อยากรู้มั๊ย!ลูก“พงศ์เทพ”รมว.ศึกษา เรียนที่ไหน?
ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ นโยบาย“ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”นักเรียนจำนวนน้อยด้อยคุณภาพ ท่ามกลางกระแสคัดค้านในโลกออนไลน์ พร้อมตั้งคำถามลูก“พงศ์เทพ”รมว.ศึกษา บรรดารัฐมนตรี เรียนที่ไหนกัน?
ตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 นายพงศ์เทพยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่ามีบุตรในสมรส 4 คน ได้กรอกรายละเอียดที่อยู่ และสถานศึกษา / ทำงาน ดังนี้
คนโตชื่อ น.ส.ญาภา เทพกาญจนา อายุ 24 ปี ที่อยู่เลขที่ 159/41 ซ.ทรงสะอาด วิภาวดี จตุจักร กทม. FERNOD RICARD HONGKONG COMPANY
คนที่ 2 ชื่อ น.ส.พิริยา เทพกาญจนา อายุ 21 ปี ที่อยู่เลขที่ 159/41 ซ.ทรงสะอาด วิภาวดี จตุจักร กทม. มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ
คนที่ 3 ชื่อ อายุ 17 ปี ที่อยู่เลขที่ 159/41 ซ.ทรงสะอาด วิภาวดี จตุจักร กทม. โรงเรียนบางกอกพัฒนา
คนที่ 4 เด็กหญิงอายุ 12 ปี ที่อยู่และโรงเรียนเดียวกัน
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เกิดจังหวัดสมุทรสาคร พ่อชื่อ “สุรินทร์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส.ส.สมุทรสาคร สังกัดพรรคกิจสังคม แม่ชื่อ “วรารัตน์”อยู่บ้านเลขที่ 1000 ต.วิเชียรโชฎก อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร
จบการศึกษาชั้นชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 35 (เพื่อนร่วมรุ่น นางปรางทิพย์ นพรัมภา ภรรยา นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช) ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต (สอบได้อันดับที่ 2 ของรุ่นที่ 34) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโท Master of Comparative Law จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน
นายพงศ์เทพ ภรรยาชื่อ นางพนิดา เทพกาญจนา (วัธนเวคิน) เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ทั้งสองคนแจ้ง ป.ป.ช. มีทรัพย์สินรวมกัน 2,921,347,996 บาท ไม่มีหนี้สิน
ทั้งนี้ โรงเรียนบางกอกพัฒนาที่บุตรสาวนายพงศ์เทพกำลังศึกษาอยู่ เป็นโรงเรียนนานาชาติ ที่อยู่เลขที่ 643 สุขุมวิท 105 แขวงบางนา เขตบางนา กทม. เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล-ปี 13 มีผู้ให้ข้อมูลในกระทู้ว่าโรงเรียนดังกล่าวค่าเทอมละประมาณ 400,000 บาท (1 ปีมี 3 เทอม)
นายพงศ์เทพในฐานะรมว.ศึกษาธิการกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะทางสังคมออนไลน์กรณีมีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมากและที่ด้อยคุณภาพ ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีทั้งหมด 14,816 โรง น้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 5,962 โรง แยกเป็นโรงเรียน ขนาดไม่เกิน 20 คน 709 โรง จำนวนนักเรียนไม่เกิน 21-40 คน 2,090 โรง และ จำนวนนักเรียนไม่เกิน 41-60 คน 3,163 โรง
โรงเรียนที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีเป้าหมายยุบรวมเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน
คนจำนวนไม่น้อย แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว