- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- การเมือง
- ปาฐกถาพิเศษ:::: อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ "ความคิดเชิงปรัชญากฎหมายของพระเจ้าอยู่หัว" (จบ)
ปาฐกถาพิเศษ:::: อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ "ความคิดเชิงปรัชญากฎหมายของพระเจ้าอยู่หัว" (จบ)
เมื่อวันที่ 21เม.ย.ที่ผ่านมา นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาลยุติธรรม ความคาดหวังของสังคมไทย” ในวาระศาลยุติธรรมสถาปนาครบรอบ 128 ปี ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม โดยช่วงท้ายของการปาฐกถาพิเศษ มีการอัญเชิญพระบรมราชโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกระแส ในวโรกาสต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มานำเสนอเฉพาะประเด็นสำคัญ
ประการแรก เรื่องสถานะและความสำคัญของสถาบันศาลยุติธรรม และผู้พิพากษาในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย
นายอรรถนิติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ปรากฎในพระราชดำรัสโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาส เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันเสาร์ 21 ตุลาคม 2539 ว่า
“สถาบันตุลาการ ก็ถือเป็นสถาบันหนึ่งในสถาบันการปกครอง สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร และยุติธรรม ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งใน 3 สถาบัน เป็นรากฐานการปกครองของประเทศ ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าท่านได้ทำด้วยดีก็หมายความว่า ประเทศชาติจะไปรอด เป็นที่น่าสังเกตุว่า สถาบันบริหารนั้นต่อเนื่องมาจากสถาบันนิติบัญญัติ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนสถาบันตุลาการนั้น เป็นสถาบันเอกเทศ และเป็นสถาบันที่ควรรักษาความเป็นเอกเทศนั้น เพื่อที่จะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ในการนี้จะต้องทำงานหลายด้าน ผู้พิพากษานั้นจะต้องเข้าไปตัดสินความต่างๆ ในศาลทุกศาล และให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเป็นสถานที่เป็นที่พึ่งของประชาชน สามารที่จะคิดว่าประเทศเรามีขื่อมีแป ทำให้สบายใจว่า เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น จะมีผู้ที่จะช่วยให้ได้รับความยุติธรรม ฉะนั้นหน้าที่ของผู้พิพากษาทุกคน มีความสำคัญอย่างยิ่งและจะไม่มีใครบังคับให้ทำอะไรได้ เพราะแต่ละคนมีความรู้ มีความสุจริตดังที่กล่าวคำสัตย์”
พระราชดำรัสอีกองค์หนึ่งที่ทรงพระราชทานให้ ในวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2546 มีความสำคัญว่า
“ท่านได้เปล่งคำปฏิญาณด้วยความเข้มแข็ง ก็เข้าใจว่า ท่านได้ตั้งใจจะทำตาม คำพูดที่เปร่งออกมานี้ ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า คือ ที่ท่านบอกว่า จะปฏิบัติในพระปรมาภิไธย หมายความว่า ข้าพเจ้าถ้าเห็นท่านทั้งหลาย ปฏิบัติดีชอบจริงๆ ก็สบายใจ แต่ถ้าสงสัยว่า ท่านทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเดือดร้อน ที่เดือดร้อนเพราะเมื่อปฏิบัติอะไร ในพระปรมาภิไธย พูดง่ายๆ ในนามของพระเจ้าอยู่หัว ถ้าทำอะไรที่มิดีมิชอบ พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคนที่ทำมิดีมิชอบ ฉะนั้นต้องกำชับอย่างหนักแน่นว่า ให้ทำตามคำปฏิญาณ เพราะว่าจะทำให้ข้าพเจ้าเองในส่วนตัว และในหน้าที่เดือดร้อน และถ้าข้าพเจ้าเดือดร้อนก็คงทำให้คนเดือดร้อนมากเหมือนกัน เพราะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม ”
และพระบรมราโชวาทอีกองค์หนึ่งในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาส เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ณ ห้องชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ทรงมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“การที่ท่านต้องปฏิญาณตนว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในทางที่ดีที่สุดก็หมายความว่า ให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง กล่าวคือ การปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่ของท่าน คือ ผู้พิพากษา ต้องมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอย่างเข้มแข็ง มิใช่เฉพาะในศาลแต่ในทางทั่วไป หมายความว่า ทุกเมื่อ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่า ถ้าเขาจำได้ว่า นั่นคือผู้พิพากษาที่ต้องรักษาความยุติธรรมของประเทศ เขาก็หวังพึ่งพาความยุติธรรมของท่าน ก็จะต้องเห็นความยุติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของศาล มีหวังว่า ในประเทศ มีความยุติธรรม มีผู้รักษาความยุติธรรม
ฉะนั้น ท่านต้องรักษาความยุติธรรมนี้ ทุกเมื่อในหน้าที่และนอกหน้าที่ จนกระทั่งชีวิตจะหาไม่ เพราะคนเขานับถือศาลแล้วหวังในความยุติธรรม ถ้าเขารู้ว่า มีความยุติธรรมในประเทศ เป็นคนดีหรือคนไม่ดี แต่เขาก็จะต้องรู้ว่า มีความหวัง หวังประเทศว่า มีความยุติธรรม ที่ท่านเป็นเครื่องหมายของความยุติธรรม เชื่อว่าช่วยให้ประเทศชาติมีความเรียบร้อย ความสงบสุขได้ ทำให้ประเทศชาติไปรอด”
ประการที่สอง เรื่องของกฎหมายกับความยุติธรรม
นายอรรถนิติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวง เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2541
“คำว่ายุติธรรม นี้ก็เคยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่มากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายนั้นเป็นการวางกฎระเบียบ ที่จะให้ปฏิบัติโดยดีโดยชอบ แต่คำว่า ยุติธรรมนี้ สูงกว่านั้น เพราะแม้จะไม่บัญญัติในข้อบังคับใดๆ ก็ต้องมีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรียกว่า ดี ก็ต้อง กระทำ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่า ชั่ว จะต้องงดเว้น ฉะนั้นที่ท่านได้กล่าวคำปฏิญาณและจะปฏิบัติดีชอบนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเพื่อนร่วมชาติ”
นอกจากนี้ในพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ วิชาความรู้เนติบัญฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2533 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2524 มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“มีคำพูดถึงนักกฎหมาย อยู่ตอนหนึ่งว่า คนที่ทำงานกับกฎหมายมากๆ มักจะติดอยู่กับตัวบทกฎหมาย คำพูดอย่างนี้ ดูจะไม่ใช่คำชม หากเป็นคำติติงนักกฎหมายบางคน ที่ยึดติดกับตัวบทกฎหมายเป็นหลักการธำรงรักษาความยุติธรรม ซึ่งดูจะเป็นการคับแคบเกินไป และอาจทำให้รักษาความยุติธรรมได้ ไม่เต็มที่ ผู้ที่ทำหน้าที่ พิทักษ์ความยุติธรรม ความเป็นธรรม จึงควรระมัดระวัง คือควรจะได้ทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากฎหมายนั้น ไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการใช้รักษาและอำนวยความยุติธรรม เท่านั้น
การที่กฎหมายต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรม อันดีก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายให้ออกไปถึงศิลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย
ท่านทั้งหลายชอบสร้างความคิด จิตใจไว้ให้ถูกต้องเป็นอิสระ และเพียรพยายามให้เป็นคนกล้า หมายถึง กล้าที่จะทำความถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ยอมทำตัวให้ติดอยู่กับความคิดและแบบพิธีอันคับแคบ เพื่อช่วยกันต่อสู้ป้องกันมิให้ความสุจริต ยุติธรรม ต้องถูกข่มยี ให้เศร้าหมอง และจำกัดสิ่งที่เรียกว่า ช่องโหว่ในกฎหมายให้ลดน้อยลงไป การใช้กฎหมาย ของเราจึงจะบรรลุจุดหมายอันสูงส่ง ที่มุ่งประสงค์ได้ ณ ที่นี้”
นายอรรถนิติ กล่าวอีกว่า มีพระบรมราโชวาทอีกองค์หนึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งที่กล่าวถึง ความยุติธรรมกับกฎหมายขัดแย้งกัน จะถืออะไรเป็นสำคัญ ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตร แก่นักศึกษาของสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ เนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาท ความว่า
“โดยที่กฎหมายเป็นแต่เพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม จึงไม่ควรจะถือว่า มีความสำคัญยิ่งไปกว่า ความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยสมบูรณ์ ถือความผิดถูกตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”
องคมนตรี กล่าวถึงพระบรามราโชวาทองค์นี้ ได้ชี้ทางสว่างแก่นักกฎหมายทั้งหลายให้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ความยุติธรรมคือสารัตถะ หรือหลักชัยของกระบวนการยุติธรรม ส่วนกฎหมายนั้นเป็นเพียงวิถีทาง ปัจจัย หรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม ดังนั้น จึงต้องรักษาความยุติธรรมไว้เป็นแก่น ไม่ใช่รักษาตัวเครื่องมือ ความยุติธรรมจึงต้องมาก่อนและอยู่เหนือกฎหมาย
ประการที่สาม เรื่องการใช้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย
นายอรรถนิติ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายไม่ว่า สาขาใดๆ การตีความกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน พระบรมราโชวาทองค์หนึ่ง เป็นแนวในการตีความกฎหมาย ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
“กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมได้ ถูกต้อง เที่ยงตรง มีแต่ธำรงความศักดิ์สิทธิ์ ประสิทธิเต็มเปี่ยมอยู่ได้ หรือไม่เพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ หรือถ้าใช้ให้ได้ถูกวัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ จริงแล้วก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์ ประสิทธิภาพ แต่ถ้านำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลง บิดพริ้วให้ผันผวน ด้วยความหลงผิด อคติ ด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที กลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง
ผู้ที่ต้องการใช้กฎหมายสร้างสรรค์ ความผาสุขและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชน และบ้านเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาวัตถุประสงค์อันแท้จริงของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอ อย่างไม่มีข้อแม้ประการใดๆ พร้อมต้องรักษาปกติ จรรยา ความสุจริจ และมโนธรรมของนักกฎหมายไว้ รอบคอบ เคร่งครัด เสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง”
นายอรรถนิติ กล่าวถึงพระบรมราโชวาทองค์นี้ สะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า พระองค์ทรงเข้าพระทัยในจิตใจนักกฎหมายและเข้าถึงปัญหาของนักกฎหมาย ทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในการใช้กฎหมายนี้ หรือในกรณีมีช่องว่างของกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่ ผู้พิพากษาช่วยอุดช่องว่างของกฎหมาย และใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนตอนหนึ่งว่า
“ผู้พิพากษาก็จะต้องทำตามระเบียบของกฎหมายทุกอย่างให้ตรง ใช้กฎหมายเป็นฐานของการตัดสินใจหรือตัดสินความอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้มงวด แต่กฎหมายนั้น เมื่อมีกฎหมายก็จะต้องมีช่องว่างของกฎหมาที่เรียกว่าช่องโหว่ ช่องโหว่นี้เมื่อเราพยายามดูแล้วว่าช่องโหว่มีอยู่ แต่ละคนจะหลบช่องโหว่อย่างไร
ถ้าเราหลบช่องโหว่เหล่านี้ด้วย อคติ หมายความว่า เราจะหาทางที่จะใช้ให้ช่องโหว่นี้รอดช่องไปได้ แต่หากเราปราศจากอคติแล้ว และมีความซื่อสัตย์สุจริต ช่องโหว่เหล่านี้ ก็พยายามกลบด้วยความคิดที่ตรง ที่สร้างสรรค์ และเป็นธรรม ฉะนั้น กฎหมายที่มีอยู่แม้จะมีช่องโหว่ ก็จะคุ้มครองประชาชนได้ จะทำให้มีความยุติธรรมในแผ่นดิน
ในกฎหมายนั้น มีอีกอย่างส่วนมากเวลาผู้พิพากษาจะตัดสิน อะไรมีดุลยพินิจแก่ผู้พิพากษา ดุลยพินิจนี้บางทีก็กว้างมาก ดุลยพินิจนี้จะต้องใช้แบบว่า ที่กฎหมายให้ดุลยพินิจก็เพราะว่า กรณีต่างๆ ไม่เหมือนกัน แม้ในกรณีที่เข้าไปในตัวบทกฎหมายนั้นๆ แต่ละกรณีก็มีความแตกต่าง
ฉะนั้นจะต้องมีดุลยพินิจ และดุลยพินิจนี้จะใช้อย่างไรก็ต้องใช้ด้วยความเฉลียวฉลาด ด้วยการสืบดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร บุคคลหรือกรณีที่อยู่ในพิพากษานี้ มีเป็นอย่างไร เราจึงจะใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้อง ทั้งช่องโหว่และดุลยพินิจ
ช่องโหว่เป็นช่องที่กฎหมายทิ้งไว้โดยไม่ตั้งใจ ดุลยพินิจเป็นช่องโหว่ที่กฎหมายให้ไว้ โดยตั้งใจ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ลำบากสำหรับทุกท่าน แต่ถ้ายึดหลักของความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติโดยแท้แล้ว เข้าใจว่างานที่ทำนั้น ไม่ใช่งานที่ยาก แต่จะเป็นงานที่ทำดี สะดวก”
ประการที่สี่ เรื่องการเป็นนักกฎหมายที่ดี
องคมนตรี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนนักกฎหมาย ทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ที่นักกฎหมายยึดถือเป็นอุดมคติมาโดยตลอด ในพระราชดำรัสที่กล่าวถึง ‘อคติ’ โดยให้ความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ในพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2536 ความว่า
“คำว่าอคติ พูดมาหลายครั้งแล้ว และก็ยังคงต้องพูดต่อไป อคตินั้นตามรากทรัพย์ คือสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือสิ่งที่ไม่ควรจะไป ไปในสิ่งที่ไม่ควรไป สิ่งที่ไม่ควรไปหมายความว่า สิ่งที่ไม่ควรทำ หรือไม่ควรตัดสินไม่ควรคิด เพราะอคติมีฐาน มีรากจากความไม่ดี
ความไม่ดีนี้มีอยู่ว่า ถ้าเราทำอะไรจะเกิดอคติได้ เพราะเราจะตัดสินไปในทางที่เราชอบใจอย่างนั้น ไม่ใช่ตามหลักวิชา อาจเป็นอคติอาจเห็นเป็นไปในทางที่เราไม่ชอบ ความเกลียดชังหรือความโกรธ ทำให้เราตัดสินไปในทางที่ไม่ถูก บางทีอาจเป็นอคติแบบความกลัว เพราะว่า เรากลัวว่าอย่างโน้น กลัวว่าอย่างนี้ เลยตัดสินไม่ตรงไม่เป็นกลาง บางทีอคติไปในทางที่เห็นผลประโยชน์ อคติ ทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามเห็นและเรียน หากปราศจากอคติแล้ว ก็จะถูกต้องตามหลักวิชา หมายความว่า ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ที่มีอยู่และเป็นไปตามกฎของความยุติธรรม คือความดี ความถูกต้อง”
ประการสุดท้าย นักกฎหมายต้องหาทางช่วยผู้ที่ไม่รู้กฎหมาย
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร นายอรรถนิติ กล่าวว่า ทำให้พระองค์ทรงทราบแน่ชัดแก่พระทัยว่า ประชาชนชาวไทยไม่ได้รู้กฎหมายเสียทั้งหมด และความไม่รู้นี้ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร กลายเป็นการรังแกเบียดเบียนกัน จึงต้องแก้ไขจุดนี้ แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมของนักกฎหมายจึงเริ่มจากจุดนี้ ดังมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2521 ว่า
"นอกเหนือจากงานของผู้พิพากษา ซึ่งปฏิบัติงานในศาล จำต้องทำงาน นอกศาลด้วย การหาความรู้นอกศาลนี้ มีสองอย่าง อย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับคดีหรือเรื่องที่กำลังพิจารณาโดยตรง แต่สำหรับทั่วไปย่อมมีการขวนขวายหาความรู้ อย่างหนึ่งคือความรู้ทั่วไป วิธีที่จะหาความรู้รอบตัวนี้ ก็อาจจะต้องไปทำหน้าที่เหมือนไม่ใช้หน้าที่ของผู้พิพากษาเลย แต่ที่เรามีความรู้และแนะนำเขาได้ ก็แนะนำเขาในข้อที่เกี่ยวข้องกับงานกฎหมาย ทั้งในข้อที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ ทั้งในข้อที่เป็นจิตใจและร่างกาย ถ้าไปช่วยอย่างนั้นได้ เท่ากับทำงานที่ลดงานที่จะต้องทำในศาลด้วยซ้ำ”
ทั้งนี้ องคมนตรี ได้ยกพระราชดำรัสในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2525 ได้กล่าวความตอนหนึ่งถึงบทบาทของการดำรงตนของผู้พิพากษาว่า
“งานที่ทำในโรงศาล ก็ทำให้ตรงทุกอย่าง ในการดำรงชีวิตก็ทำให้ตรง เป็นตัวอย่าง นอกโรงศาลก็เป็นตัวอย่างของคนที่สะอาดบริสุทธิ์ ของคนที่มีชีวิตที่ซื่อตรง และเป็นที่พึ่ง ถ้าไปดูความเป็นอยู่ของประชาชนที่ใดเดือดร้อนก็นำมาคิดดูว่า จะทำอย่างไรสำหรับชีวิตของประชาชน ที่มีจำนวนมากที่แร้นแค้น ให้มีความเป็นอยู่สบายขึ้น จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ป้องกันสิ่งที่จะเข้ามาในโรงศาล คือ คดีต่างๆ การเอาใจใส่สังคมนอกโรงศาลมีสองทาง ทางตรงคือการให้คำแนะนำเรื่องของกฎหมาย แก่ประชาชน อีกทางหนึ่งคือ พยายามไปช่วยชีวิตประจำวันของประชาชน เอาใจใส่สนใจทั้งจิตใจและการกระทำ”
สุดท้ายนายอรรถนิติ กล่าวว่า พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสทุกองค์ที่ทรงประทานแก่นักกฎหมาย ล้วนมีความลึกซึ้งอย่างยิ่งและเป็นสัจธรรม แสดงถึงพระอัฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระราชทานแก่นักกฎหมายไทย และผู้พิพากษา การที่นักกฎหมายและผู้พิพากษาพึงระลึกถึงและยึดถือปฏิบัติด้วยความแน่วแน่และมั่นคง สุดท้ายเชื่อว่า จะนำมาซึ่งความยุติธรรมในบ้านเมือง และความสงบเรียบร้อยของประเทศ เป็นประโยชน์สูงสุดต่อแผ่นดิน