- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ข่าวการเมือง
- เตรียมจัดเวทีล่ารายชื่อ ดันกม.จังหวัดปกครองตนเองเข้าสภาฯ
เตรียมจัดเวทีล่ารายชื่อ ดันกม.จังหวัดปกครองตนเองเข้าสภาฯ
‘ไพโรจน์ พลเพชร’ ชี้จังหวัดปกครองตนเอง ถือเป็นการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่พอ ๆ กับสมัยร.5 เปรียบสถานการณ์ปกติ อาจจะต้องเข็นครกขึ้นภูเขากันหนักมาก
วันที่ 31 มกราคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัดเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย ‘ปฏิรูปการปกครองและการกระจายอำนาจ’ ณ โรงแรม เดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ว่าข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองของจ.เชียงใหม่ที่เสนอให้คปก. เสนอความเห็นและจัดทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้น เราจึงเล็งเห็นควรให้มีกฎหมายกลางขึ้นมาก่อน จากนั้นหากจังหวัดใดมีความพร้อมจะปกครองตนเองก็สามารถจะออกพระราชกฤษฎีกาได้เลย
สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการผลักดันกฎหมายนี้ เกิดจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงการรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทย แม้จะมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) แต่โครงสร้างเดิม ๆ ยังคงอยู่ รัฐส่วนกลางยังมีอิทธิพลหลักใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การวางแผนการพัฒนาทุกด้าน 2.สิทธิจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ3.การจัดการงบประมาณแผ่นดินและภาษี
“แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แต่เรื่องภารกิจและงบประมาณยังคงอยู่ส่วนกลาง ดังนั้นการกระจายอำนาจของไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” กรรมการคปก. กล่าว และว่าเราจึงเล็งเห็นการกระจายอำนาจจะเป็นทิศทางที่สำคัญของประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าไทยจะมีการพัฒนาประชาธิปไตยแบบไหน หากประชาชนยังเข้าไม่ถึงอำนาจและแก้ปัญหาของประชาชนได้ ก็จะเกิดคำถามว่า “ประชาธิปไตยกินไม่ได้ในหมู่ประชาชน”
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2540 และ 2550 ยังบัญญัติไว้เกี่ยวกับการบริหารจังหวัดปกครองตนเองในมาตรา 78 (3) กำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้อปท. มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นอปท.ขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
มาตรา 281 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่อปท.ตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ บริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นอปท.
“ปรากฏว่าตั้งแต่มีรธน.มายังไม่เคยมีจังหวัดใดที่จัดการปกครองตนเองได้เลย อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวจริงทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดสิทธิเฉกเช่นที่จ.เชียงใหม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นเมื่อคปก. พิเคราะห์แล้วจึงเห็นควรให้มีการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง” กรรมการคปก. ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง นายไพโรจน์ สรุปว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมา จังหวัดที่ต้องการจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง ประชาชนในพื้นที่จะต้องแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันโดยการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ใน 5 ของผู้มาออกเสียงเห็นชอบ จากนั้นกำหนดให้มีสภาจังหวัดปกครองตนเอง ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง และสภาพลเมืองจังหวัดปกครอง
“ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเองมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไม่เกิน 2 สมัย ซึ่งระยะเวลาคิดว่าเหมาะสมแล้ว และไม่ควรให้มีอำนาจผูกขาดเพียงตระกูลใดตระกูลหนึ่ง” กรรมการคปก. กล่าว และว่าส่วนสภาพลเมืองมีหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่น การจัดทำบริการสาธารณะ ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบอำนาจของอปท.
ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเองจะครอบคลุมทุกเรื่อง แม้กระทั่งกรณีตำรวจ ยกเว้น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การป้องกันประเทศ 2.การคลังของรัฐและระบบเงินตรา 3.การศาล และ 4.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายไพโรจน์ ยังกล่าวถึงเรื่องการคลังและรายได้ ควรให้มีคณะกรรมการบริหารภาษีระหว่างรัฐและอปท. ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่น โดยภาษีที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐกับอปท. เช่น ภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสุรา ค่าภาคหลวงแร่ เมื่อจัดเก็บแล้วให้ไว้เป็นรายได้ของจังหวัดปกครองตนเองไม่น้อยกว่า 70% ของรายได้ทั้งหมด และนำส่งรายได้ไม่น้อยกว่า 30% ให้แผ่นดิน
ส่วนภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีค้าปลีกยาสูบ ภาษีเพื่อการศึกษา ภาษีการพนัน อากรสัตว์ เมื่อจัดเก็บแล้วให้ตกเป็นของจังหวัดปกครองตนเองทั้งหมด
“จังหวัดปกครองตนเองเป็นประเด็นที่ค่อนข้างท้าทาย ถือเป็นการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่พอ ๆ กับสมัยรัชกาลที่ 5 เปรียบได้กับการย้อนไปสู่อดีตที่มีท้องถิ่นจังหวัดตนเอง เรียกว่า พลิกการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ใหญ่มาก ซึ่งหากเป็นในสถานการณ์ปกติ อาจจะต้องเข็นครกขึ้นภูเขากันหนักมาก” กรรมการคปก. กล่าว
ท้ายที่สุด นายไพโรจน์ ระบุว่า ในใจของตนเองยังเชื่อมั่นว่าประชาชนจะร่วมกันลงประชามติขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ เพื่อตัดสินอนาคตตนเอง
ด้านดร.วณี ปิ่นประทีป ผอ.สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันพ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ว่า ปัจจุบันมีการผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะร่างกม.ฉบับนีีี้มีรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด ทำให้เร็ว ๆ นี้จะมีการจัดเวทีเผยเเพร่เเนวคิดในระดับภูมิภาค เพื่อรวมบรวมรายชื่อประชาชนไม่ต่ำกว่า 5,000 ชื่อ เสนอกฎหมาย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างเเท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองคืบ! 20 แห่ง เล็งเข้าชื่อเสนอกฎหมาย