- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สธ.รับฟังความคิดเห็นจากวิชาชีพพยาบาลต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่
สธ.รับฟังความคิดเห็นจากวิชาชีพพยาบาลต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่
กระทรวงสาธารณสุขประชุมรับฟังความคิดเห็นจากสภาการพยาบาล สมาคม ชมรม พยาบาลวิชาชีพ ต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ได้ข้อสรุป 3 ประเด็น เตรียมนำเสนอผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องต่อไป ยืนยันเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและประเทศ
วันที่ 11 กันยายน 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ ได้เชิญสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมการพยาบาลวิชาชีพแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาล รพ.สต. แห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันการศึกษาพยาบาล ชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ ชมรมบริหารพยาบาลแห่งประเทศไทย พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลวิสัญญี ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมีทั้งในภาคการศึกษาและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานของพยาบาล
โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็น ดังนี้
1 มาตรา 22 (5) ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ขอเพิ่มเติมข้อความ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานพยาบาล
2. เห็นด้วยตาม มาตรา 4 ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ในการแยกประเภทยาเป็น 4 ประเภท โดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาที่พยาบาลสามารถจ่ายยาได้
3. ขอให้พยาบาลวิชาชีพสามารถใช้ยาและจ่ายยาในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที
“หลักการในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ทั้งหมด ทางสภาการพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันจะมีอยู่ 2 ข้อ คือมาตรา 22 (5) และมาตรา 4 ให้มีการเพิ่มเติมตามที่เสนอ เพื่อให้การทำงานของพยาบาลเป็นไปได้ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลวิชาชีพพยาบาลเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านวินิจฉัย รักษา จ่ายยา เบื้องต้นแก่ประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การวางมาตรการการขายยาออนไลน์ การวางมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แต่คนพูดถึงกันน้อยและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยภาพรวมของการทำงานเจตนารมณ์ของพยาบาลกับกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะนำไปเสนอผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายแพทย์โอภาส กล่าว