ขยายสัมปทานทางด่วน.. เอกชนกลืนเลือดหรือได้ประโยชน์?
"...อย่างไรก็ตามกรณีพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) มิได้มีคดีเดียวของศาลปกครองสูงสุดที่ได้พิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จ่ายค่าเสียหายให้แก่เอกชนผู้ได้รับสัมปทานเท่านั้น หากแต่ยังมีคดีความอีกประมาณ 17 คดี ที่มีมูลค่าสูงถึง 137,517 ล้านบาทยังอยู่ในการพิจารณาของศาล การที่เอกชนยอมกลืนเลือด และยอมลดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสัญญาของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเช่นการทางพิเศษให้เหลือวงเงินพิพาทเพียง 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้ต่อสัญญาไม่ถึง 20 ปี ในทุกสัญญา นั้นนับว่าเอกชนผู้ลงทุนได้รับความเสียหายเสียไม่น้อย และคงไม่มีบริษัทผู้ลงทุนที่ตั้งใจดีและมีสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวมชาติใดในโลกที่จะมีความอดกลั้นอดทน ทำงานกับหน่วยงานของภาครัฐที่ไร้ธรรมาภิบาล ไม่รับผิดชอบ ไม่มีศีล ไม่มีสัตย์ คอยแต่จะละเมิดสัญญา เช่นที่บริษัทผู้ลงทุนที่เข้ามาประมูลอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาได้ถูกกระทำย่ำยีจากภาครัฐและหน่วยงานของรัฐตลอดมาเช่นนี้..."
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.994/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.932/2561 และคดีหมายเลขดำที่ อ.995/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.933/2561 ฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2561 ระหว่าง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (ผู้ร้อง) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) (ผู้คัดค้าน) กรณีกรมทางหลวงมีการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต โดยเส้นทางดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางแข่งขันตามข้อ 16 ของสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด การเปิดใช้ทางยกระดับดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ร้องได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง
ทั้งนี้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการแก่ผู้ร้อง สำหรับปี 2542 จำนวน 730,800,000.- บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามสัญญาข้อ 25.6 ของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059,200,000.- บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามสัญญาข้อ 25.6 ของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (ครบกำหนดวันที่ 19 ธันวาคม 2561) และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง รวมเงินต้นและดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,359,916,478.- บาท
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 รับทราบรายงานผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า เพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการ กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือถูกฟ้องคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม (กทพ.) แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีในศาลปกครองสูงสุด โดยผลของคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนั้น ให้หน่วยงานของรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืออื่นใด จึงมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้นอาจดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้ โดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ และขอให้แจ้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐในกำกับดูแลทราบและถือปฏิบัติต่อไป
จากนั้นทางกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกทพ.กับ BEM และ NECL ตามที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 โดยคณะทำงานฯได้มีการเจรจากับบริษัท BEM อย่างเป็นทางการทั้งหมด 8 ครั้ง ผลการเจรจาล่าสุดได้ข้อสรุปว่า กทพ.จะต่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D) และสัญญาสัมปทานทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด รวม 3 สัญญา เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการถอนฟ้องคดีพิพาททั้งหมด 17 คดี คิดเป็นมูลค่าคดีประมาณ 137,517 ล้านบาท โดยผลการเจรจาครั้งสุดท้ายนี้ยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท โดยไม่มีโครงการลงทุนปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 หรือ “Double Deck” ตามข้อเสนอของ BEM เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะศึกษาเสร็จภายใน 2 ปี
นอกจากนี้ทางบริษัท ฯ ได้ยอมรับข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมืองดเว้นการเก็บค่าผ่านทางด่วนทุกเส้นทางในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามที่ครม.กำหนด ประมาณ 19 วันต่อปี ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน โดยบริษัทฯสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ 10 บาท ในปีที่ 10 (ตามสัญญาฯ กำหนดให้ขึ้นค่าผ่านทางได้ปีละ 1 บาท ปรับขึ้นได้ทุกๆ 10 ปี) สำหรับสรุปผลการเจรจาครั้งล่าสุดนี้ ได้รายงานต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว และจะนำเสนอให้ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบภายในเดือนมกราคมนี้
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแนวทางการยุติข้อพิพาทโดยการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยต่อขยายระยะเวลาสัมปทานทั้ง 3 สัญญาออกไปสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวม 15 ปี 8 เดือน นับจากวันที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C สิ้นสุดลง) โดยไม่มีการลงทุนปรับปรุงทางด่วน (Double Deck) และต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน ต่อสัญญาทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว กระทรวงฯ จะแจ้งให้ กทพ. เร่งเจรจากับบริษัทฯ และส่งผลการเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 และส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 68 ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จก่อนที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
อย่างไรก็ตามกรณีพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) มิได้มีคดีเดียวของศาลปกครองสูงสุดที่ได้พิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จ่ายค่าเสียหายให้แก่เอกชนผู้ได้รับสัมปทานเท่านั้น หากแต่ยังมีคดีความอีกประมาณ 17 คดี ที่มีมูลค่าสูงถึง 137,517 ล้านบาทยังอยู่ในการพิจารณาของศาล การที่เอกชนยอมกลืนเลือด และยอมลดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสัญญาของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเช่นการทางพิเศษให้เหลือวงเงินพิพาทเพียง 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้ต่อสัญญาไม่ถึง 20 ปี ในทุกสัญญา นั้นนับว่าเอกชนผู้ลงทุนได้รับความเสียหายเสียไม่น้อย และคงไม่มีบริษัทผู้ลงทุนที่ตั้งใจดีและมีสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวมชาติใดในโลกที่จะมีความอดกลั้นอดทน ทำงานกับหน่วยงานของภาครัฐที่ไร้ธรรมาภิบาล ไม่รับผิดชอบ ไม่มีศีล ไม่มีสัตย์ คอยแต่จะละเมิดสัญญา เช่นที่บริษัทผู้ลงทุนที่เข้ามาประมูลอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาได้ถูกกระทำย่ำยีจากภาครัฐและหน่วยงานของรัฐตลอดมาเช่นนี้
ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถยุติข้อพิพาทเรื่องทางด่วนในครั้งนี้ได้โดยเรียบร้อยแล้ว ความสุจริตยุติธรรมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะทำให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจทั้งหลายของไทยมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ไม่ฉ้อฉล ไม่ละเมิดสัญญากับคู่สัญญาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เพื่อสร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศให้เป็นที่ยอมรับนับถือของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความเสียหาย จนผู้ลงทุนต้องใช้อำนาจศาลไปบังคับคดีให้อื้อฉาวไปทั่วโลกอย่างที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต ที่คนไทยทั้งประเทศต้องอับอายขายหน้ามาแล้วและไม่อยากจะนึกถึงเลยจนวันนี้
อ้างอิงจาก : https://thaipublica.org/2019/12/exat-bem-23-12-2562/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://siamrath.co.th/n/90372