- Home
- Community
- เรื่องเด่น ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน
- เมื่อการคุ้มครองป้องกันทรัพยากรแร่เป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อการคุ้มครองป้องกันทรัพยากรแร่เป็นวาระแห่งชาติ
"...ความต้องการที่จะให้มีการทำเหมืองแร่อย่างไม่รู้จบ ไม่รู้จักพอ ไม่คิดถึงผลระยะยาว จึงสะท้อนวิสัยทัศน์และจิตสำนึกของผู้บริหารประเทศและข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งองคาพยพว่าไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติที่แท้จริง ไม่ได้คำนึงถึงทุกข์ร้อนของประชาชน และไม่ได้สำเหนียกต่อบาปกรรมในความเจ็บป่วยล้มตายของประชาชนรอบเหมืองทอง และเหมืองแร่อื่นๆ ที่เห็นชัดเจนมาเนิ่นนาน"
วันที่ 10 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ ต่อคณะรัฐมนตรี จากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ปล่อยให้มีการลักลอบทำแร่โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนายทุนในขบวนการลักลอบทำแร่ ระหว่างปี 2552 - 2557 จำนวน 48 เรื่อง
สาระสำคัญโดยสรุปของข้อเสนอ คือ
1. ให้รัฐบาลตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรแร่ และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน โดย กำหนดให้การคุ้มครองป้องกันทรัพยากรแร่เป็นวาระแห่งชาติ
2. กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการสูญเสียทรัพยากรแร่กับสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน โดยเฉพาะการพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ การเลือกที่จะเก็บทรัพยากรแร่ชนิดที่มีมูลค่าและขาดแคลนไว้ก่อนการจัดลำดับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
3. รัฐบาลควรตระหนักถึงปัญหาในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และกระบวนการดำเนินการในอุตสาหกรรมแร่ โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยเร่งรัดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกแห่งเข้มงวดกวดขัน กำกับ และติดตามการดำเนินงานในอุตสาหกรรมแร่อย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่อย่างจริงจังโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ปัญหาความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน อันอาจจะก่อให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ได้
4. กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจ และจัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งและจำนวนของทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่อยู่ในที่ดินของรัฐ และในที่ดินของเอกชน ตามศักยภาพแร่ของแต่ละพื้นที่ซึ่งจะต้องมีการประเมินเป็นประจำทุกๆ ปี
รวมถึง ปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้บูรณาการ การพิจารณาอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่แบบ จุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้เสร็จสิ้นในหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่
คณะรัฐมนตรีมีมติ รับทราบ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ ที่ ป.ป.ช. เสนอ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา กพ. คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กพร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาพรวม ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งรายงานการประชุมพิจารณาแนวทางดำเนินงานมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ ถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และส่งหนังสือเวียนถึง อสจ.ทุกจังหวัด โดยมีการแก้ไขสาระสำคัญเพิ่มเติมในรายงานดังกล่าวที่ได้จากการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 คือ
1. กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับ การบริหารจัดการทรัพยากรแร่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งประกอบด้วย ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและสังคม สถานภาพและความเป็นไปได้ของโครงการ และความรู้ทางธรณีวิทยา เพื่อบ่งชี้ระดับความเชื่อมั่นของปริมาณทรัพยากรแร่ที่ทำการประเมิน
2. เพื่อให้กระบวนการอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแร่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ควรมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โดยให้นำ มติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 เรื่องการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาแล้ว มาประกอบการพิจารณาการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
ล่าสุด นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. รายงานข่าวผลการดำเนินงานว่า ได้ส่งหนังสือถึงผู้ประกอบการเหมืองแร่กว่า 200 ราย หรือคิดเป็น 30% ของเหมืองแร่ทั้งหมดในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหมืองหินปูน-ยิปซั่ม ที่มีความบกพร่องด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และบกพร่องในกระบวนการควบคุมการประกอบโลหกรรม และการประกอบการทุกประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ให้เร่งแก้ไขปรับปรุงการประกอบกิจการ โดยระบุด้วยว่า ภายหลังการตักเตือน ผู้ประกอบการเหมืองแร่ 160 ราย ได้แก้ไขปรับปรุงการดำเนินกิจการตามคำสั่งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ขณะที่อีก 40 ราย อยู่ระหว่างติดตามประเมินผล ซึ่งหาก กพร. พบว่ายังไม่สามารถปรับปรุงได้ อาจจะมีการพิจารณาเพิ่มโทษตามความเหมาะสม โดยจะสั่งปรับเป็นเงินหรือสั่งปิดเหมืองแร่จนกว่าจะแก้ไขปรับปรุงได้ตามกรอบที่กำหนด และโทษขั้นสูงสุดคือการเพิกถอนประทานบัตร แต่ยังไม่มีการสั่งเพิกถอนประทานบัตรแต่อย่างใด
ขณะที่ข่าวอีกด้าน อธิบดี กพร. ชี้แจงเช่นกันว่า ขณะนี้มีการขออนุญาตอาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่ทองคำ 100 แปลง แต่ยังไม่ได้มีการออกใบอนุญาตอาชญาบัตร เนื่องจากคำสั่งตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2550 ห้ามออกอาชญาบัตรและประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมด จนกว่าจะมีการแก้ไข มติ ครม.
ส่วนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำที่ขอเข้ามาในขณะนี้ มีเพียง 1 ราย เป็นของ บริษัท ทุ่งคำ ที่จะเดินหน้าได้จริง 4-5 แปลง แต่ขณะนี้ก็ไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะว่าติด มติ ครม. ห้ามออกใบอนุญาตเช่นกัน
ตามมาด้วยข่าว นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลงานรอบ 1 ปี ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยอ้างว่าจะมีส่วนในการกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรม 1 ล้านล้านบาท กระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โตได้ 1-2% โดยแหล่งที่มาของเงินทุนสำคัญๆ ได้แก่ การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ การยื่นขอตั้งโรงงาน (รง.4) การลงทุนขยายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ การยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ผ่าน กพร. แผนการจัดการกากอุตสาหกรรม (พ.ศ.2558 -2562) ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีการแก้ปัญหาผังเมืองที่กระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไว้พร้อมสรรพ
ทั้งนี้ หากตั้งต้นสั้นๆ จาก การเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ เข้า ครม. โดยชูนโยบาย การคุ้มครองป้องกันทรัพยากรแร่เป็นวาระแห่งชาติ และ กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เป็น นโยบายหลักของรัฐบาล
คงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ว่าความสำคัญที่จะหายไปอันดับแรก คือ การคำนึงถึงความคุ้มค่าของการสูญเสียทรัพยากรแร่กับสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน โดยเฉพาะการพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ การเลือกที่จะเก็บทรัพยากรแร่ชนิดที่มีมูลค่าและขาดแคลนไว้ก่อนการจัดลำดับการใช้ประโยชน์
ส่วนผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ กพร. คงใช้คำสั่งที่ให้เหมืองแร่ 200 ราย แก้ไขปรับปรุงกิจการ มาลบล้างความล้มเหลวที่ไม่สามารถบริหารจัดการในการป้องกันไม่ให้การประกอบกิจการเหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
ส่วนหัวใจสำคัญที่ยังคงอยู่ ไม่เคยหายไปไหน ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ใน แผนพัฒนาแร่เศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แผนแม่บทป่าไม้ฯ การแก้ไขกฎหมายป่าไม้ หรือ กฎหมายแร่ ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะเร่งรัดในการกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ หรือ ไมนิ่งโซน เพื่อให้นักลงทุนขอประทานบัตรทำเหมืองได้ไม่ว่าแหล่งแร่นั้นจะอยู่ในพื้นที่ประเภทใดก็ตาม
ความต้องการที่จะให้มีการทำเหมืองแร่อย่างไม่รู้จบ ไม่รู้จักพอ ไม่คิดถึงผลระยะยาว จึงสะท้อนวิสัยทัศน์และจิตสำนึกของผู้บริหารประเทศและข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งองคาพยพว่าไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติที่แท้จริง ไม่ได้คำนึงถึงทุกข์ร้อนของประชาชน และไม่ได้สำเหนียกต่อบาปกรรมในความเจ็บป่วยล้มตายของประชาชนรอบเหมืองทอง และเหมืองแร่อื่นๆ ที่เห็นชัดเจนมาเนิ่นนาน
แม้กระทั่งกรณีที่เหมืองทองยกแก๊งอันธพาลนับร้อยเข้าไปทุบตีทำร้ายชาวบ้านถึงหมู่บ้าน การฟ้องเด็กอายุ 15 ปี ก็ยังไม่เห็นมีสามัญสำนึกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารบ้านเมืองหรือข้าราชการได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เยียวยาบำบัดด้วยความจริงใจ
ซ้ำร้ายกว่าการเพิกเฉย คือ ยังพยายามทุกทางที่จะให้มีการเปิดเหมือง ขยายพื้นที่ทำเหมืองต่อไป โดยยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงคำว่า “แร่เป็นของรัฐ” ซึ่งตอกย้ำว่ารัฐมีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ “ให้นายทุนขุดแร่ขึ้นมาขาย”
จากนี้ไปจับตา มติ ครม. การแก้กฎหมาย ไมนิ่งโซน การปลดล็อคเพื่อขยายเหมืองทอง การขายทรัพยากรให้นายทุน ฯ
อนาคตทรัพยากรของประเทศไทยได้ดำเนินมาถึงตอนอวสานในยุคนี้นี่เอง.