- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- คลอด 5 มาตรการ ช่วยผู้กู้ยืม กยศ. ลดเบี้ยปรับ พักหนี้ 1 ปี ถือบัตรคนจน
คลอด 5 มาตรการ ช่วยผู้กู้ยืม กยศ. ลดเบี้ยปรับ พักหนี้ 1 ปี ถือบัตรคนจน
กยศ. คลอด 5 มาตรการ ช่วยลูกหนี้ กยศ. ตามนโยบายรัฐบาล ลดเบี้ยปรับ 75-80% ระหว่าง 1 ก.ย. 62-29 ก.พ. 63 -พักชำระหนี้ 1 ปี ผู้กู้ที่มีบัตรสวัสดิการเเห่งรัฐ เดินหน้าหักเงินเดือนจาก 1.2 ล้านคน ในระบบครบ ภายในปี 64 ยันกองทุนฯ มีสภาพคล่อง เเม้มีผิดนัดชำระเกิน 50%
ด้วยจุดประสงค์ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้คณะกรรมการกองทุนฯ ประชุมหารือถึงมาตรการดังกล่าวจนได้ข้อสรุป
โดยได้จัดแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2562 ณ ห้องวายุภักษ์ 3 กระทรวงการคลัง นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนฯ มีผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา (ข้อมูล 1 มิ.ย. 2562) ทั้งสิ้น 5,606,115 คน โดยมีผู้กู้ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,052,992 คน (19%) อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 976,753 (17%) เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 56,728 คน (1%) และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,519,642 คน (63%)
โดยผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ จำนวน 3,519,642 คน แบ่งเป็น ชำระปกติ 1,468,432 คน (42%) และผิดนัดชำระหนี้ 2,051,210 คน (58%)
“ผลการรับชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2551 หรือ 10 ปี มีสถิติดีขึ้นมาเป็นลำดับ จากปีแรก ผลการรับชำระหนี้ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2561 มีผลการรับชำระหนี้ 26,000 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะแตะ 30,000 ล้านบาท”
ผู้จัดการ กยศ. ระบุแม้จะมีผู้ผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 58% แต่ยืนยันว่าทุกวันนี้เงินกองทุนฯ มีการหมุนเวียน โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นไม่กระทบกับฐานะทางการเงินกองทุนฯ เพราะเรายังมีเงินหมุนเวียนเพียงพอหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมากพอกับการปล่อยเงินกู้ยืม 30,000 ล้านบาท/ปี แม้จะมีผู้ผิดนัดชำระหนี้เกินกว่าผู้ชำระหนี้ปกติก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกเรียกกลับมาในอนาคต
ทั้งนี้ รอบปีที่ผ่านมามีผู้ปิดหนี้ในคราวเดียว ราว 30,000 คน และหากผู้กู้ยืมรายใดต้องการจะปิดหนี้ในคราวเดียว สามารถติดต่อลงทะเบียนขอรับสิทธิลดหย่อนพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกรณี ดังนั้นจะสะดวกมากที่สุด จึงให้ติดต่อกับกองทุนฯ ก่อนปิดบัญชี เพื่อสอบถามรายละเอียด
|หมายเหตุ: กรณีผู้กู้ไม่เคยผิดนัดชำระ สามารถชำระปิดหนี้ได้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยไม่ต้องขอลงทะเบียนรับสิทธิ จะได้รับการลดหย่อนสิทธิพิเศษ -ส่วนผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระ ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ เพื่อพิจารณาการลดหย่อนในแต่ละราย
นายชัยณรงค์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการหักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ กยศ. ว่าที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันสามารถหักเงินเดือนผู้กู้ยืมจากหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนกลางที่ผ่านระบบจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง และราชการท้องถิ่น และภาคเอกชนรายใหญ่ ประมาณ 7,000 แห่ง ได้รับเงินจากการหักเงินเดือน 420 ล้านบาท/เดือน จาก 400,000 คน อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่อยู่ในระบบ
ทั้งนี้ คาดว่า จะครบทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนผู้กู้ยืม 1,200,000 คน จากหน่วยงาน 100,000 แห่ง ภายในปี 2564
| กยศ.แจงปม ส.ส.ค้างหนี้หลักหมื่นไร้ปัญหา เหตุสัญญายาว 15 ปี ผ่อนชำระงวดได้ แต่ห้ามเบี้ยว
“วันนี้ กยศ.ฟ้องคดีไปแล้ว 1,700,000 คดี เฉพาะปี 2562 มีกว่า 100,000 คดี ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีในปีนี้ ขอให้ไปทำสัญญาประนีประนอมที่ศาล เพื่อจะได้รับการลดเบี้ยปรับให้ 75% และให้เวลาผ่อน 9-15 ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน ดังนั้นหากผู้กู้ยืมได้รับหมายศาล ไม่ต้องตกใจ ขอให้ไปพร้อมกับผู้ค้ำประกัน หรือให้ผู้ค้ำประกันมอบอำนาจได้”
5 มาตรการช่วยลูกหนี้ ลดเบี้ยปรับ-พักชำระหนี้
ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กยศ. ว่า กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1.ลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีในครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2562 – 29 ก.พ. 2563
2.ลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 75 เฉพาะผู้กู้ยืมเงินกลุ่มก่อนฟ้องคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562-29 ก.พ. 2563
3.พักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะกลุ่มผู้กู้ยืมก่อนฟ้องคดี กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี จะพักชำระหนี้ในงวดปี 2563 และผู้กู้ยืมจะต้องกลับมาชำระหนี้ในวันที่ 5 ก.ค. 2564 ส่วนกรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน จะพักชำระหนี้ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนฯ อนุมัติ โดยในระหว่างพักชำระหนี้กองทุนฯ จะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบพบว่า มีผู้กู้ยืมเข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิพักชำระหนี้ ประมาณ 335,000 ราย
4.ปรับลดอัตราเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินกู้ยืมคืน จากอัตราปัจจุบัน (ร้อยละ 12-18 ต่อปี) เหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินที่ค้างชำระให้สามารถผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม
5.ปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกเดือนละ 600 บาท/คน โดยผู้กู้ยืมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ปรับเพิ่มจาก 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท ระดับปวช./ปวส./ปริญญาตรี ปรับเพิ่มจาก 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท
“เราต้องการให้ทุกคนกลับเข้ามาในระบบเพื่อชำระหนี้ ดังนั้นมาตรการนี้ออกมาเพื่อให้ผู้ผิดนัดชำระหนี้อยู่แล้ว ปิดบัญชีคราวเดียวลดเบี้ยปรับ หลายคนที่มีความสามารถในการปิดหนี้ จะทำได้ ส่วนคนไม่สามารถทำได้ ให้มาจ่ายให้ทันงวดเฉย ๆ” นายชัยณรงค์ ระบุในที่สุด .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/