หน่วยข่าวยัน "อัลกออิดะห์" ไม่เคยไล่ล่า "ทักษิณ" นักวิชาการชี้ 3 ปมคลิปไม่น่าเชื่อ
จากกรณีที่มีผู้ใช้นามว่า mansoor ahmed volvoโพสต์คลิปวีดีโอลงในเว็บไซต์ยูทิวบ์ โดยใช้หัวข้อว่า "Al-Qaeda video against former Thailand Prime Minister Thaksin Shinawatra" หรือ "วีดีโอจากอัลกออิดะห์ต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ทักษิณ ชินวัตร" ความยาวประมาณ 2.45 นาที จำนวน 2 คลิป จนสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว เพราะมีชายแต่งกายคล้ายชาวตะวันออกกลางประกาศไล่ล่าอดีตนายกฯเนื่องจากไม่พอใจเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) นั้น
มีรายงานว่า เบื้องต้นหน่วยข่าวความมั่นคงของไทยได้ตรวจสอบคลิปดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่ใช่คลิปตัดต่อ โดยผู้โพสต์มีแหล่งพำนักอยู่ในมาเลเซีย โดยคำว่า mansoor ahmed (มันโซร์ อาเหม็ด) น่าจะเป็นชื่อตัวคนโพสต์ ส่วน volvo (วอลโว) เป็นชื่อพ้องกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมาเลเซีย
อย่างไรก็ดี มีการตรวจสอบจากหน่วยข่าวอีกด้านหนึ่งว่า บุคคลที่ใช้ชื่อ Mansoor Ahmed เป็นผู้บริหารระดับสูง (Vice president strategy and communication) ของบริษัทรถยนต์วอลโว ในรัฐเซลังงอ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าถูกลอบใช้ชื่อในการโพสต์วีดีโอโดยที่เจ้าตัวไม่ทราบเรื่องหรือไม่
"ที่มาเลเซียมีชื่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ออกเสียงคล้ายๆ คำว่า 'วอลโว' อยู่ด้วยเหมือนกัน โดยกลุ่มนี้ต่อต้านรัฐบาลพรรคอัมโน และสนับสนุน นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซีย โดยผู้ที่โพสต์คลิปนี้ เมื่อตามไปดูในเฟซบุ๊คชื่อเดียวกันก็พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาเลเซียค่อนข้างรุนแรง และมีการเขียนหรือลิงค์ข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับตะวันออกกลางด้วย จึงถือเป็นประเด็นที่น่าจับตา" แหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองระบุ
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวคนเดียวกันบอกว่า รายละเอียดในคลิปยังมีข้อน่าสงสัยหลายประการ เช่น คนที่อยู่ในคลิปมีกี่คนกันแน่ เพราะคลิปหนึ่งปิดหน้า แต่อีกคลิปหนึ่งเปิดหน้า คนที่เปิดหน้ากับปิดหน้าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ และปืนที่ถือเป็นปืนจริงหรือเปล่า กระนั้นก็ตาม จากการติดตามข้อมูลของหน่วยข่าวกรองของไทยตลอดมา ยืนยันว่าขบวนการอัลกออิดะห์ไม่เคยแสดงท่าทีสนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หรือมีความไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
"เบื้องต้นหน่วยข่าวประเมินว่าน่าจะเป็นประเด็นที่สืบเนื่องจากการเมืองในมาเลเซีย เพราะอดีตนายกฯอาจจะแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัก อย่างชัดเจน ทำให้กลุ่มสนับสนุนนายอันวาร์ไม่พอใจ อีกทั้งอาจมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการกับกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
มีรายงานจากหน่วยข่าวด้วยว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนักอยู่ที่ฮ่องกง และได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปชิ้นนี้แล้ว นอกจากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 21.45 น.วันเสาร์ที่ 27 ก.ค.คลิปดังกล่าวไม่สามารถเปิดดูได้ หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยัง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อขอข้อมูลและสอบถามที่มาที่ไปของคลิป แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ด้านนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นโลกมุสลิมจากสถาบันอุดมศึกษาชื่อดัง ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นเกี่ยวกับคลิปนี้มีข้อน่าสงสัยอยู่ 3 ประการ คือ
1.เหตุการณ์กรือเซะที่บุคคลในคลิปยกขึ้นมากล่าวอ้างนั้น เกิดขึ้นเกือบ 10 ปีแล้ว ทำไมจึงเพิ่งมาประกาศไล่ล่ากันตอนนี้
2.โดยปกติกลุ่มอัลกออิดะห์จะไม่สนใจประเด็นปัญหาระดับท้องถิ่น แต่จะมุ่งโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นหลัก ขณะที่หากมองในมิติปัญหาระดับท้องถิ่นก็น่าคิดว่าปัญหาโรฮิงญาในเมียนมาร์เป็นประเด็นใหญ่กว่าและน่าสนใจกว่าปัญหาชายแดนใต้ของไทยหรือไม่ เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาก
3.หากความแค้นต่อเหตุการณ์กรือเซะหรือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความจริง กลุ่มอัลกออิดะห์ก็ไม่น่าพุ่งเป้าไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว แต่น่าจะพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลไทยหรือรัฐสยามเหมือนท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็นมากกว่า
"ที่ผ่านมาเคยมีบ้างเหมือนกันที่กลุ่มก่อการร้ายระดับโลกสนใจปัญหาท้องถิ่น เช่น กลุ่มตาลีบันเคยประกาศช่วยเหลือมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาร์ แต่นั่นก็เป็นการประกาศผ่านสื่อของตนเองอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่มาทำคลิปขู่ฆ่ากันแบบนี้" เขากล่าว และว่า "จริงๆ แล้วกลุ่มอัลกออิดะห์ประกอบด้วยหลายกลุ่มจากหลายพื้นที่ในโลก ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้เรียกตนเองว่าอัลกออิดะห์ด้วย"
นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นโลกมุสลิม บอกด้วยว่า ส่วนตัวให้น้ำหนักไปที่ปัญหาการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก และอาจมีประเด็นของคนมลายูมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปเกี่ยวพันด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพบางตอนจากคลิปวีดีโอที่กำลังตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโลกออนไลน์
หมายเหตุ : ลิงค์คลิปต้นฉบับ ซึ่งต่อมาไม่สามารถเข้าชมได้ http://youtu.be/u3CggH067jI โดยอ้างเหตุผลว่าละเมิดนโยบายของ YouTube ด้านความรุนแรง