"5 คำถาม"กับระเบิดตูมตามที่ชายแดนใต้
"ผมบอกตลอดว่าไม่มีไพร่พลเลว มีแต่แม่ทัพนายกองที่เลว 5 เดือนที่ผ่านมา นราธิวาสมีคาร์บอมบ์ 3 ลูก ผู้การจังหวัดต้องรับผิดชอบ ปี 2548 ถึง ปี 2551 เคยคุมสถานการณ์ได้ ทำไมตอนนี้คุมไม่ได้ ผู้บังคับหน่วยมัวแต่ติ๊ดชึ่งไม่ได้ ต้องอยู่ในพื้นที่ ต้องปิดล้อม ต้องรุก ต้องลุย จากนี้ผมจะลงมาติดตามเอง"
เป็นคำกล่าวของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) รับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2554 ในที่ประชุมบรรยายสรุปคดีคนร้ายจุดชนวนระเบิด "คาร์บอมบ์" บริเวณแฟลตข้าราชการตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
จับความรู้สึกของ พล.ต.อ.อดุลย์ จากถ้อยคำระหว่างบรรทัดข้างบนนั้น ต้องบอกว่า "ฟิวส์ขาด" จริงๆ เพราะการเกิดระเบิดระดับ "คาร์บอมบ์" ถึงในบ้านพักตำรวจ ก็ถือว่าถูก "ลูบคม-เหยียบจมูก" ไม่ต่างอะไรกับทหารถูกโจมตีค่ายนั่นแหละ
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจก็คือ คำพูดอีกตอนหนึ่งของ พล.ต.อ.อดุลย์ เกี่ยวกับการตัดวงจรคาร์บอมบ์และระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้...
"สถานการณ์ตอนนี้ตัวละครน้อยลงแล้ว (หมายถึงกลุ่มก่อความไม่สงบลดจำนวนลง) แต่เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) จึงต้องตัดวงจรคาร์บอมบ์ให้ได้ ต้องลงไปดูเต็นท์รถ อู่ดัดแปลง แหล่งดินระเบิดต้องสกัดให้ได้ เพราะอยู่เฉยๆ ไม่มีทางสกัดได้ คนเป็นนายไม่ทำ มัวแต่สวดมนต์ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เวลานี้ ศชต.ต้องริเริ่ม ต้องทำลายคาร์บอมบ์ให้ได้"
ฟังจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แล้ว น่าสนใจว่าสิ่งที่เขาพูดทั้งหมดนั้น จะว่าไปก็เป็น "งานประจำ" หรือ "งานรูทีน" ของตำรวจอยู่แล้ว แต่เหตุใดถึงปล่อยกันหละหลวมขนาดนี้
และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดสินใจ "เด้งฟ้าผ่า" พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (ผบก.ภ.จว.นราธิวาส) แทบจะทันควันภายหลังปล่อยให้เกิด "คาร์บอมบ์" ใต้แฟลตตำรวจ สภ.ศรีสาคร เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2554
ชำแหละ "กับระเบิดราคาถูก"
อย่างไรก็ดี ข้อข้องใจลักษณะนี้ไม่ใช่มีแต่ พล.ต.อ.อดุลย์ เท่านั้นที่ตั้งคำถาม แต่อดีตนายตำรวจที่เคยดูแลงานด้านวัตถุระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัจจุบันก็ยังช่วยงานอยู่ก็เคยตั้งคำถามเอาไว้กับ "ทีมข่าวอิศรา" เช่นกัน เมื่อครั้งที่ "กับระเบิดแบบเหยียบ" ระบาดอย่างหนักในพื้นที่เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะวันที่ 25 ต.ค.2553 หรือวันครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งคนร้ายวางกับระเบิดแบบเหยียบในสวนยางพาราทั่วทั้งสามจังหวัดไม่น้อยกว่า 26 จุด และระเบิดตูมตามขึ้นถึง 17 จุด มีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บรวมทั้ง "เสียขา" ไปถึง 16 คน
ครั้งนั้น "ทีมข่าวอิศรา" ตั้งคำถามกับอดีตนายตำรวจท่านนี้ โดยเฉพาะเรื่อง "กับระเบิดแบบเหยียบ" และแนวทางการป้องกัน (ซึ่งหลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นรูปแบบการวางระเบิดที่มีความซับซ้อนและพัฒนาเทคนิคการประกอบระเบิดขั้นสูง)
"มันไม่ได้ทำยากอะไรเลย กับระเบิดแบบนี้ต้นทุนไม่ถึง 30 บาท แค่ไปซื้อท่อพีวีซีมา ปิดปลายด้านหนึ่ง แล้วยัดดินระเบิดเข้าไป ต่อสวิทช์ปิด-เปิดแบบสวิทช์ไฟ เอาไปวางไว้ ใครเหยียบก็ตูม มันเป็นระเบิดที่ง่ายมากๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคพิสดารอะไร แต่ปัญหาก็คือทำไมเราป้องกันไม่ได้"
อดีตนายตำรวจท่านนี้ บอกว่า "กับระเบิดแบบเหยียบ" ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งน่าจะหาแหล่งที่มาได้ไม่ยาก
"ท่อพีวีซีที่คนร้ายใช้ประกอบระเบิดมันเป็นชนิดเดียวกันหมด ยี่ห้อเดียวกัน แสดงว่าคนร้ายต้องซื้อมาทีละเยอะๆ แล้วไปตัดแบ่ง เราก็น่าจะตามเช็คได้ว่าซื้อมาจากที่ไหน ร้านขายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่มีกี่ร้าน ร้านไหนที่ขายไอ้ท่อนี่ไปจำนวนมาก หรือสั่งซื้อจำนวนมากก็ไปสอบสวนดู ที่ผ่านมาผมบอกไม่รู้จะบอกอย่างไรแล้ว แต่ก็ไม่มีใครทำ"
ดูเหมือนปัญหาที่ทำให้ พล.ต.อ.อดุลย์ ฟิวส์ขาดกรณี "คาร์บอมบ์" ก็เป็นปัญหาเดิมและเรื้อรังมาตั้งแต่สมัย "กับระเบิดแบบเหยียบ" แล้ว
เปิดสถิติ "คาร์บอมบ์" อาละวาด
ปี 2554 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ปรากฏสัญญาณร้ายของสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเปิดศักราชมายังไม่เต็ม 3 เดือน ก็เกิดระเบิดรุนแรงระดับ "คาร์บอมบ์" ไปแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่
วันที่ 7 มี.ค. บริเวณใต้ถุนแฟลตตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ทำให้รถยนต์เสียหายนับสิบคัน
วันที่ 19 ก.พ. ในย่านสถานบริการคาราโอเกะกลางเมืองนราธิวาส มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย
วันที่ 13 ก.พ. ในย่านเศรษฐกิจกลางเมืองยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 18 คน เพลิงเผาอาคารไม้เก่ากว่า 10 คูหา
นอกจากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. ยังเกิดเหตุ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" บนถนนรัฐคำนึงตัดกับถนนระนอง ใกล้กับห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ในเขตเทศบาลนครยะลา ห่างจากจุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กพ.เพียง 300 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 14 ราย
ก่อนหน้านั้น ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คือวันพุธที่ 29 ธ.ค.2553 ยังมีคาร์บอมบ์ที่หน้าสำนักงานหมวดการทาง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ห่างจากโรงพัก สภ.บาเจาะ เพียง 150 เมตรอีกด้วย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
และยังมีเหตุลอบวางระเบิดที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อเช้าวันที่ 1 ม.ค.2554 ซึ่งเป็นวันแรกของศักราชใหม่ แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี สังกัด ตชด.447 เสียชีวิตพร้อมกับตำรวจ สภ.สุไหงปาดี และยังมีอาสารักษาดินแดน (อส.) กับชาวบ้านได้รับบาดเจ็บอีก 9 คน
สถิติที่เก็บรวบรวมโดย "ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด" หรือ Bomb Data Center ของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) พบว่า รูปแบบการวางระเบิดที่รุนแรงที่สุด ใช้ดินระเบิดจำนวนมากที่สุด คือระเบิดที่ติดตั้งมาในรถยนต์ หรือ "คาร์บอมบ์" ซึ่งตลอดกว่า 7 ปีไฟใต้ เกิดมาแล้วทั้งสิ้น 24 ครั้ง นราธิวาสมากที่สุดถึง 16 ครั้ง
5 คำถามกับระเบิดตูมตามที่ชายแดนใต้
ประเด็นที่ยังคงเป็นคำถาม "คาใจ" ของนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาและประชาชนทั่วไปที่วิจารณ์กันแซ่ดตามร้านน้ำชาทุกซอกมุมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ เหตุใดระเบิดถึงยังเกิดขึ้นได้ถี่ยิบขนาดนี้ ทั้งๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงบอกว่าได้ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ และใช้กำลังพลมากกว่าครึ่งแสน
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมคำถามและข้อสังเกตจากทุกฝ่ายได้ดังนี้
1.ขบวนการลอบวางระเบิด โดยเฉพาะ "คาร์บอมบ์" ต้องเป็นขบวนการใหญ่โตพอสมควร เพราะ "คาร์บอมบ์" แต่ละครั้ง ต้องระเบิดทำลายรถยนต์ซึ่งใช้งบประมาณไม่น้อย ขณะที่ข้อมูลจากตำรวจยะลาระบุว่า คาร์บอมบ์ที่หน้าสำนักงานหมวดการทางบาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2553 คือรถกระบะยี่ห้อมาสด้าคันเดียวกับที่คนร้ายใช้เป็นพาหนะในการดักยิงทหารชุดรักษาความปลอดภัยพระสงฆ์เสียชีวิต 2 นาย ขณะพระออกบิณฑบาตในตัวเมืองยะลาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ปีเดียวกัน แต่คนร้ายนำไปเปลี่ยนสีใหม่
นั่นเท่ากับว่ากลุ่มคนร้ายต้องมีอู่ทำสีรถยนต์ด้วย!
คำถามก็คือเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่เอ็กซเรย์และขึ้นทะเบียนอู่ซ่อมรถและทำสีรถยนต์ทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่อในพื้นที่ หรือใช้มาตรการทางปกครองเรียกเจ้าของอู่ซ่อมรถทั่วสามจังหวัดมาแสดงตัวหรือมอบนโยบาย?
2.รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ทำ "คาร์บอมบ์" และ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นรถที่กลุ่มคนร้ายโจรกรรมมาทั้งจากในสามจังหวัดชายแดนเองและจังหวัดภาคใต้นอกสามจังหวัดชายแดน
แสดงว่าขบวนการโจรกรรมรถต้องใหญ่โตพอสมควร เพราะนอกจากจะขโมยรถได้บ่อยครั้งและจำนวนมากแล้ว ยังมีความสามารถลำเลียงเข้าพื้นที่เพื่อนำไปติดตั้งระเบิด รวมทั้งเคลื่อนย้ายเพื่อนำไประเบิดไปวางได้ตามจุดที่ต้องการด้วย
คำถามก็คือเหตุใดตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถทะลายแก๊งโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในภาคใต้ได้ ทั้งๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ทำงานในพื้นที่อื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร?
3.เมื่อมีการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือซื้อรถมือสองมาประกอบระเบิด กลุ่มคนร้ายจึงต้องมี "แหล่งพักรถ" ซึ่งข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังเป็นอธิบดีอยู่นั้น ได้เคยสืบสวนจนทราบข้อมูลของ "เต็นท์รถ" ที่ร่วมหรือให้การสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบด้วยการเป็น "แหล่งพักรถ" ให้กับกลุ่มขบวนการด้วย อีกทั้งบางกรณีก็นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เก่าที่ "โอนลอย" มาจากเจ้าของเดิมในการก่อเหตุด้วยเช่นกัน
ประเด็นนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งคำถามและข้อน่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ให้ความสนใจตรวจสอบข้อมูลความเคลื่อนไหวของ "เต็นท์รถ" ซึ่งเปิดกันเกลื่อนในพื้นที่มากแค่ไหนและอย่างไร?
4.ระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมดเป็น "ระเบิดแสวงเครื่อง" ซึ่งก็คือระเบิดที่คนร้ายใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประกอบเป็นระเบิด วัสดุหลายชนิดสามารถตามแกะรอยเพื่อหา "ที่มา" ได้ ดังเช่น "ท่อพีวีซี" ที่อดีตนายตำรวจเคยให้แนวทางเอาไว้ หรือ "ดินระเบิด" ที่เป็นยุทธภัณฑ์ต้องแจ้งการนำเข้า ถือครอง และเคลื่อนย้าย
คำถามก็คือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการ "แกะรอยหลักฐาน" ได้ดำเนินการเรื่องนี้จริงจังและต่อเนื่องขนาดไหน บูรณาการกับหน่วยงานข้างเคียงอย่างไร?
5.จากการที่กลุ่มก่อเหตุระเบิดต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีเครือข่ายขนาดใหญ่ในการขนย้ายอุปกรณ์ประกอบระเบิด รวมทั้งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่โจรกรรมมา จึงต้องมีกลุ่มอิทธิพลหรือคนในวงการธุรกิจใต้ดินสนับสนุน
คำถามก็คือ ขณะนี้ในพื้นที่รวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงเองก็พูดถึงปัญหากลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ขบวนการประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และยาเสพติด ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาได้มีนโยบายจัดการกวาดล้างอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน?
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากขบวนการนี้อยู่!
แถมท้ายอีกนิด คือมีหลายคนสงสัยกันว่า การสั่งย้าย พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร จากตำแหน่งผู้การนราธิวาสไปช่วยราชการที่ ศชต.เพราะปล่อยให้เกิดคาร์บอมบ์ถล่มใต้แฟลตตำรวจ รวมทั้งมีเหตุรุนแรงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้น เหตุใดเมื่อครั้งที่คนร้ายปาระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่บริเวณหน้าโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี ขณะตำรวจกำลังเข้าแถวเคารพธงชาติ แล้วจุดระเบิดคาร์บอมบ์ซ้ำในอีก 2 ชั่วโมงถัดมา จนมีกำลังพลเสียชีวิตและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บกว่าครึ่งร้อยเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2553 เหตุใดจึงไม่มีการโยกย้ายผู้การปัตตานี แต่คนที่โดนลงโทษกลับเป็น พ.ต.อ.มนัส ศิกษมัต ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี ที่ถูกย้ายด่วนแทน (และล่าสุดก็กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว)
ทั้งหมดนี้คือข้อมูล ข้อสังเกต และคำถามคาใจผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนมาก ท่ามกลางเสียงระเบิดที่ตูมตามไม่เว้นวัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ซากคาร์บอมบ์บริเวณใต้ถุนแฟลตตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2554 ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. (คนกลางภาพ) เดินทางไปตรวจจุดเกิดเหตุด้วยตนเอง