logo isranews

logo small 2

คิดใหม่ทีวีดิจิตอล ...คำตัดพ้อของ พ.อ.นที กับ ฝันร้ายของ ดร.สมเกียรติ

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลา 18:00 น.
เขียนโดย
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
หมวดหมู่

วานนี้ (16 ก.ค.2556) ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการจัดงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “คิดใหม่การจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอล” มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บอร์ดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และนายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการ NBTC Policy Watch ร่วมอภิปราย

“นที” ตัดพ้อทำดีไม่ได้เครดิต-ยันประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ต.ค.นี้

พ.อ.นที กล่าวว่า ตอนที่ กสทช.ประกาศโรดแม็ปเมื่อนเดือน เม.ย.2555 เราเป็น 3% สุดท้ายของประเทศในโลก ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับดิจิตอลเลย แต่วันนี้ตนกล้าพูดได้ว่าในอาเซียน เราไม่แพ้ใคร หลายประเทศอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ใช้เวลา 3-5 ปี ในการเลือกมาตรฐาน แต่เราใช้เวลาแค่ 3 เดือนในการเลือก เครดิตเหล่านี้ไม่มีใครพูดถึงเลย ทั้งๆ ที่การเลือกมาตรฐานก็มีการล็อบบี้กันขนานใหญ่ เพียงแต่มันไม่ออกมาสู่สังคม เหตุที่ กสทช.เลือกมาตรฐาน DVB-T2 เพราะมองว่า เป็นเทคโนโลยีที่เข้าใกล้มาตรฐานในอุดมคติที่สุด และหลายๆ คนพูดว่าไม่น่าจะมีการพัฒนาเชิงเทคนิคที่จะตอบโจทย์พาณิชย์ได้มากกว่านี้อีกแล้ว ประเทศฟิลิปปินส์เปลี่ยนมาตรฐานเป็นครั้งที่สามแล้ว กลับไปกลับมา

“เรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน กระบวนการเปลี่ยนผ่านต้องมีลำดับขั้นตอนของมัน เราเองก็ศึกษาหลายๆ ประเทศ แต่ประเทศที่ล้ำหน้าจริงๆ คือ มาเลเซีย ส่วนฝรั่งเศสกับสเปนใกล้เคียงกับของเรา ในการเปลี่ยนผ่านองค์รวม” พ.อ.นที

พ.อ.นที กล่าวว่า หลังจากมีโรดแมปแล้ว กสทช.ก็ออกกติกา เป็นประกาศ 8 ฉบับ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอล ซึ่งสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน คือต้องมีการประนีประนอม โดยไม่ทำให้ผู้ประกอบการอนาล็อกรู้สึกว่าเขาไม่มีพื้นที่บนดิจิตอล เราต้องให้โอกาสทั้งคนเก่าและคนใหม่ ไม่มีการกีดกัน ทำให้มีการให้มีการพูดถึงการออกอากาศคู่ขนาน หรือ simulcast ซึ่งไม่ใช่การให้สิทธิเพิ่มเติม สำหรับวันนี้ตนคิดว่ากติกาที่ออกมาตามลำดับ ใกล้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าในเดือน ต.ค.2556 จะสามารถจัดให้มีการประมูลทีวีดิจิตอล บริการธุรกิจ ทั้ง 24 ช่องได้ โดยภายใน 2 ปี คนไทยกว่า 80-90% จะได้ดูทีวีดิจิตอล ทำให้ฟรีทีวีจากเดิม 6 ช่อง เพิ่มเป็น 30-40 ช่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องความเป็นเจ้าของสื่อ

“การเปลี่ยนแปลง มีแต่ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ในฐานะผู้กำกับดูแล ก็มีสิ่งที่ต้องเสียสละ อย่างผมก็ต้องยอม โดนด่านิด โดนด่าหน่อย ก็ต้องอดทน เพราะแต่ละคนก็คาดหวัง อย่างโน้นอย่างนั้น ไม่สามารถผลักใครไปสู่มุมได้ แต่ละคนไม่ได้หนึ่งร้อย อาจจะได้ 60% 70% บ้าง ก็ยังดี” พ.อ.นทีกล่าว

เอกชนฝาก กสท.ทำคู่ขนานประมูล 6 ประเด็น

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิตอล ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รับได้ แต่ก็มีเรื่องที่อยากฝาก กสท.อยากให้ทำคู่ขนาน ไม่อยากให้รอประมูลเสร็จแล้วค่อยทำ 1.เตรียมความพร้อมผู้บริโภค เพราะไม่น่าเชื่อว่า ยอดขายทีวีต้นปี 256 จะหดตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าซื้อไปแล้วจะรับทีวีดิจิตอลได้หรือไม่ ขณะที่คนขายทีวีก็ตอบไม่ได้ 2.ควรจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ดูบนจอที่สอง เช่นสมาร์ทโฟน นอกจากจากจอที่หนึ่ง คือทีวีอย่างเดียว เพื่อจะทำให้การประมูลทีวีดิจิตอลมีคุณค่ามากขึ้น เพราะเวลานี้ไปคุยกับเอเจนซี่โฆษณา เขาก็ถามว่าทีวีดิจิตอลดูชัดกว่าแล้วอย่างไรล่ะ

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า 3.อยากให้มีมาตรฐานเรื่องการวัดเรตติ้ง จากที่มีบริษัท เอซี นีลเส่น ทำอยู่เพียงเจ้าเดียว เมื่อมีทีวีดิจิตอล บริการธุรกิจ อีก 24 ช่อง ตนจึงอยากให้มีมีมาตรฐานเรื่องเรตติ้ง จะได้ไปบอกกับเอเจนซี่โฆษณาได้ว่ามีคนดูเท่าไร เวลานี้บริษัท เอซี นีลเซ่น บอกว่าเรตติ้งฟรีทีวี 65% เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม 35% แต่โฆษณาไปลงที่ฟรีทีวี 90% โดย 75% เป็นของช่อง 3 กับช่อง 7 ที่เหลือ 10% ถึงไปลงที่เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม ที่ กสท.กำหนดให้ต้องออกอากาศครอบคลุมประชากร 90% ในเวลาสามปี ก็ไม่ได้แปลว่าทั้ง 90% เขาจะดุทีวีดิจิตอล เนื่องจากเวลานี้มีคนดูทีวีผ่านดาวเทียม สัก 65% ดูผ่านอนาล็อกแค่ 35% ซึ่งคนกลุ่มหลังเปลี่ยนมาดุทีวีดิจิตอลแน่ แต่คนกลุ่มแรกไม่แน่ใจ

“เรตติ้งคือตัววัดว่าผู้เล่นรายใหม่จะแข่งขันในสนามนี้ได้ไหม แล้ว 24 ช่องจะดำน้ำได้นานกี่ปี เพราะโดยทั่วไปต่างประเทศ 3 ปีแรกขนาดทุนหมดเลย รายเก่าอาจจะกำไรลดลง แต่รายใหม่ไม่มีใครทำกำไรได้” นายอดิศักดิ์กล่าว

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่อยากฝาก กสท.อีก 4.เรื่องออกอากาศคู่ขนาน หรือ simulcast อยากขอความชัดเจนว่า สรุปแล้วฟรีทีวีทุกช่องจะได้ simulcast หรือไม่ และกำหนดเวลาคืนคลื่นกี่ปี เพราะเวลานี้มีแค่ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ที่มีกำหนดเวลา ส่วนช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 ยังไม่ชัดเจน 5.เรื่องโครงข่าย เวลานี้เหมือน กสท.คุยกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายแค่ 2 ฝั่ง แต่ผู้ใช้โครงข่าย ยังไม่มีโอกาสได้คุย ทั้งเรื่องค่าเช่าและพื้นที่แพร่สัญญาณว่าจะครอบคลุมจุดใดบ้าง และ 6.เรื่องกล่องแปรสัญญาณ set-top-box อยากให้มีการทดลงในวงการมากขึ้น เพราะเท่าที่ได้ยินที่ช่อง 5 ทดลองที่ตึกใบหยก พบว่าคนอยู่ใกล้ๆ ตึกใบหยก ดูไม่ได้ แต่อยู่ไกลๆ เช่น จ.สระบุรีกลับดูได้ ส่วนการทดลองของช่อง 9 ที่หนองแขม ก็ได้ยินว่าล้มเหลว

“ถ้ามีแต่โครงข่าย แต่คนดูหาไม่เจอ รายใหม่จะได้รับผลกระทบมาก” นายอดิศักดิ์กล่าว

ทีดีอาร์ไอ เปิดฝันร้าย 7 ประการ ถ้า กสท.ไม่ปรับปรุงกติกา

นาย สมเกียรติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรคสาม เขียนไว้ว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ นอกจากต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ยังต้องพิจารณาเรื่องการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เหตุใดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจึงสำคัญกับธุรกิจทีวีดิจิตอล ก็เนื่องจากรายรับสำคัญของธุรกิจนี้อยู่ที่เงินโฆษณา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2015 จะสูงถึง 1 แสนล้านบาท และในปี ค.ศ.2019 จะเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม นอกจากตำแหน่งใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่มีการล็อบบี้โดยนายทหารในสภานิติบัญญัติแห่งชาติห้ทีวีดิจิตอล บริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 (ช่องเพื่อความมั่นคง) หาโฆษณาได้แล้ว ส่วนประเภทที่ 1 กับที่ 3 หาไม่ได้เลย หลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจ ช่องข่าว ก็ยังมีการแก้เกณฑ์ขั้นต่ำเนื้อหาสาระ จาก 75% เหลือ 50%

“เงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดปรากฎการณ์ ตีตั๋วเด็กเล็กไปแข่งผู้ใหญ่ เช่นคิดว่าแข่งประมูลช่องวาไรตี้ไม่ได้ ก็มาประมูลช่องข่าว ซึ่งมีราคาตั้งต้นต่ำกว่า และกำหนดสาระขั่นต่ำแค่ 50% เพื่อไปสู้กับช่องวาไรตี้” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวว่า ตนอยากเสนอให้ กสท.ปรับปรุงวิธีการทำงาน ไม่เช่นนั้นจะเกิดฝันร้าย 7 ประการ 1.ทีวีดิจิตอลสาธารณะ ทั้ง 12 ช่อง จะเป็นของหน่วยงานราชการทั้งหมด เช่น ช่องการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ไป ช่องสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ไป ซึ่งช่องเหล่านี้ไม่มีผู้ชม แต่อยู่ได้ด้วยงบของหน่วยงานรัฐ 2.ทีวีดิจิตอลสาธารณะ ช่องเพื่อความมั่นคง แต่ไม่มีเนื้อหาเพื่อความมั่นคงเลย แต่ทำธุรกิจแข่งกับทีวีดิจิตอลธุรกิจ 3.ทีวีดิจิตอลธุรกิจ ช่องข่าว ที่มีแต่รายการบันเทิง 4.ขายมีการผูกขาดการให้บริการโครงข่าย (MUX) เนื่องจากมีผู้ประกอบการน้อยราย และหากไม่มีการกำกับดูแลที่ดีพอ ก็อาจจะพบปัญหาว่าราคาแพงทั้งที่คุณภาพไม่ดี เพราะจากที่ผู้เชี่ยวชาญไปศึกษา พบว่า MUX ของบางเจ้าไม่มีแม้แต่แผนสำรองหากเกิดปัญหา

ดร.สมเกียรติ กล่าว 5.ด้วยกฎ must carry ที่ให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม สามารถเลือกรายการจากทีวีดิจิตอลธุรกิจไปออกได้ ทำให้รายการดีๆ อาจไม่มีพื้นที่ออกอากาศ 6.เรื่องเกณฑ์เนื้อหาสาระ จากการศึกษาของมีเดีย มอนิเตอร์ พบว่าช่อง 5 ไม่ผ่านเกณฑ์ทีวีดิจิตอล ช่องสาธารณะ ที่ต้องมีเนื้อหาสาระเกินกว่า 70% ของผังรายการ แต่ช่อง 5 กลับได้รับอนุญาตให้ออกอากาศคู่ขนาน โดยใช้โควตาทีวีดิจิตอลสาธารณะ คล้ายกับตีตั๋วเด็กแต่งเครื่องแบบทหารมาวิ่งแข่งกับเจ้าอื่นๆ และ 7.จากที่มีการพูดกันว่าผู้ประกอบการ MUX จะเก็บค่าเช่าโครงข่ายราย 50 ล้านบาทต่อปี ก็มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า หากเก็บอัตรานี้จะทำให้ผู้ประกอบการ MUX ได้กำไรถึง 50% นี่คือฝันร้ายของรายเล็ก รายใหม่ ที่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายแพงๆ

“เพื่อไม่ให้ฝันร้ายต่างๆ เกิดขึ้น ผมจึงมีข้อเสนอแนะ อาทิ ทำหลักเกณฑ์ไม่ให้ทีวีดิจิตอลสาธารณะต้องตกเป็นของหน่วยงานรัฐทั้งหมด อาทิ ตรวจความจำเป็นในการใช้คลื่น, กำหนดเงื่อนไขช่องเพื่อความมั่นคงอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องโฆษณาที่พอเพียง ที่ต้องไม่มากเกินไป, ขยายเวลาโฆษณาเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมที่ไม่บอกรับสมาชิก ให้เท่ากับทีวีดิจิตอล, กำหนดระยะเวลาคืนคลื่นอนาล็อกให้เท่ากัน, กำกับดูแลค่าบริการของ MUX ให้สอดคล้องกับต้นทุน ฯลฯ เป็นต้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

นักวิจัยติงผลประโยชน์ทับซ้อน-ล็อคสเปคทีวีสาธารณะ

ขณะที่นายวรวัจน์ กล่าวว่า ตนจะโฟกัสเรื่องการจัดสรรทีวีดิจิตอลสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งการกำหนดช่องรายการต่างๆ ให้มีเนื้อหาตายตัว มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการล็อคสเปคหรือไม่ นอกจากนี้การไม่มีเกณฑ์การคัดเลือกหรือ beauty contest ทั้ง ที่มีหลายหน่วยงานเรียบร้อย เพื่อให้การคัดเลือกทีวีดิจิตอลสาธารณะเกิดความชัดเจน ทำให้ไม่มีตัวกำหนดว่าผู้ที่ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะจะทำไปเพื่อ ประโยชน์อย่างสามารถอย่างแท้จริง รวมถึงไม่มีตัวกำหนดพันธมิตรทีวีดิจิตอลสาธารณะให้แตกต่างจากทีวีดิจิตอล ธุรกิจ

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบาย เนื่องจากอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านของ กสทช. มีตัวแทนฟรีทีวีรายเดิมและตัวแทนหน่วยงานรัฐ แต่กลับมีอำนาจในการให้ความเห็น และผลักดันร่างประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งเอกชนจะมาประมูล รวมถึงมีอำนาจในการให้ความเห็นเรื่อง simulcast รวมถึงกำหนดนิยามช่องเพื่อความมั่นคง ทั้งๆ ที่มีตัวแทนช่อง 5 ช่อง 11 ไทยพีบีเอส และหน่วยงานควมมั่นคงนั่งอยู่ในอนุกรรมการฯ ขุดดังกล่าว” นายวรพจน์กล่าว

ปธ.กสท.ยันไม่ให้รัฐเหมาทีวีสาธารณะ-อัดพวกวิจารณ์ไม่ศึกษา

ด้าน พ.อ.นที กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวคือคนที่วิจารณ์โดยที่ยังไม่ศึกษา ยืนยันว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับทีวีดิจิตอล มีประกาศรองรับทั้งหมด คอนเซปท์ของทีวีดิจิตอลสาธารณะ จะไม่ใช่ฝันร้ายอย่างที่ดร.สมเกียรติว่าแน่น่อน เพราะวัตถุประสงค์ของการแบ่งช่อง เพราะเราต้องการให้ไปรวมกลุ่มกัน อย่าง ช่องการศึกษา ความจริงมีบางมหาวิทยาลัยมาวิ่งเต้น อยากจะได้ แต่ตนก็บอกว่าถ้าให้ไปแล้วมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะว่าอย่างไร ที่สุดก็นำมาสู่การรวมตัวกันของมหาวิทยาลัย 33 แห่ง อย่าคิดว่าทีวีดิจิตอลสาธารณะจะเป็นที่ยึดครองของคนใดคนหนึ่ง และตราบใดที่การรวมตัวยังไม่ชัด เราก็จะไม่ออกใบอนุญาตให้ กสท.ไม่มีวัตถุประสงค์ในการออกทีวีดิจิตอลสาธารณะ ให้หน่วยงานของรัฐทั้ง 12 ช่อง แน่นอน

“อย่าคิดว่าใครดีกว่าใคร หรือใครจะเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว และผมเห็นด้วยอย่างที่อาจารย์สมเกียรติว่า คือใบอนุญาตแรกไม่ควรจะให้เวลายาว เพราะมันยังเป็นการลองผิดลองถูก จึงให้ใบอนุญาตแรกมีอายุ 4 ปีเท่านั้น” พ.อ.นทีกล่าว

พ.อ.นที กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านของ กสทช. ตนคิดว่าคนที่กล่าวหาใจคับแคบ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ตนก็ให้ตัวแทนฟรีทีวีออกทั้งหมด และที่ผ่านมาความเห็นของอนุกรรมการชุดนี้ก็ไม่ได้ส่งตรงมาที่ กสท. แต่ส่งไปยังสำนักงาน กสทช. บางความเห็นก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อฟรีทีวีเลย อย่างเรื่องการออกอากาศคู่ขนาน ที่อนุกรรมการชุดนี้ก็ให้แค่ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอสเท่านั้น ส่วนช่องอื่นๆ เขาบอกว่าเป็นช่องธุรกิจ ให้ออกอากาศคู่ขนานได้จนถึงสิ้นสุดการประมูล

พ.อ.นที ยังกล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ลดเกณฑ์เนื้อหาสาระขั้นต่ำของช่องข่าว จาก 75% เหลือ 50% ความจริงกฎหมายกำหนดไว้แค่ 25% แต่เราให้ถึง 75% ซึ่งสูงว่าทีวีดิจิตอลสาธารณะ ที่กำหนดไว้ที่ 70% เสียอีก จึงต้องปรับลดลงมาให้เหลือ 50% โดยใส่เงื่อนไขไว้ด้วยว่าต้องกระจายทั้งวัน ขณะที่ราคาประมูล ผู้เกี่ยวข้องบอกว่า เมื่อปรัดลดแล้ว ราคาตั้งต้นควรจะเพิ่ม 2-3 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นสาระสำคัญ เพราะตอนแรกที่เสนอมา ช่องข่าวมีราคาตั้งต้นที่ 134 ล้านบาท แต กสท.ก็ปรับไปที่ 140 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดเศษ

“ที่ติดเรื่องทีวีดิจิตอลสาธารณะ ประเภทที่ 2 ช่องความมั่นคงให้มีโฆษณาได้ จริงๆ ทีวีดิจิตอลสาธารณะหลายๆ ประเทศก็มีโฆษณาได้ ทั้งไอทีวีของอังกฤษ เอสบีเอสของออสเตรเลีย ความจริงผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่กำหนดให้ทีวีดิจิตอลสาธารณะ ทุกประเภทมีโฆษณาได้ แต่เมื่อกฎหมายกำหนดมาเช่นนี้ ผมก็จะพยายามจะทำให้เกิดความชัดเจนก่อนการประมูลจะเกิดขึ้น” พ.อ.นทีกล่าว

พ.อ.นทียังกล่าวว่า ส่วนเรื่องกฎ must-carry ตอนเห็นด้ว่วาควรจะแก้ไข ซึ่งคงจะต้องมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อให้สิ่งที่เป็นฟรีทีวี ทุกช่องต้องเอาไป เรื่องค่าบริการ MUX การดำเนินการของ กสท.จะต้องไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เพราะถ้าตึงไป คนที่ทำ MUX จะไม่ลงทุน ถ้าหย่อนไป ผู้ประกอบการ MUX จะได้กำไรเกินพอดี ดังนั้น สิ่งที่ กสท.ทำคือจะให้เสนอราคาก่อน แล้วค่อยมากำกับดูแล