ส.องค์การพิทักษ์ฯชูประเด็น "แพง-ไม่พอเพียง" ยื่นป.ป.ช.สอบไลน์ค่านิยมฯ 7.1ล.
เปิดหนังสือ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นป.ป.ช.สอบ"พรชัย รุจิประภา" รมต.ไอซีที พร้อม 6 นักวิชาการ ดำเนินโครงการจ้างเหมาทำสติกเกอร์ไลน์ ค่านิยม 12 ประการ ไม่โปร่งใสหลายประการ ไม่เปิดเผยราคากลาง ราคาจ้างส่อแพงเกินจริง ขัดแย้งต่อนโยบายคณะรัฐมนตรี รัฐบาล แถลงไว้ต่อสภาฯ ยกภาษิตคำไทยแนบ “ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง”
จากกรณีสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวน นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ 6 นักวิชาการคอมพิวเตอร์ฯที่กำหนดราคากลางโครงการจ้างเหมาจัดทำ Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค.57 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : สมาคมองค์การพิทักษ์ฯตั้ง 6 ปมผิด ยื่น"ป.ป.ช." สอบสติกเกอร์ค่านิยมฯ 7.1 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบหนังสือที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนกรณีดังกล่าว พบว่ามีการระบุข้อมูลประเด็นปัญหา คือ การที่นักวิชาการคอมพิวเตอร์ฯทั้ง 5 คน กำหนดราคากลางขึ้นมาโดยไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดใด ๆ ถึงที่มาเหตุและผลของการกำหนดราคากลางที่แพงกว่าการดำเนินธุรกิจการค้าในลักษณะเดียวกันของเอกชนทั่วไปนั้นน่าที่จะไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ป.ป.ช.
อีกทั้งราคาว่าจ้างจัดทำสติกเกอร์ไลน์นี้ เป็นราคาที่สูงมากเกินสมควร และไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับ และไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของการปลูกฝังค่านิยมของคนไทยที่ควรที่จะเป็นเด็กและเยาวชนมากกว่าที่จะใช้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ขัดต่อหลักคุณธรรมและจริยธรรม และนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลโดยชัดแจ้ง
โดยสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวทั้ง 2 ประเด็น คือ 1)ที่มาและเหตุผลของการกำหนดราคากลางเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเอกชนทั่วไป และ 2)การจัดซื้อจัดจ้างที่แพงกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเอกชนทั่วไป
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ผู้ที่เคยติดต่อธุรกิจกับบริษัท ไลน์ คอเปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นั้นมักกล่าวเป็นข้อมูลใกล้เคียงกันว่า ราคาค่าจ้างในการจัดทำสติกเกอร์ไลน์นั้น มีรายละเอียดกว้างๆ ว่า สติกเกอร์ 1 เช็ต จะมี 16 แอคชั่น ซึ่งสามารถอยู่บนสติกเกอร์ช็อปได้นาน 1 เดือน มีอายุการใช้งาน 90 วัน โดยราคาค่าออกแบบสติกเกอร์แบบธรรมดา อยู่ระหว่าง 80,000 - 120,000 บาท ส่วนสติกเกอร์ที่สามารถขยับหรือยืดหยุ่นได้อยู่ระหว่าง 150,000 - 300,00 บาทเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง Official Account เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผู้ที่ติดตามมีราคาค่าบริการเฉลี่ย 2.5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรวมแล้วไม่น่าจะมากเท่ากับจำนวนเงินที่กระทรวงไอซีที่ต้องจ่ายไปดังกล่าว
"เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพวาดการ์ตูนดังกล่าว ไม่มีความสวยที่โดดเด่นหรือยังไม่สามารถที่จะสื่อให้เห็นถึงค่านิยมหลัก 12 ประการได้แต่อย่างใด ซึ่งหากจะเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นประถมและหรือมัธยมทั่วประเทศแข่งขันกันวาดส่งเข้าประกวดน่าจะสวยโดนใจ หรือตรงตามเจตนารมณ์มากกว่าด้วย"
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุต่อไปว่า ที่สำคัญวิธีการที่กระทรวงไอซีทีเรียกให้บริษัทต่าง ๆ กว่า 8 แห่งที่มีประสบการณ์ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอทางการเงิน เพื่อจัดทำสติกเกอร์ไลน์ชุดนี้ แต่ปรากฏว่ามีเพียงบริษัทเดียวที่ยื่นข้อเสนอมาคือ บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด จนกระทั่งได้รับการจัดจ้างให้ทำสติกเกอร์ชุดนี้ในที่สุด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบริษัท ไทยทีวีพูล จำกัดนั้น มีประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
"ทั้งนี้เพราะเจ้าของบริษัทแห่งนี้ก็คือ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารทีวีพูล สตาร์นิวส์ และสไปซี่ รวมทั้งเป็นเจ้าของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน ช่องรายการเด็กและเยาวชนหมายเลข 15 (โลก้า) และช่องรายการข่าวหมายเลข 17 (ไทยทีวี) จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสทช.) นั้นเป็นคนเดียวกับคนที่เคยเป็นอดีตภรรยาของ “พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”อีกด้วย"
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุอีกว่า กรณีและการกระทำและพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการขัดหรือแย้งต่อนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสาธารณชนเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักสำคัญ ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งทรงเน้นความพอดีพอสมพอควรแก่ฐานะ ความมีเหตุมีผลและการมีภูมิคุ้มกันมาเป็นแนวคิด (คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี หน้า 2 บรรทัดที่ 26-29) ประกอบกับนโยบายข้อ 10 ของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่บัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับ“การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบในภาครัฐ” โดยเฉพาะข้อ 10.1 ข้อ 10.5 และข้อ 10.6
"อีกทั้งยังขัดกับหนึ่งในหลักค่านิยม 12 ประการของ คสช. คือ ข้อที่ 10 ที่ระบุไว้ชัดว่า “รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี” แต่เมื่อรัฐบาลและหรือผู้ถูกร้องดังกล่าวมาดำเนินการในลักษณะตรงกันข้าม ดั่งภาษิตคำไทยที่ว่า “ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง” เยี่ยงนี้ จะไปอบรม สั่งสอน หรือรณรงค์ให้ใครตระหนักค่านิยมได้" สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุในหนังสือที่ยื่นต่อป.ป.ช.