“เลขาอาเซียน” ติง คกก.สิทธิฯไทย หย่อนแก้ปัญหาคนชายขอบ
“ดร.สุรินทร์”ชี้ความรุนแรงในไทยเกิดจากการละเมิดสิทธิ ติง คกก.สิทธิไทยเลือกทำแต่งานง่าย “ศ.วิทิต”แจงรัฐสภาไทยไม่สนใจสิทธิมนุษยชน มูลนิธิสื่อชาวบ้านเผยชุมชนแตกแยกคือความรุนแรงที่ถูกมองข้ามในจังหวัดชายแดนใต้ “ชนพื้นเมืองมินดาเนา”เล่าวิธีผ่านวิกฤติการเมือง ศาสนา ทรัพยากรชุมชน
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เครือข่ายสิทธิมนุษยชนศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมนานาชาติ “สิทธิมนุษยชนในอุษาคเนย์” ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปาฐกถาพิเศษว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาเน้นการส่งเสริม แต่ไม่ได้ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ดั้งนั้นภายใน 5 ปีจะมีการทวนหลักสิทธิมนุษยชนในอาเซียน รวมทั้งการสร้างความตระหนักให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
ดร.สุรินทร์ ยังกล่าวถึงปัญหาในประเทศไทยว่า ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นต้นมา สาเหตุความขัดแย้งรุนแรงมาจากความไม่ยุติธรรม การเข้าไม่ถึงสิทธิเสรีภาพและการละเมิดสิทธิ ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยมีการเลือกทำงานส่งผลให้การแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นไปได้ยาก
“คณะกรรมการสิทธิฯในประเทศไทย มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ การทำงานมักหลีกเลี่ยงเรื่องที่แก้ไขยากๆ เช่นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาคนชายขอบในชนเผ่าต่างๆในภาคต่างๆ เราต้องช่วยกันเรียกร้องให้เกิดการตื่นตัวของคนที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน”
ด้าน ศ.วิทิต มันตาภรณ์ ประธานร่วมคณะทำงานเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน(ภาคประชาสังคม) กล่าวว่า การนำเสนอรายงานต่อรัฐสภาฯของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ขณะที่เครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการทำงานด้านนี้ อาทิ เอ็นจีโอ ในหลายประเทศถูกคุกคาม ซึ่งในอนาคตควรตั้งคณะกรรมการหลายๆชุด เพื่อเพิ่มประชาธิปไตยและลดอำนาจฝ่ายบริหาร ด้านนโยบายควรให้มีพิมพ์เขียวส่งเสริมการปฏิบัติและบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
“ต้องมีสถาบันที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ต้องมีจุดยืนชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต้องมีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน เพราะปัจจุบันมีแต่ปฏิญญาซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย เราต้องให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิต่างๆมากขึ้น มีเวทีประชาชนในทุกภูมิภาคให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม”
นายริชาร์ด บาร์เบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(กลุ่มละครมะขามป้อม) กล่าวว่าจากการลงพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ พบว่าไม่ได้มีเฉพาะปัญหาความรุนแรงระดับโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่เกิดกับชุมชนด้วย เช่น การนับถือศาสนาที่ต่างกันส่งผลให้คนในพื้นที่ไม่คุยกัน
“จากเด็กที่ไม่คุยกัน แต่ได้มาเรียนรู้ร่วมกันผ่านละคร ทำให้เข้าใจและพูดคุยกันมากขึ้น ที่สำคัญยังนำประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สอดแทรกไว้ในละครด้วย”
ด้านนางสาววัชรฤทัย บุญธินันท์ นักศึกษาปริญาเอก ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าหนังสือเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองชั้น ป.4-6 ของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเนื้อหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่นอกจากใช้ภาษาที่เป็นทางการเข้าใจยาก ยังมีวิธีคิดของคนรุ่นเก่าที่ไม่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
“หนังสือสมัยก่อนจะไม่มีความขัดแย้งเลย บอกแค่ว่าแต่ละคนมีหน้าที่ยังไง แล้วก็อยู่กันอย่างผาสุข มีปัญหาอะไรรัฐบาลช่วย แม้หลักสูตรปัจจุบันจะพูดถึงความขัดแย้ง แต่อธิบายแค่ว่าควรหลีกเลี่ยงยังไง เรากำลังมองความขัดแย้งในเชิงลบ ไม่ดูว่าปัญหาแท้จริงคืออะไร เมื่อไม่เข้าใจก็แก้ปัญหาไม่ได้อย่างที่ยั่งยืน”
ขณะที่ นางอาเย่ อะบูบาก้า กล่าวถึงรูปธรรมการกำหนดอนาคตชุมชนกับการพัฒนา ว่าพื้นที่เขตปกครองตนเองมินดาเนา ประเทศฟิลิปปิน เป็นชนพื้นเมืองนับถือศาสนาอิสลาม ปัญหาการขยายเขตปกครองของรัฐบาลส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทรัพยากร ที่ดิน และศาสนา ขณะที่คนในชุมชนต้องการพัฒนาตามแนวทางที่เป็นอัตตลักษณ์ของตน และต้องการให้คนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาต่างกันยอมรับ หลังจากมีความขัดแย้งในพื้นที่ขั้นรุนแรง เกิดการพูดคุยกับรัฐบาลจนนำไปสู่การเจรจากันโดยมาเลเซียเป็นตัวกลาง จนมีการจัดตั้งเป็นเขตการปกครองพิเศษในปัจจุบัน
“เราต้องการให้คนนอกพื้นที่มีความเคารพในวัฒนธรรม การศึกษาของเรา ซึ่งหลังจากพูดคุยกับรัฐบาลและไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้ จึงปรับเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สร้างสถาบันเศรษฐกิจของตัวเอง” .