- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ลำดับการเริ่มต้นรัชกาล "กษัตริย์ราชวงศ์จักรี"
ลำดับการเริ่มต้นรัชกาล "กษัตริย์ราชวงศ์จักรี"
“พระเจ้าแผ่นดินคนทั้งปวงยกย่องตั้งไว้เป็นหนึ่ง ใครมีทุกข์ร้อนถ้อยความประการใด ก็ยอมมาร้องให้ช่วย ดังหนึ่งทารก เมื่อมีเหตุแล้วก็มาร้องหาบิดามารดาเพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าคนทั้งปวงยกย่องให้บิดามารดาของตัว แล้วก็มีความกรุณาแก่คนทั้งปวง ดังหนึ่งบิดามารดากรุณาแก่บุตรจริงๆ โดยสุจริต” พระราชดำรัส รัชกาลที่ 4
ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นราชวงศ์กษัตริย์ที่สืบราชสันตติวงศ์ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึง 234 ปี ราชอาณาจักรไทยจึงไม่เคยว่างเว้นขาดตอนจากการมีพระมหากษัตริย์ ดังในหนังสือ "ในหลวงในดวงใจ" เขียนโดยพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ สำนักพิมพ์ ดีเอ็มจี ที่ได้ประมวลพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งถือเป็นพระราชประเพณีที่สำคัญยิ่งของการดำรงเป็นพระมหากษัตริย์ของแผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 –รัชกาลที่ 9 มารวบรวมไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ
รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แผ่นดินต้น ภายหลังพระราชทานนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นองค์ปฐมกษัตริย์ และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี เพื่อสืบราชสันตติวงศ์ตามโบราณราชประเพณี ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2325
เริ่มรัชกาลวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2325-กันยายน พ.ศ.2352
รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แผ่นดินกลาง ภายหลังพระราชทานพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เริ่มรัชกาลวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352- 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367
รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบราชสัตติวงศ์ ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 2
เริ่มรัชกาลวันที่ 21 กรกฎคม พ.ศ.2367- 2 เมษายน พ.ศ.2394
รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบราชสัตติวงศ์ ต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 3 ในรัชกาลนี้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลนี้พระองค์ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณี พระอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่สอง ร่วมกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช (รัชกาลที่ 4 )
เริ่มรัชกาลวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2394- 1 ตุลาคม พ.ศ.2411
รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีราชาภิเษกถึง 2 ครั้ง เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเมื่อพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่ 2
เริ่มรัชกาลวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411- 23 ตุลาคม พ.ศ.2453
รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 5
เริ่มรัชกาลวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453- 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468
รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 6
ในรัชกาลนี้ได้เกิดเหตุการณ์คณะราษฎร์ทำการปฏิวัติรัฐประหาร เปลี่ยนการปกครอง โดยนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้บริหารบ้านเมือง ต่อมาพระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชบัลลังก์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477
เริ่มรัชกาลวันที่ 26พฤศจิกายน พ.ศ.2468 - 2 มีนาคม พ.ศ.2477
รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยราชประเพณีสืบราชสันตติวงศ์ ยังไม่ทันได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์สวรรคตเสียก่อน และไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์
เริ่มรัชกาลวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2477 – 9 มิถุนายน พ.ศ.2489
รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุด
เริ่มรัชกาลวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 -13 ตุลาคม พ.ศ.2559
วันที่ 1 ธันวาคม 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงสถิตอยู่ในพระราชสถานะองค์พระรัชทายาทมาตั้งแต่พุทธศักราช 2515 นับเป็นเวลาถึง 44 ปี ทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" เริ่มรัชกาลตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระองค์ยังมีพระราชดำริว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ควรดำเนินการเมื่อเสร็จสิ้นการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศแล้ว
ด้วยบุญญาธิการ ของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีที่ครองแผ่นดินไทย ทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร์ สมดั่งพระราชปณิธาน พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา...ในหนังสือพระมหากรุณาธิคุณต่อภาษา วรรณกรรม และห้องสมุด จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 ท้ายเรื่องนี้
“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”
พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
“บ้านเมืองเรานี้ คนรุ่นเก่ามีความสามารถ รักษาบ้านเมืองไว้อย่างสงบสุข พอที่จะมีศิลปกรรมต่างๆ อันเป็นที่เชิดหน้าชูตา มาได้อย่างเป็นระยะอันยาวนานไม่ขาดสาย ดังนั้น จึงเป็นข้อเตือนใจให้เราคนรุ่นหลังได้นึกอยู่ตลอดเวลาที่เราจะรักษาบ้านเมืองของเราไว้”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2
“การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเสื่อมใสไปทีเดียว”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
“พระเจ้าแผ่นดินคนทั้งปวงยกย่องตั้งไว้เป็นหนึ่ง ใครมีทุกข์ร้อนถ้อยความประการใด ก็ยอมมาร้องให้ช่วย ดังหนึ่งทารก เมื่อมีเหตุแล้วก็มาร้องหาบิดามารดาเพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าคนทั้งปวงยกย่องให้บิดามารดาของตัว แล้วก็มีความกรุณาแก่คนทั้งปวง ดังหนึ่งบิดามารดากรุณาแก่บุตรจริงๆ โดยสุจริต”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
“ข้าพเจ้ามีความปราถนาว่า การสิ่งไรเป็นการเจริญมีคุณแก่ราษฎร ควรจะเป็นไปให้ทีละเล็กละน้อย ตามกาลเวลา การสิ่งไรเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ แต่ไม่สู้เป็นยุติธรรม ก็อยากจะเลิกถอนเสีย แต่จะจู่โจมโหมหักเอาทีเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องคอยตัดรอนไปทีละเล็กละน้อย พอให้บางเบาเช้าทุกที เมื่อเป็นอยู่ดังนี้ก็ควรจะเป็นไปทีละน้อยๆ เรียบร้อยไปตามกาลเวลา ”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
“ ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น ชื่อก้องเกียรติงาน
หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทย ”
พระราชนิพนธ์สยามานุสติในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ ที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
“ถ้าคนไทยทุกคนถือว่าตนเป็นเจ้าของชาติบ้านเมืองและต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้วความทุกข์ยากของบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นไปได้ ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้ท่านทุกคนได้ช่วยกันทำหน้าที่ของตนโดยขันแข็งและขอให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกันจริงๆ เพื่อชาติจะได้ดำรงอยู่ในความวัฒนาถาวรสืบไป”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9