"นพดล"รอด! มติศาลฎีกาฯ 6:3 ยกฟ้องคดีเขาพระวิหาร-ปฏิบัติสมเหตุผล
ศาลฎีกาฯ ลงมติ 6 ต่อ 3 พิพากษายกฟ้อง "นพดล ปัทมะ" รอดคดีเขาพระวิหาร ไม่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ยันปฏิบัติสมเหตสมผล ไม่ใช่สนธิสัญญา จึงไม่ต้องส่งให้รัฐสภาพิจารณา ชี้ไม่เอี่ยวปม "ทักษิณ" เจาะน้ำมันเขตทับซ้อนทางทะเล
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
จากการที่นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาต่อรัฐสภาฯ
ศาลระบุว่า คดีนี้ประเด็นให้วินิจฉัย 2 ประเด็น ประเด็นแรก คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมฯดังกล่าว ถือเป็นสนธิสัญญา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาต่อรัฐสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยึดอำนาจและทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้ แต่ คสช. ได้ออกคำสั่งรับรองอำนาจของศาล และหาได้มีผลกระทบต่อการพิจารณาคดี เนื่องจาก คสช. ไม่ได้ประกาศลบล้างการกระทำของจำเลย (นายนพดล) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับศาลฎีกาฯ
ประเด็นที่สอง จำเลยปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้จำเลยปฏิบัติสมเหตุสมผล และออกคำสั่งที่เป็นประโยชน์ และพึงระมัดระวังต่อราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเคยเบิกความ ระบุว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ไม่มีผลกระทบเรื่องเขตแดน นอกจากนี้จำเลยยังปรึกษาคณะทำงาน รวมถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ตลอด ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้าน เท่ากับว่าไม่ได้เป็นการริเริ่มทำแถลงการณ์ร่วมฯเอง ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำโดยเปิดเผย ปกป้องอธิปไตยของชาติ
ส่วนกรณีที่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจรนั้น ศาลเห็นว่า แม้จะเป็นวาระจร แต่ก็เคยนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบก่อนหน้านี้แล้วถึง 2 ครั้ง จึงไม่พอฟังได้ว่ารีบเร่งอย่างผิดปกติ
ส่วนกรณีที่นายสมชาย แสวงการ อดีต ส.ว. และนางรสนา โฆษิตตระกูล อดีต ส.ว. เห็นว่า การลงนามดังกล่าวของจำเลย ส่งผลประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนนั้น เป็นเพียงการรับทราบจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับผลประโยชน์ในการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงยังไม่มีพยานหลักฐานว่า ปัจจุบันมีบริษัทจากทั้งตัวแทนฝั่งไทย และฝั่งกัมพูชา เข้าไปดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่นำแถลงการณ์ร่วมฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น ศาลเห็นว่า กรณีนี้ข้าราชการระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ถ้าเป็นสนธิสัญญา ทางกรมฯจะดำเนินการยื่นเรื่องส่งให้รัฐสภาพิจารณาอยู่แล้ว แต่แถลงการณ์ร่วมฯดังกล่าว ไม่ใช่ จึงไม่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้นการลงนามของจำเลยจึงสมเหตุสมผล ถูกต้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศประเมินไว้ว่า ไม่กระทบต่อเขตแดน รวมถึงสิทธิพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
ศาลฎีกาฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นว่า พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พิพากษาให้ยกฟ้อง