- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ความเห็นหน่วยงานราชการ 'ข้อดี-ข้อเสีย' สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงด้วยงบฯ 633 ล.
ความเห็นหน่วยงานราชการ 'ข้อดี-ข้อเสีย' สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงด้วยงบฯ 633 ล.
โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ บางส่วนตั้งอยู่ใน พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1เอ
แม้ว่าโครงการจัดสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย คณะรัฐมนตรีในการประชุมนัดล่าสุดจะเป็นเพียงแค่ 'รับทราบ' ผลการศึกษาโครงการที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอมาเท่านั้น ยังไม่ได้มีการเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น
ในที่ประชุม ครม.วันนั้น ยังมีมติให้ อพท.ไปหารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งด้านเทคนิคและความคุ้มค่า โดยรัฐบาลเห็นว่า ไม่ควรให้น้ำหนักไปที่เรื่องมูลค่าของตัวเงินที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อขึ้นภูสะดวกขึ้นก็จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติและเกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมได้
สำหรับผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย มี "ข้อดี-ข้อเสีย" อย่างไรบ้าง แล้วแต่ละหน่วยงานของรัฐได้นำเสนอความเห็นอะไรประกอบการพิจารณาครม.
สำนักข่าวอิศรา นำมาให้อ่านกันอย่างละเอียด!
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
เห็นว่า กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ และคนพิการที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวมีโอกาสท่องเที่ยวบนภูกระดึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.เห็นควรให้ความเห็นชอบในผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย
เนื่องจากจะเป็นแนวทางในการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ และเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2558 ที่ได้ให้ความเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง และรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.เนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ประกอบกับโครงการตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งมีระบบนิเวศป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งทางกายภาพและชีวภาพมีสัตว์ป่าสำคัญอาศัยอยู่หลากหลายชนิด รวมถึงเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ จึงมีความเปราะบางต่อการถูกรบกวน
ดังนั้น สำนักงานฯ จึงขอเสนอความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
2.1 โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดโครงการ หรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากพื้นที่โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงบางส่วนตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1เอ รวมทั้งจะต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1เอ ต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
นอกจากนี้ หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการขออนุญาตการใช้พื้นที่ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
2.2.อย่างไรก็ดี ควรให้ความสำคัญกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่และการท่องเที่ยวทุกมิติเพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และมุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกินขีดความสามารถในการรองรับ ตลอดจนการติดตามประเมินผลโครงการหลังการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เพื่อรักษาระบบนิเวศให้คงสภาพเดิม และความยั่งยืนของพื้นที่ โดยให้สอดคล้องกับเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีลุ่มน้ำโขง (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร) ที่เน้นการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามลำน้ำโขง เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
2.3 นอกจากนี้ ควรพิจารณาบูรณาการการดำเนินโครงการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาคม เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงาน/โครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของกลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์เพื่อให้มีความเหมาะสมและประโยชน์ต่อการวิเคราะห์อุปสงค์ของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มพิการ ผู้สูงอายุ เด็ก เป็นต้น และทบทวนความเป็นไปได้เส้นทางกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์พำนักในพื้นที่อุทยานฯ รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อประเมิน จุดเด่น และข้อจำกัดของแหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึง ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลการศึกษาให้มีความถูกต้องตามข้อเท็จจริง อาทิ สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
สำนักงบประมาณ
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555...
จากผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ จะเห็นว่า การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีความคุ้มค่าในการลงทุนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้างในระดับต่ำ ประมาณการค่าก่อสร้างภายในวงเงิน 633 ล้านบาท
ทั้งนี้ความคุ้มค่าของโครงการส่วนใหญ่อยู่ในรูปของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเลย และพื้นที่โดยรอบ การสร้างโอกาสให้แก่แรงงานคืนถิ่น และการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะรับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าว
และเห็นควรให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบโครงการดังกล่าว พิจารณาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินของโครงการ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกแหล่งเงินทุนให้ครอบคลุมครบถ้วนก่อน เพื่อการพิจารณาดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.เนื่องจากโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรี กำหนดให้เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกาศ ณ วันที่ 24 เมษายน 2555 ต่อไป
2.การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ต้องดำเนินการให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติให้น้อยที่สุด คำนึงถึงความกลมกลืนธรรมชาติของสิ่งก่อสร้างที่จะสร้างขึ้น และมีแผนการจัดการการท่องเที่ยว การจัดการขยะ และน้ำเสียที่ชัดเจน และให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติและความยั่งยืน
ทั้งหมด คือความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง
นอกเหนือจากนี้ การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอีกหลายฝ่าย มีทั้งต้องการให้ก่อสร้าง ขณะที่อีกหลายภาคส่วนอยากให้คงสภาพแบบเดิมๆ ไว้เพื่อความเป็นธรรมชาติ และทดสอบกำลังสำหรับผู้มีสุขภาพแข็งแรง
ฉะนั้น มหากาพย์เรื่องนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จะผลักดันออกมาได้ในรัฐบาลทหารหรือไม่