงินไม่สูง การจะค้ำประกันด้วยยอดเงินสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท หรือ 8 หมื่นล้านบาท จะต้องใช้เงินจากธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือคำชี้แจงแบบชัด ๆ ระหว่าง นายพิชญ์ และฝ่ายบริหารบริษัท แจส โมบายฯ ซึ่งสวนทางกับคำชี้แจงของตัวแทนธนาคารไอซีบีซี (ไทย) โดยเฉพาะประเด็น ‘กองทุนฯ’ ที่จะนำมาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 4G แต่ท้ายสุดก็ไม่ทันกำหนด
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ยังอยู่ระหว่างร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยังถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่