logo isranews

logo small 2

ไฟเขียวยึดอาวุธปืน “หจก.” อดีตก๊วนธุรกิจ “ลูกบิ๊กทหาร” เครือข่ายค้าอาวุธ กองทัพ

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 02 มิถุนายน 2556 เวลา 10:48 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

กฤษฎีกาฯ ไฟเขียวยึดอาวุธปืน “หจก.” อดีตก๊วนธุรกิจ “ลูกบิ๊กทหาร” เครือข่ายค้าอาวุธ "กองทัพ" หลังกรมศุลกากร ร่อนหนังสือหารือข้อกฎหมาย นำสินค้าเข้าประเทศ ก่อนได้รับใบอนุญาต ย้ำความผิดสำเร็จแล้ว

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยข้อกฎหมาย กรณีกรมศุลกากร ทำหนังสือหารือ กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ปืนเอกภัทร นำสินค้าอาวุธปืนสั้นพร้อมอุปกรณ์เข้ามาในประเทศไทย รวม 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2554 โดยมีใบอนุญาตที่ออกให้ระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2555 และใบอนุญาตแต่ละฉบับเป็นใบอนุญาตที่ออกให้ในภายหลังจากการนำเข้าแต่ละครั้งทั้งสิ้น
 

 

ทั้งนี้ กฤษฎีกาฯ ยืนยันว่า มาตรา 24 (1) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และมาตรา 30 (2) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ยังบัญญัติให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้สั่งอาวุธปืนต้องนำใบอนุญาตดังกล่าวไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือเจ้าพนักงานที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายก่อนสั่ง
 

ดังนั้น ในการสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน จึงต้องได้รับใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่ก่อนสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน และผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องนำใบอนุญาตดังกล่าวไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีศุลกากรมอบหมายก่อนสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนด้วย
 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปืนเอกภัทรได้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 24 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
 

ส่วนการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปืนเอกภัทรได้นำใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกให้ในภายหลังมาแสดง ยังเป็นการยืนยันว่า ในขณะที่สั่งและนำเข้านั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปืนเอกภัทร ไม่มีใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนแต่ประการใด ดังนั้น ใบอนุญาตที่ออกให้ในภายหลัง จึงไม่สามารถทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับเป็นความชอบด้วยกฎหมายได้ และส่งผลทำให้อาวุธปืนที่นำเข้ามาโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นของต้องจำกัดตามมาตรา 27(3) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469
 

ส่วนปัญหาในประเด็นที่ว่า กรมศุลกากรสามารถดำเนินการยึดอาวุธปืนให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา 31 (4) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ใช้สำหรับกรณีอาวุธปืนที่ได้สั่งโดยมีใบอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่ออาวุธปืนมาถึงแล้ว และไม่มีผู้รับไปจากกรมศุลกากรภายในเวลาที่กำหนด จึงส่งผลทำให้อาวุธปืนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในการตอบข้อหารือเรื่องกฎหมายดังกล่าว กรมศุลกากร ข้อหารือประเด็นข้อกฎหมาย 3 เรื่อง คือ

1. การที่นายทะเบียนท้องที่กรุงเทพมหานครออกใบอนุญาตนำเข้าอาวุธปืน หลังจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ปืนเอกภัทรนำอาวุธปืนเข้ามาแล้ว ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตย้อนหลัง จะเป็นการขัดกับมาตรา 30 แห่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 หรือไม่
 

2. การนำใบอนุญาตสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนที่นายทะเบียนท้องที่กรุงเทพมหานครออกให้ย้อนหลังมายื่นต่อกรมศุลกากรภายหลังการนำอาวุธปืนเข้ามา ซึ่งถือว่ากระทำความผิดทางอาญาสำเร็จแล้ว การออกใบอนุญาตย้อนหลังดังกล่าวจะมีผลลบล้างความผิดหรือไม่ และกรมศุลกากรสามารถดำเนินการยึดอาวุธปืนให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 หรือไม่
 

3. กรณีไม่สามารถออกใบอนุญาตย้อนหลังได้ อาวุธปืนที่นำเข้ามาถือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 หรือไม่
 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า หจก. ปืนเอกภัทร จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2511 ทุน3,000,000 ตั้งอยู่เลขที่ 18/176 ซอยลาดปลาเค้า 83 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประเภทธุรกิจจำหน่ายอาวุธปืน และยุธโธปกรณ์หรือส่วนประกอบ มีหุ้นส่วนผู้จัดการ 3 คน คือ นาย ชนะเกียรติ มั่นประสงค์ นาย นิพนธ์ พูลวัฒนา และ น.ส. พิมพลอย พงษ์ภักดี 

จากการตรวจสอบพบว่า นาย ชนะเกียรติ มั่นประสงค์ นาย นิพนธ์ พูลวัฒนา ทำธุรกิจซื้อขายรถยนต์ ร่วมกับ นาย อนุชิต การภักดี ในชื่อบริษัท ป.สมบูรณ์ทวีสินทรัพย์ จำกัด
 

ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (www.tcijthai.com) เคยตรวจสอบพบว่า นายอนุชิต การภักดี ปรากฏรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ใน บริษัท รอยัล แอมมูนิชั่น จำกัด หนึ่งในห้าเสือผู้ค้าอาวุธใหญ่ขายอาวุธปืนและกระสุนให้กองทัพบก
 

นอกจากนี้ นายอนุชิต ยังนายอนุชิต การภักดี ถือหุ้นในบริษัทค้าอาวุธให้กองทัพชื่อ กมลรัตน์ คอมเมอร์เชียล ซึ่งมี พล.อ. คนหนึ่งถือหุ้น 1,000 หุ้น และ พล.ท. 1,000 หุ้น
 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ ระบุว่า บริษัท รอยัล แอมมูนิชั่น จำกัด เดิมจดทะเบียนวันที่ 28 มิถุนายน 2533 ชื่อ บริษัท โกลเด้นอาร์ม จำกัด ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2542 เปลี่ยนชิ่อ เป็น บริษัท โอลิมปิคอาร์มแอนด์แอมมูนิชั่นประเทศไทย จำกัด กระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2548 จดทะเบียนเป็น บริษัท รอยัล แอมมูนิชั่น จำกัด ที่ตั้งเลขที่ 99/4 หมู่ที่ 2 ถนนนครสวรรค์ท่าตะโก ตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
 

ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2553 นายจรัล จาวาลา ถือหุ้น 80% นายวิษณุ จาวาลา 9.9% นายชาตรี สุขทวี 5% นายอนุชิต การภักดี 3% นางสาว ธนวันต์ หาญศิริการ2% มีนายจรัล จาวาลา นายวิษณุ จาวาลา นาย การัณย์ จาวาลา นายพรเทพ พุทธนรากุลเป็นกรรมการ
 

จากการตรวจสอบพบอีกว่า นายจรัล จาวาลา นายวิษณุ จาวาลา นาย การัณย์ จาวาลา ทำธุรกิจร่วมกับ นายฐิติพันธุ์ เกยานนท์ บุตรชาย พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และรองประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้องแห่งชาติ (คมช.) อย่างน้อย 3แห่ง
 

แห่งแรก บริษัท อาร์วิชั่น จำกัด ที่ตั้งเดียวกับ บริษัท รอยัล ดีเฟนส์ จำกัด เลขที่ 77/153-154 อาคารสินสาธรทาวน์เวอร์ ชั้น 35 นายการัณย์ และ นายฐิติพันธุ์ ถือหุ้นคนละ 49.7% จากทุนจดทะเบน 1 ล้านบาท
 

แห่งที่สองชื่อ บริษัท รอยัล มัลติมีเดีย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด จดทะเบียน 21 กรกฎาคม 2551 ทุน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 88/1 ซอยโพธิ์แก้ว ถนนโพธิ์แก้ว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ นายการัณย์ และ นายฐิติพันธุ์ ถือหุ้นคนละ 17.5% นายธรรศ พจนประพันธ์ 33% นายอัจฉริยะ หร่ำเดช 32%
 

แห่งที่ 3 ชื่อ บริษัท ท๊อป อะเมซิ่ง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 123/2 หมู่ที่ 4 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายฐิติพันธุ์ถือหุ้น 17.2% นายการัณย์13.8%
เห็นได้ว่า บริษัท รอยัล ดีเฟนส์ จำกัด และ บริษัท รอยัล แอมมูนิชั่น จำกัดเป็นเครือข่ายเดียวกัน
 

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท รอยัล แอมมูนิชั่น จำกัด ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2555

พบว่า นายอนุชิต การภักดี ไม่ปรากฏชื่อเป็นหนึ่ง ในผู้ถือหุ้น บริษัท รอยัล แอมมูนิชั่น จำกัด แล้ว