logo isranews

logo small 2

ชำแหละ 45 'บิ๊ก ขรก.-นักการเมืองท้องถิ่น'พันคดีฉาว ชนวน ม.44 'บิ๊กตู่'

ชำแหละ 45 “บิ๊ก ขรก.-นักการเมืองท้องถิ่น”ก่อนถูก“บิ๊กตู่” ลงดาบพักราชการ พันคดีดังเพียบ จัดซื้อเครื่องเล่น-ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้าน-นำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี-ประกาศภัยพิบัติปลอม-ถูก ป.ป.ช.จับสดเรียกรับผลประโยชน์

PIC pppdddd 18 5 58 1

“รายชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 45 ราย เป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในล็อตแรก ทั้งสิ้น 198 รายชื่อ การโยกย้ายข้าราชการในส่วนนี้ แบ่งได้สองกลุ่ม คือกลุ่มที่เจ้ากระทรวงสามารถดำเนินการได้เอง และอีกส่วนไม่สามารถดำเนินการได้เอง ต้องอาศัยอำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ซึ่งส่วนนี้จะมีเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้”

เป็นความเห็นล่าสุดของ “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. ต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ตามมาตรา 44

ส่งผลให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมือง และข้าราชการท้องถิ่น รวมจำนวน 45 ราย ต้องถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่และโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น

(อ่านประกอบ : นายกฯใช้ ม.44 เชือดยกลอต"บิ๊กขรก. ล้าง ก.ท่องเที่ยว-นักการเมืองท้องถิ่น 45 ราย )

เมื่อสังเกตรายชื่อทั้ง 45 ราย พบว่า เกือบทั้งหมดที่เข้าไปพัวพันกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการกระทำความผิดของภาครัฐ ตามที่ถูกสื่อมวลชน และองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตรวจสอบอยู่

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จำแนกรายชื่อ 45 รายที่เข้าไปพัวพันในกรณีต่าง ๆ ไว้ แบ่งได้ดังนี้

กลุ่ม 1 ข้าราชการ 24 ราย แบ่งเป็น

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4 ราย

1.นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวง
2.ว่าที่ร้อยตรีอานุภาพ เกษตรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว
3.นายพัฒนา ชาติกฤติบวร อธิบดีกรมพลศึกษา
4.นายนิวัฒน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา

-เกี่ยวพันกรณีโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและเครื่องเล่นนันทนาการ

เกิดจากสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายฯ กับกรมการท่องเที่ยและกรมพลศึกษา ทำสัญญากับบริษัทเอกชนที่ขายสินค้าให้ในราคาแพงกว่าต้นทุนนับสิบเท่า ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในกรณีนี้ มีที่มาจากงบแปรญัตติของ ส.ส. ที่ดึงงบมาลงที่กระทรวง และกรมดังกล่าว

โดยเฉพาะ ว่าที่ร้อยตรีอานุภาพ ที่เป็นผู้ลงลายมือชื่อในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชน อย่างน้อย 3 สัญญา

ล่าสุด นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวฯ และนายสุวัตร (ขณะนี้ถูกคำสั่ง คสช. พักราชการแล้ว) ได้ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า ให้ความสำคัญและตรวจสอบเรื่องนี้มาโดยตลอด และมีผลสรุปการตรวจสอบออกมาเป็นระยะแต่ยังไม่ชัดเจนจึงตีกลับไป ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สอบถามถึงผลการตรวจสอบบ่อยครั้งเช่นกัน

(อ่านประกอบ : "บิ๊กตู่"จี้ถามผลสอบเครื่องเล่นบ่อย! "กอบกาญจน์"ขอ2สัปดาห์เคลียร์หลักฐานให้ชัด"กอบกาญจน์"ปูดที่มางบแปรญัตติ 2กรมท่องเที่ยว-ใบสั่งส.ส.ซื้อเครื่องเล่นลงพื้นที่)

กระทรวงการคลัง 6 ราย แยกเป็น 2 ส่วน คือ

-เกี่ยวพันกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท มีจำนวน 4 ราย ได้แก่

1.นายศุภกิจ ริยะการ (นายสิริพงษ์ รยะการธีโชติ) สรรพากรพื้นที่นราธิวาส (ปัจจุบันถูกไล่ออกจากราชการแล้ว)

ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสรรพากรพื้นที่ 22 บางรัก ที่ทำให้เกิดความเสียหายรวมมูลค่า 2.8 พันล้านบาท และถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนคดีมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ 40 ล้านบาท

2.นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานี

ขณะนั้นเป็นสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการที่ทำให้เกิดความเสียหายรวมมูลค่า 1,135 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่นี้ได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัทกลุ่มนายวีระยุทธ แซ่หลก (ผู้ต้องหาคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม) อย่างน้อย 5 บริษัท รวม 650.8 ล้านบาท ต่อมาเป็นผู้ทำหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จ.สมุทรปราการ ขอให้ระงับการจดทะเบียนเลิกบริษัทดังกล่าวในเวลาต่อมาอีกด้วย

3.นายสาธิต รังคศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง

ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ในยุคที่เกิดกรณีการทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และเคยถูกนายศุภกิจ อ้างในหนังสือเวียนระบุว่า นายสาธิต อนุมัติให้คืนภาษีได้ทันที เมื่อผลการตรวจไม่พบประเด็นความผิด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 6 เดือน ตามที่คณะผู้ตรวจราชการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี ให้คำแนะนำแก้ไขปัญหางานปฏิบัติงาน และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชะลอการคืนภาษีช่วง 6 เดือนแรกไว้ก่อน 

4.นายมานิตย์ พลรัตน์ สรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองตาก จ.ตาก

ขณะนั้นเป็นนักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ ซึ่งปรากฏชื่อเป็นผู้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ 4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี 30 บริษัท

ส่วนนายป้อมเพชร วิทยารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำภาค 7 อดีตเคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการสรรพากร สำนักงานสรรพากรภาค 4-7 ไม่มีข้อมูลระบุว่า เกี่ยวข้องกับกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

(อ่านประกอบ : เปิดพฤติกรรม 4 ‘ขรก.-บิ๊ก’พันคดี 4.3 พันล. สังเวยคมดาบ“ประยุทธ์”-ไร้ชื่อ 13 คน“ศุภกิจ”ซี9สรรพากรคดีโกงภาษีไม่รอด! ก.คลัง สั่งลงโทษไล่ออก ขรก.แล้ว ,ขมวดปมคืนภาษีฉาว 4 พันล.“จุดเริ่มต้น-เด้งอธิบดี”ก่อนถึงมืออัยการ-ป.ป.ช. , “ศุภกิจ”ซี9สรรพากรคดีโกงภาษีไม่รอด! ก.คลัง สั่งลงโทษไล่ออก ขรก.แล้ว , พลิกปูมข่าวเจาะ“โกงแวต 4 พันล.-ทรัพย์สินแซม” ก่อนคว้าช่อสะอาด )

-เกี่ยวพันกรณีนำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี

1.นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง

อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ถูกกล่าวหาในช่วงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม กระทรวงการคลัง โดยกรณีนี้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน กรณีใช้ตำแหน่งเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง

และมีพฤติการณ์ทุจริตปรับราคารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียน้อยกว่าที่ต้องชำระ
ล่าสุด นายภักดี ระบุว่า ป.ป.ช. ได้รวบรวมเจ้าหน้าที่จากหลายสำนัก เข้ารวบรวมรายละเอียดอย่างเร่งด่วนแล้ว และพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมศุลากรเข้าเกี่ยวข้องจำนวนหลายราย

(อ่านประกอบ :ป.ป.ช.เปิดชื่อทางการ "ราฆพ-ชัยพงศ์" คดีใช้อำนาจเรียกเงินแลกนำเข้ารถหรู ,เส้นทางชีวิต“ราฆพ”ก่อนปรากฎชื่อในบัญชีสอบคดีภาษีรถหรู"ป.ป.ช."  พบอีก!!“วี.เจ.พี.ออโต้ฯ”ส่อปลอมลายเซ็น“คนตาย”นำรถผ่านด่านแหลมฉบัง  แกะรอย"กลวิธี"เครือข่ายบ."ร้าง”นำเข้ารถหรู 53 คัน-สลับชื่อผู้รับมอบอุตลุด )

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 ราย

1.นายปัญญา ศิลปะ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา
2.นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 ราย

1.นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง

กระทรวงมหาดไทย 10 ราย

1.นายแก่นเพชร ช่วงรังษี รองปลัดกระทรวง
2.นายกิตติภพ ตราชูวณิช ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
3.นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
4.นายเวชสุวรรณ อาจวิชัย หัวหน้าสํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดมุกดาหาร
5.นายนิรันดร์บุญสิงห์ หัวหน้าสํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุรินทร์
6.นายพรต ภูภักดิ์ นายอําเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
7.นายภัลลพ พิลา นายอําเภอเมืองสระบุรีจังหวัดสระบุรี
8.นายสมภพ ร่วมญาติ นายอําเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี
9.นายอรรณพ อกอุ่น นายอําเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
10.นายวีรชาติผ่องโชติ นายอําเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

-รายชื่อข้าราชการทั้ง 3 กระทรวงข้างต้น เกี่ยวพันกับกรณีการอนุมัติใช้จ่ายงบภัยพิบัติ (จัดซื้อยาฆ่าแมลง)

โดยกรณีนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งผลการตรวจสอบกรณีนักการเมืองท้องถิ่น-ข้าราชการท้องถิ่น อนุมัติใช้จ่ายงบภัยพิบัติ (จัดซื้อปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง) ทั้งที่ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน ร่วมกับ สตง. แล้ว ซึ่งพบว่ามีการเบิกจ่ายงบภัยพิบัติผิดปกติในหลายจังหวัด

โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ที่ สตง. ตรวจสอบพบว่า อ.อุดมเดช ได้เบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ไปกว่า 65 ล้านบาท รวมไปถึงอำเภออื่น ๆ ครั้งละประมาณ 50 ล้านบาท โดยเตรียมดำเนินการเรียกเงินในส่วนนี้คืนแก่แผ่นดินแล้ว

(อ่านประกอบ : จ่อฟันยกจ.อุบลฯ!สตง.ชี้ประกาศภัยพิบัติ"เก๊"ลามทุกอ. ไม่ใช่แค่ "เดชอุดม"“รองผู้ว่าฯ-นอภ.”ระทึก! ป.ป.ช.จ่อส่งชื่อขรก.พันซื้อปุ๋ยแพงให้คสช.เชือด)

กลุ่ม 2 หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ 1 ราย แบ่งเป็น

สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

1.นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช.

-เกี่ยวพันกรณีปลอมแปลงเอกสาร เรื่องการเบิกจ่ายเงิน

สมัยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. ถูกกล่าวหาว่า ดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติม (โบนัส) แก่เจ้าหน้าที่ กสทช. รวมถึงปลอมแปลงเอกสาร อย่างไรก็ดี นายประเสริฐ อ้างว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด และสั่งการให้คืนเงินแก่ กสทช. เรียบร้อยแล้ว

กลุ่มที่ 3 นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล จํานวน 14 ราย

(1) นายชาติ กันล้อม นายกองค์การบริหารส่วนตําบลท่าตําหนัก อําเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม
(2) นายเดชาวุธ เสนยะ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลน้ำตก อําเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
(3) นายสนธยา มีสถิตย์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลลําเลียง อําเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
(4) นายมนตรี ถ้ำเล็บมือ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลหนองเดิ่น อําเภอบุ่งคล้าจังหวัดบึงกาฬ
(5) นายสริภพ ภูนิสัย นายกองค์การบริหารส่วนตําบลทองเอน อําเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
(6) นายวรวุฒิ ยิ้มจันทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลทองเอน อําเภออินทร์บุรีจังหวัดสิงห์บุรี
(7) นายประทีป ยั่งยืน นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบางเมือง อําเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
(8) นายภัทรพล จำปารัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบางแก้ว อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
(9) นายทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตําบลราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
(10) นายมนตรีบุญสุยา นายกองค์การบริหารส่วนตําบลแกใหญ่ อําเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
(11) นายสมภาร เคนหาญ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลกุดจิก อําเภอเมืองหนองบัวลําภู จังหวัดหนองบัวลําภู
(12) นายทนงทรัพย์ถนอมจิตต์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลจิกเทิง อําเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี
(13) นายสุวรรณ เมฆบุตร นายกองค์การบริหารส่วนตําบลคันไร่อําเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
(14) นายวงศ์พิสุทธิ์ดํารงค์สิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลช่องเม็ก อําเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

กลุ่มที่ 4 นายกเทศมนตรี จำนวน 3 ราย

(1) นางสาวสุนีปูนกลาง นายกเทศมนตรีตําบลใหม่อําเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
(2) นายปัญญา เขียวธง นายกเทศมนตรีตําบลต้นธง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน
(3) นายรัชนาท ภูผินผา นายกเทศมนตรีตําบลทุ่งฝน อําเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

และกลุ่มที่ 5 ปลัดและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3 ราย

(1) นางสาวมณีรัตน์ดวงกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลหนองเดิ่น อําเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
(2) นายฟ้าใส เสนาธรรม (นายชยพล เสนาธรรม) ปลัดเทศบาลตําบลบ้านแปะ อําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
(3) นายนพคุณ พรหมพุทธา รองปลัดเทศบาลตําบลต้นธง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน

-รายชื่อนักการเมือง-ข้าราชการท้องถิ่นข้างต้น ล้วนเกี่ยวพันกับกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  บางรายเกี่ยวพันกับการเรียกรับเงินเพื่อหาผลประโยชน์

กรณีของนายเดชาวุธ ที่เพิ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. สนธิกำลังกับตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้าจับกุม พร้อมของกลางเป็นเงินสดกว่า 2.9 หมื่นบาท เนื่องจากมีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากเอกชนในโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีต

หรือกรณีนายสิรภพ และนายวรวุฒิ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าจับกุม พร้อมของกลางเงินสด 1 แสนบาท โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง เนื่องจากได้รับแจ้งจากเอกชนว่าถูกนายสิรภพ เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการว่าจ้างให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด เป็นต้น

(อ่านประกอบ : เอาจริง! 7 ป.ป.ช.จังหวัดลุยจับสด“นายกอบต.-บิ๊กขรก.”เรียกรับเงินหาผลปย.)

ทั้งหมดคือต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องใช้ “ยาแรง” ลงดาบสั่งพักราชการ

ดังนั้นต้องจับตาดูอีกว่าจะมีลอตต่อไปหรือไม่ เพราะยังมีอีกจำนวนกว่า 100 คน ที่ ศอตช. ชงชื่อให้ “หัวหน้า คสช.” ใช้มาตรการเช่นนี้อีก