- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดความเห็นกฤษฎีกา 5 ข้อหารือบริหารกองทุน "บัตรทอง" กระทบหนัก รพ.ทั่ว ปท.?
เปิดความเห็นกฤษฎีกา 5 ข้อหารือบริหารกองทุน "บัตรทอง" กระทบหนัก รพ.ทั่ว ปท.?
แม้รัฐบาลนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันหนักแน่นส่งท้ายปี 2558 ว่า ไม่มีแนวคิดการยกเลิกโครงการบัตรทองแต่อย่างใด มีแต่จะคิดว่า หาเงินมาจากไหน แล้วทำให้ดีขึ้นอย่างไร
แต่ปัญหาการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ยังไม่จบ เมื่อมีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่ออกมา เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือ เรื่อง “ การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ได้พิจารณาข้อหารือ และแจ้งผลการพิจารณาไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว
จะเห็นว่า ข้อหารือระบบหลักประกันสุขภาพของไทยนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดือนท้ายๆ ปี 2558 ก่อนที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะออกมาแถลงถึงการดำเนินงาน เปิดศักราชใหม่ปี 2559 จะปฏิรูป "บัตรทอง" เพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากทุกวันนี้ใช้งบประมาณมากขึ้นทุกปี
สำหรับผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหลายประเด็นน่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา หยิบสาระสำคัญของข้อหารือ และความเห็นของกฤษฎีกา มานำเสนอ ทั้ง การจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว, บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้อง
ห้ามจ่ายเงินช่วยเบื้องต้นให้บุคลากรสธ.
1 .การจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว
1.1.การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่
@ คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า มาตรา 41 กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละ 1 ของวงเงินที่จ่ายให้หน่วยบริการไว้ เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ
ประกอบกับ มาตรา 40 (8) กำหนดให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีอำนาจจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 โดยไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ผู้ให้บริการ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการให้บริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
กรณีดังกล่าว เห็นว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ 2545 ประสงค์ให้เฉพาะผู้รับบริการ ซึ่งได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากกองทุน
ดังนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ จึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 38 (4) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน และการบริหารจัดการกองทุนภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา 38 เพื่อจ่ายเงินกองทุนโดยตรง ให้แก่ผู้ให้บริการของหน่วยงานบริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ
@ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เห็นว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารเงินกองทุนด้วยการกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ กรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข โดยตัดเงินจากกองทุน จากงบบริการผู้ป่วยในทั่วไป เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
@ คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ
มีความเห็นเป็น 2 แนวทาง
(1) เห็นว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ อาศัยอำนาจตามมาตรา 38 (4) ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 38 กำหนดหลักเกณฑ์ และการบริหารจัดการกองทุนให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ให้บริการได้
(2) เห็นว่า ไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากมาตรา 41 ระบุไว้ชัดเจน ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการเท่านั้น
จ่ายค่าน้ำ ไฟ ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวทำไม่ได้
1.2 การใช้จ่ายเงินกองทุนเหมาจ่ายรายหัวของหน่วยบริการที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยบริการนำไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกิจการของหน่วยงานบริการ เช่น ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนการปฏิบัติการนอกเวลาราชการของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนภาระงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างเหมาบริการ ขัดต่อวัตถุประสงค์หรือไม่
@ คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า มาตรา 46 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หน่วยบริการมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กำหนด
โดยนิยามคำว่า “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการที่กำหนดไว้ เช่น ค่าสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดและบริการทางการแพทย์ ค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าอวัยวะเทียม และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่ในหน่วยบริการ ค่าบริบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือพาหนะนำส่งผู้ป่วย ค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการกำหนด ฯลฯ
ดังนั้น การที่หน่วยบริการนำเงินจากกองทุนไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น นอกเหนือที่กำหนดไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้
สำหรับค่าใช้จ่ายประจำในกิจการของหน่วยบริการ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามนิยาม “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข” เป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนนอกกรอบวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนและไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
@ คตร. เห็นว่า การที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นหน่วยบริการตามกฎหมาย มีการนำเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวไปใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ในกิจการของโรงพยาบาล เช่น จ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนการปฏิบัติการนอกเวลาราชการของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนภาระงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างเหมาบริการ และค่าพัฒนาบุคลากร (ค่าเบี้ยเลี้ยง เดินทาง ประชุม อบรม) เป็นการจ่ายเงินที่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน
@ คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายฯ เห็นว่า เงินเหมาจ่ายรายหัว เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข เมื่อสปสช. จ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข แก่หน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน กรณีหน่วยบริการภาครัฐเมื่อนำเข้าบัญชีเงินบำรุงของหน่วยบริการแล้ว ย่อมใช้จ่ายเงินนั้นๆ ในกิจกรรมใดๆ ของหน่วยบริการได้
ไฟเขียวเงินกองทุนบัตรทอง ให้มูลนิธิ ภาคปชช.ได้
2.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2.1 การจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ให้แก่หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ และบุคคลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มิได้เป็นหน่วยงานบริการ และเครือข่ายหน่วยงานบริการ เป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่
@ คณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างมาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 38 วรรคสอง และมาตรา 47 มีความเห็นว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ มีอำนาจจ่ายเงินกองทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หรือองค์กรเอกชน ภาคประชาชนได้
@ คตร. เห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
@ คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายฯ เห็นว่า ไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แต่อย่างใด
2.2 การจ่ายเงินกองทุน งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของสปสช. สาขาจังหวัด ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่
@ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การที่สปสช. สาขาจังหวัด หรือหน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ ใช้จ่ายเงินกองทุนงบบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อการพัฒนาหรือเตรียมบุคลากร ของหน่วยบริการหรืออาสาสมัคร ย่อมไม่ใช่การให้บริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ดังนั้นสปสช. สาขาจังหวัด หน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ จึงไม่อาจใช้จ่ายเงินกองทุนได้ เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนนอกวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
@ คตร. เห็นว่า การใช้จ่ายเงินงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับบริการพื้นฐานของสปสช.สาขาจังหวัด หรือหน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ ที่นำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ หลายรายการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน และทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์
@ คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายฯ เห็นว่า การที่หน่วยบริการนำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ หลายรายการตามระเบียบเงินบำรุง จึงสามารถดำเนินการได้ และไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนหรือทำให้ประชาชนเสียโอกาสแต่อย่างใด
ทำไม่ได้ ขัดกม. จ่ายเป็นค่าภาระงานล้างไต
3.การจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้อง
3.1 การจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้อง ขัดมาตรา 38แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ หรือไม่
@ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่บุคลากรของหน่วยบริการโดยตรงตามภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านทางช่องท้องเป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนนอกขอบวัตถุประสงค์ และขัดต่อมาตรา 38 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
@ คตร. เห็นว่า การที่คณะกรรมการออกประกาศให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง และการผ่าตัดวางสายล้างช่องท้องมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามภาระงานจากกองทุน เป็นการกระทำที่ขัดต่อ มาตรา 38 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ส่งผลกระทบต่อจำนวนค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข
@ คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายฯ เห็นว่า เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของกองทุน จึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:'นิมิตร์' โวยผลตีความกฤษฎีกา ล้มหลักการ 30 บ. กระทบ รพ.ใช้งบฯ รายหัวดูแลคนไข้