เช็ควิกฤตประชากรไทย เข้ายุคคนแก่ แนะครอบครัวปั๊มลูกเพิ่ม
"...ในระหว่างปี พ.ศ.2563-2564 จะเป็นช่วงปีที่มีประชากรผู้สูงอายุเท่า ๆ กับประชากรเด็ก และหลังจากปี 2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าเด็กต่อไปเรื่อย ๆ..."
(ภาพจาก http://bit.ly/127M2h5)
เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้านี้เท่านั้นเอง ที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้
ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในหลาย ๆ มิติที่สำคัญ
ในการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาระดับชาติ ประจำปี 2556 จัดขึ้นที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการนำเสนอผลการศึกษา วิจัย เกี่ยวกับสถาบันครอบครัวไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
มีข้อมูลหลายส่วนที่น่าสนใจ ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมพร้อมปรับตัว หรือเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม แต่สำคัญที่สุด ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
ผลการศึกษาชิ้นนี้ประกอบขึ้นด้วยข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะปี 2553 ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 65.5 ล้านคน เป็นประชากรหญิง 33.4 ล้านคน (51%) ประชากรชายจำนวน 32.1 ล้านคน (49%) ทั้งนี้จากการสำรวจทุก ๆ สิบปี พบว่าอัตราการเพิ่มของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยระหว่างปี 2503-2513 ประชากรเพิ่มร้อยละ 2.7 ต่อปี ระหว่างปี 2533-2543 อยู่ที่ร้อยละ 1.05 ต่อปี และระหว่างปี 2543-2553 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.77
โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คาดประมาณประชากรของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2548-2478 พบว่า โครงสร้างประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุและสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อเด็ก 100 คนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2553 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 7.5 ล้านคน ปี 2563 จะมีจำนวน 11 ล้านคน ปี 2573 จะมี 14.6 ล้านคน และในปี 2578 จำนวน 15.9 ล้านคน โดยในระหว่างปี พ.ศ.2563-2564 จะเป็นช่วงปีที่มีประชากรผู้สูงอายุเท่า ๆ กับประชากรเด็ก และหลังจากปี 2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าเด็กต่อไปเรื่อย ๆ
การมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรนั้น เริ่มตั้งแต่ในระดับครอบครัว จะมีสมาชิกวัยแรงงานที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กและผู้สูงอายุลดน้อยลง ในระดับสังคม เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยแรงงานลดลง ก็จะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในส่วนภาครัฐก็จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น การประกันสังคม การบริการด้านสุขภาพอนามัย และสวัสดิการของผู้สูงอายุต่าง ๆ แต่ในทางกลับกันผู้สูงอายุส่วนใหญ่เหล่านี้ยังมีศักยภาพ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญสำหรับครอบครัว และการเพิ่มผลผลิตทางสังคมและเศรษฐกิจ
เพื่อรับมือกับภาวะดังกล่าว จึงแนะนำให้แต่ละครอบครัว เตรียมความพร้อมของสมาชิกในครอบครัวเสียตั้งแต่วันนี้ โดยวางแผนชีวิตในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ต่าง ๆ เพื่อให้ครอบครัวและชุมชนสามารถดูแลปัญหาผู้สูงอายุได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด
และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองมาดูสถานการณ์ครอบครัวไทยกันบ้าง
ข้อมูลที่สำรวจจนถึงปี 2553 ระบุว่า ส่วนใหญ่ของครอบครัวไทย (52.3%) เป็นครอบครัวเดี่ยว รองลงมาเป็นครอบครัวขยาย (34.5%) โดยเมื่อเทียบข้อมูลย้อนไปพบว่า ครอบครัวเดี่ยวลดลง ในขณะที่ครอบครัวขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า คนไทยไม่ได้ทอดทิ้งผู้สูงอายุเท่าใดนัก หากแต่สามีภรรยาที่มีลูก มีการตัดสินใจมาอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเพื่อให้มีคนคอยช่วยเหลือดูแลลูก และปู่ย่าตายายก็มีคนดูแลด้วย
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยอยู่ เมื่อผลการศึกษาพบว่าในปี 2553 ครอบครัวไทยร้อยละ 23.5 เห็นด้วยในระดับมาก-มากที่สุดว่ามีการทอดทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่ตามลำพังเป็นประจำ ส่วนในปี 2555 ตัวเลขขยับเพิ่มสูงอย่างน่าสังเกตถึงร้อยละ 53.1 เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ผู้สูงอายุในชนบทโดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือจำนวนมากถูกทอดทิ้งให้รับภาระเลี้ยงดูหลาน ทำให้ผู้สูงอายุที่ควรจะได้พักผ่อน ต้องรับผิดชอบดูแลเด็กที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ในขณะที่ตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องการการดูแล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่พ่อแม่ของเด็กไปประกอบอาชีพต่างถิ่น
สถานการณ์นี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย?
นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรวัยเด็กที่ลดลง เพราะปัจจุบันครอบครัวไทยมีบุตรน้อยลง อันเนื่องมาจากค่านิยมในครอบครัวที่แต่งงานกันแต่ไม่ต้องการมีบุตร คู่สามีภรรยาต้องการความมีอิสระเพื่อที่จะมีเวลาให้แก่กันและกันมากขึ้น และเพื่อทุ่มเทการบรรลุจุดหมายในชีวิตและการงานส่วนตัวของแต่ละคน โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นกลางและชนชั้นสูงของสังคม ในขณะที่บางครอบครัวมีความพร้อมทุกด้าน แต่ไม่สามารถที่จะมีบุตรได้
ในการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาระดับชาติครั้งนี้ นักวิชาการเห็นว่า ในเมื่อประชากรผู้สูงวัยเพิ่ม ประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กลดลง ประเทศไทยจึงควรเพิ่มประชากรอย่างเร่งด่วน
“ประเทศไทยต้องการประชากรเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวและการพัฒนาของประเทศในภาพรวม ซึ่งรวมถึงเข้าสู่เออีซี ด้วย แต่ปัจจุบันประชากรไทยเกิดเพียง 8 แสนคนต่อปี และ 1 ใน 3 เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อม ดังนั้นในอนาคตควรมีนโยบายในการส่งเสริมให้ประชาชนมีลูก” นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการ สค. ระบุ
ตอนนี้ประเทศไทยจึงคล้ายสิงคโปร์ ที่ต้องการจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลสิงโปร์มีนโยบายที่ชวนให้ประชาชนผลิตลูกเยอะ ๆ อย่างน่าสนใจ ถ้าถึงวันนั้นประเทศไทยมีนโยบายแบบนั้นบ้าง สถานการณ์ครอบครัวไทยคงคึกคักน่าดู.