Applying Filtering

logo isranews

logo small 2

เปิดใจ “คนข่าว ก.พาณิชย์” ผู้ไล่ถาม “บุญทรง-ณัฐวุฒิ” จนมุม “จำนำข้าว”

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 09 กรกฎาคม 2556 เวลา 07:00 น.
เขียนโดย
รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล,พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
หมวดหมู่

“...หน้าที่ของเราคือเปิดโปง อย่างตอนนั้น แม้เราไม่สามารถงัดตัวเลขออกมาได้ แต่สิ่งที่เราทำสำเร็จคือเราทำให้ชาวบ้านได้เห็นกันเองว่า มันมีความผิดปกติแบบนี้อยู่ แล้วมีมากขึ้นทุกที...”

 คลิป “บุญทรง เตริยาภิรมย์” สมัยเป็น รมว.พาณิชย์ หน้าถอดสี หันรีหันขวาง เกาหู-จิบน้ำ เป็นระยะ ขณะที่ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.พาณิชย์ นักพูดชื่อดัง ต้องจำนนถ้อยคำ เมื่อถูกตั้งคำถามเรื่อง “ตัวเลขขาดทุน” ในการแถลงข่าวที่จัดขึ้นเพื่อตอบโต้กระแสข่าวการขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท แต่ท้ายสุด “ข้อมูลสำคัญ” กลับถูกปกปิด-บ่ายเบี่ยง-เลี่ยงจะแพร่งพราย

ได้กลายเป็น 1 ใน “ภาพจำ” ที่คนไทยจำนวนไม่น้อย มีต่อ “โครงการรับจำนำข้าว”

คลิปดังกล่าว ยังทำให้ “สื่อประจำกระทรวงพาณิชย์” ได้รับเสียงชื่นชมต่อสาธารณชน จากการทำหน้าที่แบบ “กัดไม่ปล่อย” ไม่หลงคารมแหล่งข่าวที่พยายามเปลี่ยนประเด็นอยู่ตลอดเวลา มีสติ สมาธิ และตั้งมั่นกับการหาข้อมูลที่ผ่านทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลจาก “นโยบายหมายเลขหนึ่ง” ของรัฐบาลชุดนี้

เราอาจได้ยินเสียงนักข่าวหลายคนนั้นผ่านคลิปที่ได้รับการแชร์-บอกต่อ อย่างแพร่หลาย ช่วงต้นเดือน มิ.ย.2556 แต่น้อยคนจะรู้ถึงเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว...

"สำนักข่าวอิศรา" (www.isranews.org) จึงขอนำข้อมูล-ข้อเท็จจริง จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ผ่านทาง “สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์” ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ กับ “อาภรณ์รัตน์ พูนพงศ์พิพัฒน์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่บอกเล่าผ่านวงเสวนา “สกัดประเด็น ตามรอย…ข้าวสารเน่า ข้าวเปลือกล่องหน” ในการอบรมเชิงปฏิบัติการชุมนุมนักข่าว ประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2556 ที่โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม

โดยการเสวนาดังกล่าว มี “ฑิฆัมพร ศรีจันทร์” หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการ และให้ข้อมูลประกอบเป็นระยะ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น...

“ฑิฆัมพร” เริ่มต้นปูพื้นว่า ทำข่าวการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว ผู้สื่อข่าวต้องตั้งคำถามกับตัวนโยบายก่อน ว่าการรับจำนำข้าวปริมาณมากๆ ในราคาที่สูงเกินจริง มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง รวมทั้งต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ คำสั่ง-นโยบายของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากล

“เราต้องตั้งคำถามว่า ซื้อถูกขายแพง ใครคือผู้เสียประโยชน์ สื่อต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบ โดยอาจค้นหาคำตอบไปเรื่อยๆ เพื่อนำความจริงมาอธิบายกับสังคม” เขากล่าว

“อาภรณ์รัตน์”  เล่าเหตุการณ์ที่ปรากฏในคลิปว่า ในวันนี้ นักข่าวกระทรวงพาณิชย์ อยู่ในภาวะที่ต้องเรียกว่า “ตามหาตัวรัฐมนตรี” เพราะทุกคนอยากรู้ตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว ดังนั้นก่อนสัมภาษณ์ พวกเราต้องค้นคว้าข้อมูล บริบท และปูมหลัง ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้

“เช้านั้น รัฐมนตรีหายไป ทั้งๆ ที่บอกว่าอีก 2-3 ชั่วโมงจะมาแถลงว่า ไม่ได้ขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว เป็นที่มาของการตามหาตัวรัฐมนตรี ถ้าดูจากคลิปยอมรับว่าหลายคนก็มีอารมณ์ เพราะถูกหลอกมาหลายทีแล้ว แต่ด้วยความเป็นนักข่าวเศรษฐกิจ ทุกอย่างจะ base on ตัวเลข เราจึงตั้งคำถามต่างๆ โดยยึดที่ตัวเลข”

“อาภรณ์รัตน์” ยังเล่าว่า วันนั้นเหมือนบุญทรง-ณัฐวุฒิ จะโชคร้ายเล็กๆ เพราะนักข่าวที่มาร่วมงานแถลงข่าวด้วย ต่างก็เป็นผู้ที่เกาะติดเรื่องข้าวมายาวนาน และที่เวียนมาร่วมงานแถลงข่าวพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย

“ยืนยันว่าไม่มีการเตี๊ยมกันว่าใครจะถามอะไร แต่วันนั้นเหมือนทุกคนเสาอากาศจูนตรงกันพอดี ก็เลยมุ่งไปที่คำถามเดียวคือตัวเลขขาดทุนที่แท้จริงเป็นเท่าไร” เธอเล่า

ด้าน “สิริวรรณ” กล่าวว่า การสัมภาษณ์ “2 รัฐมนตรีพาณิชย์” ในวันนั้น ทำให้เสียความรู้สึก ที่รัฐมนตรีไม่ตอบคำถามที่สังคมอยากรู้ ทั้งๆ ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวก็ระบุตัวเลขมาแล้ว พวกเราจึงต้องเตรียมตั้งคำถามโดยเน้นไปที่การหา “ตัวเลข” 3 ตัว นั่นคือ ตัวเลข “การขาย-สต๊อก-ขาดทุน” ว่าที่แท้จริงคือเท่าไร

“แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดสามารถให้ความกระจ่างได้ จึงเป็นที่มาคลิปดังกล่าว ที่ดูเหมือนนักข่าวไล่จี้ ไล่ต้อนรัฐมนตรี ซึ่งจริงๆ สไตล์การถามแต่ละคนจะต่างกัน บางคนจิกจัด บางคนถามตรงๆ” เธอว่า

(ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับ บุญทรง เตริยาภิรมย์ - ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)

การตั้งคำถามที่ทำเอาบุคคลระดับเสนาบดีจนมุม ไม่สามารถหาคำอธิบายที่กระจ่างแก่สังคมได้ ปัจจัยสำคัญที่สุด ย่อมไม่พ้นการที่ผู้สื่อข่าวจะต้องมี “คลังข้อมูล” อยู่ในหัว...

ดังที่ “สิริวรรณ” เล่าว่า เมื่อรัฐบาลนี้ประกาศใช้โครงการรับจำนำข้าว พวกเราก็ต้องกลับมาทำการบ้าน อาทิ ตรวจสอบว่าราคาที่รัฐบาลตั้งไว้สมเหตุสมผลหรือไม่ และผู้มีอำนาจใช้ปัจจัยใดมากำหนดราคา ซึ่งต่างกับสมัยก่อนที่แม้จะรับจำนำเช่นกัน แต่ไม่ได้รับทุกเมล็ดเช่นรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“อาภรณ์รัตน์” กล่าวว่า การทำข่าวเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมี “ข้อมูล-ตัวเลข” ที่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องรู้เท่าทันแหล่งข่าว เช่นที่มีการส่ง รมช.พาณิชย์ ณัฐวุฒิมาร่วมแถลงข่าวด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เราก็มองว่าเป็นเพราะเขาเป็นนักพูด โน้มน้าวเก่ง ดังนั้น ผู้สื่อข่าวต้องเตรียมเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ว่า สิ่งที่ต้องการคือ “ข้อมูล-ตัวเลข”

“ถ้าเขาเบี่ยงประเด็นว่ารัฐบาลชุดนี้ก็ขาดทุนไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ผู้สื่อข่าวต้องมีข้อมูลถามกลับว่าแล้วรัฐบาลชุดนี้ขาดทุนเท่าไร เพื่อให้เขาไปหาตัวเลขที่แท้จริงมายืนยัน” เธอกล่าวถึงวิธีรับมือ

“ฑิฆัมพร” กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญที่ผู้สื่อข่าวต้องมีก็คืออย่าหลงไปกับวาทกรรมการเมือง เช่นคำว่าชาวนาได้ประโยชน์ หรือเขาจะรวยขึ้นทำไมต้องไปขวางเขา นี่คือ “วาทกรรม” แต่สิ่งที่เราต้องการคือ “ข้อมูล” ว่าเป็นอย่างไร กำไรหรือขาดทุน คนได้ประโยชน์จริงไหม

แม้จะไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ กระนั้น “หน้าที่” ของนักข่าว ก็ต้องขุดคุ้ยหาความจริงต่อไปว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบหรือมีจุดที่น่าตั้งคำถามในประเด็นใดอีกบ้าง...

“อาภรณ์รัตน์” อธิบายว่า การทำข่าวเศรษฐกิจ แค่แม่นตัวเลขยังไม่พอ ต้องทำการบ้านด้านอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะจำนำข้าว เพราะ “ข้าว” เป็นพืชการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องช่วย ดังนั้น นอกจากเรื่องตัวเลขกำไรขาดทุนแล้ว เราจะต้องรู้ถึงเรื่องระยะเวลาการผลิต ปริมาณข้าวที่ประเทศเราผลิตได้ วิธีและขั้นตอนการทุจริต ที่สำคัญมีใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้บ้าง

ส่วน “สิริวรรณ” ให้ข้อมูลเพิ่ม เรื่องเบื้องหลังโครงการรับจำนำข้าว “ตันละหมื่นห้า” ว่า

“เราเคยถามรัฐมนตรีบุญทรงนะว่าทำไมต้อง ตันละ 15,000 บาท ซึ่งเขาก็รู้ว่าที่ตั้งราคานี้มันโอเวอร์ไป แต่ก็อธิบายว่าตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริการประเทศใหม่ๆ ก็คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ราคาที่ได้ไม่ต่างจากราคาขั้นต่ำที่ตั้งไว้วันละ 300 บาท เลยเป็นที่มาของโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ตันละ 15,000 บาท ซึ่งการรับจำนำข้าวในราคาที่สูง มันยิ่งเปิดช่อง เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ด้วยก็เลยเห็นว่า ช่วงไหนบ้างที่จะเกิดการทุจริต นับแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จะขึ้นไม่ตรง มีการนำพื้นที่ปลูกอ้อยมาลงทะเบียนว่าเป็นพื้นที่ทำนา โรงสีก็อาจจะโกงน้ำหนักหรือความชื้น แล้วนักการเมืองทำยังไงเวลาขายข้าวในสต็อก เราก็ต้องเขียนข่าวแฉทุกแง่มุม” เธอว่า

ท้ายสุด เมื่อถามว่าสื่อจะสามารถยับยั้งหรือสกัดกั้นการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้หรือไม่ ?

“อาภรณ์รัตน์” มองว่า คงทำไม่ได้ เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่ทิ้งชาวนา ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ ดังนั้น นโยบายนี้ทุกรับบาลต้องทำ แต่จะโกงมากหรือโกงน้อยเท่านั้นเอง หน้าที่ของสื่อคือการเปิดโปงแม้ว่าเราจะเปลี่ยนใครไม่ได้

“หน้าที่ของเราคือเปิดโปง อย่างตอนนั้น แม้เราไม่สามารถงัดตัวเลขออกมาได้ แต่สิ่งที่เราทำสำเร็จคือเราทำให้ชาวบ้านได้เห็นกันเองว่ามันมีความผิดปกติแบบนี้อยู่ แล้วมีมากขึ้นทุกที” เธอว่า

ขณะที่ “ฑิฆัมพร” กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า “สื่อก็เหมือนกับสุนัขที่ทำหน้าที่เฝ้าบ้าน ใครจะเข้ามาขโมยทรัพย์สินในบ้านเรา เราก็เห่าไว้ก่อน แต่จะไปบอกให้เขาเป็นคนดีนะ เราบอกไม่ได้”

 

-ดูคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวได้ที่นี่

ตอนที่ 1 http://youtu.be/IVywypmkF0A

ตอนที่ 2 http://youtu.be/Acc2pycXgFk

ตอนที่ 3 http://youtu.be/aCHx5R258Is