ก.เกษตร ตั้งศูนย์ข้าวชุมชนดันข้าวไทยสู้อาฟต้า และผลักดันหนึ่งอำเภอหนึ่งฟาร์ม 3 จ.ชายแดนใต้
กระทรวงเกษตร ดันโครงการลดผลกระทบอาฟต้า ตั้งศูนย์ข้าวชุมชน 7 พันแห่ง สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาเพิ่มขีดความสามารถข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลก และเร่งผลักดันโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งฟาร์มชายแดนใต้ นำร่อง 3 แห่ง ช่วยเหลือเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกระดับรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาหารท้องถิ่น
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบของการเปิดเขตการค้า เสรีอาเซียน(อาฟต้า) โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งมีถึง 3.7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ว่ากระทรวงจะช่วยเหลือในการพัฒนาศักยภาพ เช่น การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง การลดต้นทุน และยกระดับการผลิตสินค้าคุณภาพ กำหนดมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวด ห้ามไม่ให้มีโรค แมลง วัชพืช และสิ่งเจือปนต้องห้ามเข้าประเทศ รวมทั้งข้าว GMOs ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด โดยมี กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ให้ความช่วยเหลือ และมีโครงการยกระดับการผลิตข้าวสารคุณภาพ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งมีเป้าหมาย 7,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 4,000 แห่ง
ทั้งนี้กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ได้รับ การจัดสรรงบประมาณปี 2549-2552 เป็นเงิน 540 ล้านบาท ปัจจุบันสนับสนุนสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอาฟต้าไปแล้ว 7 รายสินค้า 12 โครงการ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร กระเทียม ปาล์มน้ำมัน ชาและกาแฟ จำนวน 346.64 ล้านบาท และเหลืองบประมาณอีก 273 ล้านบาท กระทรวงได้เตรียมขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้เกษตรกร ไทยและบรรเทาผลกระทบการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะมีต่อเกษตรกรไทยใน อนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวถึง โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งฟาร์มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะเร่งด่วน ซึ่งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ซึ่ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ และดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพปศุสัตว์อย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับท้องถิ่น และยังส่งเสริมเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยวางเป้าหมายสร้างฟาร์มต้นแบบนำร่องระยะแรก 3 ฟาร์ม ใน 3 จังหวัด ๆละ 1 อำเภอ ๆละ 1 ฟาร์ม
ส่วนรูปแบบเป็นฟาร์มผสมผสานเลี้ยงสัตว์หลายชนิด เช่น แพะเนื้อ แพะนม เป็ดเทศ เป็ดไข่ และไก่ไข่ ภาครัฐจะให้คำแนะนำในการพัฒนา-แปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์และสนับสนุนงบประมาณก่อ สร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ แห่งละ 6 ล้านบาท 3 แห่งรวม 18 ล้านบาท ให้กลุ่มเกษตรกร ยื่นขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธนาคารอิสลาม โดยจะต้องจัดตั้งกลุ่ม/สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อประกอบธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อชต.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนเสนอขออนุมัติงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555