logo isranews

logo small 2

ขมวดปมผูกจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ “เอื้อพวก-ใบเสร็จ”โผล่

ขมวดปมจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 5 พันล้าน กรมราชทัณฑ์ใช้“วิธีกรณีพิเศษ”ผูกปิ่นโตจากหน่วยงานรัฐ เปิดทางเอื้อพวกตั้งเอกชนรับช่วง เครือข่ายคู่ค้าคุ้นเคยรวบเค้ก ก่อนพบใบเสร็จ“วัยหนุ่มอยุธยา”พิสูจน์น้ำยา“พล.อ.ไพบูลย์”

njdsfgfg

กรณีกรมราชฑัณฑ์ได้ผูกจัดซื้ออาหารดิบเป็นรายสิ่งเลี้ยงผู้ต้องขังจากหน่วยงานของรัฐเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกันตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้

กระทั่งล่าสุด 25 ก.ย.57 นายสุวรรณ์ ทองย้อย รองประธานกรรมการ สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ ผู้เข้าร่วมเสนอาราคาจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีวงเงิน 16.5 ล้านบาทได้เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานีระบุว่ากระบวนการจัดซื้อไม่โปร่งใส โดยทางเรือนจำไม่อนุญาตให้ผู้แจ้งดูการเปิดซองเสนอราคาโดยอ้างว่าเป็นความลับ การเสนอราคาในวันนั้นปรากฏว่า องค์การตลาดเป็นผู้ชนะการเสนอราคาในวงเงิน 14,200,000 บาท

(อ่านประกอบ:แจ้งความ ตร.ซัดเรือนจำอุทัยธานี“ไม่โปร่งใส”จัดซื้ออาหารดิบ 16.5 ล้าน)

เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดเงื่อนปมกระบวนการจัดซื้ออาหารดิบของกรมราชทัณฑ์ทั้งหมดให้เห็นอีกครั้งดังนี้

ภายหลังจากกรมราชทัณฑ์ได้มีนโยบายจัดซื้ออาหารสำหรับเลี้ยงผู้ต้องขังในเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักกัน และสถานกักขัง ทั่วไปประเทศโดยวิธีกรณีพิเศษจากหน่วยงาน 5 แห่งคือ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ และสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ โดยอ้างเหตุผล 2 ประการคือ

1.ปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดเข้าภายในเรือนจำ ปัจจุบันยังเป็นปัญหาเกือบทุกเรือนจำ การส่งอาหาร ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นช่องทางในการลักลอบนำยาเสพติดเข้าในเรือนจ่า ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ จะต้องพิจารณาผู้ประกอบการที่มีความซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ ไม่สร้างปัญหา

2. เพื่อไปพยุงราคากรณีสินค้าเกษตรล้นตลาด ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือกรณีสินค้าล้นตลาด เช่น หอมแดง เงาะ จึงต้องขอความอนุเคราะห์คู่สัญญาเพื่อปรับเปลี่ยนเมนูการจัดเลี้ยง จึงต้องมีคู่สัญญาที่มีศักยภาพและสามารถยืดหยุ่นสัญญาการส่งอาหารได้ และเป็นไปตามสถานการณ์ได้

จากนโยบายดังกล่าวนำไปสู่ผลดังนี้

@เอกชนร้องผูกขาดหน่วยงานรัฐ

การจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษดังกล่าวถูกร้องเรียนว่าเอื้อประโยชน์ให้หน่วยงานของรัฐบางราย โดยกลุ่มเอกชนได้ร้องเรียนไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 เอกชนได้ร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบ

@ เรียกแห่งเดียวเสนอราคา

แนวทางการจัดหาอาหารดิบของเรือนจำแต่ละแห่งนั้นตามแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์จะต้องเรียกหน่วยงานของรัฐที่ได้สิทธิพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 อย่างน้อย 3 ราย มาเสนอราคา (หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ มี 5 หน่วยงานคือ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ และสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่) แล้วคัดเลือกจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ได้รับการจัดซื้อ แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าเรือนจำบางแห่งเรียกหน่วยงานของรัฐเพียงแห่งเดียวมาเสนอราคา ตัวอย่าง เช่น

กรณีทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา ในการจัดซื้ออาหารดิบตามปีงบประมาณ 2557 มีหน่วยงานของรัฐเพียงแห่งเดียวคือ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทยเสนอราคา รวมเป็นเงิน 24,066,278.67 บาท ราคากลางอยู่ที่ 24,080,875 บาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 14,596.33 บาท (ดูเอกสารประกอบ)

op

กรณีเรือนจำจังหวัดชัยนาท การจัดซื้อในปีงบประมาณ 2556 เรือนจำได้แจ้งให้หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษมาเสนอราคา เพียง 2 ราย คือองค์การคลังสินค้า และองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทยและราคาที่เสนอก็มีความแตกต่างกันเพียง 8,748 บาท จากราคากลาง 11,213,748 บาท

@ส่อปั้นเอกสารจัดซื้อเรือนจำอ่างทอง

ขณะเดียวกันยังพบปัญหาเรือนจำบางแห่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจแก้ไขเอกสารการเสนอราคาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ร่วมเสนอราคาบางราย เช่น

กรณีเรือนจำจังหวัดอ่างทอง ได้มีหนังสือแจ้งให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย และองค์การคลังสินค้าทำการยื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 27 เดือนธันวาคม 2555 ระหว่างเวลา 09.00 น.ถึงเวลา 12.00 น. ณ งานพัสดุ หรือทางไปรษณีย์ โดยยึดวันเอกสารถึงเรือนจำฯ ก่อนวันที่ 28 ธันวาคม 2555 แต่กลับมีข้อมูลว่า องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยผู้อำนวยการองค์การตลาด ทำการเสนอราคาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 ก่อนกำหนดระยะเวลา ตามประกาศของจังหวัดอ่างทอง เป็นระยะเวลา 3 วัน ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัดโดยรักษาการแทนผู้จัดการใหญ่ ทำการเสนอราคาทางไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555

ปรากฏหลักฐานการนำจ่ายผู้รับของไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 เลยกำหนดระยะเวลา ตามประกาศ ของจังหวัดอ่างทองเป็นระยะเวลา 6 วัน องค์การคลังสินค้า โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการ เสนอราคาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ปรากฏหลักฐานการลงรับของเรือนจำ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 เลยกำหนดระยะเวลาตามประกาศของจังหวัดอ่างทองเป็นระยะเวลา 6 วัน ก่อนมีการทำสัญญาจัดซื้อจากองค์การตลาด

(อ่านประกอบ: หลักฐานมัดจัดซื้ออาหาร"ผู้ต้องขัง"เรือนจำอ่างทอง เสร็จองค์การตลาด?)

@ ตั้งเอกชนเป็นตัวแทนอีกทอด

มีข้อมูลระบุว่า กรณีทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา ที่ได้ทำสัญญาจัดซื้ออาหารดิบเป็นรายสิ่งจากองค์การตลาดกระทรวงมหาดไทยระหว่างวันที่ 1 ต.ค.56- 30 ก.ย.57 (ปีงบประมาณ 2557) องค์การตลาดได้จัดตั้งเอกชน 2 ราย ดำเนินการแทน คือ นางกิมจู ดำรงวารี เป็นตัวแทนจัดส่งประจำเดือน ต.ค. ธ.ค. 56 -ก.พ. เม.ย. มิ.ย. ส.ค. 57 และให้ น.ส.รุ่งรัตน์ แห่งวงศ์วาฬ เป็นผู้จัดส่งอาหารประจำเดือน พ.ย.56 ม.ค. มี.ค. พ.ค. ก.ค.และ ก.ย.57

(ดูเอกสารประกอบ)

img030

 

กรณีเรือนจำนครสวรรค์ ได้จัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษจากองค์การตลาด ผ่านตัวแทนคือห้างหุ้นส่วนสามัญ (หสม.)อุดมทรัพย์ของนางพรพิมล นาคพรอำนวย เอกชนรายดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับ นายวิชัย นาคพรอำนวย เจ้าของร้านสวยจริง ตัวแทนในการยื่นซองเสนอราคาของเรือนจำจังหวัดชัยนาท และตัวแทนจัดส่งอาหารดิบให้กับเรือนจำจังหวัดอ่างทอง

และพบว่า ก่อนหน้านี้ ห้างหุ้นส่วนสามัญ (หสม.)อุดมทรัพย์ของนางพรพิมล เป็นคู่ค้าโดยตรงกับเรือนจำแห่งนี้มาก่อน โดยในช่วงปี 2549 จำนวน 5 ครั้ง วงเงิน 11,755,983 บาท

ขณะที่ร้านสวยจริง ของนายวิชัย นาคพรอำนวย นั้นเป็นคู่ค้าในการซื้อเครื่องอาหาร(อาหารดิบเป็นรายสิ่งและเครื่องปรุง) กับ เรือนจำจังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 55 วงเงิน 1,032,687.50 บาท

(อ่านประกอบ:โอ้!“องค์การตลาด”ตั้งคู่ค้าใหญ่เรือนจำนครสวรรค์ เป็นตัวแทนส่งอาหารดิบ ,เปิดสัญญาจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำนครสวรรค์ โยงใยชัยนาท-อ่างทอง)

@ เปิดข้อมูล 4 หน่วยงาน กวาด 1.3 หมื่นล.

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org ) รายงานว่า นับจากปี 2543 เป็นต้นมาจนถึงปีงบประมาณ 2557 กรมราชทัณฑ์ได้จัดซื้ออาหารดิบ (อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง)สำหรับเลี้ยงผู้ต้องขังเรือนจำทั่วประเทศจาก 4 หน่วยงาน คือ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย องค์การคลังสินค้า รวม 1,419 ครั้ง วงเงิน 13,047,267,333 บาท ในจำนวนนี้

1.องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย มากสุด จำนวน 793 ครั้ง วงเงิน 6,788,756,887 บาท
2.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 187 ครั้ง วงเงินรวม 1,754,534,187 บาท
3.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) จำนวน 150 ครั้ง รวมวงเงิน 1,793,487,790 บาท
4.องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับการจัดซื้ออาหารดิบโดยวิธีกรณีพิเศษ จากกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่ ปี 2543 -2556 อย่างน้อย 289 ครั้ง วงเงินรวม 2,710,488,469 บาท

@อธิบดีกรมราชทัณฑ์ปัดเป็นปัญหาของหน่วยงานกับผู้รับช่วง

ภายหลังถูกร้องเรียนผู้บริหารของกรมราชทัณฑ์พยายามชี้แจงต่อสำนักข่าวอิศรว่า ปัญหาการจัดซื้ออาหารดิบเป็นปัญหาระหว่างหน่วยงานผู้ทำสัญญากับกรมราชทัณฑ์ฝ่ายหนึ่งกับเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ และการจัดซื้อโดยวิธีนี้ ไม่ใช่การผูกขาดเพราะทำสัญญาปีต่อปี

(อ่านประกอบ: อธิบดีราชทัณฑ์คนใหม่ยันจัดซื้ออาหารทำตามขั้นตอน-ถ้าเขียนข่าวไม่ดีห้ามเข้า)

@ยอดผู้ต้องต้องราชทัณฑ์ 3 แสน-ค่าอาหารพุ่ง 5 พันล.

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ณ วันที่ 1 ก.ย.57 ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ 311,006 คน และมีเรือนจำทั้งหมด 197 แห่ง หากคิดอัตราถือจ่ายค่าอาหาร 44.27 บาท ต่อคนต่อวัน (อัตราล่าสุดปีงบฯ 2558) มีค่าอาหารรวมวันละ 13,768,235.62 บาท หรือปีละ 5,025,406,001 บาท

@งบฯปี 58 สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญเบียด-ต่ำกว่าราคากลางอื้อ

สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ล่าสุดการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2558 ในช่วงระหว่างวันที่ 25-29 ก.ย.2557 มีการเสนอราคาการจัดซื้ออาหารดิบของเรือนจำ ทัณฑสถานของกรมราชทัณฑ์ 7 แห่ง

ในพื้นที่ 4 จังหวัด

1.เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557
2.ทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557
3.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557
4.เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557
5.เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557
6.เรือนจำจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557
7.เรือนจำจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557

โดย สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ ได้ขอเข้าร่วมเสนอราคาทั้ง 7 แห่ง

ผลปรากฏว่า องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 6 แห่ง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 1 แห่ง

ปรากฏว่าต่ำกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ประมาณ 114 ล้านบาท

@ ใบเสร็จ!ทัณฑสถานวัยหนุ่มอยุธยา 2 ปี เสนอราคาต่างกันลิบ

ที่น่าสนใจคือ ทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา ใน ปีงบประมาณ 2558 ราคากลางอยู่ที่ 23,429,897 บาท มีผู้เสนอราคา 3 ราย ได้แก่ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย เสนอ 12,217,703 บาท สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด เสนอ 17,800,000 บาท สหกรณ์การเกษตรสามโก้ จำกัด เสนอ 20,626,182 บาท

เท่ากับ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อในปี 2557 ทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา ได้จัดซื้อจาก หน่วยงานเดียวกันคือ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย ราคา 24,066,278.67 บาท (เสนอราคารายเดียว) เห็นได้ว่าปี 2557 สูงกว่าปี 2558 ประมาณ 12 ล้านบาท

การจัดซื้อในราคาที่แตกต่างกันจากผู้เสนอราคารายเดียวกัน (องค์การตลาด) ใน 2 ปีเป็นเงินกว่าสิบล้านบาท ถือเป็นใบเสร็จหรือไม่?

วัดใจ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม?