ส่อพิลึก? บ.เครือข่ายค้าที่ดิน“บังยี-พวก”เก็บเงินในที่“ลึกลับ”โยกปล่อยกู้อุตลุต?
เจาะธุรกิจรับซื้อที่ดิน“บังยี”หุ้นส่วนชาวตะวันออกกลาง ตะลึง! 14 ปีไม่ประกอบการ แต่โยกเงินสดปล่อยกู้กรรมการอุตลุด ผู้สอบบัญชี งง! กรรมการ เก็บเงินในสถานที่ลึกลับ ไม่อำนวยให้เข้าตรวจนับ !
หากพลิกบัญชีงบดุล บริษัท บี เอ็น เอ ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจค้าที่ดินในเครือข่าย ของ“บังยี” หรือ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลไทย และผู้แทนการค้าไทย (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554) จะพบข้อมูลน่าสนใจ
นั่นเพราะ ผู้ถือหุ้นหลายรายที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ล้วนเป็นชาวต่างชาติ โดยบริษัท มูซาเอ็ด อับดุลลา อัสซาเยอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ เยนเนอรัล เทรดดิ้ง จำกัด จากประเทศคูเวต ถืออยู่อับดับ 2 จำนวน 34% รองจากนายวรวีร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอับดับหนึ่ง 40 % นายนัสเซอร์ เอ็ม เอ อัลซาเยอร์ นายบาเดอร์ เอ็ม เอ อัลซาเยอร์ จากคูเวต ถือคนละ 5%
ทั้งสองคนแจ้งที่ในทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท บี เอ็น เอ ดับบลิว เป็นที่อยู่เดียวกับ บริษัท มูซาเอ็ด อับดุลลา อัสซาเยอร์ คือ พีโอบ๊อกซ์ 889 ซาฟาส 13009 เมืองซาฟาส
ขณะที่นายโมฮำเหม็ด อับดุล อัซซัด อาลีม จากอินเดีย ถืออยู่ 5% ส่วนที่เหลือเป็นคนไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบงบดุลการดำเนินกิจการบริษัท บี เอ็น เอ ดับบลิวฯ ตั้งแต่ ช่วงปี 2543 จนถึงปี 2552 ตามที่แจ้งไว้กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (งบดุลปี 2553 และ 2554 บริษัทฯ ยังไม่ได้ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีเพียงแต่หนังสือขอแจ้งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ เฉพาะในส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 8,000 หุ้น จากนายวรวีร์ เป็น นายชาญ เกียรติศิลปิน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ) พบว่า
1. นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจ โดยผู้สอบบัญชี ระบุไว้ชัดเจนในหมายเหตุงบการเงิน ปี 2544
ทั้งนี้ บริษัท เอ็น เอ ดับบลิวฯ จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หากนับระยะเวลาจนถึงวันที่บริษัทจัดส่งงบดุลปี ล่าสุด คือ 2552 จะนับเป็นระยะยาวนานเวลาถึง 14 ปี
2. การดำเนินกิจการบริษัทประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง โดยในปี 2543-2544 ไม่มีรายได้เข้า ขณะที่ปี 2545 และ ปี 2546 มีรายได้ปีละ 22,500 บาท ปี 2547 มีรายได้ 37,500 บาท จากนั้นตั้งแต่ปี 2548 – 2552 ไม่มีรายได้เข้ามาอีกเลย
ขณะที่รายจ่าย ในปี 2543-2544 ไม่มี ขณะที่ปี 2545-2547 มีรายจ่ายอยู่ที่ระดับหมื่นบาท ก่อนจะปรับลดเหลือปีละ 5,000 บาท ในช่วงปี 2548 – 2552 ทำให้จนถึงปี 2552 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่ที่ตัวเลข 55,500 บาท
(ดูรายละเอียดในตารางที่ 1 )
3. บริษัทฯ ระบุในงบการเงินปี 2543 ว่า มีสินทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 1,977,000 บาท ก่อนที่เงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งไปให้กรรมการบริษัทรายหนึ่งกู้ยืม จำนวน 1,500,000 บาท ในปี 2545 ทำให้เงินวงเหลือเพียงแค่ 477,000 บาท โดยการกู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นการดำเนินการแบบไม่มีสัญญา หลักทรัพย์ ค้ำประกันและคิดดอกเบี้ย เฉลี่ย ปีละ 1.5-2.5%
จากนั้นยอดเงินสดบริษัทฯ จะปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น 1,909,500 บาท หลังจากที่ยอดเงินในรายการที่บริษัทปล่อยกู้ให้กับกรรมการ จะหายไปงบดุลบริษัทฯ ในช่วงปี 2548
4. ผู้สอบบัญชี ระบุชัดเจน ในหมายเหตุงบการเงิน ปี 2544 – 2552 ว่า เงินสดทั้งจำนวนของกิจการ อยู่ในความดูแลของกรรมการท่านหนึ่ง เนื่องจากกิจการยังไม่ได้เปิดบัญชีธนาคาร
นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชี ยังระบุชัดเจนในหมายเหตุงบการเงิน บางปี ว่า
“ไม่ได้ตรวจนับเงินสด ณ วันสิ้นงวดบัญชี อันเป็นวิธีการตรวจสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป เนื่องจากสถานที่จัดเก็บไม่สะดวกให้เข้าตรวจนับได้ และไม่อาจใช้วิธีการตรวจสอบอื่นให้เป็นที่พอใจในความถูกต้องของบัญชีเงินสดได้” (ดูรายละเอียดในตารางที่ 2)
จากข้อมูลข้างต้นส่อแสดงความแปลกประหลาดในหลายประการ ?
ตารางที่ 1 : แสดงผลกำไรขาดทุน บริษัท บี เอ็น เอ ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวม
ตารางที่ 2 : แสดงยอดเงินสด การปล่อยกู้ และหมายเหตุงบการเงิน บริษัท บี เอ็น เอ ดับบลิว ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวม