logo isranews

logo small 2

ย้อนขัดแย้งใน 'มรภ.พระนคร' จากปลด ผอ.-3 ศพ ดร.! สะท้อนล้มเหลว นักบริหาร?

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 20 พฤษภาคม 2559 เวลา 14:00 น.
เขียนโดย
isranews

ย้อนรอยความขัดแย้งใน 'มรภ.พระนคร' จากปลด ผอ.ศูนย์วัฒธรรม ฯ ร้องอธิการ ฯ ตั้ง กก.สอบ อาจารย์สาวผู้ยื่น ‘บิ๊กตู่’ 57'กรณีเหตุสลดร้อน ๆ ‘3 ศพดอกเตอร์’ สะท้อนความล้มเหลว ของ นักบริหารการศึกษา?

200559 DRkiller 00

กรณีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์ประจำวิทยาลัยการฝึกหัดครู สาขาการบริหารการศึกษา หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ใช้อาวุธปืนสังหาร ผศ.ดร.พิชัย ไชยสงคราม ประธานสาขาวิชาการบริหารการศึกษา หลักสูตรปริญญาโท และ ดร.ณัฐพล ชุมวรฐายี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม พุทธวิชชาลัย เมื่อช่วงวันที่ 18 พ.ค.59 ต่อมา ดร.วันชัย ใช้อาวุธปืนสังหารตัวเองเสียชีวิต เมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ค.59 โดยปรากฏเผยแพร่จดหมายของ ‘ผู้ก่อเหตุ’อ้างว่าเพื่อต้องการแก้แค้นหลังถูกกลั่นแกล้งมานานในหลายกรณี แม้ว่าไม่มีใครทราบชนวนความขัดแย้งอย่างแท้จริงของเหตุการณ์ กระนั้นชี้ให้เห็นว่าปัญหา ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่าง อาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากรและผู้บริหารภายในมหาวิทยาลัยฯ เกิดขึ้น สั่งสม มาอย่างยาวนาน ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว หลายกรณี

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปเฉพาะเหตุการณ์เพิ่งตกเป็นเป็นข่าวในช่วง 2 ปีก่อนหน้ามาเสนอ

1.กรณีความขัดแย้งระหว่าง รศ.ดร.พงศ์ หรดาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร กับ ดร.ภาณุวัชร รุ่งมรกต ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมพระนคร โดยเริ่มต้นมาจาก รศ.ดร.พงศ์ หรดาล สั่งปลด ดร.ภาณุวัชร (ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากอธิการ ฯ คนก่อน) ออกจากตำแหน่ง ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมพระนคร โดย ไม่ผ่านมติกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งที่ คณะกรรมการบริหารศูนย์วัฒนธรรมได้มีมติให้ต่อสัญญาจ้างอีก 1 ปี (1 พ.ค.58-30 เม.ย.59) ดร.ภาณุวัชรได้ร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดย ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ ‘ผู้ร้อง’ รู้เรื่องกรณีการทุจริตภายในมหาวิทยาลัย

พร้อมกับออกมาเปิดโปงว่า มหาวิทยาลัยมีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างหลายรายการ กรณีการจ้างเอกชนมาบริการรับจ้างทำความสะอาด โครงการฝึกประสบการณ์พระนครแกรนด์วิว มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท โดยใช้วิธีพิเศษ ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 วัน                     กรณีการจ้างเอกชนบริการทำความสะอาดโครงการอาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (อาคารพุทธวิชชาลัย) เดิมจ้างเอกชนเดือนละ 97,644 บาท ปรากฏว่าจ้างเอกชนรายใหม่เดือนละ 120,000 บาท แพงกว่าเดิมเดือนละกว่า 22,356 บาท

ขณะที่ ฝ่ายของอธิการ ฯ ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่า สาเหตุพักงาน ดร.ภาณุวัชร เพราะมีเรื่องร้องเรียนถึงความบกพร่อง ส่วนกรณีการจ้างเอกชนมาบริการรับจ้างทำความสะอาดนั้น ทำตามระเบียบพัสดุ แต่เนื่องจาก มีข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงทำให้ต้องดำเนินการเป็นวิธีพิเศษตามระเบียบ คือไม่สามารถจัดให้ประกวดราคาได้ตามปกติ 

ต่อมา ความขัดแย้งบานปลาย ผู้บริหาร ฯ ได้สั่งไม่ให้ ดร.ภาณุวัชร กลับเข้าห้องทำงานที่อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรมพุทธวิชชาลัย และใช้ให้ลูกน้องล็อกกุญแจห้อง ผู้ถูกปลดจึงเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เมื่อ  9 มิ.ย.58   ขณะเดียวกันได้ยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.กรณีการใช้อำนาจโดยมิชอบในการสั่งปลด และฟ้องต่อศาลยุติธรรม

2.ปัญหาระหว่าง รศ.ดร.พงศ์ หรดาล กับ น.ส.ขจิตพรรณ อมรปาน อาจารย์ประจำพุทธวิชชาลัย และกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มรภ.พระนคร (ปัจจุบันเป็นประธาน ฯ) โดยฝ่ายหลังได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครใน 5 กรณี

หนึ่ง กรณีสัญญาเช่าที่ดิน ระหว่างมหาวิทยาลัย ฯ กับวัดพระศรีมหาธาตุ โดยผู้ร้องอ้างว่า ที่ดิน 23 แปลงที่ทำสัญญาเช่าจากวัดพระศรีมหาธาตุ นั้น กรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบพบว่า 9 แปลงเนื้อที่ 34-0-15 ไร่ เป็นที่ดินราชพัสดุ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน มหาวิทยาลัย ฯ เป็นหน่วยงานดูแลและใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว ราคาประเมินปี 2551-2554 จำนวน 585,427,000 บาท เท่ากับมหาวิทยาลัย ฯ ยกที่ดินส่วนหนึ่ง (ที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่มหาวิทยาลัย ฯ ดูแล) ให้วัดพระศรีมหาธาตุ ฯ หรือไม่?

สอง กรณีการขึ้นราคาค่าเช่าร้านค้า และยกเลิกวิธีการชำระเงินสดในการซื้ออาหาร  ทำให้มีผลกระทบต่อนักศึกษา

สาม กรณีลดค่าเช่าห้องประชุม อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพพระนครแกรนด์วิว ให้แก่ ประธานหลักสูตรอบรมโลจิสติกส์ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมี อธิการบดี เป็นคณะกรรมการหลักสูตรโลจิสติกส์ ตามระเบียบของศูนย์วัฒนธรรมพระนคร อธิการฯไม่สามารถใช้อำนาจอนุมัติขอส่วนลดค่าเช่าห้องประชุมดังกล่าวได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

สี่ กรณีการใช้เงินของศูนย์วัฒนธรรมพระนครทั้งระบบ โดยเฉพาะการจัดทำห้องรับรองของอธิการบดี (ชื่อห้องรับรอง “กาซะลอง”) ภายในโครงการอาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพพระนครแกรนด์วิว วงเงินกว่าล้านบาท เดิมบริเวณดังกล่าว เป็นสถานที่สร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย ฯ เมื่อทำเป็นห้องรับรอง ทำให้มหาวิทยาลัย ฯ ขาดรายได้จากการเช่าพื้นที่ และการรับเหมาก่อสร้าง อาจดำเนินการไม่ครบถ้วนตามระเบียบงานพัสดุกองคลังของมหาวิทยาลัย ฯ ผู้รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงห้องรับรองอาจมีความเกี่ยวโยงเป็นเครือญาติฝ่ายที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัย ฯ ด้วยหรือไม่

และ ห้า การจัดซื้อจัดจ้างทำความสะอาดอาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพ วงเงิน 2.2 ล้านบาท และ การจัดซื้อจัดจ้างทำความสะอาดอาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) วงเงิน 1.2 ล้านบาท ที่ใช้วิธีโดยวิธีพิเศษ ซึ่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว (กรณีเดียวกับ ดร.ภาณุวัชร รุ่งมรกต ร้องเรียน)

ต่อมา วันที่ 10 ก.ค. 2558  รศ.ดร.พงศ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในข้อกล่าวหากรณี น.ส.ขจิตพรรณ ไม่ลงชื่อและเวลามาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.-30 มิ.ย. 2558 อันเนื่องมาจาก น.ส.ขจิตพรรณ ไม่ยอมรับคำสั่งย้ายจากการเป็นอาจารย์ประจำพุทธวิชชาลัยไปเป็นอาจารย์สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่ฝ่าย รศ.ดร.พงศ์ ก็ถูกร้องเรียนถอดถอนออกจากตำแหน่งเรื่องยังค้างอยู่ในสภามหาวิทยาลัยซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นนายกสภา ฯ

ล่าสุด เมื่อ 19 พ.ค. 2559 ดร.ภาณุวัชร เปิดเผยว่า กรณีถูกอธิการบดีสั่งพักงานนั้นได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา และคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว ส่วนกรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีผู้ร้องต่อ สตง. ล่าสุด ทาง สตง. มีผลสอบสวนออกมาแล้ว เรื่องที่อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ฯ

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณีความขัดแย้งใน มรภ.พระนคร นั้น เมื่อบุคคลใดขึ้นมาเป็นอธิการ ฯ ก็มักแต่งตั้งพรรคพวก ลูกน้องตนเองเป็นผู้บริหาร ฯ จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งกับอาจารย์ที่ไม่มีเส้นสาย และผู้บริหารบางคนก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดอาจารย์สอน เป็นต้น

ปัญหาความขัดแย้งทั้ง 3 กรณี จึงสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในเชิงการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาของนักบริหารการศึกษา โดยมี ‘ธรรมภิบาล’ เป็นประเด็นหลัก

กระนั้น ฝ่ายที่คิดว่า ‘ถูกกระทำ’ หรือ ‘ไม่ได้รับความเป็นธรรม’ ได้ต่อสู้ ร้องเรียน ผ่าน ‘กลไก’ ภายในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรตรวจสอบ ตลอดจน ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม

แต่ทว่า กรณีเหตุสลดสังหาร 2 ศพ (รวมตัวเอง 3 ศพ) ‘ผู้ลงมือ’ ซึ่งอ้างตามจดหมายว่า ‘ถูกกระทำ’หยามหมิ่นศักดิ์ศรี เลือกใช้วิธี ‘ต่างกัน’ 

เป็นอุทธาหรณ์และเป็นกรณีศึกษาให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง

อ่านประกอบ:

จนท.มรภ.พระนครโร่แจ้งความ ถูก‘อธิการฯ-พวก’ กดดันเซ็นรับมอบงานจ้าง 1.2 ล.

ไขปมมรภ.พระนครจ้างทำความสะอาด 1.2 ล. -3 กก.แย้งขอลาออก-ไม่ตรวจรับ

เปิดบันทึก จนท. มรภ.พระนคร ถึงอธิการฯ เบื้องหลัง ยอมเซ็นตรวจรับงาน 1.2 ล.

จนท.มรภ.พระนครโร่แจ้งความ ถูกอธิการฯ-พวกกดดันเซ็นรับมอบงานจ้าง 1.2 ล.

ดร.พงศ์เปิดห้องแจงปมจ้างทำความสะอาด 1.2 ล.-ยันอดีตผอ.ศูนย์ฯเดินเรื่องเองหมด

เรียงเอกสารดู ‘ม.พระนคร’จ้างทำความสะอาด‘วิธีพิเศษ’ 2.2 ล. 3 วันเรียบร้อย?

ร้องนายกฯ-สกอ.สอบอธิการฯ ม.พระนคร สั่งพักงานมิชอบ -อ้างรู้เห็น‘จัดซื้อจัดจ้าง’

'ดร.พงศ์'เปิดห้องประชุมแจงปมสั่งพักงาน"ผอ."-ยัน 'มรภ.พระนคร'ไร้ปัญหาทุจริต! 

ไขปม‘มรภ.พระนคร’จ้างทำความสะอาด 1.2 ล. -3 กก.แย้ง‘ขอลาออก-ไม่ตรวจรับ’

ปมรื้ออาคาร!เปิดศึก มรภ.พระนคร-วัดพระศรีฯ ส่ง จม.เตือนอธิการฯให้เจรจาใน 15 วัน 

พลิกบันทึก‘เปรื่อง’ไขปัญหาที่ดิน ‘วัดพระศรีฯ-มรภ.พระนคร’ ก่อน‘พงศ์’เซ็นเช่า9.4 ล.

ฉบับเต็ม!หนังสือกรมธนารักษ์ท้วงปมที่ดิน มรภ.พระนคร-ก่อนถูกร้องเอื้อวัดพระศรีฯ

เปิดสัญญาเช่าที่ดินวัดพระศรีฯ 162 ไร่ ชนวนชง สตง.สอบ ‘มรภ.พระนคร’ 

อาจารย์สาวยื่น สตง.สอบ 5 ปมรวด อธิการฯ มรภ.พระนคร-เช่าที่ดินวัดพระศรีฯด้วย

ไทม์ไลน์: มรภ.พระนคร จ้างทำความสะอาด 1.2 ล. 2 ปมเงื่อนที่ยังไม่เคลียร์? 

อาจารย์สาวมรภ.พระนครผู้ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบอธิการฯ ถูกตั้ง กก.สอบวินัยกรณี‘ไม่ย้ายคณะ’

ภาพประกอบ : คมชัดลึก