- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดงานวิจัย พบ HIV โรคที่คนต่างด้าวมารับบริการ-เบิกจ่ายสูงสุด
เปิดงานวิจัย พบ HIV โรคที่คนต่างด้าวมารับบริการ-เบิกจ่ายสูงสุด
การวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลภายใต้สิทธิประกันสุขภาพ ปี 2559 พบ ค่าใช้จ่ายสุขภาพที่มีการเบิกสูงสุดของผู้ป่วยนอก คือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส มีการเบิกค่ารักษาทั้งหมด 13.5 ล้านบาท เฉลี่ยต่อครั้ง 887 บาท
ประเทศไทย มีแรงงานต่างด้าวเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มักเข้ามาทำงานในลักษณะที่เสี่ยงอันตราย หรือทำงานหนัก ประกอบกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพหรือด้านสังคมที่ต่ำ รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและรักษาตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าคนในภาคส่วนอื่นๆ
ภญ.ธนพร บุษบาวไล และคณะ ได้ทำการศึกษา "สถานการณ์ภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทย" เพื่อให้เห็นสถานการณ์และภาวะสุขภาพ และโรคที่สำคัญของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา รวมถึงผู้ติดตาม ในประเทศไทย
นอกจากนี้คณะวิจัยได้วิเคราะห์ฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลภายใต้สิทธิบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อค้นหาภาวะสุขภาพและโรคที่คนต่างด้าวมารับบริการและมีการเบิกจ่ายมาก
จากการทบทวนรายงานภาวะโรคปี 2559 ระบุว่า โรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะ (Dalys) มากที่สุดในประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา คือโรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และโรคหัวใจขาดเลือด ตามลำดับ
ส่วนข้อมูลรายงานการตรวจคัดกรองสุขภาพจากศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ปี 2557 และ 2559 ภาวะสุขภาพหรือโรคที่พบเป็นอันดับต้นๆ ในคนต่างด้าว ได้แก่ การตั้งครรภ์ และวัณโรค
นอกจากนี้ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 ปี 2560 พบว่า โรคติดต่อในคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีรายงานเข้ามามากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท้องร่วง ไข้หรือไข้ไม่ทราบสาเหตุ และโรคปอดบวม/ปอดอักเสบ
ขณะที่ฐานข้อมูลโรงพยาบาล 2 แห่ง ในปี 2554-2558 พบว่า โรคที่มีจำนวนครั้งการเข้ารับบริการของผู้ป่วยนอกมากสุด ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำทางการแพทย์ การตรวจเฉพาะพิเศษ การตรวจสุขภาพเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ตามลำดับ
ในขณะที่โรคที่มีจำนวนครั้งการเข้ารับบริการของผู้ป่วยในมากสุด ได้แก่ การคลอดครรภ์เดี่ยว อาการท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ของการเจ็บครรภ์และการคลอด
การวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลภายใต้สิทธิประกันสุขภาพ ปี 2559 พบว่า
- ค่าใช้จ่ายสุขภาพที่มีการเบิกสูงสุดของผู้ป่วยนอก คือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส มีมูลค่าการเบิกค่ารักษาทั้งหมดเท่ากับ 13.5 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยต่อครั้งของการมารักษาเท่ากับ 887 บาทต่อการเบิกจ่าย จำนวน 15,242 ครั้ง ภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่มีการเบิกจ่ายมาก ประกอบด้วยการติดเชื้อที่เกิดจาก HIV และมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ
- การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของการให้บริการผู้ป่วยในที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับอายุครรภ์น้อยและน้ำหนักแรกเกิดน้อย มูลค่าการเบิกค่ารักษาทั้งหมดเท่ากับ 48 ล้านบาท ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้แก่ การบาดเจ็บที่อวัยวะต่างๆ และโรคที่เกิดในทารกแรกเกิด
และจากการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดลำดับความสำคัญของภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวพบว่า โรคติดต่อ 10 รายการ เรียงจากความสำคัญมากไปน้อย คือ วัณโรค โรคเอดส์ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โรคซิฟิลิส และโรคหนองใน ท้องร่วง ไข้เด็งกี/ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคมาลาเรีย ตามลำดับ
สำหรับโรคไม่ติดต่อ 10 รายการ ได้แก่ ตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน ความผิดปกติในทารกแรกเกิด ความดันโลหิตสูง สารเสพติดให้โทษและพิษสุราเรื้อรัง การบาดเจ็บจากการทำงาน การบาดเจ็บในกะโหลกศีรษะ โรคจิต จิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน หรือจิตเวชอื่นๆ เนื้องอกร้ายของเต้านม เนื้องอกร้ายของปากมดลูก ตามลำดับ
สุดท้ายงานวิจัยชิ้นนี้ ได้มีข้อเสนอแนะ ให้กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนควรปรับปรุงการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวในประเทศไทย โดยอาจใช้ภาวะสุขภาพและโรคที่ได้จากการจัดลำดับความสำคัญนี้ไปพิจารณาทั้งในเรื่องของการตรวจคัดกรอง การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลที่จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพของคนต่างด้าวได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ย้ำชัดไว้ในเวทีประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 “สุขภาพคนข้ามชาติ ความจริงกับสิ่งที่รับรู้” ณ มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ ว่า
"สังคมไทยต้องไม่ลืมว่า แรงงานข้ามชาติมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ คิดเป็น 6.2% ของจีดีพี ท่านอยากให้คนบริการเรา คนเสิร์ฟอาหารเป็นโรคติดต่อ ไม่แข็งแรง ป่วย และให้บริการที่ดีกับเราก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันอาจนำโรคมาติดเราด้วย ฉะนั้น คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในบ้านเราเขาต้องมีกิจกรรมร่วมกับคนไทย หลายกิจกรรมเราใช้บริการเขาโดยไม่รู้ตัว การที่เราละเลยเรื่องสุขภาพของแรงงานเหล่านี้ เท่ากับเราก็ทำร้ายตัวเองเช่นกัน"
ขอบคุณภาพประกอบจาก:https://www.iom.int/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไทยควรลงทุน รองปลัดสธ.เล็งของบฯ 90 ล้าน/ปี ฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรค-เอดส์ แรงงานข้ามชาติ
ประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวของไทย ดีที่สุดแล้วหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/