logo isranews

logo small 2

ค่าจ้าง 300 บาท ไม่ยืดเวลา “เผดิมชัย”ยัน 1 ม.ค. 56 ขึ้นม้วนเดียวจบ

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 21 เมษายน 2555 เวลา 12:59 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

เอกชนย้ำรัฐ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน แนะจัดอบรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เท่ากับค่าแรง วอนรัฐช่วยเหลือ ลดอัตราภาษี พร้อมยืดเวลาจ่ายสมทบประกันสังคม หวังรัฐพิจารณาชะลอขึ้นค่าแรง 70 จังหวัดที่เหลือไปถึงปี 58

วันที่ 20 เมษายน กระทรวงแรงงาน จัดการประชุมหารือ เรื่อง การให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการรองรับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยมีนาย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย  และนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยและ รองประธานด้านประชาสัมพันธ์สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมหารือ ทั้งนี้ มี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เป็นประธาน และนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมรับฟัง

นายธนิต  กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่การขึ้นค่าจ้างมีผลบังคับใช้ ก็มีการติดตามในอุตสาหกรรมต่างๆได้รับผลกระทบโดยพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเข้มข้นนั้นได้รับผลกระทบประมาณ 6.22% จากต้นทุนรวม ในอุตสาหกรรมบริการ 8.70% จากต้นทุนรวม แต่โดยเฉลี่ยทั้งหมดแล้วได้รับผลกระทบประมาณ 4.5% จากต้นทุนรวม

นอกจากนี้ ภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 12% ภาคเหนือประมาณ 10% ภาคใต้ประมาณ 11%  ภาคกลางประมาณ 9 % และภาคตะวันออกประมาณ 5-6% จากต้นทุนรวม

“การขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ตรงกับในช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างย่ำแย่ในหลาย ส่วน  เช่น เศรษฐกิจการส่งออกในตลาดโลกที่มีตัวเลขลดลง ทำให้การแข่งขันการส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้นด้วย รวมทั้งเจอวิกฤตน้ำท่วมอีก จึงเรียกได้ว่าเป็นการกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง อยู่ในอุตสาหกรรมธุรกิจมา 30ปี ครั้งนี้เป็นยุคที่หนักหนา โดยเราก็ยังไม่รู้ว่าจะฟันฝ่าไปได้อย่างไร”

นายธนิต กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมทุกประเภทที่ใช้แรงงานมาก แต่ขายของในราคาตลาดล่าง ที่ค่อนข้างถูก ได้รับผลกระทบทั้งหมด ฉะนั้นอยากให้มีมาตรการเพื่อให้แรงงานมีศักยภาพและมีผลผลิตมาก  และมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรกำหนดไว้ในกฎหมายของกระทรวงแรงงานว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่ ไม่สามารถที่จะกดดันให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ เนื่องจากหากในอนาคตเข้ามาต่างคนต่างหาเสียงขึ้นไปเรื่อยๆ ประเทศไทยอาจจะอยู่ยากลำบาก

ทั้งนี้ในทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีข้อเสนอ 8 ข้อ คือ

1.ให้ชะลอการปรับค่าจ้างให้เท่ากันไปจนถึงปลายปี 2558

2.เพิ่มอบรมทักษะในเรื่องของการลดการใช้พลังงาน

3.การปรับลดภาษีนิติบุคคล หากมีการปรับลงอีกขอให้รักษาส่วนต่างของอัตราภาษีสำหรับ SME ไว้เช่นเดิม

4.ขอต่อเวลาการปรับลดอัตรากองทุนประกันสังคม ไปจนถึงปี 2556

5.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาคนพิการมาทำงาน และชะลอการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน

6.อยากให้มีซอฟโลน ให้เข้าถึงแหล่งทุน

 7.ให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

และ 8.ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน

SME วอนรัฐชะลอขึ้นค่าจ้างใน 70 จังหวัดที่เหลือ 

 ขณะที่ นายสุวรรณชัย กล่าวถึงธุรกิจ ขนาดเล็ก หรือ SME  ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะไม่สามารถที่จะปรับตัวทันได้ เนื่องจาก หลังจากที่มีการขึ้นค่าจ้างมีปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ไม่สามารถการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆหรือแม้กระทั่งการลดค่าใช้จ่าย ได้

ทางออกคือ เราจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า 40% ซึ่งใน ความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมีการปรับราคาขึ้นเป็นลำดับอย่างเหมาะสม และที่สำคัญต้องคิดถึงใจเขาใจเรา” นายสุวรรณชัย กล่าว และว่า  เรา ไม่ได้ติดขัดในเรื่องของการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท แต่ติดในส่วนที่ขึ้นในแบบฉับพลัน ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานั้นแบกรับไม่ไหว

ทั้งนี้ นายสุวรรณชัย กล่าวถึงเสียงตอบรับของผู้ประกอบการใน จังหวัดที่ขึ้นปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว พบว่าผู้ประกอบเริ่มโอดครวญว่าเริ่มไม่ไหวแล้ว  ทั้งนี้ เข้าใจว่าเป็นความหวังดีของรัฐบาล ฉะนั้นควรต้องส่งมอบด้วยความหวังดีด้วย  โดยการ ทยอยขึ้นค่าจ้างและเลื่อนการขึ้นในอีก 70 จังหวัดเป็นปี 2558 โดยให้ 7 จังหวัดนำร่องเป็นตัวทดลอง และนำไปปรับปรุง ต่อไป ทั้งนี้ใน 3 ปี อยากให้เพิ่มเติมการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้แรงงานมีองค์ความรู้มากพอ

สำหรับข้อเรียกร้องของทางธุรกิจ SME นั้น นายสุวรรณชัย กล่าวว่า อยากให้มีการเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจ SME มากกว่านี้ หากต้องการให้ไปลงทุนในต่างประเทศควรมีการทำวิจัยในพื้นที่นั้นเสียก่อน แล้วจึงขับเคลื่อนขยายออกไปอย่างมีแบบแผน รวมถึงอยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาวงเงินกู้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับ SME เพื่อเป็นการต่ออายุในการมีสภาพคล่องในการจัดการ

“หากการขึ้นค่าจ้างเกิดจากการนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ใช้กันมา แล้วทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหามากขึ้นขนาดนี้ ขออย่าให้ การหาเสียงด้วยการขึ้นค่าจ้างเกิดขึ้นอีกเลยในประเทศนี้”

เอกชนย้ำรัฐช่วยส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้าน นายภูมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้จากนโยบายหาเสียงได้กลายมาเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสภาหอการค้าได้ประกาศจุดยืนแล้วว่าจะปฏิบัติตามนโยบายของ รัฐบาล พร้อมทั้งได้ทำข้อเสนอต่อภาครับไว้แล้วว่า หากมีการขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดเช่นนี้จะมีผลกระทบอย่างไร และควรต้องทำอย่างไรบ้าง

“ทั้งนี้ จากมาตรการที่รัฐช่วยเหลือในส่วนของการลดภาษีนั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SME) เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ทั้งนี้รัฐบาลต้องสร้างกองทุนเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ควรจะมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการพัฒนาสำหรับแรงงานแรกเข้า เพื่อให้เข้ามาเพื่อให้มีฝีมือเทียบเท่ากับค่าจ้าง 300 บาทและแรงงานที่มีฝีมืออยู่ก่อนแล้ว”

ส่วนนางฐนิวรรณ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการขึ้นค้าจ้าง 300บาท เพราะด้วยค่าครองชีพในเองนั้น แม้ค่าจ้าง 300 เองก็ยังทำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ทั้งนี้ เมื่อมาดูในส่วนของผลกระทบแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะปรับตัวกันอย่างไร ซึ่งในส่วนของธุรกิจภัตตาคารนั้น จะให้ขึ้นราคาเมนูก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะการจะขึ้นราคาโดยไม่ใส่ใจผู้บริโภคนั้นเป็นไปไม่ได้

“ในเมื่อเป็นนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดในแง่ปฏิบัติทันที  ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้เร็วขนาดนั้น  แม้กิจการขนาดใหญ่ ที่เป็นนิติบุคคลจะไม่กระทบมาก เพราะได้รับลดภาษีไปแล้ว แต่ในส่วนของ SME อีก 1.6 แสนราย  ได้รับผลกระทบ และยังปรับตัวไม่ได้ ซึ่งในส่วนของธุรกิจภัตตาคารค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6 แสนบาท”

นางฐนิวรรณ ถึงสิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลในการเข้าร่วมสมาคมอาเซียนในปี 2558 ว่า อยากให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานของพวกเรา เพราะในส่วนของผู้ประกอบการนั้นหากแรงงานมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้วก็ยินดี ที่จะรับทันที  ซึ่งเรื่องจะต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ

ทั้งนี้ นางฐนิวรรณ ได้เสนอข้อเรียกร้องในการช่วยเหลือในส่วนของสมาคมธุรกิจภัตตาคารไทย ดังนี้ 1.เลื่อนบังคับใช้ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ไปจนถึงปี 2558  2.ขอให้หักค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราร้อยละ 90 จะส่งผลให้จำนวนภาษีกับตัวเลขในส่วนที่เพิ่มเป็นค่าจ้างของพนักงานจะพอดีกัน  3.ขอให้รัฐบาลจัดหาและควบคุมราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารในการออกกิจการธง ฟ้า ตามนโยบายของกระทรวงพานิชย์ 4.จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนในระยะยาวให้กับสมาชิกและผู้ประกอบของสมาคมภัตตาคารไทย 5.ขยายระยะเวลาชำระหนี้ในโครงการสินเชื่อ SME Power เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว  6.ขอลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 1% 7.จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ และ 8.ให้มีการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นคน

รมว.แรงงาน ยัน ขึ้นค่าแรง 300 ทั่วประเทศแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายเผดิมชัย ได้กล่าวภายหลังการหารือถึงความพยายามหาจุดร่วมเพื่อช่วยเหลือกันว่า  ในส่วนของซอฟโลนหรือเงินต่างๆ ซึ่งทางเราก็เห็นใจ ทั้งนี้ เราขึ้นค่าจ้าง เพราะเห็นแก่ค่าจ้างของแรงงาน แต่ก็ทำให้ผู้จ้างเดือดร้อน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่า ไม่ควรขึ้นปีละ 7-8 บาท เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เรื่อย

“คิดว่าขึ้นครั้งเดียวจนกระทั่งถึงปี 2558 ก็ไม่น่าที่จะขึ้นอีกแล้ว วันนี้ภาคเอกชนขอให้ขึ้นแบบขั้นบันได แต่ผมขอแค่ขั้นบันไดเดียว ไม่มีขั้นอื่นอีกแล้ว ขอให้พบกันครึ่งทางเพราะในปี 2558 ที่เราจะเข้าร่วมสมาคมอาเซียนนั้น เราจะทำให้ต่างประเทศมองว่าค่าแรงเราไปไกลแล้ว ทั้งนี้การขึ้นตั้งแต่ปีนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบวางแผนต้นทุนในระยะยาวได้ เพราะจะไม่มีการปรับขึ้นอีก ”

 ในส่วนของการลดภาษี นายเผดิมชัย กล่าวว่า ทางเรามีความพยายามที่จะให้เพดานภาษีนิติบุคคลจาก 25% ให้เหลือ 18% และจาก 15% ให้เหลือประมาณ 8% แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง โดยวันจันทร์ที่ 23 เมษายน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะมาเยี่ยมกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะได้เสนอเรื่องนี้ต่อไป