- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เรื่องวุ่นๆ เมื่อหลักสูตรยังไม่ผ่านรับรอง กับการรับ นศ.ทันตแพทย์
เรื่องวุ่นๆ เมื่อหลักสูตรยังไม่ผ่านรับรอง กับการรับ นศ.ทันตแพทย์
พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ได้มี “ปลดล็อก” หลักสูตรการศึกษาไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพก็สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ แต่จะวัดผลคุณภาพการศึกษาเมื่อเรียนจบคือต้องมาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิชาชีพ ซึ่ง 11 สภาวิชาชีพได้เคยคัดค้าน
ขณะนี้ในกลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณี 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดรับนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการรับรองของทันตแพทยสภา
ขณะเดียวกันหลักสูตรดังกล่าว ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา (CHE Curriculum Online : CHECO) จากสำนักมาตรฐานและประเมินผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการด้วย
ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งคือมหาวิทยาลัยเนชั่นมีรายงานข่าวว่ากำลังจะเปิดรับนักศึกษาในเร็วๆ นี้ เช่นกัน
ความกังวลว่าการเปิดรับนักศึกษาทันตแพทย์เข้าเรียนโดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านรับรองจากทันตแพทยสภา และยังไม่ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาจาก สกอ.จะกระทบกับนักศึกษาที่เข้าเรียน และส่งผลให้เกิดปัญหาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน เสียเวลาในการเรียนถึง 6 ปี ซึ่งจะเกิดการสูญเสียโอกาสและทรัพยากรมาก เพราะมีต้นทุนการเรียนที่สูง
จากการสืบค้นหน้าเว็บไซต์ของสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษาของ สกอ. http://www.bhes.mua.go.th/ พบว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเดียวที่ส่งหลักสูตรมาให้ สกอ.พิจารณาความสอดคล้อง ขณะที่อีก 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเนชั่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังไม่อยู่ในขั้นตอนการส่งหลักสูตรมาให้ สกอ.พิจารณา
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า ในส่วนของการรับรองหลักสูตรจากทันตแพทยสภานั้น ที่ผ่านมาทั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยส่งหลักสูตรให้ทันตแพทยสภารับรอง แต่ไม่ผ่านการรับรองในครั้งแรก ขณะนี้จึงยังอยู่ในขั้นตอนการขอรับรองใหม่ ส่วนมหาวิทยาลัยเนชั่นเคยส่งหลักสูตรให้ทันตแพทยสภารับรองแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา
ทั้งนี้ ความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษากับกฎหมายที่มีอยู่นั้น เป็นหนึ่งในกลไกที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ในการกำกับการจัดการศึกษาของสภาสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาจะจัดทำข้อมูลหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติหรือการให้ความเห็นชอบจากสภาสถาบันอุดมศึกษาให้ สกอ.พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามเกณฑ์ก่อนเปิดการศึกษาได้ทุกหลักสูตร และเป็นข้อมูลให้นักเรียนและผู้ปกครอง ได้สืบค้นก่อนตัดสินใจเข้าศึกษาในหลักสูตร
ขณะที่การรับรองและควบคุมคุณภาพของหลักสูตรการศึกษาจากสภาวิชาชีพนั้น เดิมกำหนดไว้ว่า หลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ต้องได้รับรองและควบคุมจากสภาวิชาชีพก่อนจึงจะรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษานั้นเข้าสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
แต่ต่อมา พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ได้มี “ปลดล็อก” ตรงนี้ คือหลักสูตรการศึกษาไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพก็สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ แต่จะวัดผลคุณภาพการศึกษาเมื่อเรียนจบคือต้องมาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิชาชีพ ซึ่ง 11 สภาวิชาชีพได้คัดค้านโดยให้เหตุผลว่า จะทำให้เกิดผลกระทบคือ ไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ เนื่องจากการฝึกปฏิบัติของนักศึกษากับผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาในภาคปฏิบัติที่มีความจำเป็น และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแล้ว จะไม่มีหลักประกันว่าสามารถสอบวัดความรู้ผ่านเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง หรืออาจทำให้เกิดผู้ที่ได้รับปริญญาแต่ไม่มีใบอนุญาตมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก และมีการแอบแฝงไปประกอบวิชาชีพอย่างผิดกฎหมายอยู่ตามสถานพยาบาล (อ่านประกอบ: 4 สภาวิชาชีพ ยก 7 เหตุผลค้านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ตัด "วิชาชีพ" ออกจากม.48/11 สภาวิชาชีพ แถลงย้ำค้าน 4 มาตราในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ)
ที่ผ่านมาเคยมีกรณีปัญหาเช่นนี้มาแล้ว เช่น กรณีของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ที่หลักสูตรการศึกษาไม่ผ่านการรับรองของสภาการพยาบาล ทำให้กระทบต่อนักศึกษาที่จบการศึกษามาไม่สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ได้
ด้านทพ.ไพศาล กังวลกิจ อดีตนายกทันตแพทยสภา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงประเด็นนี้ ว่า หากการเปิดหลักสูตร ไม่มีการรับรองหลักสูตร โดยสภาวิชาชีพ หรือผ่านเกณฑ์ของสกอ.จะส่งผลกระทบเยอะมาก สุดท้ายมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพนี้จะต่ำลง เนื่องจากเราจะได้คนไม่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ ระบบที่เราเคยได้รับความเชื่อถือในระยะยาวกระทบหมด
“คุณจะเป็นหมอฟัน คุณต้องถอนฟัน อุดฟันเป็น การฝึกทักษะทางวิชาชีพจึงสำคัญ ฉะนั้นต้องให้สภาวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งรู้ดีที่สุดเข้ามาดูหลักสูตร การไปไล่ดูตอนจบ วัดผลตอนจบ ทำได้ยากมาก สอบตอนจบ ทางนิติศาสตร์ บัญชี อาจทำได้ แต่สอบทางวิชาชีพนั้นต้องมีทักษะ ใช้เวลานานมาก”
อดีตนายกทันตแพทยสภา กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียนรับความเสี่ยงไป และทำให้มาตรฐานวิชาชีพยิ่งตกต่ำลง การที่สภาวิชาชีพเข้ามาดู จึงมาดูตั้งแต่ต้นน้ำ การจัดทำหลักสูตร การรับนักศึกษา กำหนดอย่างน้อยต้องฝึกปฏิบัติงาน 2,000 ชั่วโมง หลักสูตรหนึ่งต้องมีสัดส่วนนักศึกษากับอาจารย์ 1: 4 เป็นต้น
“ฉะนั้น ผมยังยืนยัน ตราบใดที่กฎหมายสภาวิชาชีพยังไม่ถูกยกเลิก มหาวิทยาลัยก็ยังต้องทำตาม สภาวิชาชีพไม่ได้ไปก้าวก่ายมหาวิทยาลัย หากไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร ผมบอกเลยหายนะ ประชาชนส่งลูกหลานไปเรียนจะไม่มีหลักประกัน หากคุณไปดูระเบียบของสกอ.เก่าจะพบว่า การเปิดหลักสูตรเปิดได้ง่ายมาก การจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เป็นทักษะทางวิชาชีพ ดังนั้น จึงตัดเสื้อไซต์เดียวแล้วใส่กันทั้งประเทศไม่ได้”
อดีตนายกทันตแพทยสภา เน้นย้ำด้วยว่า วันนี้สาธารณชนต้องรับรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น สิ่งที่สภาวิชาชีพทำมา ก็เพื่อเป็นการประกันคุณภาพการศึกษา คุ้มครองประชาชน มองมุมนี้จะเห็นมุมบวก ที่สภาวิชาชีพเข้ามาช่วยการผลิตบัณฑิตมีคุณภาพมากขึ้น ปัจจุบันหลักสูตรทันตแพทย์บางมหาวิทยาลัย ใช้เงินกว่า 1 ล้านบาท เรียน 6 ปี ก็ 6 ล้านบาท ถามว่า สุดท้ายเมื่อเรียนจบแล้ว สอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน ใครจะรับผิดชอบ
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ติดต่อสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว รักษาการแทนคณบดี วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยขอให้รออ่านแถลงการณ์ชี้แจงประเด็นดังกล่าวทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยฯ วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เชื่อว่านักศึกษา และผู้ปกครองจะไม่ตกใจ (อ่านประกอบ:การเปิดรับนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการรับรองของทันตแพทยสภา)
ก่อนจะยืนยันทิ้งท้ายว่า วลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของรัฐไม่มีทางลอยแพนักศึกษา เรามั่นใจในคุณภาพ แต่เดิมก่อนมีรัฐธรรมนูญฯ 6 เมษายน 2560 หลักสูตรต้องให้สภาวิชาชีพรับรอง และส่งให้สกอ. โดยรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยังตีความกันอยู่ ในมาตรา 40 (3) ห้ามสภาวิชาชีพก้าวก่ายเรื่องการศึกษา ซึ่งยังไม่รู้จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ แต่หลักสูตรฯ ของเราได้นำเสนอให้ทันตแพทยสภาเกือบ 2 ปี ยังไม่ได้ดำเนินการให้เรา
"เรื่องการรับรองหลักสูตร เมื่อมีคณะกรรมการทันตแพทยสภาชุดใหม่ เราเอาทุกอย่างมาคลี่ปนโต๊ะ อธิบาย มีการพูดคุยกัน เราไม่ได้เปิดหลักสูตรโดยพลการ เราเคยส่งหลักสูตรให้ทันตแพทยสภารับรอง แต่ไม่ผ่านการรับรองในครั้งแรก ก็ได้มีการยื่นศาลปกครองขอทุเลา และล่าสุดเจรจากับชุดใหม่แล้ว"
คลิกดูข้อมูล: ปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศที่ทันตแพทยสภาให้การรับรอง