หนังสือร้อง ป.ป.ช.สอบไลน์ค่านิยมฯ 7.1ล.ฉบับเต็ม! "พล.อ.ประยุทธ์" กระอัก?
"...เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพวาดการ์ตูนดังกล่าว ไม่มีความสวยที่โดดเด่นหรือยังไม่สามารถที่จะสื่อให้เห็นถึงค่านิยมหลัก 12 ประการได้แต่อย่างใด ซึ่งหากจะเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นประถมและหรือมัธยมทั่วประเทศแข่งขันกันวาดส่งเข้าประกวดน่าจะสวยโดนใจ หรือตรงตามเจตนารมณ์มากกว่าด้วย.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในหนังสือ "สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย" ฉบับเต็ม ที่ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ 5 นักวิชาการคอมพิวเตอร์ฯที่กำหนดราคากลางโครงการจ้างเหมาจัดทำ Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค.57 ที่ผ่านมา
---------------
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการกำหนดราคากลางที่แพงเกินเหตุ และเอาผิดกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดทำหรือจัดซื้อจัดจ้างหรือการดำเนินการโครงการจ้างเหมาจัดทำ Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการของรัฐที่มีราคาแพงเกินกว่าเหตุ ไม่เป็นไปตามหลักคุณธรรมและจริยธรรมและไม่เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการตามที่กฎหมายกำหนด
เรียน ท่านประธานและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปต่อสาธารณชนว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ได้ดำเนินการจัดทำโครงการจ้างเหมาจัดทำ Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ เพื่อให้ผู้ที่สนใจโหลดฟรีผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ออกแบบสติกเกอร์ เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนคนไทยที่นิยมส่งสติกเกอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ได้แสดงความรู้สึกต่างๆ ถึงกันในปีใหม่ 2558 ซึ่งเริ่มให้โหลดฟรีตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกสังคมออนไลน์ ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ "จ้างเหมารับทำสติกเกอร์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ" ซึ่งระบุว่ามีวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อออกแบบสติกเกอร์ไลน์ทั้งหมด 7,117,400 บาท โดยการกำหนดราคากลางอยู่ที่ 7,117,353.24 บาท ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เอกสารราคากลางดังกล่าว ได้ระบุถึงแหล่งที่มาของราคากลางจากบริษัท Line Company (Thailand) Limited อีกทั้งยังระบุรายชื่อผู้กำหนดราคากลาง ซึ่งเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ 5 คน คือ
1)นางอาทิตยา สุธาธรรม นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ
2)นายพฤฒิพงศ์ พัวศิริ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ
3)นายพิศิษฐ์เดช สายแสง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ
4)นางสาวชุติพันธุ์ พิมทอง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ
5)นายธีรยุทธ พูลรอด นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ
ทั้งนี้ประเด็นปัญหา คือ การที่นักวิชาการคอมพิวเตอร์ฯทั้ง 5 คนข้างต้นกำหนดราคากลางขึ้นมาโดยไม่เปิดเผย ข้อมูลรายละเอียดใด ๆ ถึงที่มาเหตุและผลของการกำหนดราคากลางที่แพงกว่าการดำเนินธุรกิจการค้าในลักษณะเดียวกันของเอกชนทั่วไปนั้นน่าที่จะไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ปปช. อีกทั้งราคาว่าจ้างจัดทำสติกเกอร์ไลน์นี้ เป็นราคาที่สูงมากเกินสมควร และไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับ และไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของการปลูกฝังค่านิยมของคนไทยที่ควรที่จะเป็นเด็กและเยาวชนมากกว่าที่จะใช้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ขัดต่อหลักคุณธรรมและจริยธรรม และนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลโดยชัดแจ้ง ซึ่งผู้ร้องเรียนใคร่ขอให้ ปปช.ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวทั้ง 2 ประเด็น
คือ 1)ที่มาและเหตุผลของการกำหนดราคากลางเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเอกชนทั่วไป และ 2)การจัดซื้อจัดจ้างที่แพงกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเอกชนทั่วไป
ทั้งนี้ผู้ที่เคยติดต่อธุรกิจกับ บริษัท ไลน์ คอเปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นั้นมักกล่าวเป็นข้อมูลใกล้เคียงกันว่า ราคาค่าจ้างในการจัดทำสติกเกอร์ไลน์นั้น มีรายละเอียดกว้างๆ ว่า สติกเกอร์ 1 เช็ต จะมี 16 แอคชั่น ซึ่งสามารถอยู่บนสติกเกอร์ช็อปได้นาน 1 เดือน มีอายุการใช้งาน 90 วัน โดยราคาค่าออกแบบสติกเกอร์แบบธรรมดา อยู่ระหว่าง 80,000 - 120,000 บาท ส่วนสติกเกอร์ที่สามารถขยับหรือยืดหยุ่นได้อยู่ระหว่าง 150,000 - 300,00 บาทเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง Official Account เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผู้ที่ติดตามมีราคาค่าบริการเฉลี่ย 2.5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรวมแล้วไม่น่าจะมากเท่ากับจำนวนเงินที่กระทรวงไอซีที่ต้องจ่ายไปดังกล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพวาดการ์ตูนดังกล่าว ไม่มีความสวยที่โดดเด่นหรือยังไม่สามารถที่จะสื่อให้เห็นถึงค่านิยมหลัก 12 ประการได้แต่อย่างใด ซึ่งหากจะเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นประถมและหรือมัธยมทั่วประเทศแข่งขันกันวาดส่งเข้าประกวดน่าจะสวยโดนใจ หรือตรงตามเจตนารมณ์มากกว่าด้วย ที่สำคัญวิธีการที่กระทรวงไอซีทีเรียกให้บริษัทต่าง ๆ กว่า 8 แห่งที่มีประสบการณ์ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอทางการเงิน เพื่อจัดทำสติกเกอร์ไลน์ชุดนี้
แต่ปรากฏว่ามีเพียงบริษัทเดียวที่ยื่นข้อเสนอมาคือ บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด จนกระทั่งได้รับการจัดจ้างให้ทำสติกเกอร์ชุดนี้ในที่สุด
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบริษัท ไทยทีวีพูล จำกัดนั้น มีประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ทั้งนี้เพราะเจ้าของบริษัทแห่งนี้ก็คือ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารทีวีพูล สตาร์นิวส์ และสไปซี่ รวมทั้งเป็นเจ้าของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน ช่องรายการเด็กและเยาวชนหมายเลข 15 (โลก้า) และช่องรายการข่าวหมายเลข 17 (ไทยทีวี) จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสทช.) นั้นเป็นคนเดียวกับคนที่เคยเป็นอดีตภรรยาของ “พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”อีกด้วย
กรณีและการกระทำและพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการขัดหรือแย้งต่อนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสาธารณชนเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักสำคัญ ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งทรงเน้นความพอดีพอสมพอควรแก่ฐานะ ความมีเหตุมีผลและการมีภูมิคุ้มกันมาเป็นแนวคิด (คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี หน้า 2 บรรทัดที่ 26-29) ประกอบกับนโยบายข้อ 10 ของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่บัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับ “การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบในภาครัฐ” โดยเฉพาะข้อ 10.1 ข้อ 10.5 และข้อ 10.6
อีกทั้งยังขัดกับหนึ่งในหลักค่านิยม 12 ประการของ คสช. คือ ข้อที่ 10 ที่ระบุไว้ชัดว่า “รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี” แต่เมื่อรัฐบาลและหรือผู้ถูกร้องดังกล่าวมาดำเนินการในลักษณะตรงกันข้าม ดั่งภาษิตคำไทยที่ว่า “ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง” เยี่ยงนี้ จะไปอบรม สั่งสอน หรือรณรงค์ให้ใครตระหนักค่านิยมได้
นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวน่าจะขัดต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มกราคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้ออกรายการวิทยุและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ได้กล่าวตอนหนึ่งความว่า “สำหรับในเรื่องค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาล และ คสช.ได้นำเสนอให้ปวงชนชาวไทยตระหนักกันไปแล้วนั้น ก็เป็นแนวทางที่ทำให้ชาวต่างชาติได้รับรู้รับทราบถึงความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันทุกประเทศในโลกได้เผชิญกับกระแสคลื่นแห่งวัฒนธรรมที่ผสมผสานกัน จนอาจจะหาแก่นสาร หาความเป็นตัวของตัวเองได้ยาก หากเราหลงลืมตัวเอง ลืมประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ผมไม่อยากให้ไปใช้จ่ายงบประมาณที่ฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็นในการรณรงค์ในเรื่องค่านิยม แต่อยากให้มีการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างกิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ให้เข้าใจ มันอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่บางเวลาหลงลืมกันไป ก็เพียงแต่ไปเตือนเขา ไปบอกเขา ไม่ได้หมายความว่าให้ไปท่องให้ได้ คงไม่ใช่ คงให้รู้ว่าแต่ละข้อ แต่ละการปฏิบัตินั้นจะมีผลดีกับตัวเองอย่างไร กับสังคมอย่างไร เป็นเพียงการพลิกฟื้นจิตสำนึกความเป็นไทยของเรา
ฉะนั้นโรงเรียนต่างๆ ก็กรุณานำไปใช้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ เพียงแต่ช่วยกันทำความเข้าใจ ส่งเสริม ปลูกฝังลูกหลาน นิสิต นักศึกษา ผ่านการกระทำให้ได้ ให้ซึมซับเข้าไปในวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งที่บ้าน วัด โรงเรียน หรือบวร ที่เป็นแหล่งอบรมสั่งสอนให้เยาวชนของไทยเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เราต้องการทั้งคนดีและคนเก่ง รวมความไปถึงเรื่องซื่อสัตย์ด้วย ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...”
หนักไปกว่านั้นคือ เมื่อนำงบประมาณก้อนนี้ไปรวมกับงบประมาณก้อนอื่นๆ ที่ถูกใช้ในการเผยแพร่ค่านิยม 12 ประการก่อนหน้านี้ ก็ยิ่งทำให้ถูกตั้งคำถามหนักเข้าไปอีก เพราะรวมๆ แล้วใช้งบประมาณไม่น่าจะต่ำกว่า 50 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการจัดทำโครงการสร้างภาพยนตร์สั้นส่งเสริม “ค่านิยมหลัก 12 ประการ” โดยกองกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี งบประมาณ 25 ล้านบาท 2.โครงการจัดทำบทเพลงปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม งบประมาณ 3.5 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่นับรวมการทำหลักสูตรแบบเรียนใหม่ให้แก่นักเรียน และป้ายเผยแพร่ที่กระจายอยู่ตามโรงเรียนและหน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีโดยชัดแจ้ง รวมทั้งมีการกระทำที่เข้าข่ายผ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบมาตรา 103/7 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 โดยชัดแจ้ง
บุคคลที่เกี่ยวข้อง / ผู้ถูกร้องเรียน
1)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (นายพรชัย รุจิประภา) ในฐานะผู้กำกับดูแลและรับผิดชอบกระทรวงฯ/โครงการฯ
2)นางอาทิตยา สุธาธรรม นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ ในฐานะตัวการร่วมในการกำหนดราคากลางที่แพงเกินเหตุ
3)นายพฤฒิพงศ์ พัวศิริ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ในฐานะตัวการร่วมในการกำหนดราคากลางที่แพงเกินเหตุ
4)นายพิศิษฐ์เดช สายแสง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ ในฐานะตัวการร่วมในการกำหนดราคากลางที่แพงเกินเหตุ
5)นางสาวชุติพันธุ์ พิมทอง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ในฐานะตัวการร่วมในการกำหนดราคากลางที่แพงเกินเหตุ
6)นายธีรยุทธ พูลรอด นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ ในฐานะตัวการร่วมในการกำหนดราคากลางที่แพงเกินเหตุ
ข้อสังเกต/ความผิด
1)การจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม
2)การประกาศราคากลางไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ถูกต้องเหมาะสม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3)มีการกำหนดราคากลางที่สูงเกินจริง โดยไม่มีเหตุผลรองรับ
4)มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง เกินไปกว่าเอกชนทั่วไป
5)การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ไม่เข้าเงื่อนไขวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีเหตุเร่งด่วน โดยเฉพาะไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 24 และหรือข้อ 107 และข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6)บริษัทผู้รับจ้างผลิตหรือดำเนินการอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบุคคลในรัฐบาลอันเข้าข่ายความผิดตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 6 (4) และข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในฐานะองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์ในการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการและนักการเมือง ฯลฯ ที่ดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย และประชาชนปรากฏตามรายชื่อด้านท้ายนี้ จึงใคร่ร้องเรียนมายังท่าน ได้โปรดใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ในการไต่สวนข้อเท็จจริง ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณี1)การตั้งราคากลางการจัดทำสติกเกอร์ไลน์ดังกล่าวแพงเกินกว่าความเป็นจริงหรือเกินกว่ามาตรฐานการค้าทั่วไป 2)กระบวนการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการโครงการจ้างเหมาจัดทำ Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการของรัฐที่มีราคาแพงเกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยพัสดุและกฎหมายของ ปปช. 3)การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมและการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น
ทั้งนี้การไต่สวนและตรวจสอบดังกล่าว หากพบว่าเป็นการกระทำหรือดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อวิธีการ ขั้นตอน หรือนโยบายอันเข้าข่ายลักษณะความผิด ขอให้ ปปช.ดำเนินการหรือเสนอหรือใช้มาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายของ ปปช.เพื่อเอาผิดบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้สนับสนุน ตามกฎหมายสูงสุดต่อไป และเพื่อระงับ ยับยั้ง หรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าวเสียโดยพลัน
ทั้งนี้ หากท่านได้ดำเนินการตามข้อร้องเรียนดังกล่าวแล้วหรือมีผลสรุปเป็นประการใดกรุณาแจ้งให้สมาคมฯทราบด้วยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ต่อไปด้วยจักขอบคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
(นายวิศรุต ครุฑไกวัล) (นายธัชสพล พลเดช) (น.ส.ภัทรานิษฐ์ มหัทธนวิสิทธิ์)