- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ยึดสุขภาพตัวตั้ง! หยุดเกมยื้อเวลา สร้างเงื่อนไข ‘ไม่ยกเลิก’ สารเคมีเกษตรเสี่ยงสูง
ยึดสุขภาพตัวตั้ง! หยุดเกมยื้อเวลา สร้างเงื่อนไข ‘ไม่ยกเลิก’ สารเคมีเกษตรเสี่ยงสูง
เกาะติดปมยกเลิกสารเคมีเกษตร 'พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซส' คกก.วัตถุอันตราย มติให้ก.เกษตรฯ เรียก 4 ฝ่าย ถกปัญหา วิธีการทดเเทน สรุปผลภายใน 60 วัน ตามบัญชานายกฯ 'มนัญญา' เดินหน้าต้องสำเร็จภายในสิ้นปี 62 บุกกรมวิชาการเกษตร ขอข้อมูลสต๊อก
ร้อนแรงตลอดสัปดาห์สำหรับประเด็นการเสนอให้ยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ประกอบด้วย สารเคมีกำจัดวัชพืช คือ พาราควอต และไกลโฟเซส และสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช คือ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งภาคประชาสังคม ได้นำเสนอข้อมูลการตกค้างและเรียกร้องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559
หากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าจากผู้มีอำนาจรัฐจะยกเลิกหรือไม่ ยกเว้น น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะต้องยกเลิกอย่างน้อย 2 ชนิด (พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส) ภายในสิ้นปี 2562
น.ส.มนัญญา ใช้ความพยายามถึงขนาดต้องไปเยือนสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ด้วยตนเอง เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับสต๊อกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง สำหรับนำมาประกอบการพิจารณา โดยการไปในวันนั้น (16 ก.ย.) ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้ออกมาต้อนรับ
อีกฟากฝั่งหนึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เดินหน้าสนับสนุนนโยบายยกเลิกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวด้วย
สองผู้บริหารจากพรรคภูมิใจไทย แม้จะต่างกระทรวง แต่การทำงานล้วนประสานกัน...เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ นั่นจึงทำให้ทั้งนายอนุทิน และน.ส.มนัญญา รับลูกกันด้านนโยบายอย่างราบรื่นในเรื่องการยกเลิกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง โดยยึดคำว่า ‘สุขภาพ’ เป็นตัวตั้ง
หากแต่ความพยายามดูเหมือนจะมีอุปสรรค เพราะในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (18 ก.ย.) ที่มีนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งเป็นประธาน ได้มีมติยื้อเวลาออกไปอีก 60 วัน ตามหนังสือบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มีบัญชาว่า “เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพ ให้พิจารณาดำเนินการหารือทั้ง 4 ส่วน ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจด้วย (ปัญหา วิธีการ และผลกระทบ) 1 รัฐ 2.ผู้นำเข้า 3.เกษตรกร 4.ผู้บริโภค จะได้เข้าใจกัน หาวิธีได้ ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลเอื้อประโยชน์ผู้นำเข้าสาร 3 ประเภท”
อย่างไรก็ตาม นายอภิจิณ ยืนยันว่า หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมติเป็นไปในทิศทางใด คณะกรรมการวัตถุอันตรายพร้อมมีมติตามนั้น ภายใต้เงื่อนไขต้องมีสารทดแทนที่ไม่ส่งกระทบต่อเกษตรกร ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพ แต่จนถึงขณะนี้กรมวิชาการเกษตรยืนยันว่า ยังไม่มีสารทดแทนได้
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกต ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายหนนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตามสัดส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้เข้าประชุมด้วย ได้เพียงส่งตัวแทนเข้าร่วมเท่านั้น
นำมาสู่สัญญาณบางอย่างที่น่าจับตา!
ด้านท่าทีของเครือข่ายภาคประชาสังคม หนึ่งในนั้น คือ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตั้งข้อสังเกตถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิจิณ เกี่ยวกับวิธีการทดแทนทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพต้องไม่อันตราย "อาจเป็นข้ออ้างของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะนำไปสู่การไม่ยกเลิกในที่สุด
รวมถึงยังเห็นว่า บัญชาของนายกรัฐมนตรีเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ให้ 3 กระทรวงหลักร่วมหารือเพื่อหาข้อยุติการยกเลิก แต่เมื่อมีการยืนยันว่าต้องยกเลิกภายในปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใด ๆ แต่คราวนี้ได้เสนอองค์ประกอบของผู้นำเข้า และเกษตรกรที่ใช้สารเคมี รวมถึงผู้บริโภค เพิ่มเติมเข้ามาในวงการหารือด้วย"
เป็นที่น่าสังเกต บัญชาของนายกรัฐมนตรีในหนนี้อาจเป็นเสมือนการสร้างเกมยื้อเวลาต่อไปอีกหรือไม่ และเป็นเสมือนเครื่องมือบั่นทอนกำลังใจของผู้ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะ น.ส.มนัญญา ซึ่งต้องยอมรับว่า ทำให้ชะงักงันไปพอสมควร
สิ่งที่จับตาต่อไป คือ หลังจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเรียกประชุม 4 ฝ่าย และมีเงื่อนไข รวมถึงมติออกมาอย่างไร ซึ่งหมุดหมายปลายทางของข้อเรียกร้องและการขับเคลื่อน โดยใช้คำว่า ‘สุขภาพ’ เป็นตัวตั้งแล้ว จำเป็นต้องยกเลิก! ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 .
นั่นจึงจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลภายใต้การนำรัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศนโยบายต่อรัฐสภาชัดเจนว่า จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีอันตราย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:จับท่าที ‘มนัญญา’ เอาจริงยกเลิกสาร 3 ชนิด บุกทวงสต๊อก ไร้เงาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ผู้ตรวจการฯ ย้ำเลิกผลิต-ขายพาราควอต เสนอนายกฯ สั่งขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4