- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- สินในน้ำ เรื่องราว "ปลา" ที่พ่อพระราชทาน
สินในน้ำ เรื่องราว "ปลา" ที่พ่อพระราชทาน
"พระองค์ทรงมีแนวคิดการเพาะพันธุ์ปลา เพื่อประชาชนว่า เมื่อหิว แล้วกินจนอิ่ม คนจะอนุรักษ์กันเอง"
“ขณะพระองค์ทรงเรือใบ มีอะไรชนเรือของพระองค์ท่านก็ไม่ทราบ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้อธิบดีกรมประมงในอดีตนั้น เข้าเฝ้าฯ เพื่อหาสาเหตุว่า เป็นตัวอะไร ซึ่งสมัยก่อนที่ฟังจากผู้ใหญ่เล่ามา จะนึกว่าเป็นเต่า หรือจระเข้ แต่พอตรวจดูกลายเป็นปลากระโห้”
"ศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์" ผู้อำนวยการกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราฟัง ขณะชมนิทรรศการงานประมงรำลึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ 50 ปี ปลานิลพระราชทาน รำลึกพระคุณพ่อของแผ่นดิน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2559 จังหวัดนนทบุรี
ผอ.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เล่าให้ฟังต่อว่า “พระองค์ท่านยังทรงทราบจากชาวบ้านที่หัวหินว่า มีปลาชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล เติบโตเร็ว คือ ปลานวลจันทร์ทะเล จึงมีพระราชดำรัสให้นำมาเพาะพันธุ์ เพื่อขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและเป็นปลาเศรษฐกิจ”
สำหรับ ปลานิล เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วกัน แต่ก็มีปลาอีกหลายชนิดที่พระองค์ทรงนำมาเลี้ยงและพระราชทานหลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ ปลาหมอเทศ
"ปลาหมอเทศ พันธุ์ปลาที่พระองค์รับมาจากปีนัง เมื่อปีพ.ศ.2495 โดยสาเหตุความยากจน การกินไม่สมบูรณ์ พบการขาดสารอาหารประเภทโปรตีนของประชาชนชาวไทย พระองค์จึงนำปลาหมอเทศมาทดลองเลี้ยงที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จนปีพ.ศ.2496 สามารถเพาะพันธุ์ได้ จึงพระราชทานเพื่อนำไปขยายพันธุ์อีกครั้ง
แต่ปัญหา คือว่าประชาชนก็ยังขาดอาหารประเภทโปรตีน จึงศึกษาพันธุ์ปลาที่เลี้ยงง่ายดูแลไม่มาก ออกลูกง่ายเป็นจำนวนมาก
ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ในขณะที่พระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร แห่งประเทศญี่ปุ่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายลูกปลาตระกูลเดียวกับปลาหมอเทศ จำนวน 25 คู่ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ เลี้ยงไว้ที่บ่อปลาสวนจิตรลดา และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”
จากนั้นวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 ได้พระราชทานพันธุ์ปลานิล 10,000 ตัว เพื่อให้นำไปเลี้ยง และขยายพันธุ์ที่สถานีประมงต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้วแจกจ่ายให้แก่ประชาชนต่อไป
"ศุภวัฑฒ์" มองว่า สาเหตุที่คนส่วนใหญ่รู้จักปลาหมอเทศ น้อยกว่าปลานิล ทั้งๆ ที่สายพันธุ์ใกล้กัน นำเข้าประเทศมาก่อนด้วยซ้ำไป และปัจจุบันยังมีการเพาะพันธุ์อยู่ เพราะว่า ปลาหมอเทศต้องอาศัยการเลี้ยงด้วยน้ำกร่อย ต่างจากปลานิลที่เลี้ยงง่ายกว่า โตเร็ว 3 เดือนออกลูก
"พระองค์ทรงมีแนวคิดการเพาะพันธุ์ปลา เพื่อประชาชนว่า เมื่อหิว แล้วกินจนอิ่ม คนจะอนุรักษ์กันเอง"
นอกจากปลานิล ปลาพระราชทาน ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันว่า เป็นเหตุการณ์ “การทูตหยุดโลก” ก็ยังมีปลาพระราชทานอีก 2 ชนิด ที่คนไทยยังรู้จักน้อย ได้แก่ ปลากระโห้ และ ปลานวลจันทร์ทะเล
ปลากระโห้ ปลาพระราชทาน เพื่อเชิงอนุรักษ์
เขาเล่าต่อถึงความเป็นมาของ ปลากระโห้ ปลาพระราชทานอีกชนิดว่า
“ขณะพระองค์ทรงเรือใบ และมีอะไรชนเรือของพระองค์ท่านก็ไม่ทราบ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้อธิบดีกรมประมงในอดีตนั้น เข้าเฝ้าฯ เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นตัวอะไร ซึ่งสมัยก่อนที่ฟังจากผู้ใหญ่เล่ามา หลายท่านต่างนึกว่าเป็น เต่าหรือจระเข้ แต่พอตรวจดูกลายเป็นปลากระโห้ โดยทางกรมประมงได้ชี้แจงกับพระองค์ว่าเป็นปลาสายพันธุ์ของไทย ที่หายาก พระองค์จึงให้นำไปเพาะเลี้ยงในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก่อนให้กรมประมงนำไปเพาะพันธุ์”
ปลากระโห้ เป็นปลาน้ำจืด มีเกล็ดใหญ่ขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง ลำตัวสีเทาปนดำหรือชมพูปนขาว ครีบมีสีแดง อาศัยในแม่น้ำโดยเฉพาะแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย
เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำก่ำ แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าหลวง แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง
แต่แหล่งน้ำที่สามารถรวบรวมปลาชนิดนี้ได้มากที่สุด ได้แก่ ในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรีขึ้นไป จนถึงเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท โดยเฉพาะในแหล่งน้ำลึก
และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกล จึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมประมงนำพ่อแม่พันธุ์ปลากระโห้ ที่ทรงเลี้ยงไว้ในบ่อกักบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ปลากระโห้สายพันธุ์แม่น้ำเจ้าพระยา มาเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลากระโห้แบบผสมเทียมครั้งแรกของโลก เมื่อพ.ศ. 2528
และเนื่องจากปลากระโห้เป็นปลาพันธุ์ไทย มีเกร็ดขนาดใหญ่ที่สุด แต่ใกล้สูญพันธุ์ พระองค์จึงพระราชดำริให้กรมประมงอนุรักษ์ปลาชนิดนี้ไว้ เพราะปลากระโห้จะออกลูกน้อย เพียงปีละ 2-3 ตัวเท่านั้น
ประกอบกับมีการล่าในลุ่มแม่น้ำเป็นจำนวนมาก และเด็กรุ่นหลังไม่ค่อยรู้จักกันมากอย่างปลานิล
ส่วน ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาพระราชทาน เพื่อเชิงเศรษฐกิจ
พระราชดำรัสความตอนหนึ่ง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่ร่วมเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมพ. ศ. 2554
“ได้ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ คลองวาฬ ซึ่งมีสถานีประมงที่คลองวาฬ เขาเลี้ยงปลาที่เป็นปลาทะเล ที่เรียกว่า ปลานวลจันทร์ เขาจับปลานวลจันทร์ทะเลเล็กๆ ที่อยู่ในทะเล เอามาขาย และสำหรับเลี้ยงในบ่อ ซึ่งถ้าเลี้ยงในบ่อน้ำมันจืดลง ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นก็เติบโตได้ เป็นอันว่า จะเป็นอาชีพสำหรับชาวบ้านไปซื้อมา
เขาไม่ได้ซื้อ เราซื้อ ให้ไปซื้อ เอามาปล่อยในอ่างเก็บน้ ำและเมื่อปล่อยให้แล้วมันก็เติบโต เติบโตดี ปีหนึ่งมันเติบโตมาขายได้เงินไปหลายแสน แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจนะ จึงเลิก
ปลานวลจันทร์ทะเล มันไม่เติบโต มันไม่แพร่พันธุ์ในบ่อ ในอ่างมัน มันจะแพร่พันธุ์แต่ในทะเล แต่ก็ยังไงก็จับได้และขายได้ ซึ่งสมมุติว่า ไปซื้อมาแล้วก็ดูแล และถึงเวลาก็ขายเป็นอาชีพที่ดี”
"ศุภวัฑฒ์" เล่าต่อว่า เมื่อปีพ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงทอดพระเนตรสถานีประมงคลองวาฬ หรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน
"พระองค์ท่านทรงทราบจากชาวบ้านที่หัวหินว่า มีปลาชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล เติบโตเร็ว คือ ปลานวลจันทร์ทะเล จึงมีพระราชดำรัสให้นำมาเพาะพันธุ์ เพื่อขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและเป็นปลาเศรษฐกิจ
สมัยนั้นกรมประมงได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ มาดำเนินการโดยได้รวบรวมปลานวลจันทร์ทะเล มาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง สามารถเพาะขายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล และอนุบาลลูกปลาได้ ในปริมาณที่มากพอแก่การส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกร สามารถนำไปเพาะเลี้ยงได้ กระทั้งนำมาต่อยอดสู่การแปรรูปสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทาง
ปัจจุบันปลาชนิดนี้เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ต่างประเทศแถบเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นอันดับ 1 และมีชื่อเรียกของเขาด้วยว่า Chanos chanos fish หรือ Mike fish
เขาบอกอีกว่า แต่ก่อนคนไม่นิยมกิน เพราะมีก้างเยอะถึงประมาณ 133 ก้าง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและวิธีการดึงก้างปลาออกเพื่อความรวดเร็ว รวมถึงรสชาติที่คล้ายปลากะพง พร้อมกับเชิญชวนด้วยว่า ในงานนี้ก็มีศูนย์ฯ จากคลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์ จะมาสาธิตการดึงก้างปลาออกให้ชมกันด้วย
เจ้าหน้าที่กลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลบ้านคลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกวิธีดึงก้าง ให้ดึงตามแนวก้างที่จะเป็นแถว ทั้ง 8 แนว ใช้มีดกับตัวหนีบ ดึงแล้วใช้มีดลูบตรวจว่ามีหลงเหลือไม่ ก้างที่ดึงออกมีเนื้อติดไป2-3 ขีด แต่นำไปแปรรูปโดยการบดอีกที
นอกจากนี้ โซน “สินในน้ำที่พ่อให้…สู่พัฒนาการด้านประมง” จะถ่ายทอดเรื่องราวพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างระบบการเพาะฟักไข่ปลานิล แบบต้นทุนต่ำ โดยยกตัวชุดสาธิตการเพาะเลี้ยงจากวัสดุง่าย ๆ
นายเจษฏาพงษ์ ขำวิลัย เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อ่างทอง หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่มุ่งมั่นเรียนจบการประมงเพื่อเป็นข้าราชการตามโครงการพระราชดำริ บอกถึงการเลี้ยงปลานิล แบบใช้ต้นทุนต่ำ เป็นวิธีการเลี้ยงที่ชาวบ้านสามารถเลี้ยงได้ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง สามารถมาศึกษาได้ การเลี้ยงก็ไม่ยาก แต่ต้องเอาใจใส่ดูแล โดยระบบต้องทำให้น้ำหมุนตลอดเวลา
หลายคนถาม ให้น้ำหมุนตลอดเวลา ปลาจะเวียนหัวตายไหม ?
เป็นคำถามที่พบบ่อยที่สุด เจษฏาพงษ์ ยืนยันว่า ความจริงปลาไม่เวียนหัว ด้วยธรรมชาติของมัน เวลาปลานิลจะมีลูก เมื่อมีไข่จะอมไว้ในปากปลา และให้น้ำผ่านเข้าเหงือกมาและมีการขยับตลอดเพื่อให้ไข่หมุนตลอดเวลา ให้ได้รับออกซิเจนเป็นเรื่องปกติ หากนำไข่มาเลี้ยงในน้ำนิ่ง ไข่ปลานิลจะเสียแทน
พร้อมกับอธิบายถึงการเพาะไข่ปลานิล มี 5 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 Eneyed stage ไข่สีเหลืองอ่อน ตลอดทั้งฟองยังไม่มีการพัฒนาการใด ๆ ให้เห็นชัดเจน
ระยะที่ 2 Eyed stage ไข่สีเหลืองเข้ม มีจุดดำรอบ ๆ ไข่ มีพัฒนาการจนสามารถสังเกตเห็นพัฒนาการของตาเป็นจุด 2 จุดชัดเจน
ระยะที่ 3 Pre hatch stage ไข่ที่มีการพัฒนาจนสังเกตเห็นส่วนของตาและหางชัดเจน ไข่เป็นสีน้ำตาลไม่เคลื่อนไหว
ระยะที่ 4 Hatch stage ลูกปลาที่ฝักออกเป็นตัวแล้ว แต่ถุงไข่แดงยังไม่ยุบ มีสีเข้มกว่าระยะที่ 3 เริ่มมีการเคลื่อนไหว
ระยะที่ 5 Swim-up fly ลูกปลาที่ฝักออกเป็นตัวแล้ว ถุงไข่แดงยุบ สามารถว่ายน้ำได้
เพียง 5 ระยะ แต่ต้องเอาใจใส่ดูแล ระบบการเพาะฟักไข่ จะช่วยให้ปลานิลเพาะพันธุ์ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเป็นการช่วยลดความกังวลของปลานิลเวลามีไข่ในปลา พอนำออกมา พวกเขาก็สามารถผสมพันธุ์ได้เลย
ปลานิลใช้เวลาน้อยก็ได้ผลผลิต
"คนที่กินง่าย อยู่ง่าย ปรับตัวได้ดีแม้ต่างถิ่น" ศุภวัฑฒ์ เปรียบการเลี้ยงดูปลานิลกับนิสัยคน เป็นคนที่กินง่าย อยู่ง่าย ปลานิลไม่ใช่นักล่า กินอะไรก็ได้ทั้งพืชและสัตว์ ปรับตัวได้ดี แต่การเติบโตก็ขึ้นอยู่กับการกิน
นอกจากเป็นสัตว์ที่ให้โปรตีนสูงแล้ว ยังเป็นปลาเศรษฐกิจ ส่งออกได้หลายพันล้านตัว เป็นเงินมหาศาลในปัจจุบัน จากอดีตเริ่มต้นแค่ 50 ตัว
นอกจากนี้ ภายในงานจะถ่ายทอดเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณด้านการประมง และภาพแห่งความทรงจำที่จะตรึงอยู่ในใจคนไทยทั้งประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านอุโมงค์ Digital Wall ในตัวปลานิลยักษ์ และแสดงตู้ปลาทรงปล่อยตู้แรก รวบถึงบูทกว่า 40 บูท จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ปลานิล และสินค้าประมงอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร และภาคเอกชน ที่น้อมนำพระราชดำรัสไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ และเป็นที่รู้จักได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น