"ดร.หัสวุฒิ" จี้ตอบให้ชัด ยุบศาลปกครองประชาชนได้ประโยชน์อะไร
ประธานศาลปค.สูงสุด ชี้แนวโน้มการฟ้องร้องคดีที่มากขึ้น บ่งบอกสังคมกำลังมีปัญหา ระบุชัด ‘ตะเกียงองค์กรศาล’ เท่านั้นที่จะทำให้สังคมซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นขัดแย้ง ระงับลงได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ปาฐกถานำเรื่อง “ประเทศไทยกับระบบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง” ในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ จัดโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ตอนหนึ่งถึง สังคมไทย คนไทยทุกวันนี้ไม่ค่อยฟังใคร ฉะนั้น ทุกคนควรหันกลับมาเรียกร้องและเริ่มต้นที่ตนเอง ซึ่งศาลปกครองก็ทำเช่นนั้นมาโดยตลอด เรียกร้องและตรวจสอบตัวเอง
ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า ศาลไม่มีอำนาจอะไรเลย แม้คนทั่วไปอาจคิดว่าศาลเป็นองค์กรลึกลับ เต็มไปด้วยอำนาจ แต่ในความจริงแล้วศาลเป็นเพียงผู้อำนวยความยุติธรรม ไม่มีอำนาจตรวจสอบเกินเลยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือกรอบคดีที่มีการฟ้องร้อง ทั้งนี้ เพราะศาลไม่ใช่คู่กรณีในข้อพิพาท
ดร.หัสวุฒิ กล่าวถึงจุดอ่อนของศาลปกครอง คือความล่าช้าในการพิจารณาคดี แต่ก็พบว่า ทุกศาลทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาศาลปกครองมีการฟ้องคดีมากขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าประชาชนตื่นตัวในการรักษาสิทธิ์ของตนเอง แม้สถิติจะพบว่า คดีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐที่ผ่านเข้าสู่การพิพากษาของศาลปกครองนั้น รัฐจะเป็นฝ่ายชนะคดีมากกว่า แต่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของศาลปกครองก็ยังมีมากกว่า 90% ทั้งนี้เพราะประชาชนเชื่อมั่นว่า ความยุติธรรมที่ศาลปกครองอำนวยให้นั้นคือความยุติธรรมที่แท้จริง
“แนวโน้มการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองที่มากขึ้นนั้น อาจมองได้ว่า สังคมกำลังมีปัญหา มีความขัดแย้งมากขึ้นทุกที และผมมองเห็น ‘ตะเกียงองค์กรศาล’ เท่านั้นที่จะทำให้สังคมซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นขัดแย้งระงับลงได้ หากมีองค์กรที่ชี้ขาด ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม และเพื่อไม่ให้สังคมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ศาลจะต้องเป็นกลาง ยุติธรรม ขณะที่คำวินิจฉัยต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ”
สำหรับศาลปกครองนั้นจะอยู่ได้หรือไม่นั้น ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า ขึ้นอยู่ผลงานที่มีคุณภาพ คำวินิจฉัยที่มีเหตุผลเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อทุกคดีมีทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ ฝ่ายที่แพ้จึงต้องรู้ว่าแพ้เพราะอะไร มีเหตุผลอย่างไร ตลอด 11 ปีเต็ม ศาลปกครองตัดสินคดีสำคัญๆ หลายคดี เช่นคดีมาบตาพุด หรือคดีประมูลย่านความถี่ 3G ซึ่งขณะนั้นสื่อแบ่งเป็นสองฝ่าย มีทั้งฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้มีการประมูลเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ขณะที่อีกฝ่ายคาดการณ์ว่า ศาลปกครองจะระงับ มีการโจมตีว่าศาลปกครองจะทำลายบ้านเมือง แต่จะมีใครได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดครั้งนั้นอย่างละเอียดหรือไม่
“การที่ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้มีมาตรการชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าการกล่าวอ้างถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย การกระทำทางปกครองต้องถูกตรวจสอบ ไม่ใช่อ้างประโยชน์สาธารณะแล้วทำอะไรก็ได้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองที่บอกว่าปกครองด้วยกฎหมาย ประเทศนี้เป็นนิติรัฐก็เป็นเพียงการอ้างลอยๆ เท่านั้น ส่วนกฎหมายจะดีหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ปธ.ศาลปกครองฯ กล่าวถึงการสรรหาคัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็นตุลาการว่า ได้ตรวจสอบผลงานย้อนหลัง เน้นคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าจำนวน ทั้งนี้ เพื่อให้ผลงานออกมาอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังได้กำหนดให้คุณสมบัติของตุลาการต้องมีความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรมและมีความกล้าหาญ
“การเป็นตุลาการนั้น แม้จะไม่ได้หยิบอาวุธออกไปรบเหมือนกับทหาร แต่ตุลาการจำเป็นต้องมีความกล้าหาญ เพราะเราไม่มีอาวุธอะไรเลย แต่ละคดีที่ต้องตัดสิน ตุลากากรอาจมีภัยอันตรายถึงชีวิต ซึ่งผมเองยังเคยถูกข่มขู่มาแล้ว ลองคิดดูถ้าถูกข่มขู่ว่าจะทำลายตนเองหรือครอบครัว การตัดสินจะเบี่ยงเบนไปได้มากเพียงใด แต่ที่ผ่านมาบ้านเรากลับไม่เคยมองไม่เคยคิดในเรื่องความปลอดภัยของตุลาการ ปล่อยให้เป็นไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”
ขณะที่การพิจารณาคดีของศาลปกครองนั้น ปธ.ศาลปกครองฯ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นศาลในระดับภูมิภาค หรือส่วนใดก็ตาม การพิจารณาคดีมีกลไกการตรวจสอบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น คำกล่าวที่ว่าศาลมีอำนาจมากเกินไปนั้น อยากถามว่าสิ่งที่พูดกำลังสร้างความชอบธรรมอะไร เพื่อที่จะทำอะไร ในเมื่อศาลปกครองเป็นองค์กรที่ประชาชนสัมผัสได้ สร้างจากเงินภาษีของประชาชน เราจึงเป็นเพียงผู้รับใช้ประชาชนเท่านั้น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เราพร้อมที่จะรับ
“ส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีผลกระทบต่อองค์กรศาล จะยุบหรือยุบรวมศาลปกครองนั้น มีข้อกล่าวอ้างมากมาย แต่การที่จะพูดอะไรนั้น ห็นว่าควรต้องมีการชี้หรือยกตัวอย่างให้ชัดเจนว่า ไม่เหมาะสมอย่างไร ทั้งที่เราใช้ความพยายามเป็น 100 ปีกว่าจะมีศาลปกครองขึ้นได้อย่างทุกวันนี้ อีกทั้งในช่วงปฏิรูปการเมือง ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เราก็พยายามพูดถึงการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จนเกิดมีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองขึ้น อยากถามว่ามูลเหตุให้การจัดตั้งองค์กรดังกล่าวหมดไปแล้วใช่หรือไม่ ถึงต้องการเปลี่ยนแปลง และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม คดีปกครองที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หรือคดีที่คั่งค้างจะดำเนินการอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ยุบ ไม่ยุบ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร”
ทั้งนี้ ดร.หัสวุฒิ กล่าวด้วยว่า ศาลปกครองทุกคนพร้อมนิ่ง สงบเงียบ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำ และไม่ว่าพายุแรงแค่ไหน ตลอด 11 ปีศาลปกครองได้ยืดหลักความเสมอภาค เท่าเทียม เพื่อหวังจะอยู่เป็นเสาหลักของบ้านเมือง แต่เมื่อศาลก็คือศาล ศาลก็คือตัวบุคคล จุดอ่อนข้อบกพร่องย่อมมี เราก็พร้อมที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น มีการแต่งตั้งคณะวิชาการขึ้นมาสนับสนุนการทำคดีของตุลาการ เพิ่มความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเป็นกระจกส่องหน้าให้ตัวเราเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้สังคมตรวจสอบ เพราะฉะนั้น เชื่อถือศาลปกครองให้ได้เต็มร้อย