- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- "อคิน-ศรีศักร-เพิ่มศักดิ์-บัณฑร" โหมโรงลุยลงพื้นที่ฟังปัญหาชุมชนเมือง
"อคิน-ศรีศักร-เพิ่มศักดิ์-บัณฑร" โหมโรงลุยลงพื้นที่ฟังปัญหาชุมชนเมือง
มีข้อพิพาทที่อยู่อาศัย-ถูกฟ้องขับไล่ที่ “เพิ่มศักดิ์” โทษการพัฒนาที่ไม่สมดุล ชี้ 2 พันชุมชนเมืองกรุงประสบปัญหา พร้อมหนุนสังเคราะห์นโยบายคุมกำเนิดกทม.-นโยบายจัดการที่ดินสาธารณะ ด้าน “ศรีศักร” จวกรัฐทรราชย์รังแกปชช. พัฒนามองข้ามวิถีชีวิตชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. คณะอนุกรรมการด้านที่ดิน ทรัพยากรและน้ำ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) นำโดยม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และนายบัณฑร อ่อนดำ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอต่อการจัดการที่ดิน และการไล่รื้อที่อยู่อาศัยในเขตชุมชนเมืองกรุงเทพฯ ใน 4 พื้นที่ตลอดทั้งวัน ซึ่งเบื้องต้นพบปัญหาข้อพิพาทการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยระหว่างโครงการพัฒนาของรัฐกับสิทธิชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม และไม่มีการทำประชาพิจารณ์ในโครงการต่างๆ ก่อน
โดยในช่วงเช้าคณะอนุกรรมการที่ดินฯ เริ่มลงพื้นที่สำรวจชุมชนย่านกุฎีจีน วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี ซึ่งประสบปัญหาชาวบ้าน และชุมชนรอบวัดกว่า 54 ครัวเรือนถูกวัดดำเนินการสั่งไล่รื้อที่อาศัยชุมชนออกจากพื้นที่ดัง้เดิม 100 กว่าปีที่ชุมชนตั้งอยู่มา ทั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการแผนพัฒนาปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และโครงการสร้างอุทยานเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของวัดที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่เช่าเดิม ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวยังมีผลบิดเบือนประวัติศาสตร์เดิมของท้องถิ่น และการพัฒนาพื้นที่นั้นมีการทุบทำลายโบราณสถานของชุมชนด้วย ประกอบกับปัญหาการเวนคืนที่ดินจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกด้วย
จากนั้นคณะอนุกรรมการที่ดินฯ ลงสำรวจชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน เขตพระนคร ที่ประสบปัญหาการไล่รื้อที่อาศัยจากโครงการพัฒนาพื้นที่จากทางกทม.และโครงการพัฒนาพื้นที่รอบวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหารของวัดอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งชุมชนดังกล่าวอาศัยเช่าอยู่ในเขตพื้นที่วัด โดยวัดต้องการที่จะจัดระบบบริหารจัดการพื้นที่รอบวัดและโรงเรียนวัดบวรนิเวศเสียใหม่ ขณะเดียวกันชุมชนแพร่งภูธร ถ.บำรุงเมือง เขตพระนคร ก็ประสบปัญหาการเวนคืนที่ดินระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับกรุงเทพมหานครแก่ชุมชน และชุมชนยังประสบปัญหาโครงการแผนพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารที่อยู่อาศัยของกทม.ที่ขัดแย้งต่อวิถีชีวิตชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยากรรมเดิมท้องถิ่น ที่ไม่ตรงตามวิถีชีวิตและสิทธิชุมชนเดิม
ขณะเดียวกันการสำรวจพื้นที่ชุมชนแม้นศรี นาคบำรุง บริเวณหลังศูนย์การค้าวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คณะอนุกรรมการที่ดินฯ ยังพบปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนในการเวนคืนที่ดินเพื่อขยายถนนรองรับย่านการค้า โดยเกิดปัญหาหลังจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถ.ดำรงคืรักษ์กับถ.บำรุงเมือง สายเชื่อมระหว่างสายดังกล่าวกับถ.จักรพรรดิ์พงษ์และตรอกโรงเลี้ยงเด็ก เมื่อ 28 ธ.ค.2550
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ชาวบ้านและตัวแทนชุมชนแม้นศรี นาคบำรุงต่างให้การต้อนรับคณะกรรมการปฏิรูปอย่างเนืองแน่น ก่อนนำเสนอปัญหาโครงการขยายถนนใน 10 จุดบนพื้นที่ชุมชน ที่ต้องการขยายความกว้างถนนสายหลักในชุมชนจากเดิม 12 เมตรเป็น 30 เมตร
ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันว่า โครงการพัฒนาดังกล่าวไม่มีการประชาพิจารณ์จากชุมชนก่อน พร้อมกับแสดงความเห็นคัดค้านโครงการขยายถนนเพื่อบรรเทาการจราจรของกทม.ว่า เกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมการที่ดินฯ ได้เปิดเวทีรับฟังปัญหา ถอดบทเรียนและประสบการณ์การต่อสู้ กรณีข้อพิพาทที่ดินและที่อยู่อาศัยจากความสำเร็จของการต่อสู้ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ณ บริเวณลานโพธิ์ ป้อมมหากาฬ เพื่อให้ทั้ง 4 ชุมชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหา ความเดืือดร้อน ผลกระทบที่ชุมชนได้รับจากโครงการพัฒนาที่ดินของรัฐ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยในภาพรวมร่วมกันอีกด้วย
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ชุมชนเบื้องต้นทั้ง 5 แห่งนี้ เป็นชุมชนส่วนหนึ่งของพื้นที่ชั้นในกทม.ที่ประสบปัญหาการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย การเวนคืนที่ดิน การพัฒนาพื้นที่ที่ขัดต่อวิถีชีวิตชุมชนและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ซึ่งทั่วประเทศมีไม่น้อยกว่า 6,000 ชุมชนที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ส่วนในพื้นที่กทม.ก็เช่นเดียวกันมีกว่า 2,000 ชุมชนที่ประสบปัญหา ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ชาวบ้านถูกดำเนินคดีบุกรุกที่ดินและถูกฟ้องขับไล่ ทั้งที่เป็นที่ดินของตนเอง
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากการรับฟังปัญหาจากผู้นำชาวบ้าน และผู้นำชุมชนที่ประสบความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐแล้วจะมีการเปิดเวทีรับฟังความข้อเท็จจริงและความเห็นจากฝ่ายคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง กทม. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นักวิชาการ นักผังเมือง นักโบราณคดี อีกครั้งโดยเร็วเพื่อหาแนวทางนโยบายแก้ไขร่วมกันในภาพรวมในเรื่องของนโยบายการจัดการที่ดินสาธารณะ
“การรับฟังความเดือดร้อนในครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงคปร.จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะกรณี แต่เป็นการดูภาพรวมของปัญหาของที่ดิน พร้อมสังเคราะห์แนวทางแก้ไขต่อไป ส่วนพื้นที่กทม.จะต้องมีการเปิดเวทีมาร่วมกันพูดคุยปัญหากันต่อไปว่า โครงการพัฒนาต่างๆ นั้นต้องมีการวางแผนไม่ให้ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ประวัติท้องถิ่นชุมชน การพัฒนาต้องไม่ทำให้ท้องถิ่นชุมชนล่มสลายด้วย ซึ่งเห็นด้วยว่าจะต้องมีนโยบายการคุมกำเนิดกทม. เพราะการเติบโตเหล่านี้ทำให้การพัฒนาไม่สมดุล อีกที่หนึ่งโต เจริญ ขณะที่อีกที่หนึ่ง คนจนต้องตาย เกิดการทะเละเบาะแว้งกัน”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ด้านรศ.ศรีศักร ในฐานะนักวิชาการประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า จากการเดินทางมารับฟังทำให้เราเห็นโครงสร้างปัญหาในชุมชนที่ความสำคัญของปัญหาเหล่านี้อยู่ที่รัฐกำลังรังแกประชาชนด้วยการพัฒนาต่างๆ ที่ไม่ได้ตระหนัก มองข้ามในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และประวัติศาสตร์เดิมของพื้นที่ สิทธิชุมชน
“รัฐดำเนินการต่างๆ ที่บดขยี้สังคม เป็นรัฐแบบทรราชย์ เหมือนกันทุกรัฐบาล ซึ่งชัดเจน ไม่ชอบใช้วิธีประชาพิจารณ์ แต่ใช้วิธีการประชาธิปไตยที่ใช้ความเป็นตัวแทนเข้ามาตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ดังนั้นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมนโยบาย การทำงานการพัฒนา ต้องทำให้โครงการพัฒนา การดำเนินทำงานของรัฐต้องเป็นหนึ่งเดียวร่วมกันชุมชน โครงการพัฒนาต่อไปต้องมีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ด้วย”รศ.ศรีศักร กล่าว