logo isranews

logo small 2

แกะรอยสารพัดปัญหาสร้างร.ร.โยธินฯใหม่ ใช้งบพันล.ทำไม 5 ปียังไม่เสร็จ?

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 11 กรกฎาคม 2558 เวลา 14:09 น.
เขียนโดย
isranews

แกะรอยปัญหาสร้าง ร.ร.โยธินบูรณะ แห่งใหม่ ใช้งบตอนแรก 965 ล้าน ขีดเส้นเสร็จ ก.ค. 56 ก่อนเผชิญสารพัดทั้งถูกกลั่นแกล้งถมดินในพื้นที่ก่อสร้าง-ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการก่อสร้าง บ.เอ็นแอลฯ ขอใช้มติ ครม. ขอขยายเวลา 2 ครั้ง ของบใหม่ 105 ล้านแก้ปัญหา ล่าสุดขออีก 4 ล้าน ขีดเส้นต้องเสร็จ 20 ม.ค. 59

PIC yotin 11 7 58 2

หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่าการก่อสร้าง ร.ร.โยธินบูรณะ แห่งใหม่ ที่ใช้งบประมาณกว่า 965 ล้านบาท มีปัญหาติดขัดหลายประการทำให้การก่อสร้างล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นการประกวดราคาจ้างที่ล่มถึง 4 ครั้ง แบบแปลนก่อสร้างตอนแรกที่สูงกว่าราคากลางถึง 400 ล้านบาท

นี่ยังไม่นับการตัดสารพัดครุภัณฑ์ประจำโรงเรียน และอาคารถึง 2 แห่ง ออกไปอีก

ถือเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้การก่อสร้าง “รัฐสภาใหม่” ล่าช้าเป็นเงาตามตัว ?

(อ่านประกอบ : สร้างร.ร.โยธินฯใหม่ จัดจ้างล่ม4ครั้ง-แปลนแพง1.4พันล.ชนวนสภาใหม่เสร็จช้า)

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แกะรอยขั้นตอนการก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯใหม่ รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการก่อสร้าง มานำเสนอ ดังนี้

ในสัญญาการก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯ แห่งใหม่ ด้วยวงเงิน 965,500,000 บาท เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2554 มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้รับจ้าง (บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)) เริ่มทำงานภายในวันที่ 15 ส.ค. 2554

และขีดเส้นไว้ว่าต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 2 ก.ค. 2556

อย่างไรก็ดี บริษัท เอ็นแอลฯ ได้เริ่มเข้าทำงานในวันที่ 18 ต.ค. 2554 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 2 เดือน

โดย ร.ร.โยธินฯ อ้างว่า มีบุคคลภายนอกนำรถบรรทุกเทรลเลอร์ รถบรรทุก 10 ล้อ ขนย้ายดินเลนเข้าถ่ายเททิ้งไว้ในพื้นที่ก่อสร้างเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับผังตำแหน่งอาคารและการขอเสาเข็มยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จึงมีการขอขยายเวลาก่อสร้างไปอีก 76 วัน

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมติอนุมัติขยายเวลาได้อีก 74 วัน

เท่ากับว่า ร.ร.โยธินฯ จะต้องสร้างเสร็จในวันที่ 14 ก.ย. 2556

สำหรับปัญหาที่มีบุคคลภายนอกนำดินเข้ามาเทบริเวณพื้นที่ก่อสร้างนั้น ?

“พิชยนันท์ สารพานิช” ผอ.ร.ร.โยธินฯ คนปัจจุบัน ยืนยันสำนักข่าวอิศรา “ไม่ทราบว่าเป็นบุคคลกลุ่มใด หรือจะมีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่”

เมื่อถามว่า “ดิน” ที่ถูกขนย้ายไปเททิ้งในพื้นที่ก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯ มาจากการขุดดินในการก่อสร้าง “รัฐสภาใหม่” หรือไม่ ?

“พิชยนันท์” ยังยืนยันคำเดิมว่า “ไม่ทราบ”

แต่ปัญหายังไม่จบแค่นี้

อย่างที่หลายคนทราบไปแล้ว ในการก่อสร้างครั้งนี้มีการปรับรูปแบบรายการก่อสร้างหลายรายการ โดยการก่อสร้างอาคาร C จำเป็นต้องย้ายห้องประชุมจากชั้นล่างขึ้นไปชั้นบนสุด เพื่อลดราคาค่าก่อสร้างลง และให้คงประโยชน์ใช้สอยไว้

สพฐ. อนุมัติให้ขยายเวลาอีกครั้ง เป็น 180 วัน เท่ากับว่า ต้องสร้างให้เสร็จในวันที่ 13 มี.ค. 2557

ต่อมา บริษัท เอ็นแอลฯ ได้ขอใช้มติคณะรัฐมนตรีที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเวลา 150 วัน

แน่นอน สพฐ. “ไฟเขียว” อีกครั้ง เท่ากับว่า ต้องสร้างให้เสร็จในวันที่ 10 ส.ค. 2557

อย่างไรก็ดี มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการก่อสร้าง อาคาร B และ C โดยมีการเพิ่มงานอีก 16 รายการ และปรับลดงานอีก 8 รายการ

สพฐ. จึงอนุมัติให้ขยายเวลาเพิ่มอีก 80 วัน ซึ่งจะครบสัญญาในวันที่ 29 ต.ค. 2557

ต่อมา บริษัท เอ็นแอลฯ ขอใช้มติคณะรัฐมนตรีในการให้ความช่วยผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อีกครั้ง เป็นเวลา 150 วัน

แต่คราวนี้ สพฐ. อนุมัติเพิ่มให้แค่ 84 วัน เท่ากับว่า ต้องทำให้เสร็จในวันที่ 5 ม.ค. 2558

หลังจากนั้น บริษัท เอ็นแอลฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ตามแบบแปลนก่อสร้างที่ตกลงไว้กับ ร.ร.โยธินฯ โดยส่งมอบงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2558

อย่างไรก็ดีงานที่ส่งมอบนั้นยังขาดงานครุภัณฑ์และระบบสาธารณูปโภค อีก 12 รายการ รวมวงเงิน 105,654,700 บาท เช่น งานระบบโทรทัศน์วงจรปิด งานตกแต่งภายใน งานระบบป้องกันอัคคีภัย โรงอาหารชั่วคราว ครุภัณฑ์ปรับอากาศ โต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน 1,240 ชุด ครุภัณฑ์บันไดเลื่อน เป็นต้น

ทำให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่แก้รัฐสภาได้ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2557 จึงต้องของบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มเติม !

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2557 ร.ร.โยธินฯ ทำหนังสือถึงรัฐสภาเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2557 ทำหนังสือถึงรัฐสภาของบประมาณก่อสร้างโรงอาหารชั่วคราว

และเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ทำหนังสือรายละเอียดประมาณการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติมดังกล่าวให้พิจารณาในรายละเอียด

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2557 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณค่าชดเชยโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เพิ่มเติม

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2558 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือแจ้ง สพฐ. และแจ้งมาที่ ร.ร.โยธินฯ ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ได้รับงบประมาณ 105,654,700 บาท แล้ว และพร้อมจะโอนให้ สพฐ. เพื่อให้ ร.ร.โยธินฯ เริ่มดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง

อย่างไรก็ดีเงินในส่วนนี้ “พิชยนันท์” ระบุว่า ตอนแรกสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ได้โอนเงินไปให้ผิดหน่วยงาน ก่อนจะทราบเรื่องทีหลัง และโอนมาให้กับ สพฐ. จึงทำให้เกิดขั้นตอนความล่าช้าด้วย

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 ดำเนินการหาผู้รับจ้าง ถัดมาอีก 2 วัน (27 ก.พ. 2558) มี “เอกชน” เสนอราคาก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯ ในส่วนงบประมาณเพิ่มเติม

วันที่ 5 มี.ค. 2558 ร.ร.โยธินฯ ทำหนังสือเสนอ รมว.ศึกษาธิการ (พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) แจ้งผลการพิจารณา บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้รับการก่อสร้าง

สำหรับบริษัท เอ็นแอลฯ คือบริษัทเดิมที่ได้รับการก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯ ตอนแรก ด้วยวงเงิน 965 ล้านบาท

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2558 ร.ร.โยธินฯ ได้ทำหนังสือถึง สพฐ. เพื่ออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 4,061,767 บาท

เนื่องจากภายหลัง เลขาธิการสภาผู้แทนฯ และผู้แทนจาก สพฐ. เข้าตรวจเยี่ยม ร.ร.โยธินฯ แห่งใหม่ พบปัญหาอุปสรรคหลายประการ ที่ส่งผลให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ เช่น บันไดอาคาร B ตั้งแต่ชั้น 5 ถึงชั้นที่ 12 มีระยะห่างจากตัวบันไดกับตัวอาคารเป็นช่องว่าง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งราวบันไดยังมีช่องว่างของสแตนเลสที่นำมาทำราวกั้น มีช่องห่างกันพอสมควร อาจทำให้เกิดอันตรายกับนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนได้

นอกจากนี้ประการสำคัญคือ ระบบหม้อแปลงไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งไฟถนนและไฟภายนอก ไม่ได้กำหนดไว้ในรูปแบบรายการ ซึ่งขณะนี้ สพฐ. กำลังพิจารณางบประมาณดังกล่าวเพื่อนำมาปรับปรุงปัญหาอยู่

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2558 พล.ร.อ.ณรงค์ อนุมัติให้ สพฐ. และ ร.ร.โยธินฯ ทำสัญญาจ้างบริษัท เอ็นแอลฯ

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 ได้จัดทำสัญญาก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯ แห่งใหม่ ในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม (105 ล้านบาท)

โดยขีดเส้นให้เสร็จภายใน 20 ม.ค. 2559

อย่างไรก็ดี “พิชยนันท์” อธิบายว่า การเปิดใช้โรงเรียนอาจต้องล่าช้ากว่า 20 ม.ค. 2559 เนื่องจากเมื่อก่อสร้างเสร็จ ตามระเบียบแล้ว ต้องให้คณะกรรมการตรวจรับการจ้าง มาตรวจสอบก่อนประมาณ 15 วัน ดังนั้น อาจจะเปิดใช้ได้ภายในเดือน มี.ค. 2559

ทั้งหมดคือปัญหานานานัปการที่ทำให้การก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯ แห่งใหม่ เสร็จไม่ทันตามกำหนดที่วางแผนไว้ว่าจะเปิดตั้งแต่เดือน ก.ค. 2556

ดังนั้นต้องจับตาดูว่าท้ายสุดแล้วต้นปี 2559 ร.ร.โยธินฯ แห่งใหม่จะสร้างเสร็จตามแผนงานที่วางเอาไว้หรือไม่

เพราะต้องไม่ลืมว่า เป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้การก่อสร้าง “รัฐสภาใหม่” ล่าช้าอยู่ในขณะนี้ !

อ่านประกอบ :
งบพันล.สร้างร.ร.โยธินฯใหม่ไม่ทัน! ขอเพิ่มอีก105ล.-ชนวนสภาใหม่เสร็จช้า?

ไม่ใช่แค่105ล.!โยธินฯขอเพิ่ม4ล.ปรับปรุงร.ร.ใหม่ เหตุยังไม่ติดไฟ-บันไดอันตราย
ผอ.โยธินฯยันร.ร.แห่งใหม่เปิดใช้มี.ค.59-พบแปลนก่อสร้างเกินราคากลาง400 ล.

เปิดรายงาน “มหาดไทย” เทียบคำพูด “จเร”ไฉน“รัฐสภาใหม่”สร้างช้านับปี? 
ทำงานช้า-ใช้งบมาก! “ครม.บิ๊กตู่”บี้สร้าง“สภาใหม่”ให้เสร็จโดยเร็ว
ไม่ใช่แค่ร.ร.โยธินฯ! กทม.ได้ด้วยงบเพิ่ม42ล.ปมสร้างสภาใหม่-ก่อนครม.ไล่บี้

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบพื้นที่สร้าง ร.ร.โยธินฯ ใหม่ จาก ASTVmanager