- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ศาสตร์พระราชา เรื่องข้าว กับชาวนา
ศาสตร์พระราชา เรื่องข้าว กับชาวนา
"ชาวนาทำนาตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภค ก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามา สำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอามาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่า ไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลผลิตก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้ แล้วก็เชื่อของนั้น ก็มีราคาแพง เพราะว่า นำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามารับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ”
“ปีนี้ปลูกข้าวได้กี่ถัง”
“ปลูกข้าวได้พอกินไหม”
“ ทำมาหากินอย่างไร”
คือ หัวข้อสนทนาระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับพสกนิกรที่มีอาชีพชาวนา ซึ่งผู้ที่ติดตามใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมักจะได้ยินจากพระโอษฐ์อยู่เสมอๆ
บ่อยครั้งพระองค์แนะนำพสกนิกรให้รักษา “ที่นา” ไว้ให้ดี เพื่อเป็นฐานอันมั่นคงของชีวิตตนเองและครอบครัวในอนาคต (อ้างอิง:หนังสือ ขวัญข้าว ขวัญแผ่นดิน)
ล่าสุดท่ามกลางปัญหาราคาข้าวตกต่ำ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ถึงปัญหาชาวนาไทยยังคงประสบพบเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำอยู่บ่อยครั้ง โดยมองว่า ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปริมาณผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาด การถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง มีต้นทุนการผลิตที่สูงมีคุณภาพที่ต่ำ มีภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง การปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมนั้นเป็นอีกผลหนึ่ง ทำให้ได้ข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวที่มีความชื้นสูง อีกทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือทำนาข้าวแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในปัจจุบัน
ขณะที่การรวมกลุ่มเกษตรกร นายกฯ มองว่า ก็ยังไม่เข้มแข็งนัก ทำให้ขาดอำนาจต่อรองกับโรงสีและพ่อค้าคนกลาง ขาดการคิดค้นผลิตนวัตกรรมข้าวในการเพิ่มมูลค่า ให้กับผลผลิตข้าว ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้รายได้ของชาวนาไม่มั่นคง ตลอดจนต้องกู้หนี้ยืมสิน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการปลูกข้าว จนถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้ชาวนาชักหน้าไม่ถึงหลัง ถึงขั้นต้องขายที่นา และหลายครอบครัวต้องละทิ้งอาชีพชาวนา ในที่สุด
ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง
ปัญหาหนี้สินชาวนา ไม่ใช่เพิ่งเกิดยุคนี้
เมื่อ 45 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้ปัญหา ได้ตรัสไว้ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2514 (อ้างอิง:หนังสือ ข้าวของพ่อ)
ดังความในพระราชดำรัส...
“เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวตก ก็จะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราก็บริโภคข้าว ก็ได้จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่า ข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก
...เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่า แย่ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่า ควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้…
…เหตุที่ติดหนี้ก็คือเสื้อผ้าเหล่านั้น หรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้แต่ข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาดหรือร่วมกันซื้อก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง
..คือว่า ชาวนาทำนาตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภค ก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามา สำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอามาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่า ไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลผลิตก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้ แล้วก็เชื่อของนั้น ก็มีราคาแพง เพราะว่า นำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามารับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ”
ที่มาภาพ:หนังสือ ข้าวของพ่อ
ธนาคารโค-กระบือ
แนวทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาหนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้จัดตั้งธนาคารโค-กระบือ เพื่อเป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุกรรมสัตว์สี่เท้าของไทยมิให้สูญหาย
ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือพสกนิกรชาวนี่มีฐานะยากจนให้พอลืมตาอ้าปากได้
ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสมาชิกกลุ่มเกษตรทั่วประเทศ ที่เข้าเฝ้าฯ ฯ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา 14 พฤษภาคม 2523 มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือโดยมีบัญชีควบคุมดูแลรักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคาร
ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่ใช้เครื่องยนต์กลไกเป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องยนต์กลไกก็เสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานสัตว์ที่ใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่า มีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโค กระบือ มาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน
ธนาคารโคและกระบือพอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนกับธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคกระบือก็มิใช่ว่า ตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคหรือกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม ใครจะสมทบธนาคารโคและกระบือ ก็ไม่จำเป็นต้องนำโคและกระบือไปมอบให้ อาจบริจาคในรูปของเงิน”
”ศาสตร์พระราชา” รวมกลุ่ม - ตั้งธนาคารข้าว
ส่วนชาวนาไทยที่ขาดอำนาจต่อรอง การซื้อขายข้าวมักขาดความรู้ความเข้าใจในกลไกตลาด พระองค์ ทรงแนะนำให้นำหลักการ “สหกรณ์” มาใช้ โดยสอนให้ราษฎรรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือกันและกัน ลดการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางและนายทุน ลดต้นทุน การผลิต และเพิ่มราคาผลผลิตของตนเอง
โครงการสหกรณ์ตามพระราชดำริ จึงเกิดขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการจัดตั้ง “ธนาคารข้าว” มาตั้งแต่ปี 2519 ครั้นเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นทุน เริ่มกิจการ ธนาคารข้าว
เรื่องธนาคารข้าว ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้ในสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนไทย ฉบับที่ 12 เช่นเดียวกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภตอนหนึ่งว่า
"ขณะนี้ ราษฎรต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาสูงทั้งๆ ที่ข้าวเปลือกมีราคาต่ำ เนื่องจากพ่อค้าคนกลางแสวงหากำไรเกินควร บางท้องที่ชาวนาขาดแคลนข้าวบริโภคในบางฤดูกาล"
พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พิจารณาจัดตั้งธนาคารข้าวแก่ราษฎร ช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักช่วยเหลือตนเอง และรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง และเพิ่มรายได้แก่ชาวนาอีกทางหนึ่ง
”ศาสตร์” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานไว้ คือ “จะต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่ม เป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกันแล้วก็ไปติดต่อกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกัน และอาจจะต้องตั้งหรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่มแล้ว ก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วก็ไปพยายามสีเอง หรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ผลิต ผู้ที่สีและผู้ที่บริโภค ก็แก้ปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป”
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทรัพย์ เป็นเงินกว่า 6.8 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงสีข้าว บนเนื้อที่ 22 ไร่ ที่บ้านโนนศิลาเลิง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มในการบริหารจัดการข้าวเปลือกหลังการเก็บเกี่ยว โดยพระราชทานแนวพระราชดำริ ตอนหนึ่งว่า
“ข้าวที่โรงสีนี้ใช้ไปซื้อมาจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวได้ราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อในราคาถูกเพราะไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงผู้ผลิตและผู้บริโภคก็มีความสุข”
แม้แต่ในเรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมการปลูกข้าวไร่ ทั้งในฐานะเป็นกระบวนการผลิตเพื่อปากท้องของพสกนิกรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา และในฐานะที่เป็นวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวที่ไม่ต้องใช้น้ำมาก
ดังมีกระแสพระราชดำรัส เกี่ยวกับข้าวไร่ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงทดลองข้าว ณ สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง 17 กุมภาพันธ์ 2517
“ในอนาคต ข้าวไร่มีบทบาทมาก เพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ”
ศาสตร์พระราชาเรื่องข้าว จึงเน้นเรื่องการผลิต เทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนาเรื่องการผลิตข้าว ด้วยพระมหากษัตริย์ไทยองค์นี้ได้มีโอกาสศึกษาการทำลองทำนา และทราบดีถึงความยากลำบาก
ดังพระราชดำรัส เมื่อปี 2505
“...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทอลงทำนาบ้าง และทราบดีว่า การทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัย พันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผล เป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้น เมื่อสิ้นฤทำนาแล้วควรจะปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป"
และนี่คือ พระราชดำริ และทรงดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว ในโครงการส่วนพระองค์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากมาย โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” ...