- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ออทิสติก สู่การประกอบอาชีพ - มีรายได้อย่างยั่งยืน
ออทิสติก สู่การประกอบอาชีพ - มีรายได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1 พันคน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน มีตั้งแต่ระดับ Low , Moderate และ High Function ในจำนวนเหล่านั้น มีเพียง 10% หรือประมาณ 3 พันคนเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรักษา และมีเด็กออทิสติกไม่ถึง 200 คนที่มีงานทำ
“บุคคลออทิสติกถูกปรามาสว่า ทำงานไม่ได้ ไม่เคยมีหน่วยงานใด ที่เห็นความสำคัญของเด็กออทิสติกเรื่องการจ้างงาน แต่กลุ่มทรูฯ ทำให้สังคมเห็นว่า เด็กออทิสติกทำงานได้” แม่ก้อง - กิจจาพร ชื่นบุญ ตัวแทนผู้ปกครองบุคคลออทิสติก ขึ้นกล่าวขอบคุณทั้งน้ำตาในงานวันเปิดศูนย์ CP-True Autistic Thai Foundation Vocational Training Center ณ มูลนิธิออทิสติกไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้
ลูกชายแม่ก้อง ใครๆ ก็ว่า เขาคือผัก ขณะที่ตัวเธอไม่คิดว่า ชาตินี้ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงลูก แต่เมื่อมี Application เข้ามาพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก
....“ดิฉันได้ยินเสียงแรกของชีวิต ลูกเรียก แม่จ๋า ได้ยินเมื่อไหร่ ร้องไห้เมื่อนั้น”
นี่คือ 12 ปีที่ แม่ของเด็กออทิสติกคนหนึ่งรอคอย
บทบาทของภาคธุรกิจในการส่งเสริมศักยภาพบุคคลออทิสติก การช่วยที่ทำให้เกิดความยั่งยืน มีรายได้เลี้ยงตนเองนั้น “ชูศักดิ์ จันทยานนท์” ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ถือว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์ 8 ปีที่ทำงานมาเชื่อเสมอว่า บุคคลออทิสติกมีศักยภาพในตัวเอง เพียงแต่เรามีหน้าที่วางเส้นทาง สนับสนุนให้เขาพัฒนาเต็มศักยภาพ
“เราภูมิใจมี Autistic Application เพื่อฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเอง การฝึกสมาธิ ทักษะการสื่อสาร การเรียนรู้ให้แก่เด็กออทิสติก รวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ True Application เป็น Application ต้นๆ ของโลกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเด็กพิเศษโดยเฉพาะ”
ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ได้ยกตัวอย่าง น้องกฤช ลูกของแม่ก้อง ที่เรียกแม่จ๋าๆ มาหลายปีนั้น ปีนี้น้องกลายเป็นนักวาดรูปแล้ว ซึ่งเมื่อสามเดือนที่แล้ว มีคนมาชมงาน น้องกฤชวาดภาพเสร็จคนซื้อภาพนั้นไป 1,500 บาท แม่ก้องยืนงง เพราะแทบไม่เชื่อว่า ลูกตัวเองสามารถขายผลงานได้
“จะเห็นว่า หากวันนั้นเราไม่มาคิดเรื่อง Application ในการพัฒนาเด็ก ฝึกอบรมเด็กออทิสติก ก็ไม่มีวันนี้ น้องกฤชก็คงเป็นส่วนเกินของสังคม ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปเลี้ยงลูกในสถานบำบัดแบบเข้มข้นที่ไหนสักแห่ง และชีวิตเขาก็คงต้องเปลี่ยนเส้นทางไป”
ส่วนการสร้างศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก เขาบอกว่า ทุกอย่างที่ผลิตออกไปเน้นเรื่องมาตรฐาน สินค้ามีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่กลุ่มทรู ซีพี เอสเอ็มอีแบงก์ และอีกหลายบริษัทสนับสนุนให้มูลนิธิออทิสติกไทย สร้างงานให้กับบุคคลออทิสติกในทุกระดับอาการ
“เราทดลองสร้างนวัตกรรมเรื่องการจ้างงาน ในรูปแบบเป็นพนักงานทรู และให้คนเหล่านั้นมาสอนงานให้เด็กออทิสติกในมูลนิธิฯ ฉะนั้นการจ้างงาน นายจ้างไม่ได้กำหนดงาน แต่เด็กพิเศษเขาจะเลือกงานที่เขาชอบ ”
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ขอบคุณทีมงานทรู ที่เข้ามาช่วยสร้าง True Applications เพื่อให้เทคโนโลยีเติมเต็มชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีโอกาสเท่าคนอื่น ยิ่งต้องการเทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มมากกว่าคนทั่วไป
“ดีใจมากๆ ที่ Applications ใช้งานได้ผล กับเด็กออทิสติกสามารถสื่อสารได้ดี ถ้าวิธีการทำได้ถูกต้อง ถูกเวลา ชีวิตของเด็กคนหนึ่งและครอบครัวเขา ก็จะเป็นไปในทางที่ดี หากใช้ไม่ถูกเงื่อนไข ถูกเวลา ก็จะกลายเป็นปัญหาได้”นายศุภชัย ระบุ และหวังว่า ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติกแห่งนี้จะขยายผลไปได้กว้างไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเข้าถึงสมาชิกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปัจจุบัน กลุ่มทรู มีการจ้างงานบุคคลออทิสติกที่มีศักยภาพและพัฒนาการดี ตามมาตรา 33 และ 35 ด้วยการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการงานให้แก่ชุมชน ที่มูลนิธิออทิสติกไทย มาตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน จำนวน 62 คน
สำหรับโรคออทิสติก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ ด้านสังคม ด้านภาษา และเกิดพฤติกรรมซ้ำๆ โดยสามารถสังเกตพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1 พันคน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน มีตั้งแต่ระดับ Low , Moderate และระดับอัจฉริยะ (กลุ่ม High Function)
ในจำนวนเหล่านั้น มีผู้ป่วยออทิสติกเพียง 10% หรือประมาณ 3 พันคนเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรักษา และมีเด็กออทิสติกไม่ถึง 200 คนที่มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเอง
และการที่บุคคลออทิสติกต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัว สภาพจิตใจ รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงต่อเนื่อง
จะพบว่า 80% ครอบครัวเด็กออทิสติกต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางครอบครัวผู้ปกครองต้องลาออกจากงานมาดูแลลูก รายได้ลด กลายเป็นปัญหาครอบครัวในที่สุด
“น้องเกม- สัณฑกรณ์ ชาติพาณิชย์” วัย 22 ปี จบปวส. หนึ่งในพนักงานกลุ่มทรู ที่ทรูจ้างงานปีต่อปี มีเงินเดือน มีสวัสดิการ ประกันสังคม และประกันกลุ่ม
โดยงานหลักๆ ของน้องเกม ที่มูลนิธิฯ คืองานสกรีนหมวก และวาดรูป เจ้าของภาพ ลายกวาง ลายหมี และลายรูปผู้หญิงถือเป็ด บนผ้าพันคอ ที่วางจำหน่าย ณ Art Story by Autisticthai
“การวาดรูปใช้เวลาเรียนนาน เพราะเด็กๆ ไม่เคยแตะเลย แต่ที่ต้องมาเรียนวาดรูปเพื่อต่อยอดความฝันของผม ที่อยากจะสร้างเกม ซึ่งการจะสร้างเกมได้ ก็ต้องวาดคาแลคเตอร์ออกมาให้ได้ ผมอยากวาดการ์ตูนแนวญี่ปุ่นให้ได้ก่อน เลยไปฝึกเรียนวาดรูป”
"ภาสินี ชาติพาณิชย์" ผู้เป็นแม่ ซึ่งยืนอยู่ข้างๆ ให้ข้อมูลเสริมถึงลูกชายเกี่ยวกับการวาดรูปว่า ทำให้น้องมีสมาธิมากขึ้น
"ที่นี่เด็กอยากวาดอะไรวาดไปเลย เขาไม่บังคับ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจำหน่ายมาจากตัวตนของเด็กจริงๆ จะไม่ซ้ำใคร"
และเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่เธอฝึกและปล่อยให้ลูกชายเดินทางมาทำงานด้วยตัวเอง จากบ้านที่อยู่ละแวกบางลำพู มาทำงานที่มูลนิธิฯ ซึ่งอยู่แถวตลิ่งชัน
“ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ลูกชายออกจากบ้าน นั่งรถเมล์สาย 68 จากวัดบวรฯ ลงตลาดบางขุนศรี แล้วต่อรถสองแถวเพื่อเข้ามาทำงานที่มูลนิธิฯ จากเด็กที่เดินทางไปไหนไม่เป็น แต่เมื่อเราฝึกทุกครั้งที่พาลูกขึ้นรถ ก็จะคอยบอก ต้องใช้ปากพูดตลอด “รถสายนี้นะ เหมือนใส่เมมโมรี่เข้าไปในคอมพิวเตอร์ ทำซ้ำๆ ย้ำๆ และโชคดีเราปูพื้นฐานให้เขาจากการทำงานบ้าน ปูพื้นฐานให้ลูกได้เจออะไรใหม่ๆ น้องจึงเหมือนเด็กปกติ”
ภาสินี บอกเล่าอย่างภาคภูมิใจ และว่า น้องเลิกงานปุ๊บ คือกลับบ้าน ไม่วอกแวกไปไหน เด็กออทิสติกมีความน่ารักตรงนี้ สอนอะไรเขาจะจำไปตลอดชีวิต
ภายในอาคารศูนย์ฝึกอบรมฯ ใหม่เอี่ยม ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นรวม 2 หลัง พื้นที่รวม 2,400 ตารางเมตร โดยภายในอาคารจะแบ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ห้องฝึกทักษะอาชีพ งานสำนักงาน ห้องฝึกทักษะประสาทสัมผัส ห้องคอมพิวเตอร์ นั้น
นายสัมฤทธิ์ เพิ่มสุวรรณเจริญ นักจิตวิทยาพัฒนาการ และครูสอนศิลปะบำบัดให้กับเด็กออทิสติก มูลนิธิออทิสติกไทย กำลังเดินดูลูกศิษย์ลงสี ทั้งสีไม้และสีน้ำ ตามศักยภาพของแต่ละคน โดยหนึ่งในนั้นมีน้องชายของเขารวมอยู่ด้วย
“ห้องนี้จะเป็นห้องประเมินและให้คำปรึกษา เด็กและเยาวชนออทิสติกที่เข้ามาห้องนี้ที่ต้องการมาขอรับบริการ ต้องผ่านห้องนี้เป็นห้องแรก ผมจะประเมินและดูความสามารถ ประเมินทักษะพื้นฐานที่เขามี หากผ่านก็จะส่งไปให้ครูที่ฝึกอาชีพต่อไป หากยังไม่ผ่าน ก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู”
ก่อนจะเล่าต่อถึงน้องชายคนเล็กที่เป็นเด็กออทิสติก หนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขามุ่งเรียนมาทางสายนี้
"ครอบครัวเรามารู้ว่า น้องชายเป็นเด็กพิเศษตอนอายุ 3 ปีกว่าแล้ว ช่วงนั้นจัดกระบวนการฝึกพูดก็ติดขัด ต้องย้ายน้องกลับไปบ้านต่างจังหวัด ที่น่าน น้องจึงขาดการกระตุ้นและพัฒนาทักษะ แต่น้องก็มีความสามารถ ชอบสังเกต เช่น เห็นแม่ทำกับข้าว น้องก็ชอบสังเกต มีอยู่วันหนึ่งแม่ไม่อยู่บ้านเขาสามารถจำวิธีการทำอาหารของแม่ได้ ทำกินเอง หรือบางวันแม่ไปทำธุระข้างนอก ผ้ากองอยู่ เขาก็จะซักผ้า แม่กลับมาเห็นผ้าตากเรียบร้อยเลย
ตั้งแต่นั้นมา เราก็ฝึกกระบวนการช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก ไม่เน้นวิชาการ เพราะเรามองเห็นว่า วิชาการสำหรับน้องเราไม่มีประโยชน์”
วันนี้น้องชายครูสัมฤทธิ์ ช่วยเหลือตัวเองได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นสื่อสารไม่ได้ ฉะนั้น การพูด และสื่อสารไม่ได้ย่อมมีคับข้องใจ ไม่สามารถระบายอารมณ์ออกมาได้ เหตุนี้ ผู้เป็นพี่จึงนำศิลปะมาใช้กับน้อง เผื่อว่า เวลาเขาหงุดหงิดจะได้ระบายออกมาเป็นงานศิลปะ
สุดท้าย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว "หมออ้อย-ทพญ.ปิยพรรณ ปิยมาตย์" เดินทางมาจากจังหวัดสระแก้ว เล่าว่า มีลูกชาย 2 คน คนโตเก่งคณิตศาสตร์ระดับท็อปเท็นของประเทศ ขณะที่น้องธิษณ์ ธรรมวิเศษ วัย 19 ปี ลูกคนเล็ก เป็นเด็กออทิสติก
ช่วง 2 ขวบครึ่ง เธอไม่ยอมรับว่า ลูกเป็นเด็กออทิสติก "เพราะไม่เคยคิดคำๆ นี้จะเข้ามาในชีวิตเรา เชื่อเสมอว่า ลูกแค่พูดช้าเฉยๆ ไปหา 3-4 หมอ ก็ฟันธงว่าเป็นแน่นอน จึงยอมรับและเข้าสู่กระบวนการรักษาจริงจัง"
กระทั่งเวลาผ่านไป หมออ้อยมาค้นพบลูกชายมีความสามารถในการแต่งเพลงบรรเลง และเล่นดนตรีได้เกือบทุกชนิด ช่วง 11 ขวบ
อนาคตหมออ้อย วางแผนจะพาน้องธิษณ์ ไปเรียนที่เยอรมณีกับพี่ชาย พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า
"ใครว่าเด็กออทิสติกไม่มีความฝัน ไม่จริงเลย ลูกพี่มีความฝัน แต่เขาแยกความฝันกับความจริงไม่ออกเท่านั้น ตอนที่น้องธิษณ์อายุ 13-14 ปี เขาไปชวนคนมาร้องในวงดนตรี จนคนหลงเชื่อ ว่ามีวงดนตรี คนคิดว่า เขาโกหก แต่โลกความฝันของเขา คือ อยากมีวงดนตรี ลูกไม่สามารถบอกเราได้ ดังนั้น แม่ต้องกระโดดเข้าไปหาโลกของเขาให้ได้"
หมออ้อยและลูกชาย
ธุรกิจเพื่อสังคมออทิสติกไทย กับงานพิมพ์เอกสาร การรับงานจากภาคเอกชน