“สมบัติ อยู่เมือง” พื้นที่รับน้ำ ถ้ามันแฟร์-ยุติธรรม “ใครจะไม่เอา”
"ใครที่กังวล ประกาศพื้นที่รับน้ำแล้ว ราคาที่ดินจะตกถาวร
ความจริงต่อให้ไม่ประกาศ ราคาที่ดินก็ตกอยู่แล้ว
เพราะน้ำเข้าท่วมทุกปี"
ก่อนที่บ้านเราจะเข้าสู่ฤดูฝนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หนึ่งในโจทย์ใหญ่เพื่อป้องน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตามแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) คือ การหาพื้นที่รับน้ำนองจำนวน 2 ล้านไร่ หวังตัดยอดน้ำ ก่อนถาโถมเข้าสู่เมืองกรุง ปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ
แว่วมาว่า ขณะนี้ ข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะพิกัดพื้นที่ หรือตัวเลขค่าชดเชยเยียวยานั้น ได้มีการพิจารณาพร้อมสับเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอจังหวะหลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับจากการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์นี้ เพื่ออธิบายรายละเอียด ทำความเข้าใจกับมวลชนด้วยตนเองถึงจะประกาศตัวเลขที่ชัดเจน
แต่ก่อนเปิดฉากออนทัวร์ลงพื้นที่ “ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ” นัดพูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมการ กยน. ซึ่งร่วมคณะเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ อย่าง “ดร.สมบัติ อยู่เมือง” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการในคณะกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่รับน้ำ รวมทั้งสูตรในการชดเชยเยียวยา
@ กยน. ตั้งธงว่าพื้นที่รับน้ำนองต้องมี 2 ล้านไร่ มีหลักพิจารณาเลือกใช้พื้นที่อย่างไรบ้าง
อันที่จริง เราต้องการพื้นที่จริงๆ แค่ประมาณล้านไร่เศษ แต่ในเบื้องต้นที่ระบุไว้ 2 ล้านไร่ ก็เป็นการเผื่อพื้นที่เอาไว้ในช่วงฉุกเฉิน เนื่องจากบ้านเรายังไม่มีระบบรองรับที่ให้ความยั่งยืน การป้องกันเรายังไม่มี จึงต้องหาพื้นที่ให้ใหญ่ไว้ก่อน
อีกอย่าง... (นิ่งคิด) ถึงเวลาไปหาความร่วมมือในพื้นที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร
ส่วนหลักเกณฑ์ที่ กยน. เสนอให้ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำนั้น อันดับแรก จะเน้นการใช้พื้นที่รับน้ำในอดีต พื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำในรอบ 6 – 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นการดูจากรอบความซ้ำของการเกิดน้ำท่วม เพราะมันชัดเจนว่าในหน้าน้ำหลากพื้นที่เหล่านี้ถูกน้ำท่วมอยู่แล้ว โดยเฉพาะริมแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน เจ้าพระยา หรือแม่น้ำน้อย ทั้งตอนบน (บริเวณเหนือนครสวรรค์) และตอนล่าง (ใต้นครสวรรค์ลงมาเหนืออยุธยา)
หลังจากนั้นก็คงต้องลงไปในพื้นที่ เพื่อเช็คข้อมูลว่า มีการท่วมขังจริงหรือไม่ ระดับความสูงเท่าไหร่และอยู่นานแค่ไหน โดยเราจะต้องพิจารณาเลือกพื้นที่ตั้งแต่ด้านบนลงมาเป็นตอนๆ ไล่จากบนลงล่าง เพื่อทอนน้ำตามพื้นที่ ตามระยะ นอกจากนี้จะพยายามมองในความเป็นธรรมชาติของน้ำที่เข้า-ออกง่าย แตกง่าย ทะลุง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้ลำน้ำ
ต้องยอมรับว่า ในพื้นที่รับน้ำส่วนใหญ่ก็จะมีตัวเมือง ชุมชน หมู่บ้านรวมอยู่ด้วย ซึ่งในส่วนนี้แผนงานที่ กยน. เสนอไว้ทั้งในระยะเร่งด่วนและยั่งยืน ตัวเมือง ชุมชนก็จะมีการทำคันกั้นอยู่แล้ว แต่คันกั้นจะมีเฉพาะในเขตที่อยู่อาศัยและชุมชนเมืองที่สำคัญ ตรงนี้คงไปคุยกันอีกครั้งว่า จะต้องเสริมในส่วนรอบชุมชนหรือตัวเมืองอย่างไรให้แข็งแรง มีความปลอดภัย เมื่อน้ำเข้าไปแล้วจะไม่กระทบ
ที่เราพูดถึงคือในแง่ของเทคนิคเท่านั้น แต่เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้เห็นข้อมูล เขาจะเห็นด้วยหรือไม่ ชุมชนยินดีให้ความร่วมมือหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างที่บอกเราต้องการพื้นที่แค่ล้านไร่เศษ ที่เผื่อเอาไว้ ก็เผื่อในเชิงการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะถึงแม้เรามีเกณฑ์ในการพิจารณาพื้นที่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พื้นที่ทั้งหมดจะต้องรับได้หมด หรือรับไม่ได้หมด คงต้องมาพิจารณาตามความเหมาะสม โดยใช้เทคนิค การมีส่วนร่วม และความเป็นไปได้
ขณะนี้การพูดคุยระหว่างรัฐกับรัฐได้ดำเนินการซักซ้อมกันไปเป็นที่เรียบร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เกี่ยวกับภาพใหญ่ของแผนว่าจะมีลักษณะอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัวรองรับ
ที่เหลือคงต้องไปคุยกับพื้นที่ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้เห็นข้อมูล
@ ในส่วนของการกระจายพื้นที่รับน้ำจะแบ่งกันอย่างไร
พื้นที่ตอนบน 1 ล้านไร่ ในส่วนของแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ลงมาถึงนครสวรรค์ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้น้ำท่วมเป็นประจำ จึงมีความเหมาะสมและอาจจะได้เกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องดูด้วยว่าพื้นที่ต้องไม่ซับซ้อนจนเกินไปที่จะจัดการน้ำ ทั้งให้เข้าไปและออกมา และคงต้องไปพิจารณาถึงความสามารถของพื้นที่ในการรองรับปริมาณน้ำด้วย
สมมุติในพื้นที่เท่ากัน พื้นที่แห่งหนึ่งรับน้ำได้พันล้าน ลบ.ม. แต่อีกพื้นที่หนึ่งกลับรับน้ำได้แค่ร้อยล้าน ลบ.ม. เราคงต้องเลือกพื้นที่ที่รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า เพราะคุ้มค่ากับการลงทุนและการฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปนั่งดูกันอย่างจริงจัง
ส่วนในพื้นที่ทางตอนล่างอีก 1 ล้านไร่จากนครสวรรค์ลงมา ก็ใช้หลักการคล้ายคลึงกัน อย่างกรณีพื้นที่ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะอำเภอบางบาล ผักไห่ เสนา จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ในกลุ่มที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อยหลากเข้าท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว และปัจจุบันก็ยังเอาน้ำออกมาไม่ได้นั้น คงต้องไปคุยกันว่า ในหน้าน้ำหลาก 3-4 เดือน เขาไม่ต้องทำเกษตรเลยจะโอเคไหม โดยรัฐจะให้การดูแลเขาอย่างจริงจังมากกว่าที่ผ่านมาที่อยู่เฉยๆ
ยกตัวอย่าง กรณีพื้นที่บางบาล ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ลองเข้าไปทำโครงการร่วมอยู่แล้ว โดยไปลงทุนด้านโครงสร้างเพื่อวางระบบการเอาน้ำเข้า เอาน้ำออกในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าโดยปกติไม่ทำอะไร ปล่อยน้ำพู่เข้าไปเฉยๆ น้ำจะท่วมทั้งท้องนา พืชสวน และบ้านเรือน แต่ถ้าเราไปลงทุนให้เขา กันพื้นที่สวนให้ เพราะสวนเวลาถูกน้ำท่วมเสียแล้วกว่าจะฟื้นฟูได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ขณะที่บ้านเรือนก็ต้องทำให้รู้สึกว่ามีส่วนปลอดภัย มีส่วนที่ไม่ให้น้ำเข้า ส่วนพื้นที่นาให้ท่วมแน่ๆ แต่ก็ต้องไปวางระบบให้สอดคล้อง ทั้งปล่อยน้ำเข้า ดึงน้ำออก รวมทั้งต้องมีที่กักเก็บ เพื่อคืนน้ำกลับเข้ามาในระบบ
สิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนที่รัฐต้องเข้าไปดำเนินการ และเท่าที่โครงการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คำนวณไว้ เมื่อปี 2549 ก็มีต้นทุนประมาณไร่ละ 30,000 บาท
ถามว่า คงมีมูลค่ามากนะ แต่เราก็ต้องให้มีเหตุและผล ในระยะสั้นก็ต้องชดเชยให้อย่างเหมาะสม ระยะยาวก็ทำระบบลงไป เขาจะได้รู้สึก มั่นใจได้ว่า มีน้ำเติมและมีน้ำออกได้
นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมแล้ว รายได้ในการเกษตรของพื้นที่ก็จะดีขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาปีหนึ่งปลูกได้รอบเดียว ถ้าปีไหนโชคดีฝน น้ำไม่มาอาจปลูกได้สองรอบ แต่ต่อไปนี้จะการันตีว่า 1 ปีจะปลูกได้ 2-3 รอบการผลิต ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี
หากไปดูในประเทศที่พัฒนา อย่างประเทศญี่ปุ่น นาของเขามีน้อย จึงได้รับการดูแลอย่างกับทองคำ
.....แต่บ้านเราพัฒนาแบบตามบุญตามกรรมยังสามารถผลิตได้ขนาดนี้ ถ้าต่อไปเราจริงจังที่จะลงทุนทำระบบขึ้นมาได้ ผมเชื่อว่าผลผลิต รายได้ของชาวนาจะตามมาอีกมาก
@ อาจารย์พูดถึงการชดเชยที่เหมาะสม ตรงนี้มีการพูดคุยหรือกำหนดอัตราการชดเชยเยียวยากันไว้อย่างไร
เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดกัน เพราะจริงๆ อยากจะให้คณะทำงานได้มีโอกาสไปฟังข้อคิดเห็นจากพื้นที่ก่อน เพื่อจะได้มีการประเมินตัวเลขให้มีเหตุและผล ทั้งการสูญเสียโอกาส การชดเชย รวมทั้งรายได้ที่จะกลับมาจากการทำเกษตรอีกรอบการผลิต
@ แต่ในงานศึกษาของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่ง กยน. ก็ได้นำเป็นข้อศึกษาในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำต่างๆ นั้นก็มีระบุถึงตัวเลขที่ประมาณกว่าสี่พันบาท/ไร่
ผมยังคิดว่า (นิ่งคิด).....มันควรจะบวกมากกว่าตัวเลขเก่า
เพราะว่าทุกอย่างก็มีมูลค่าสูงขึ้น และจะได้เป็นแรงจูงใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ทำให้เคยตัวจนเกินเหตุ เพราะว่าเราจะมีระบบรองรับให้อยู่แล้ว
“สิ่งที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นมากกว่าคำว่าชดเชย เยียวยา คือต้องไปยกระดับอาชีพ รายได้เขาด้วย เขาจะได้รู้สึกว่า เราดูแลแบบครบรอบของปี ไม่ใช่ว่าหน้าน้ำหมดแล้ว ฉันไม่สนใจ”
อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์การชดเชยพิจารณาในเบื้องต้น คงต้องดูจากความเสียหาย หรือระดับความลึก รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการทำเกษตรในช่วงนั้นด้วย
@ การกำหนดค่าชดเชยเยียวยาจะแบ่งเป็นหลายอัตราหรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่อาจท่วมยาวนานแตกต่างกัน
ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไร
บางพื้นที่ท่วมขัง 3 เดือน ขณะที่บางพื้นที่ท่วมเดือนเดียวก็คงต้องมีลักษณะของตัวแปรที่ต่างกันไปบ้าง แต่โดยทั่วไปคงไม่ท่วมเดือนเดียวอยู่แล้ว (ยิ้ม)
เพราะเราพยายามจะเลือกพื้นที่ที่น้ำขังอยู่ได้นาน น้ำไม่ยอมออกและมีน้ำเข้ามาเติมตลอดเวลา เราจะพยายามใช้พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในเชิงเทคนิคและความเป็นจริงให้มากที่สุดก่อน ที่เหลือถึงจะมาบรรจบกับเรื่องการมีส่วนร่วม การให้ความร่วมมือ แต่ก็ต้องบอกว่า ถึงเขาไม่ให้เราเข้าไป น้ำก็เข้าไปอยู่แล้ว เพราะพื้นที่มันต่ำ น้ำท่วมเป็นประจำ
@ อาจารย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปบอกกับมวลชน?
ใช่ (ตอบทันที)
ต้องให้ข้อมูลเขาก่อน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ผมเลือกตรงนั้นตรงนี้ โดยที่ไม่มีเหตุผล
แต่.....(ลากเสียง) ถ้าให้เหตุผลแล้วเขาบอกว่า ไม่เอา ยอมเสี่ยงรอโชคชะตาดีกว่า หรือยืนกรานว่า ต่อให้ท่วมทุกปี ก็ทำได้ อยู่ได้ก็เป็นสิทธิของเขา
ที่นี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่ว่าจะเอากันอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมีประชาธิปไตยเกิดขึ้น เป็นมติส่วนรวม ซึ่งตรงนี้ก็เป็นวิธีการที่ให้สังคม ชุมชนได้มีโอกาสพูดคุยกันทั้งระดับล่าง ระดับกลาง และระดับบน โดยที่มีข้อมูลในการพิจารณาร่วมกัน
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่บ้านเราจะสั่งๆ และก็ทำๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดเท่าใดนัก ถามว่า วิชาการอย่างเดียวมันคงตอบอะไรไม่ได้ ในเรื่องนี้การมีส่วนร่วม การเข้าใจร่วมกัน การมองเห็นประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง รวมถึงความจริงจังของรัฐที่จะช่วยเหลือ ดูแลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เป็นสิ่งที่ท้าทาย”
@ กรณีที่ชุมชนในพื้นที่รับน้ำต้องอพยพ พลัดถิ่น ตรงนี้มีวิธีการจัดการอย่างไร
นี่....ก็ต้องมองให้ครบเหมือนกัน
ต่อไปถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้น นอกจากนี้มีไดร์กั้นพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจให้แล้ว แต่ละชุมชนอาจต้องมีจะเชลเตอร์ที่ต้องเตรียมการไว้สำหรับรองรับ ทำเหมือนกันหมู่บ้านแล้วมีเกาะ ซึ่งรัฐบาลต้องไปลงทุนและจุดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในความคาดหวังของแผน
ถ้าทำได้จริง อย่างนี้ผมว่า ชาวบ้านเอา เพราะเขามั่นใจว่า เราลงไปดูแลจริงๆ เขาได้ส่วนที่ควรได้ รวมทั้งได้ส่วนที่เขาเสียโอกาสกลับคืนมา
และใครที่มีความกังวลว่า เมื่อประกาศพื้นที่รับน้ำไปแล้ว ราคาที่ดินจะตกถาวรนั้น ในความเป็นจริงต่อให้ไม่ต้องประกาศ ราคาที่ดินก็ตกอยู่แล้ว เพราะน้ำเข้าท่วมทุกปี
แต่ถามว่า ถ้าเราเข้าไปทำระบบ มีแผนแบบเหมือนกับที่บางบาล ซึ่งการันตีแล้วว่า ทำได้เวิร์ก ราคามันจะไม่ขึ้นได้ยังไง (น้ำเสียงจริงจัง)
@ ถ้าชาวบ้านไม่มั่นใจจริงๆ อยากขอให้มีการเวนคืน รัฐจะรับเวนคืนหรือไม่
อันนี้คงต้องคุย แต่เป็นผมๆ ไม่ให้เวนคืน เพราะการเวนคืนมันยากมากกับการที่รัฐต้องเข้าไปดูแลพื้นที่ เพราะเดี๋ยวก็มีคนเข้าบุกรุกอีก อย่างที่หาดใหญ่เวนคืนแล้วยังไง ถึงเวลาน้ำลดคนก็เข้าไปอยู่กันอีก
ดังนั้น โดยหลักการผมว่า ถ้ารัฐควรไปยกระดับ ทำระบบให้ครบ สร้างความเข้าใจในแผน การปรับตัว และทำให้รู้สึกว่า win-win ไปกับรัฐน่าจะดีกว่า
@ ท้ายนี้ เพื่อความมั่นใจ การทอนเข้าสู่พื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมปีนี้ได้มากน้อยเพียงใด
อาจไม่ได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยได้
สมมุติเขื่อนรับได้ 50% ทอนน้ำเหนือนครสวรรค์ได้ประมาณ 10-20% ลงมาที่อยุธยาทอนได้อีก 10-20% ที่เหลือก็ลงมาที่เจ้าพระยาส่วนหนึ่ง ระบายออกด้านข้างส่วนหนึ่ง ลงตามคลองอีกส่วนหนึ่ง น้ำก็ไม่เอ่อล้นออกนอกทุ่งเหมือนปีที่ผ่านมา
ตรงนี้จะเห็นว่า โดยหลักการแล้ว ไม่ใช่ว่า มีฟลัดเวย์ หรือมีไดร์ไม่สามารถช่วยทุกอย่างได้หมด อีกอย่างแนวคิดที่จะกั้นตั้งแต่ชัยนาทลงมารอบเจ้าพระยา ไม่มีใครทำกันในระบบโลกนี้ เพราะระดับน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และอันตรายมากถ้าเขื่อนมันพัง
แต่วิธีการตัดตอนน้ำ ลดน้ำ ทอนน้ำอย่างเป็นระบบ ใช้ธรรมชาติบริหารธรรมชาติ โดยอาศัยการจัดการตั้งแต่ต้น รวมถึงปล่อยน้ำ คุมน้ำในแต่ละโซนให้เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยทะเลอทะล่าให้ท่วม เป็นสิ่งที่เราต้องยกระดับ ปรับการประมาณการณ์ตัวเลขให้เป็นรูปเชิงพื้นที่มากขึ้น
เราไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้อยู่แล้ว เราไม่สามารถบังคับให้มันตกตรงไหนก็ได้ การที่เอาโครงสร้างนำ ไม่ใช่วิธีการที่ปัจจุบันนิยมทำกัน แต่จะใช้วิธีการบริหารจัดการ (management) และการปรับตัว (adaptation)
กั้นเท่าที่จำเป็น ลงทุนเท่าที่จำเป็น
ผมเชื่อว่าเมื่อมีเหตุผลแล้ว ถ้ามันแฟร์ มันยุติธรรมจริง เป็น good government จริง ความร่วมมือแบบนี้ใครจะไม่เอา (เสียงเข้ม)
ผมอยากจะให้ทุกคนมองความเป็นส่วนรวม เอาพื้นที่เป็นตัวตั้งแล้วยกระดับการจัดการ ที่มองภาพทั้งบวกทั้งลบ ทั้งขาดทั้งเกิน ทั้งแล้งทั้งท่วม และปรับระบบใหม่ มองเขตการปกครองเป็นแค่เส้นสมมุติเท่านั้น