สร้างร.ร.โยธินฯใหม่ จัดจ้างล่ม4ครั้ง-แปลนแพง1.4พันล.ชนวนสภาใหม่เสร็จช้า
เจาะสัญญาก่อสร้าง ร.ร.โยธินฯใหม่ พบประกวดราคาจ้าง 5 ครั้ง ล่ม 4 ครั้ง! ก่อนเซ็นสัญญากับ "บ.เอ็นแอลฯ" ตัดทิ้งเหี้ยน อาคาร 2 หลัง อุปกรณ์อัคคีภัย โต๊ะนักเรียน 1.2 พันชุด ระบบไฟฟ้า ปรับอากาศ แปลนก่อสร้าง 1.4 พันล้าน แพงกว่าราคากลาง 400 ล.
ถือเป็นหนึ่งในข้อสงสัยของใครหลาย ๆ คน
กรณีการก่อสร้าง “รัฐสภาใหม่” ล่าช้ากว่าเดิมเกือบปี ตามคำยืนยันของ “โชติจุฑา อาจสอน” วิศวกรโครงการ เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนยังไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม รวม 8 ไร่
หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อของ “โรงเรียนโยธินบูรณะ”
สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ “จเร พันธุ์เปรื่อง” เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ทำขึ้นเรียนต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “ปัจจุบัน โรงเรียนโยธินฯ ไม่สามารถก่อสร้างโรงเรียนได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งหากรัฐสภาไม่สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จะไม่สามารถก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และไม่อาจส่งมอบพื้นที่ให้กับรัฐสภาได้”
โดยโรงเรียนโยธินฯ ได้ของบประมาณเพิ่มเติม 105 ล้านบาท เพื่อต่อเติมอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย บันไดเลื่อน ฯลฯ อีกหลายรายการ ที่พบว่าไม่มีการติดตั้งไว้ดูแลเด็ก
(อ่านประกอบ : งบพันล.สร้างร.ร.โยธินฯใหม่ไม่ทัน! ขอเพิ่มอีก105ล.-ชนวนสภาใหม่เสร็จช้า?)
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ “พิชยนันท์ สารพานิช” ผอ.โรงเรียนโยธินฯ คนล่าสุด ยืนยันว่า “ก่อนหน้านี้ที่เกิดความล่าช้า ไม่ทราบในรายละเอียด”
ก่อนอธิบายว่า เพิ่งเข้ามาภายหลังมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างกันแล้ว และที่จำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติม 105 ล้านบาท เนื่องจากอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเหล่านั้น ยังไม่มีการติดตั้ง
และไม่รู้สาเหตุว่า ทำไมถึงมีการ “ตัดทิ้ง” อุปกรณ์เหล่านี้
(อ่านประกอบ : ผอ.โยธินฯยันร.ร.แห่งใหม่เปิดใช้มี.ค.59-พบแปลนก่อสร้างเกินราคากลาง400 ล.)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำสัญญาการก่อสร้าง “ฉบับโรงเรียนโยธินฯ” มานำเสนอให้เห็นกัน ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับเงินชดเชยจากรัฐสภา เพื่อนำมาสร้างโรงเรียนโยธินฯแห่งใหม่ มูลค่า 1 พันล้านบาท
โดยโรงเรียนโยธินฯ ทำประกวดราคาจ้างก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ถึง 5 ครั้ง (วิธีพิเศษ 1 ครั้ง) จึงมีบริษัทเอกชนเข้ามาเสนอราคา ได้แก่
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2553 ไม่มีผู้มายื่นซองเสนอราคา เนื่องจากระยะเวลาในการก่อสร้างน้อยไป (300 วัน) รวมถึงราคาก่อสร้างน่าจะเกินราคากลาง (1 พันล้านบาท)
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2554 โดยปรับแก้ขอบเขตของงาน (TOR) เพิ่มระยะเวลาก่อสร้างเป็น 400 วัน ปรากฏว่า ยังไม่มีผู้มายื่นซองเสนอราคา
ครั้งที่สาม ประกวดราคาจ้างด้วยวิธีพิเศษ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2554 ปรากฏว่ายังไม่สามารถหาผู้รับจ้างได้
ครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2554 โดยปรับปรุงปริมาณงานระบบอาคารลง และเพิ่มระยะเวลาก่อสร้างเป็น 450 วัน ปรากฏว่าผู้เสนอราคาเสนอผลงานไม่ตรงกับขอบเขตงานที่กำหนด และผู้เสนอราคาเสนอราคาเกินราคากลางที่กำหนดไว้ จึงยกเลิกการประกวดราคา
ครั้งที่ห้า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2554 โดยปรับลดเนื้องานบางรายการออกเพื่อให้ราคากลางเป็นไปตามราคาวัสดุ (ขณะนั้น) ยกเลิกงานก่อสร้างอาคาร E และเพิ่มระยะเวลาก่อสร้างเป็น 700 วัน
ปรากฏว่ามีผู้มายื่นซองเสนอราคา 2 ราย ดังนี้
1.บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,232,852,819 บาท
2.บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,302,900,000 บาท
คณะกรรมการประกวดราคาจ้างพิจารณาราคาของบริษัท เอ็นแอลฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด พบว่า ยังสูงกว่าราคากลาง 267,352,819 บาท (ราคากลาง 1 พันล้านบาท) จึงสอบถามหัวหน้างานพัสดุในกรณีที่รายต่ำสุดเสนอราคาเกินกว่าราคากลางต้องดำเนินการอย่างไร หัวหน้าพัสดุแจ้งว่า ตามระเบียบฯงานพัสดุ ข้อ 50 (2) คณะกรรมการจึงดำเนินการตามระเบียบ คือ
หนึ่ง เชิญบริษัท เอ็นแอลฯ มาต่อรองราคา ปรากฏว่า บริษัทฯเสนอราคา 1,232,000,000 บาท สูงกว่าราคากลาง 266,500,000 บาท
สอง เมื่อต่อรองราคาแล้วไม่ได้ผล เห็นควรเรียกผู้เสนอราคามาต่อรองราคาใหม่พร้อมกัน ปรากฏว่า
1.บริษัท เอ็นแอลฯ เสนอราคา 1,150,000,000 บาท สูงกว่าราคากลาง 184,500,000 บาท
2.บริษัท คริสเตียนีฯ เสนอราคา 1,302,900,000 บาท สูงกว่าราคากลาง 337,400,000 บาท
จากการปฏิบัติทั้งสองข้อแล้ว ยังไม่ได้ผู้เสนอราคาที่ไม่เกินวงเงินงบประมาณ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเห็นควร ปรับลดเนื้องานเพื่อให้อยู่ในงบประมาณที่มี โดยเชิญคณะกรรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานฯ คณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างฯ และคณะกรรมการกำหนดราคากลางก่อสร้าง เข้าประชุมเพื่อหารือเรื่องนี้
ภายหลังการประชุม คณะกรรมการกำหนดราคาฯ ได้พิจารณาราคากลาง เป็นเงิน 1,177,936,484 บาท และให้บริษัท เอ็นแอลฯ ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด ปรับลดค่าก่อสร้างอีกครั้งและนำมาเสนอต่อคณะกรรมการฯ
โดยบริษัท เอ็นแอลฯ ได้เสนอให้ยกเลิกงานก่อสร้างอาคาร D ทั้งหมด ยกเลิกงานเทปูนทรายปรับระดับปูกระเบื้องเซรามิค อาคาร A B และ C ทั้งหมด ยกเงินงานป้องกันอัคคีภัยทั้งหมด ยกเงินงานครุภัณฑ์ประกอบอาคารทั้งหมดของระบบไฟฟ้า สื่อสาร ระบบสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศ และระบายอากาศ และระบบป้องกันอัคคีภัย ปรับรายการโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน 1,240 ชุด
คณะกรรมการฯพิจารณาผลรับทราบตามที่เสนอและมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอข้างต้น ดังนั้นบริษัท เอ็นแอลฯ จึงได้รับการพิจารณาเป็นผู้รับจ้างในการก่อสร้างโรงเรียนโยธินฯแห่งใหม่ ด้วยวงเงินสัญญาจ้าง 965,500,000 บาท เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างไว้ 965,500,000 บาท
ทั้งหมดคือขั้นตอนการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโรงเรียนโยธินฯแห่งใหม่
คำถามที่น่าสนใจคือ
หนึ่ง "พิชยนันท์" เปิดเผยเองว่า แบบแปลนการก่อสร้างครั้งแรกสูงถึง 1.4 พันล้านบาท ทั้งที่งบประมาณของ สพฐ. มีเพียง 1 พันล้านบาท และกำหนดราคากลางแค่ 1 พันล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงเรียนโยธินฯ ระบุว่า แบบแปลนการก่อสร้างนั้น รัฐสภาเป็นผู้จัดหามาให้ ?
และการใช้แบบแปลนที่สูงเกินราคากลางถึง 4 ร้อยล้านบาท ทำให้ต้องตัดอาคาร D และอาคาร E ทิ้ง รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยให้เด็ก ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด อุปกรณ์อัคคีภัย หรือแม้แต่โต๊ะนักเรียน เป็นต้น
เป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ โรงเรียนโยธินฯ ดำเนินการก่อสร้างได้ล่าช้าจากเดิมหลายเดือน เนื่องจากไม่มีเอกชนรายใด “กล้า” เข้ามาเสนอราคา
รวมถึงต้องของบประมาณเพิ่มเติม 105 ล้านบาท เพื่อมาต่อเติมอุปกรณ์เหล่านี้ในภายหลัง
สอง ทำไมการตัดแบบแปลนก่อสร้างครั้งล่าสุด จึงให้ “เอกชน” เป็นคนทำ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดขอบเขตของงานฯ เป็นคนทำมาตลอด
โดยอาคาร D และอาคาร E ที่ตัดออกไปนั้น มีทั้งโรงยิม และโรงอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของโรงเรียน ?
ส่งผลให้โรงเรียนโยธินฯ ต้องของบประมาณในปี 2559 จำนวน 145 ล้านบาท ดำเนินการการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ทดแทนสองอาคารดังกล่าวที่ถูกตัดไป
ขณะที่ ผอ.โรงเรียนโยธินฯ คนปัจจุบันอย่าง “พิชยนันท์” ขอ “รูดซิป” ไม่พูดถึงปัญหาก่อนที่ตัวเองจะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฯ
โดยยืนยันว่า “ผมรับงานภายหลังจากมีการเซ็นสัญญาจ้างแล้ว เรื่องก่อนหน้านี้ผมไม่ทราบ”
ดังนั้น คำถามทั้งหมด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ-ผู้บริหารโรงเรียนโยธินฯชุดก่อน-ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องตอบให้ชัดเจนว่า
เพราะเหตุอะไรกันแน่ จึงทำให้โรงเรียนโยธินฯใหม่เสร็จช้า
ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงการสร้าง “รัฐสภาใหม่” ด้วย !
อ่านประกอบ :
เปิดรายงาน “มหาดไทย” เทียบคำพูด “จเร”ไฉน“รัฐสภาใหม่”สร้างช้านับปี?
ทำงานช้า-ใช้งบมาก! “ครม.บิ๊กตู่”บี้สร้าง“สภาใหม่”ให้เสร็จโดยเร็ว
ไม่ใช่แค่ร.ร.โยธินฯ! กทม.ได้ด้วยงบเพิ่ม42ล.ปมสร้างสภาใหม่-ก่อนครม.ไล่บี้