ไทยพรีเมียร์ลีก”ปล่อยกู้ปริศนา!กรรมการเพียบ-ไร้รอยสปอนเซอร์ 200 ล้าน
เปิดข้อมูลงบดุล บ.ไทยพรีเมียร์ลีกย้อนหลัง 3 ปี พบปล่อยกู้ “กรรมการ-กิจการเกี่ยวข้อง”เกือบเท่าทุนจดทะเบียนไร้ทำสัญญา “วิชิต แย้มบุญเรือง”แจง“เปล่าปล่อยกู้”สวนทางหลักฐาน ย้ำ 200 ล้านค่าลิขสิทธิ์-สปอนเซอร์อยู่บัญชีสมาคมฟุตบอล
เงินหายไปไหน ?
กำลังเป็นคำถามยอดฮิตสำหรับคนในวงการฟุตบอลเมืองไทยเวลานี้
ภายหลังจากที่ บริษัท ไทย พรีเมียร์ลีก จำกัด ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก และผู้จัดหารายได้จากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักเกี่ยวกับเม็ดเงินจำนวนกว่า 200 ล้านบาท ที่บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก เคยประกาศว่า มีรายได้จากเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์จำนวนมาก และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก แต่ทว่าในเอกสารงบดุลแสดงผลประกอบการ ปี 2553 กลับแจ้งว่า มีรายได้เพียงแค่ 19,082,602.50 บาท
ขณะที่นายเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองชื่อดังที่ผันตัวเองไปจับงานด้านฟุตบอล ในฐานะประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ออกมาทวงถามถึงความชัดเจนส่งผลทำให้ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์การแข่งขันฟุตบอลอาชีพทั้งระบบ ได้ประกาศถอนตัวออกจากผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา
ท่ามกลางปริศนาเรื่องรายได้ที่แท้จริงดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบรายละเอียดงบดุลบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก ย้อนหลังไป 3 ปี คือ ปี 2551 , 2552 และ 2553 นับตั้งแต่มีการจัดตั้งบริษัทแห่งนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ด้วยทุน 5,000,000 บาท (ก่อนจะปรับลดทุนลง เหลือ 1,250,000 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552)
พบว่านอกเหนือจากการไม่ปรากฏตัวเลขเงินจำนวน 200 ล้านบาท ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้แล้ว ในงบดุลการดำเนินกิจการบริษัททุกปี มีการระบุถึงรายการเงินให้กู้ยืมกับกรรมการ และกิจการที่เกี่ยวข้องกัน จำนวนหลายล้านบาทไว้ ดังนี้
- ปี 2551 มีการระบุรายการเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน จำนวน 4,918,459 บาท ขณะที่บริษัทฯ แจ้งว่า ไม่มีรายได้ มีค่าใช้จ่าย 312,604 บาท ขาดทุนสุทธิ 312,604 บาท
ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชี ระบุในหมายเหตุงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ว่า “เป็นเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการของบริษัท ไม่มีการทำสัญญาระหว่างกัน และไม่มีการคิดดอกเบี้ย กำหนดจ่ายชำระคืนเมื่อทวงถาม”
- ปี 2552 มีการระบุเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กรรมการ จำนวน 1,093,331.69 บาท และเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กิจการอื่น 2,800,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,893,331,69 บาท ขณะที่บริษัทฯ แจ้งว่า มีรายได้รวม 11,530,137.79 บาท มีค่าใช้จ่ายรวม 8,146,475.65 บาท รวมกำไรสุทธิ 2,569,293.12 บาท
ผู้สอบบัญชีระบุ ในหมายเหตุงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 และ 2551 ว่า เงินให้กู้ยืมระยะสั้น แก่กรรมการ บริษัทฯ มีข้อตกลงในการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อปี ส่วนเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กิจการอื่น บริษัทฯ ไม่มีข้อตกลงในการคิดดอกเบี้ย กับกิจการอื่น”
- ปี 2553 มีการระบุเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กรรมการ จำนวน 1,393,331.69 บาท และเงินให้กู้ยืมระยะสั้น แก่กิจการอื่น 700,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,093,331.69 บาท ขณะที่บริษัทฯ แจ้งว่า มีรายได้รวม 19,082,602.50 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ คิดเป็นรายได้ค่าโฆษณา 84.63% มีค่าใช้จ่ายรวม 15,396,195.89 บาท มีกำไรสุทธิ 2,391,325.22 บาท
ผู้สอบบัญชีระบุในหมายเหตุงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 และ 2552 ว่า เงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่ กรรมการ และ กิจการอื่น บริษัทฯ ไม่มีข้อตกลงในการคิดดอกเบี้ย
นายวิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีการปล่อยเงินกู้ให้กรรมการบริษัท ว่า บริษัทฯไม่ได้มีการปล่อยกู้ให้กรรมการแต่อย่างใด
“ ไม่มีหรอก .. จะมาเปิดเผยอะไรกัน ทำให้มันวุ่นวายกันไปใหญ่ มันไม่มีอะไรผิดหรอกครับ ถ้ามีอะไรผิดเขาก็ไม่ให้เราทำ นานแล้ว”
เมื่อถามว่า แต่ในงบดุลบริษัทฯ ระบุเรื่องการปล่อยกู้เงินให้กรรมการ รวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องด้วย นายวิชิต กล่าวด้วยเสียงหงุดหงิด ว่า “ไม่มีอ่ะ..กิจการไหนเกี่ยวข้องอ่ะ” ก่อนจะระบุว่า “เขาอยากจะเปิดอะไรก็เปิดไป ถ้ามันมีอะไรผิดเขา ก็คงจับติดคุกเท่านั้นเอง ”
นายวิชิต กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องการจัดทำบัญชีบริษัท ตนไม่ทราบรายละเอียด เพราะฝ่ายบัญชีจะเป็นผู้รับผิดชอบ
“ผมไม่รู้เหมือนกันเรื่องนี้ ฝ่ายบัญชีเขาจะทำก็ทำไป” นายวิชิตกล่าว
นายวิชิต ยังกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์ และเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ จำนวน 200 ล้านบาท ว่า เงินจำนวนนี้ มีอยู่จริง แต่อยู่ที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่ได้อยู่ที่บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีกฯ
“เงินจำนวนนี้ มีอยู่จริง ที่ไปพูดกันว่า ทำไมไม่ปรากฏในงบดุลบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก ก็พยายามชี้แจงหลายหนแล้วก็ไม่เข้าใจกัน มันคนละเรื่องกันนะ พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ว่าเงินอันนี้มันอยู่ที่สมาคมฟุตบอล จะมาอยู่ในงบดุลบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกได้อย่างไร”
นายวิชิตกล่าวด้วยว่า “ เรื่องเงินนี่ พูดไปเท่าไรก็ไม่ยอมเข้าใจกัน จะไปเปิดทำไม ..รู้กันอยู่แล้ว ไม่ยอมเชื่อไม่ยอมฟังกันนะ ดันทุรังกัน อย่าไปยุ่งกับมันเลย เขาบอกสองร้อยก็สองร้อย ถ้าไม่เชื่อก็อย่ามาเล่น บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ก็ชี้แจงไปแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ ก็เลิกๆ กันไปผมก็ขี้เกียจรำคาญ”
เมื่อถามว่า ข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอล ที่ทำไว้กับ สยามสปอร์ต เป็นอย่างไร นายวิชิต กล่าวว่า “ก็เราให้เขาเป็นคนมาเก็ตติ้งให้เรา สมาคมฟุตบอลมอบมาตั้งนานแล้ว ทำมาตั้งนานไม่มีปัญหาอะไรเลย ปีแรกไม่ได้งบ ปีสองก็ได้กันทีมละสองล้านห้า ปีที่สามก็ได้สี่ล้าน หมดไปแล้วเกือบร้อยล้าน ผมก็ไม่เข้าใจว่า จะเอาอะไรกันหนักหนา”
เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คิดว่ามาจากเรื่องการเมืองหรือไม่ นายวิชิต กล่าวย้ำสั้นๆ ว่า การเมือง ส่วนสาเหตุมาจากอะไรตนไม่ทราบ ไม่พอใจอะไรกันก็พยายามจะไปทำอะไรกันให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตแบบที่เป็นอยู่นี้ และก็เหนื่อยที่จะต้องมานั่งตอบคำถามเรื่องแบบนี้แล้ว
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จดทะเบียน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 ปัจจุบันมีทุน 1,250,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 34 หมู่ที่ 14 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 10230 ประกอบธุรกิจโฆษณา นายวิชิต แย้มบุญเรือง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
มีผู้ถือหุ้น 6 คน ประกอบด้วย นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลไทย และผู้แทนการค้าไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถืออยู่ 45 % นายองอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถืออยู่ 25 % นายวิชิต แย้มบุญเรือง 15 % นายชาติชาย พุคยาภรณ์ อุปนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ถืออยู่ 5 % นายธัญญา โพธิ์วิจิตร 5% และนายธารา พฤกษ์ชะอุ่ม 5%
ทั้งนี้ ในเว็บไซด์ บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด (http://www.thaipremierleague.co.th/about.php) ระบุข้อมูลว่า บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ของประเทศไทยแบบครบวงจร ตามแนวทาง และนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้การดำเนินการให้บริการ การจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ มีแนวทาง และนโยบายในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อวงการฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
มีแนวทางและนโยบายในการประกอบธุรกิจ อย่างแน่วแน่ที่จะดำรงความเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล (Goog Corporate Governance) กล่าวคือ
1 จะเคารพสิทธิผู้ถือหุ้น และจะปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายเท่าเทียมกัน
2.คณะกรรมการบริหาร และพนักงานมีความสำนึกในหน้าที่ ( Accountability) อย่างเคร่งครัดต่อบริษัทฯ
3.จะบริหารจัดการอย่างโปร่งใส และอย่างเปิดเผยในเรื่องวิธีการ และข้อมูลที่สามารถจะเปิดเผยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และจริยธรรม
4.จะปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ( Stake Holders ) อย่างเป็นธรรม
บริษัท ไทย พรีเมียร์ลีก จำกัด
ทึ่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า , สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวม