- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- คนไทยติดพนันงอมแงม! กว่า 60% เริ่มเล่นตอนอายุไม่เกิน 20 ปี
คนไทยติดพนันงอมแงม! กว่า 60% เริ่มเล่นตอนอายุไม่เกิน 20 ปี
เจาะพฤติกรรมคนไทยติดพนัน ยอมรับสูงสุด 2 ล้านคน มีคดีสู่ศาลชั้นต้นกว่า 7 หมื่นคดี พ่อเเม่-เเฟน-เพื่อน เป็นบุคคลใกล้ชิด คอยช่วยเหลือ เมื่อลำบากเกิดปัญหา นักวิชาการ จุฬาฯ วอนรัฐดันนโยบายเเก้ไข สร้างการรุู้เท่าทันในกลุ่มเยาวชน เชื่อเเม้ไม่ทำให้ ปท.ปลอด 100% เเต่เล่นเเล้วต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ
“ไฟไหม้บ้านยังไม่เสียหายเท่าติดการพนัน”
เป็นคำกล่าวที่ดูจะสมเหตุสมผล เพราะไฟไหม้ยังเหลือที่ดิน แต่ติดพนันครั้งเดียวมีสิทธิหมดตัว ไร้ที่ซุกหัวนอน อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพนันอยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนาน บางคนเล่นเพื่อเสี่ยงโชค บางคนเล่นเพื่ออยากได้เงิน แต่ไม่มีใครร่ำรวยจากอบายมุขเหล่านี้
มีข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม ปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีคดีเกี่ยวกับการพนันขึ้นสู่ศาลชั้นต้น 7.6 หมื่นคดี เป็นอันดับ 3 รองจากคดียาเสพติด และจราจร ตามลำดับ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล หากภาครัฐไม่มีนโยบายป้องกันแก้ไข การพนันอาจขยายลุกลามมากขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะปีนี้ที่มีการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก โอลิมปิก สร้างกระแสฟีเวอร์ในหมู่คนไทย อาจทำให้คดีเกี่ยวกับการพนันขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 เกิดปัญหากู้หนี้ยืมสิน ที่ดินหลุดมือ จึงถือเป็นเรื่องท้าทายของหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต้องรับมือ
เมื่อประกอบกับข้อมูลเชิงวิชาการ ยิ่งทำให้ทราบว่า คนไทยติดการพนันมาก อ้างอิงจากผลศึกษา สถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2558 ถูกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ เรื่อง การพนันในยุคเปลี่ยนผ่าน จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน และภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยเป็นการสำรวจประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สุ่มตัวอย่างจำนวน 26 จังหวัด จาก 9 ภาค ทั้งสิ้น 7,018 ตัวอย่าง ด้วยระบบแบบสถิติ ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2558 แบ่งเป็นผู้หญิง 52% ผู้ชาย 48% และส่วนใหญ่สมรสแล้ว 63% โสด 31% การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี 84.6% ประกอบอาชีพหลากหลาย เกินครึ่งมีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาท
อึ้ง! คนไทยเริ่มเล่นพนันครั้งแรกต่ำสุด 7 ขวบ
ผลการศึกษาเกี่ยวกับ ‘ประสบการณ์การเล่นพนัน’ พบว่า มีคนไทยเคยเล่นพนันสูงถึง 73.8% ไม่เคยเล่นพนัน 26.2% ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับผลสำรวจหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ผู้ไม่เคยเล่นพนันมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของผู้เล่นพนันทั้งหมด
เมื่อแยกตามช่วงอายุและเพศ ที่น่าสนใจ คือ เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เคยเล่นพนัน 39.4% ไม่เคยเล่นพนัน 60.6%
สะท้อนให้เห็นว่า การเข้าสู่การพนันของสังคมไทยเป็นไปได้ง่ายมาก แม้กระทั่งเด็กและเยาวชน
ส่วนอายุที่เริ่มเล่นพนันครั้งแรก อายุต่ำสุด 7 ปี และกว่า 60% เริ่มเล่นพนันอายุไม่เกิน 20 ปี
การพนันที่เคยเล่นเป็นครั้งแรก คือ หวยใต้ดิน 35.3% รองลงมา คือ ไพ่ 25.2% สลากกินแบ่งรัฐบาล 23.9% พนันฟุตบอล 4% และ ไฮโล โปปั่น กำถั่ว น้ำเต้าปูปลา 3.7%
ทั้งนี้ การพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ สลากกินแบ่งฯ 73.4% รองลงมา คือ หวยใต้ดิน 67.5% ไพ่ 37.4% ไฮโล โปปั่น กำถั่ว น้ำเต้าปูปลา 16.8% และพนันฟุตบอล 15.6%
ถามว่า เหตุใดคนไทยจึงนิยมเล่นการพนัน ผลการศึกษาชิ้นนี้ ระบุ ส่วนใหญ่อยากเสี่ยงโชค อยากลอง 70.1% อยากได้เงิน 38.9% ตื่นเต้นเพลิดเพลิน 32.3%
ขณะที่คนที่ไม่นิยมเล่นการพนัน เพราะไม่ชอบเล่น 74.8% เล่นไม่เป็น 38.4% เป็นสิ่งผิดกฎหมาย 23.7%
รอบ 12 เดือน สลากกินแบ่งฯ นิยมสุด เงินหมุนเวียน 7 หมื่นล.
ข้อมูลข้างต้นถือเป็นประสบการณ์และการตัดสินใจของคนไทยต่อการเล่นพนัน แต่ในช่วง 12 เดือน ก่อนการสำรวจมีการเล่นพนันหรือไม่ อย่างไร
การศึกษาได้มีการประมาณการณ์มีผู้เล่นพนัน 27.39 ล้านคน หรือ 52.4% โดยภาคอีสานมากที่สุด 9.9 ล้านคน ตามมาด้วย ภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่ง 4 ภาคหลังมีตัวเลขใกล้เคียงกัน ระหว่าง 3.7-4.7 ล้านคน เป็นผู้ชาย 14 ล้านคน ผู้หญิง 13.3 ล้านคน
ผลการศึกษายังพบว่า หากเฉลี่ยตามอายุของผู้เล่นพนัน จะพบอายุต่ำกว่า 20 ปี เล่นพนันสูงถึง 1.16 ล้านคน และหากคำนวณรวมกับกลุ่มอายุ 20-29 คน ที่มีอยู่ 4.03 ล้านคน โดยนับถึง 25 ปี จะมีเยาวชนเล่นพนันสูงถึง 2-3 ล้านคน
...น่ากังวล เยาวชนเหล่านี้ไม่มีรายได้ นำเงินมาเล่นพนันจากไหน?
ส่วนพนันประเภทใดที่คนไทยนิยมเล่นกันมาก ‘สลากกินแบ่งฯ’ ประมาณ 19 ล้านคน วงเงินหมุนเวียน 7.7 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ หวยใต้ดิน 16.4 ล้านคน 1.3 แสนล้านบาท
ส่วนพนันฟุตบอล 1.9 ล้านคน แม้จำนวนผู้เล่นน้อยกว่าการพนัน 2 ประเภทแรก แต่พบว่า มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก สูงถึง 1.36 แสนล้านบาท
สาเหตุเพราะสลากกินแบ่งฯ และหวยใต้ดิน มากที่สุด ในแต่ละปีสามารถเล่นพนันได้เพียง 24 ครั้ง แต่พนันฟุตบอลมีความถี่ในการเล่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ไทยพรีเมียร์ลีก พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนลีก และอีกมากมาย
การพนันอีกหนึ่งประเภทที่ต้องจับตา ผลการศึกษาพบ ‘มวย/มวยตู้’ นิยมเล่น 4.6 แสนคน วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท และอนาคตเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น เพราะระยะหลังทีวีดิจิทัลหลายช่องผลิตรายการประเภทนี้ขึ้น
2 ล้านคน ยอมรับติดพนัน
ถามว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเล่นพนันอย่างมากในสังคมไทย???
-สถานะทางการเงินจากการเล่นพนัน คนไทยมีสถานะเหมือนเดิม 82% แย่ลง 14% และดีขึ้น 4%
สรุปได้ว่า เล่นพนันมีโอกาสเสียมากกว่าได้อยู่แล้ว แม้คนเล่นน้อยจะไม่กระทบ แต่ถ้าเล่นมากจะกระทบทันที
-การเสียเงินจำนวนมากจากการเล่นพนัน คนส่วนใหญ่ไม่เคยเสียเงินจำนวนมาก 90% เคยเสีย 10%
-เคยถูกลงโทษจากการเล่นพนัน ไม่เคย 95% มีเพียง 5% เท่านั้น ที่เคย ฉะนั้น คดีที่เข้าสู่ศาลชั้นต้น 7.6 หมื่นคดี จึงถือว่าน้อยมาก
ผลการศึกษายังระบุว่า คนไทยยอมรับว่าติดการพนันราว 2.1 ล้านคน หรือ 7.9% ขณะที่ไม่แน่ใจว่าติดพนัน 5.1 ล้านคน หรือ 19% ซึ่งผู้ติดพนันชายและหญิงมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนัก อยู่ที่ 1.0 และ 1.1 ล้านคน ตามลำดับ
สำหรับพฤติกรรมการเล่นพนันในระดับที่มีปัญหา มีคนไทยเคยรู้สึกผิด ละอายใจ ภายหลังเล่นการพนันสูงถึง 34.2% ส่วนหลังเสียพนันจะต้องกลับมาแก้มือเพื่อเอาเงินที่เสียคืนมาให้เร็วที่สุด 20.8%
อาการที่เกิดจากพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การพนันกำลังเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ผู้ติดการพนันมักขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ หนีไม่พ้น พ่อแม่ 39.8% ตามมาด้วย แฟน 36.7% และเพื่อน 33.1% ทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์ร่วมกัน
หนุนทุกระดับสร้างภูมิ ‘เยาวชน’ รู้เท่าทันพนัน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลถึงผลการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นเยาวชนเข้าถึงการพนันได้ง่ายในสังคมไทย สะท้อนว่าสถาบันครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม ไม่ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวเท่าที่ควร ทำให้เรามักพบเห็นบ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่เล่นพนันโดยมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่หรือเข้ามามีส่วนร่วมเล่นด้วย ซึ่งภาพเหล่านั้นไม่ควรจะเกิดขึ้น
“การแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนข้องเกี่ยวกับการพนันต้องขับเคลื่อนทุกระดับ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า วัยนี้ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ฉะนั้นต้องจัดสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และเท่าทัน ทำให้ทราบว่า เล่นพนันไม่รวย มีแต่เสียเงิน และอาจส่งผลกระทบอื่นตามมา”
พร้อมกันนี้ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ยังขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ระมัดระวังกรณีนำเสนอข่าวการพนัน โดยเฉพาะถูกรางวัลสลากกินแบ่งฯ ที่ 1 ไม่จำเป็นต้องลงข่าว เพราะไม่เกิดประโยชน์ในแง่คุณค่าข่าว มีแต่จะช่วยกระตุ้นให้คนหันมาเล่นพนันมากขึ้น
รศ.ดร.นวลน้อย บอกด้วยว่า เล่นการพนันได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหา เล่นเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐที่มีส่วนสำคัญว่าจะส่งเสริมให้คนนิยมเล่นมากหรือเล่นน้อย แต่คงไม่สามารถทำให้สังคมทั่วไปปลอดจากการพนัน 100% ยกเว้นสังคมที่มาตรการแข็งแรงในบางศาสนาเท่านั้น
...แม้การพนันจะทำให้เพลิดเพลินและตื่นเต้นไปกับการเสี่ยงโชคในแต่ละครั้ง แต่นั่นก็เป็นความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยาม เพราะหากพลาดพลั้งไปมีแต่จะสิ้นเนื้อประดาตัว ทางที่ดีเล่นพนันอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา น่าจะตอบโจทย์การแก้ไขได้ดีที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน .
อ่านประกอบ:การศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2558