เบื้องหลัง! ‘บิ๊กตู่’ขอ‘มีชัย’ให้ ส.ว.ชุดแรกมีวาระ 10 ปีก่อนถูกหั่นเหลือ 5 ปี
เบื้องหลัง! ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ขอ ‘มีชัย’ ให้ ส.ว. ชุดแรกหลัง คสช. พ้นอำนาจมีวาระ 10 ปี เหตุเพื่อให้กำหนดทิศทางประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้เป็นฐานอำนาจด้วย แต่ถูกต่อรองหั่นเหลือแค่ 5 ปี หวั่นเกิดความยุ่งยาก ประชาชนค้าน
จากกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ ได้สรุปสาระสำคัญที่มาของ ส.ว. โดยให้มีจำนวน 200 คน มีที่มาจาก 20 กลุ่ม ต้องเปิดเผยหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 1 ปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และเป็นได้วาระเดียวตลอดชีวิต ไม่สามารถกลับมาเป็นได้อีก รวมถึงยังเปิดช่องให้คู่สมรส-บุตร-ญาติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาสมัคร ส.ว. ได้ด้วยนั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลว่า ก่อนหน้าที่ กรธ. จะสรุปเรื่องที่มาของ ส.ว. ให้ดำรงตำแหน่งได้ 5 ปีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอนายมีชัยเพื่อขอให้ ส.ว. ชุดแรกภายหลัง คสช. พ้นอำนาจ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี โดยให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล หลังจากนั้นให้ดำรงตำแหน่งได้วาระ 6 ปีเหมือนเดิม เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. และเพื่อรักษาฐานอำนาจเอาไว้ อย่างไรก็ดีนายมีชัยได้ขอต่อรองให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเหลือแค่ 5 ปี เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดความยุ่งยากในภายหลัง และประชาชน รวมถึงฝ่ายการเมืองอาจไม่พอใจได้ ท้ายสุดจึงได้บทสรุปให้ ส.ว. ดำรงตำแหน่งได้ 5 ปีดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวสรุปสาระสำคัญที่มาของ ส.ว. โดยระบุว่า มีจำนวน 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และเป็นได้วาระเดียวตลอดชีวิต ต้องเปิดเผยหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 1 ปี และคัดเลือกจาก 20 กลุ่ม ซึ่งอาจจะบรรจุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ได้แก่ 1.ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2.ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3.ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรืองบประมาณ 4.ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5.ด้านการสาธารณสุข 6.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา 8.ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9.ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10.ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง
11.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12.ด้านผู้ประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13.ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 14.ด้านผู้ประกอบวิชาชีพ 15.ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน 17.ด้านองค์กรชุมชน 18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19.ด้านอาชีพอิสระ 20.ด้านประชาสังคม หรือเป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ตามข้อ 1-19 หรือบุคคลธรรมดาผู้ทำงานหรือเคยทำงานในองค์กรตาม ข้อ 20
ส่วนกรณีที่ ส.ว. ที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่ครบ 5 ปี รวมถึงอดีต อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ สนช. นั้นจะสามารถลงสมัคร ส.ว. ตามหลักเกณฑ์ของ กรธ. ได้หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ที่ประชุม กรธ. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ แต่คิดว่าน่าจะสมัครได้ เนื่องจากระบบของ ส.ว. เป็นรูปแบบใหม่ รวมไปถึง สปช. สปท. และ สนช. ล้วนมาจากการแต่งตั้ง ยังไม่เคยใช้หลักเกณฑ์ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะสมัคร ส.ว. ได้
นายอุดม ยังกล่าวถึงกรณีเปิดช่องให้คู่สมรส-บุตร-ญาติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสมัคร ส.ว. ได้ว่า หากปิดช่องดังกล่าวไว้ จะเป็นการตัดสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งหน้าที่ของ ส.ว. เน้นเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการเข้ามาทำงาน จึงเชื่อว่าคนที่จะเข้ามาเป็น ส.ว. ย่อมเป็นที่ยอมรับจากคนในกลุ่มที่เลือกเข้ามาอยู่แล้ว ประกอบกับรูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อมที่มีระบบคัดกรอง 3 ชั้น ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็เชื่อว่าจะได้บุคคลที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองได้น้อยลง และหน้าที่ของ ส.ว. ก็ไม่มีเรื่องการถอดถอนนักการเมืองแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปจำกัดสิทธิคนเหล่านั้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก mthai, ภาพนายมีชัย จาก thairath